xs
xsm
sm
md
lg

3 องค์กรเอกชนเร่งผลักดัน “เซอร์คูลาร์อีโคโนมี” พุ่งเป้าอุตสาหกรรมพลาสติก-อาหาร-อิเล็กทรอนิกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาอุตฯ จับมือสภาหอการค้า-สมาคมธนาคารไทย ผลักดัน “เซอร์คูลาร์อีโคโนมี” หวังลดการใช้ทรัพยากร ลดปริมาณขยะ ลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าใน 3 อุตสาหกรรมหลัก พลาสติก-อาหาร-อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว “พรรรัตน์” ชี้ช่อง อุตสาหกรรมพลาสติก พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสสร้างกำไรมหาศาลผ่านกลไกเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้าน “อัฒฑวุฒิ” ระบุ SME ยังติดปัญหาเรื่องเงินทุนที่จะร่วมขับเคลื่อน ขณะที่ “วุฒิสภา” เตรียมเสนอแผนยุทธศาสตร์เซอร์คูลาร์อีโคโนมีให้รัฐบาลหลังเปิดสภา

จากเทรนด์เศรษฐกิจโลกที่ให้ความสนใจกับเซอร์คูลาร์อีโคโนมี (Circular Economy) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งมีหลักการที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณค่าสูงสุด โดยลดปริมาณขยะให้เหลือน้อยที่สุด และสามารถบริหารจัดขยะเพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในรูปแบบของวัตถุดิบเชื้อเพลิง หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมของไทยหันมาให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

น.ส.พรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมแห่งความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
น.ส.พรรรัตน์ เพชรภักดี ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันน้ำและสิ่งแวดล้อมแห่งความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในการจัดทำแผนแม่บทเซอร์คูลาร์อีโคโนมี โดยเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแต่ละองค์กรจะดำเนินแผนงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของตน

ในส่วนของอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งทั้งวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตและขยะพลาสติกล้วนมีปัญหาเรื่องการย่อยสลายที่ต้องใช้เวลาหลายร้อยปีนั้น โดยภารกิจในส่วนของสภาอุตสาหกรรมฯ จะผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรผ่านวงจร Make - Use - Return โดยใช้อีโคดีไซน์ (Eco Design) หรือการออกแบบที่นำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ โดยทำให้เกิดมลพิษกลับเข้าสู่ระบบนิเวศน้อยที่สุด และเพื่อให้ง่ายต่อการนำกลับมาใช้งานได้ใหม่ ขณะที่สภาหอการค้าฯ จะผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยว โรงแรม ร้านค้าต่างๆ วางแผนจัดการพลาสติกใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น นำมาใช้ซ้ำ นำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนสมาคมธนาคารไทยจะใช้มาตรการการเงินเพื่อจูงใจให้เกิดเซอร์คูลาร์อีโคโนมี เช่น ลดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการที่นำเศษพลาสติกที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้ามาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

อุตสาหกรรมอาหาร จะมีปัญหาที่เกิดจากการเน่าเสียของเศษวัถตุดิบ เศษอาหาร และสินค้าหมดอายุ ทั้งที่เกิดจากโรงงานผลิตสินค้าประเภทอาหาร โรงแรม ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อ ซึ่ง กกร. จะผลักดันให้ผู้ประกอบการวางแนวทางในการจัดการขยะจากอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ก่อนที่จะเน่าเสีย

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มักมีปัญหาจากการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ไอทีต่างๆ ซึ่งหากจัดการไม่ถูกวิธีจะทำให้สารพิษลงไปปะปนในธรรมชาติ ทั้งดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน โดยสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นว่าผู้ผลิตควรพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สามารถซ่อมแซมและนำกลับมาใช้ได้ ดีกว่าปล่อยให้เป็นขยะแล้วนำมาแยกชิ้นส่วนขาย และในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไอทีที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ก็ต้องมีกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงได้จำนวนมาก


น.ส.พรรรัตน์ กล่าวต่อว่า กกร.ได้วางแผนในการขับเคลื่อนทั้ง 3 อุตสาหกรรมไปสู่เซอร์คูลาร์อีโคโนมี ไว้ 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ใช้เวลา 1 ปี จะเน้นเรื่องการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค ระยะกลาง ใช้เวลา 3 ปี เพื่อผลักดันให้กระบวนการผลิตเป็นเซอร์คูลาร์อีโคโนมี ยกเลิกการผลิตสินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ดำเนินการตามแบบจำลองการในการบริหารจัดการและการรีไซเคิลขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก เช่น ให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะพลาสติกเพื่อป้องกันไม่ให้ขยะเหล่านี้ไปปะปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมซึ่งจะก่อให้เกิดมลพิษ แผนระยะยาว 5 ปี เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนในการใช้สินค้าจาก 3 อุตสาหกรรม โดยเฉพาะพลาสติก ออกกฎหมายเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนตามหลัก 3R (Reduce Reuse and Recycle) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า สามารถช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง ด้วยการลดการใช้ การนำกลับมาใช้ซ้ำ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่

“ปัจจุบันเราอยู่ในแผนระยะที่ 1 ซึ่งมีการประชุมหารือ จัดทำแผนงานกันอย่างเข้มข้น แต่มาหยุดชะงักลงเนื่องจากวิกฤตโควิด-19 เราต้องวางมือเรื่องนี้มาวางแผนรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ก่อน อย่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลาสติกก็ต้องเร่งผลิตพลาสติกเพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการจำนวนมหาศาลของผู้บริโภคในช่วงโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นกล่องพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารเพื่อส่งเดลิเวอรี แผ่นพลาสติกที่ใช้ทำเฟซชิลด์ ซึ่งทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส หากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกนำเซอร์คูลาร์อีโคโนมีมาใช้ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จะทำให้สามารถลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างกำไรจากพลาสติกได้มหาศาล” น.ส.พรรรัตน์ ระบุ





นายอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ ประธานคลัสเตอร์ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ด้าน นายอัฒฑวุฒิ หิรัญบูรณะ ประธานคลัสเตอร์ปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การขับเคลื่อนเซอร์คูลาร์อีโคโนมีต้องทำพร้อมกันทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำจึงจะบรรลุผล ยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมพลาสติกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกลุ่มแรกที่สามารถขับเคลื่อนเซอร์คูลาร์อีโคโนมีได้เร็วที่สุด ก็จะต้องเริ่มตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติก ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก Brand Owner หรืเจ้าของแบรนด์ซึ่งนำบรรจุภัณฑ์ไปใช้บรรจุสินค้า ร้านขายปลีก ไปจนถึงผู้บริโภค ซึ่งทุกส่วนล้วนมีบทบาทในการบริหารจัดการพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดขยะน้อยที่สุด ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นได้เข้ามาร่วมดำเนินการเรื่องนี้แล้ว แต่ยังติดปัญหาในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SME ซึ่งไม่มีกำลังทุนเพียงพอที่จะดำเนินการในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ดังนั้น ทุกฝ่ายต้องลงมาช่วยกัน

ไม่ใช่แค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ให้ความสนใจเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้านวุฒิสภาก็ให้ความสนใจเรื่องนี้เช่นกัน โดย นายเจน นำชัยศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เปิดเผยว่า กรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ เพื่อทำการศึกษาเรื่องเซอร์คูลาร์ อีโคโนมี ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง ในประเทศต่างๆ ทำอย่างไร ในประเทศไทยมีหน่วยงานไหนที่ทำแล้วบ้าง นอกจากนั้น ยังได้ไปศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศว่ามีระบบบริหารจัดการทรัพยากรอย่างไร มีวิธีการรีไซเคิลแบบไหน มีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง ต้องแก้ไขหรือออกกฎหมายอะไรหรือไม่ จะทำอย่างไรให้เซอร์คูลาร์อีโคโนมีแพร่หลายมากกว่านี้ และชุมชนควรจัดการขยะอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ

เซอร์คูลาร์ อีโคโนมี นอกจากจะช่วยประหยัดการใช้ทรัพยากรของประเทศ เนื่องจากมีการนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตและวัสดุที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นสินค้าใหม่แล้วยังทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี และเกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้ภาคอุตสาหกรรมนับพันล้านบาท

“จะเห็นได้ว่าเทรนด์เศรษฐกิจโลกต่างหันมาให้ความสำคัญต่อเซอร์คูลาร์ อีโคโนมี และเรื่องนี้อาจถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า ดังนั้น ไทยต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ปัจจุบันองค์กรและบริษัทต่างๆ ในไทยมีการดำเนินการเรื่องนี้แล้ว แต่ปัญหาคือเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรกำหนดแผนแม่บทหรือยุทธศศาสตร์เกี่ยวกับเซอร์คูลาร์ อีโคโนมี ในส่วนของภาคเอกชนนั้นหลายบริษัทได้ดำเนินการเรื่องนี้แล้ว อย่างบริษัท PTTGC ก็นำขยะพลาสติกในทะเลมาผลิตเป็นเส้นใยพลาสติก ซึ่งนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะในธรรมชาติแล้วยังช่วยประหยัดต้นทุนด้วย”

นายเจน นำชัยศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา
โฆษกคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ มุ่งเน้นการพัฒนาเซอร์คูลาร์ อีโคโนมีไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องให้การสนับสนุนใน 4 ด้านด้วยกันคือ 1.ต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน 2.สบับสนุนเทคโนโลยีที่ทันสมัย 3.ประสานความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และ 4.สร้างตลาดเพื่อรองรับสินค้าจากเซอร์คูลาร์ อีโคโนมี

โฆษกกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ ระบุว่า สำหรับรายละเอียดและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเซอร์คูลาร์ อีโคโนมีนั้น ขณะนี้อนุกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างการยกร่าง โดยได้มีการประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ดูงานในองค์กรต่างๆ รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะที่จะเสนอต่อรัฐบาล เมื่ออนุกรรมาธิการฯ ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเสนอต่อคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ เพื่อเสนอต่อสภา ซึ่งเชื่อว่าหลังจากเปิดประชุมสภาไม่นานก็น่าจะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อสภาได้ จากนั้นสภาก็จะพิจารณาว่าจะมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมอะไรหรือไม่ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น