xs
xsm
sm
md
lg

'สุวิทย์' ปั้นโปรเจกต์พยุงแรงงานทุกส่วน บัณฑิตเก่า-ใหม่ '1 ล้าน' ตกงานทั้งหมด!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ แจงหลัง Work from Home สิ้นสุดจะพบแรงงานแฝงถูก Lay Off จำนวนมาก ส่วนบัณฑิตเก่าและบัณฑิตใหม่ที่เพิ่งจะจบร่วม 1 ล้านคน ตกงานแน่ๆ 'อว.' เร่งจัดทำหลายโครงการทั้ง 'จ้างเรียน' สาขาขาดแคลน ปั้นหลักสูตรระยะสั้นๆ เพิ่มทักษะสายท่องเที่ยว สร้าง Story Travelling ผลักดัน Smart Farmer สู่ชุมชน ดึงมหาวิทยาลัยต่างๆ หนุนช่วยอุตสาหกรรม-SME-เกษตร-ท่องเที่ยว-EEC รวมทั้งผลักดัน Reskill-Upskill ให้แรงงานที่ยังอยู่ในระบบรอดจากการถูกปลด!


วิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีมาตรการเยียวยาให้แก่ประชาชนในหลายๆ กลุ่มที่กำลังได้รับความเดือดร้อน รวมถึงการดึงมหาเศรษฐี 20 ราย ออกมาให้ความช่วยเหลือเพื่อก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันแล้วก็ตาม

แต่สำคัญสุดรัฐบาลก็ต้องเตรียมแผนรับมือไว้ให้พร้อมทั้งช่วงวิกฤตโควิด-19 และหลังวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุด เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว!

โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและซ้ำเติมอย่างเห็นได้ชัด เมื่อบรรดาโรงงานต่างๆ ปิดกิจการ ธุรกิจ SME เจ๊ง มีแรงงานตกงานเพิ่มขึ้น ขณะที่นักศึกษาจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกเป็นจำนวนมากไม่มีงานทำ

นั่นหมายถึงว่า บัณฑิตเตะฝุ่นคือจบมาแล้วแต่ไม่มีงานทำ บวกกับบัณฑิตจบใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมแล้วกว่า 1 ล้านคนตกงานแน่ๆ!

นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้!!


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ระบุว่า รัฐบาลต้องเตรียมการรับมือในเรื่องสำคัญๆ โดยเฉพาะเรื่อง Job Creation จะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะจะมีคนตกงานถึง 2 กลุ่ม

กลุ่มที่หนึ่ง คือ คนที่อยู่ในระบบแรงงานอยู่แล้ว จะมีโอกาสถูก Lay Off ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จะได้รับผลกระทบเร็วมาก ขณะที่คนทำงานภาครัฐ ไม่มีปัญหาตรงนี้ เพราะจากมาตรการ Work from Home ทำให้องค์กรต่างๆ รู้ว่ามีคนบางคนที่ว่างงานซ่อนเร้นอยู่ หากไม่มีคนเหล่านี้อยู่ในองค์กร ก็สามารถทำงานได้ เพราะในอนาคตบริษัทต่างๆ จะเลือก Work from Home มากขึ้น

“คืองานตรงนี้มีสิบกว่าคน จริงๆ มีแค่ 2-3 คนก็ทำงานได้ ”

กลุ่มที่สอง แบ่งเป็นแรงงานที่ยังต้องอยู่ แต่จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ ต้องถูก Reskill-Upskill ซึ่งจำเป็นต้องมีการเพิ่มทักษะใหม่ เนื่องจากก่อนวิกฤตโควิด-19 ทักษะเดิมที่มีอยู่ก็ต้องเปลี่ยนเพราะถูก Technology Disruption แต่ปัจจุบันเรากำลังถูก Viral Disruption จึงทำให้เกิดสถานการณ์ Disrupt ซ้ำเติมเข้ามาอีก

'การ Reskill-Upskill จึงจำเป็นต่อแรงงานกลุ่มนี้ที่ยังอยู่ในระบบ เพื่อให้เขาอยู่รอดได้”

กลุ่มที่สาม คือ พวกบัณฑิตที่จบมาแล้ว แต่ยังหางานทำไม่ได้ บวกกับบัณฑิตจบใหม่ และพวกที่ทำงาน Part-time จะมีโอกาสตกงานมากที่สุด

“บัณฑิตที่จบมาก่อนหน้านี้ ไม่มีงานทำประมาณ 5 แสนราย และจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบอีก 2-3 แสนราย รวมกับกลุ่ม Part-time ที่จะไม่มีงานทำรวม 8 แสน หรืออาจถึงล้านได้ ซึ่งยังไม่รวมกลุ่มที่ถูกปิดกิจการและถูก Lay Off

ดังนั้น จะมีคนตกงานอยู่ 2 กลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ประคองตัวเองอยู่ในระบบได้ก็ต้อง Reskill-Upskill เพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในองค์กรต่อไป

แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาตามมาจากพิษโควิด-19 ในเวลานี้คือ วิกฤตเศรษฐกิจ ที่การบริโภคหดตัว การผลิตต่างๆ ก็หดตัวตามไปด้วย โอกาสที่เศรษฐกิจต่างๆ จะฟื้นขึ้นมาก็ต้องใช้เวลา

“สิ่งที่น่าห่วงเวลานี้ไม่ใช่เรื่องการแพทย์ เพราะประเทศไทยเอาอยู่ แต่ที่น่าห่วงที่สุดคือเรื่องของเศรษฐกิจ”

รัฐมนตรี อว.บอกว่า เดิมเรามีโครงการยุวชนสร้างชาติ ที่ได้งบกลางจากรัฐบาล มาจ้างนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏปี 3-4 ทำงานพาร์ตไทม์ แต่วันนี้งานไม่มี บวกกับโครงการบัณฑิตอาสา เพื่อให้บัณฑิตที่จบมามีงานทำ จึงจำเป็นต้องสร้างงานทั้ง 2 ส่วนนี้ไว้ซึ่งกำลังของบประมาณในส่วนนี้และต้องจัดทำ Job Creation อย่างไรบ้าง




นอกจากนี้ อว.มีโครงการที่จะยืดเวลาบัณฑิตที่จะออกไปทำงานในเวลานี้เพื่อไม่ให้อยู่ในสภาพตกงาน โดยจะมีโครงการจ้างเรียนหนังสือต่อ แต่ต้องอยู่ในสาขาที่ประเทศต้องการ หรือสาขาที่ขาดแคลน คือเด็กที่จบปริญญาตรี แล้วให้ต่อปริญญาโท หรือจบปริญญาตรี และไปเรียนต่ออีกสาขาหนึ่ง เพิ่มอีก 1 ปี

“เช่น สาขาที่ไปช่วยโอทอป ไปช่วยสร้าง Story Travelling ด้านการท่องเที่ยว คือเป็นสาขาติดปลายนวม ไม่ต้องเรียนยาว ก็สร้างอาชีพได้เร็ว หรืออาจไปเรียน Short Course บางสาขา หรืออาจเรียนปริญญาโทไปเลยก็ได้”

อย่างไรก็ดี โครงการจ้างเรียนนั้น จะเป็นการให้ทุนการศึกษา และให้เด็กมาติดต่อขอทุนแต่จะไม่ใช่ให้ทั้ง 100% เพราะเป็นโครงการเพื่อยืดเวลาไม่ให้เด็กเข้าไปอยู่ในระบบการว่างงาน (Unemployment) ในสภาวะเช่นนี้

ไม่เพียงเท่านั้น อว.ยังหาทางช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การติดต่อประสานเพื่อขอลดค่าเทอม ค่าธรรมเนียม ลดค่าหอพัก ต่างๆ

“ได้เรียนท่านนายกฯ ไว้แล้ว เสนอให้มีการเรียนออนไลน์ใน 3 เดือนแรก ให้เป็นการเรียนฟรีไปเลย ตอนนี้กำลังรอทาง กสทช.พิจารณา”

โดยยังมีโครงการให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ เช่น ม.ราชภัฏ หรือ ม.ราชมงคล ไปพัฒนาชุมชน เช่น ทำในเรื่อง Smart Farmer หรือ Creative Economy ในชุมชน สร้าง Story Travelling แหล่งท่องเที่ยวชุมชนไว้รองรับเมื่อโควิด-19 สิ้นสุดลง

“อว.มีนโยบายสร้างคน แต่วันนี้เราขอเน้นไปที่การสร้างงานให้เกิดขึ้นก่อน เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ ซึ่ง อว.ได้ประชุมหารือกับอธิการบดีหลายมหาวิทยาลัยทั้งเรื่อง Reskill-Upskill และจะพิจารณาจาก Demand เป็นตัวตั้งในการจัดทำโครงการ”

โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวเป็นหัวใจในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ก็มีการพูดคุยกับกลุ่มอธิการบดี และจะเชิญผู้ว่าการการท่องเที่ยวฯ มาอธิบาย เพื่อให้ทุกคนเตรียมพร้อม ซึ่งเราเคยได้รับบทเรียนเมื่อครั้งที่โรคซาร์สระบาด ทำให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก รายได้หดหาย เมื่อซาร์สหมดไป ต่างชาติจึงหันกลับมาท่องเที่ยวประเทศไทยอีกครั้ง


ขณะที่วิกฤตโรคโควิด-19 จะต้องใช้เวลานานกว่าโรคซาร์ส ดังนั้น ในช่วงนี้จึงเป็นโอกาสในการที่เราจะเตรียมพร้อมทั้งเรื่องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การบริหารจัดการ และการปรับยกระดับความรู้ทางด้านภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ ที่จะใช้ในการท่องเที่ยวไว้ให้พร้อมเมื่อการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง เชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก

พร้อมกันนี้ ยังมีเรื่องของ Digital ที่มีความต้องการ 8 สาขา โดยเฉพาะในการพัฒนาพื้นที่ EEC ก็ได้หารือกับ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ EEC ว่าต้องการคนแบบไหน อย่างไร พร้อมกับหารือ รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม ทำให้รู้ว่าการสร้างงานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ระดับหนึ่งคือจะต้องเข้าสู่ระดับ Advance ที่เกี่ยวข้องกับ Robot และ Big Data เป็นต้น

“เวลานี้ อว.ก็ได้ 2 โจทย์ที่ต้องจัดทำโครงการที่จะลงแต่ละพื้นที่ที่สามารถเกิดการจ้างงานได้ คือเรื่องการท่องเที่ยว และพื้นที่อีอีซี”

ขณะเดียวกัน ก็ได้มอบหมายให้กระทรวง อว.ไปทำงานร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ซึ่งมีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นประธาน เพื่อพัฒนาด้านการเกษตรไปสู่ Smart Farmer หรือเกษตรอัจฉริยะ โดยจะต้องได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าต้องการให้มหาวิทยาลัยจัดทำโปรแกรมอะไร อย่างไร ที่จะทำให้เกิด Smart Farmer ได้จริง

อีกทั้งให้กระทรวง อว.ไปทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเวลานี้มีหลายแห่งกำลังจะถูกยึดทรัพย์ ก็ต้องไปหารือว่ามหาวิทยาลัยจะช่วยเสนอแนะหรือทำอะไรได้บ้าง

ส่วนหลักสูตร Reskill-Upskill ให้แก่คนที่ทำงานในระบบ ซึ่งมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดหลักสูตรมานั้น อาจเป็นระยะสั้น 3 เดือน 6 เดือน อว.ก็จะให้ทุนสนับสนุนในระดับหนึ่ง หากบริษัทต่างๆ ส่งมาอบรมก็ต้องจ่ายค่าเรียนปกติ แต่ถ้าคนที่อยากเรียน แต่ไม่มีนายจ้างส่ง อว.ก็มีคูปองการศึกษาให้ซึ่งจะอยู่ในขั้นต่อไป


สำหรับกลุ่มที่จำเป็นจะต้องดูแลในเวลานี้ หรือเป็นการจ้างเรียนเพื่อไม่ให้อยู่ในสภาวะตกงานต่อไป คือกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือเกี่ยวข้อง และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ต้องมาเรียนออนไลน์เพื่อ Upskill ตัวเอง เช่นเด็กเสิร์ฟในโรงแรม คนขับรถแท็กซี่ ก็ให้มาเรียนภาษาอังกฤษ และเรียนเรื่อง Digital ไปก่อน เท่ากับว่าเรียนไปด้วยได้เงินไปด้วย

ว่าไปแล้วสิ่งที่กระทรวง อว.ทำทั้งหมดก็เพื่อนำองค์ความรู้ด้านวิชาการต่างๆ ที่มีอยู่เข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่ทุกภาคส่วนทั้งในด้านอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี การท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และบัณฑิตตกงาน เพื่อจะสามารถผลักดันให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้

และในอนาคตอันใกล้นี้จะมุ่งไปสู่การพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์เพื่อสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้ประเทศต่อไป!



กำลังโหลดความคิดเห็น