xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโมเดลความสำเร็จ พัฒนาทักษะสู้วิกฤตโควิด-19 รากฐานตอบโจทย์อนาคตประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นับเป็นพิษร้ายที่ส่งผลกระทบไปถึงประชาชนทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะแรงงานทั้งในและนอกระบบที่ต้องเผชิญภาวะ ‘ตกงาน’ แต่ในวิกฤตยังมีโอกาสเสมอ เหมือนกับโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของกสศ. ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือยกระดับทักษะอาชีพให้กับแรงงานมากกว่า 6,000 คน ในพื้นที่ 74 ตำบล 42 จังหวัดของประเทศในกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือผู้ว่างงาน ผู้สูงอายุ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เกตรกรรม ผู้พิการ ฯลฯ ซึ่งมีตัวอย่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการใช้ชุมชนเป็นฐานสามารถพลิกชีวิตคนยากจนให้มีรายได้ และเกิดทักษะ หรือ skill ใหม่ขึ้นได้

สาคร ปานจีน อาจารย์วิทยาลัยชุมชนนราธิวาส และผู้รับผิดชอบโครงการพัฒนาอาชีพการตัดเย็บเสื้อผ้าอ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กล่าวว่า โครงการพัฒนาอาชีพฯ ได้ปรับแผนงานสำหรับพัฒนาอาชีพใหม่ ให้กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการพัฒนาทักษะอาชีพ มาฝึกทำหน้ากากอนามัยไว้ใช้ป้องกันตัวเองและแจกจ่ายให้ผู้มีความจำเป็น รวมถึงยังใช้การฝึกอบรมทำหน้ากากอนามัยให้เป็นหลักสูตรพื้นฐานการตัดเย็บ ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) วิสาหกิจชุมชน Hand in Hand และวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส

“ในระยะเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมา เผชิญกับระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อคนในชุมชนทั้งการขาดแคลนหน้ากากอนามัย รวมถึงมีคนว่างงานมากขึ้น ทางโครงการ ฯ จึงเห็นว่าจำเป็นต้องปรับแผนการพัฒนาทักษะโดยดึงกลุ่มเป้าหมายเข้ามาฝึกอบรมทำหน้ากาก นอกจากจะปรับตามสถานการณ์แล้วการทำหน้ากากอนามัยยังเป็นการฝึกฝีมือเบื้องต้นก่อนไปสู่การตัดเย็บระดับสูง ที่คนไม่มีความรู้และไม่มีประสบการณ์สามารถทำได้ ซึ่งเป็นความร่วมมือของ กสศ. ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้กับชุมชนผ่านโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อผู้ว่างงานและผู้มีทักษะอยู่ได้รับการพัฒนาเพื่อส่งต่อไปยังวิสาหกิจชุมชน ให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้” อาจารย์สาคร กล่าว

อาจารย์สาคร กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนนั้น โครงการฯจะประสานกับวิสาหกิจชุมชน Hand in Hand ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์พร้อม ใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม จากนั้นแบ่งผู้เข้าอบรมเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่มีพื้นฐานตัดเย็บหรือทำงานด้านนี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีความเข้าใจระบบและกระบวนการ กับอีกกลุ่มคือผู้ว่างงานที่ไม่มีทักษะติดตัวมาก่อนเลย รวมถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ สองกลุ่มนี้จะเข้ารับการฝึกอบรมจากวิทยากรตั้งแต่ความรู้เรื่องผ้า การใช้เครื่องมือ ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการตัดเย็บ ซึ่งในช่วงแรกที่อบรมตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ทุกคนจะได้เย็บหน้ากากอนามัย หลังจากกลุ่มเป้าหมายฝีมือเริ่มดีก็จะมีรายได้เข้ามาทันที

“เรามองว่าตรงนี้เหมือนกับเราสร้างโอกาสจากวิกฤต เพราะการจะพัฒนาทักษะกลุ่มเป้าหมายทุกคนให้สามารถตัดเย็บ จนถึงขึ้นไลน์เย็บเสื้อผ้าจริง ๆ ได้ มันไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ขณะที่การทำหน้ากากอนามัยใช้ทักษะน้อยกว่า และมีความต้องการจากตลาดมากกว่าในช่วงนี้ เราจึงตั้งใจให้เขาสามารถฝึกตัดเย็บพื้นฐานไปทีละขั้นพร้อมกับหารายได้ได้ทันที เพราะเมื่อเขาทำได้ดีในระดับหนึ่ง วิสาหกิจชุมชนก็จะจ้างงานต่อ” อาจารย์สาคร ระบุ


อาจารย์สาคร กล่าวเสริมว่า การทำหน้ากากอนามัยครั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายจะได้เรียนรู้เรื่องชนิดผ้า ว่าผ้าที่นำมาตัดเย็บแต่ละชนิดแตกต่างอย่างไร อย่างหน้ากากอนามัยต้องใช้ผ้ามัสลิน หรือผ้าฟูยี จะไม่ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไม่สามารถกรองเชื้อได้ ทุกขั้นตอนการทำเราจะเน้นเรื่องความปลอดภัย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ อีกประการหนึ่งคือทักษะการใช้เครื่องจักร โดยจักรบางชนิดต้องใช้เวลาสร้างทักษะ ทำความคุ้นเคย จึงจะสามารถใช้ผลิตงานให้มีคุณภาพได้ เรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลาและต้องมีวิทยากรเข้ามาสอนอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากผลิตหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานออกมาชุดแรก เราส่งมอบหน้ากากจำนวนหนึ่งให้กับบุคลากรในวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส รวมถึงมอบให้ กสศ. เพื่อใช้ในหมู่บุคลากรและส่งผ่านไปยังกลุ่มคนที่ขาดแคลน

“ส่วนผู้เข้ารับการอบรมเราวางแผนว่าเมื่อเขามีทักษะ เขาจะสามารถเข้าทำงานกับวิสาหกิจชุมชนได้ในช่วงเวลานี้ที่หน้ากากอนามัยกำลังขาดตลาด อย่างน้อยจะมีรายได้เบื้องต้น หรือหลังจากนี้หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อไป เขาก็ยังทำหน้ากากต่อไปได้เพราะหลายพื้นที่ทั่วประเทศยังต้องการอีกมาก พอถึงวันที่สถานการณ์ดีขึ้น หรือความต้องการหน้ากากถึงจุดที่เพียงพอแล้ว เราก็จะส่งเสริมด้านการตัดเย็บเสื้อผ้าต่อไป” อาจารย์สาคร กล่าว

ไม่ต่างกับ สหกรณ์การเกษตรพืชผักอินทรีย์หนองสนิท ต.หนองสนิท อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรในท้องถิ่นเพื่อจัดสรรพื้นที่ทำกิน ที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส หรือทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ของกสศ. ได้นำกลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงอายุ ผู้ยากจนด้อยโอกาส คนว่างงาน ผู้พิการ รวมถึงกลุ่มเยาวชนนอกระบบที่ขาดโอกาสทางการศึกษา เข้าฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพ


โฆษิต แสวงสุข ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักชุมชนหนองสนิท เปิดเผยว่า เดิมกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน ส่วนหนึ่งว่างงาน และอีกส่วนหนึ่งคือเกษตรกรที่ทำนา 1 ครั้งต่อปี ซึ่งจะมีช่วงเว้นว่างนานถึง 6 เดือน จึงชักชวนเกษตรกรเข้าทำโครงการอาหารปลอดภัยในโรงเรียน ก่อนได้รับอนุญาตจาก อบต. หนองสนิท ให้ใช้พื้นที่ 9 ไร่แบ่งให้สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีพื้นที่ทำกิน จากนั้นได้ขยายโอกาสไปยังกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาเข้าร่วมด้วย

เป้าหมายหลักของโครงการคือการสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้ทุกคนมีความรู้และต้องมีรายได้ที่ยั่งยืน ทางโครงการจึงมุ่งวางแผนทำกิจกรรมโดยให้ความสำคัญกับความต้องการของสมาชิกในกลุ่ม ให้ทุกคนได้นำเสนอความคิด โดยนำเกษตรกรที่มีประสบการณ์ในจังหวัดสุรินทร์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง รวมถึงสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ดิน น้ำ เมล็ดพันธุ์ กระบวนการผลิต การแปรรูป การตรวจรับรองมาตรฐานและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการบริหารจัดการ รวบรวมผลผลิต การขนส่ง และส่งเสริมการตลาด

“ตรงนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่เราบรรลุเป้าหมายหลักส่วนหนึ่งแล้วคือทำให้เกษตรกรมีรายได้ในทุก ๆ วัน อย่างน้อยต่อสัปดาห์เขาจะมีรายได้จากการขายพืชผัก สถานภาพเศรษฐกิจพวกเขาเริ่มคล่องตัวขึ้น ตอนนี้เรามีตลาดที่รับสินค้าประจำ ทั้งตลาดในชุมชนของแต่ละหมู่บ้าน โรงพยาบาลประจำอำเภอจอมพระ โรงเรียน และล่าสุดทาง ท็อปส์ มาร์เก็ต(Tops Supermarket) ให้นำสินค้าไปวางขาย และเตรียมที่จะไปวางในศูนย์ค้าส่งแม็คโคร(Makro) เพิ่มอีกแห่งหนึ่ง และมีคนเริ่มรู้จักสหกรณ์ฯเพิ่มขึ้น” โฆษิต กล่าว


ประธานกลุ่มสหกรณ์พืชผักหนองสนิท อธิบายต่อไปว่า ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คนสำรองอาหารระหว่างทำงานอยู่ในบ้าน ผักจึงกลายเป็นสินค้าที่ขายดี หรือหากโทรมาสั่งก็จะนำผักไปส่งในตัวเมืองสัปดาห์ละครั้ง จัดทำเป็นแพ็กเกจตามราคา มีเมนูภาพให้ผู้บริโภคเลือก เช่น กวางตุ้ง คะน้า ต้นหอม ฟักทอง ฟักเขียว จะรวมผักทุกชนิดที่สมาชิกในกลุ่มทำ แล้วให้ลูกค้าเลือกเมนูมาว่าใน 1 ชุด ต้องการผักอะไรบ้าง ให้ได้น้ำหนักตามราคาที่กำหนดไว้พร้อมคิดค่าขนส่ง นี่เป็นกลยุทธ์ที่เราปรับเพื่อรับมือกับโควิด-19 ในตอนนี้ และในอนาคตวางแผนจะเข้าสู่ตลาดออนไลน์อีกเช่นกัน หากใครสนใจสามารถโทรสั่งได้ที่เบอร์ 0852752882, 0892813157

ขณะที่ ชมพู ศรีเพชร สมาชิกสหกรณ์พืชผักอินทรีย์หนองสนิท กล่าวว่า ก่อนเข้าร่วมโครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐานมีเพียงรายได้จากการทำนาแล้วก็ว่างไปอย่างน้อย 6 เดือน จึงตัดสินใจเข้าร่วมกับสหกรณ์ เพื่อรับการสอนให้ปลูกผัก ทำเกษตรอินทรีย์ โดยรายได้ที่รับจากสหกรณ์ถือว่าช่วยครอบครัวได้มาก ไว้ใช้จ่ายเป็นค่ากินอยู่และเก็บไว้ให้ลูกไปโรงเรียน

“ถ้าไม่ได้ทำนาก็อยู่บ้านเฉย ๆ ตอนนี้เราได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการปลูกผัก ได้เอาไปขายที่สหกรณ์ มีผักไว้กินเอง ส่วนใหญ่มีเวลาก็มานั่งขายเองหน้าร้าน รายได้ที่เข้ามาทำให้ครอบครัวเราพออยู่ได้ ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนก็ถือว่าดีขึ้นเยอะ ส่วนช่วงนี้เราก็เดือดร้อนพอประมาณจากการระบาดของโควิด-19 ในตำบลก็เงียบ ตลาดหลายแห่งต้องปิด แต่เรายังมีกลุ่มคนซื้อที่มาซื้อครั้งละจำนวนมากไปเก็บไว้ หรือพ่อค้าแม่ค้าที่ทำอาหารส่งตามบ้านก็ติดต่อกับเราโดยตรง ทำให้เราขายได้ตลอด กับอีกทางหนึ่งคือจะเปลี่ยนไปขายออนไลน์ด้วย เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้อีกนานแค่ไหน” สมาชิกสหกรณ์พืชผักอินทรีย์หนองสนิท ระบุ


ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาส กล่าวว่า แผนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน คือการค้นหาพื้นที่นวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน(Community-based) ในการยกระดับการประกอบอาชีพ และพัฒนาทักษะแรงงานของคนในชุมชน เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ให้ความมั่นใจต่อการอยู่อาศัย โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ มุ่งเสริมความสามารถในการแข่งขันและศักยภาพการพัฒนาคนให้เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนประเทศ

“ปัจจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำเป็นฐานการดิสรัปชั่นของเทคโนโลยีในภาคการผลิต(Disruptive Technology) จนมาถึงปัจจัยสุดท้ายอันเป็นเหมือนตัวเร่งฉับพลัน คือการระบาดของโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน คนจำนวนมากจึงต้องตกงาน มีรายได้ไม่แน่นอน หลายคนจึงเลือกจะเดินทางกลับบ้านเกิด เมื่อระบบการละทิ้งถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่กำลังถูกท้าทาย มันจึงกลายเป็นโอกาสของชุมชนที่จะเติบโต และสร้างความเข้มแข็งด้วยการนำสิ่งที่มีอยู่เดิมมาผสมผสานกับสิ่งใหม่ ๆ” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว


ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาอาชีพโดยใช้ชุมชนเป็นฐานคือ เราต้องรู้จักชุมชนนั้น ๆ ว่ามีต้นทุนทางสังคมใดที่พัฒนาต่อยอดได้ ร่วมกับการวิเคราะห์ความต้องการของคนในชุมชน และต้องช่วยกันผลักดันคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้ประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชนรายใหม่ ๆ ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาท้องถิ่น ให้รับ-ส่งองค์ความรู้จากกลุ่มคนดั้งเดิมในชุมชนได้ ที่ผ่านมามีต้นแบบของชุมชนที่ประสบความสำเร็จจากการทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Smart Farmer) แล้วเช่นกัน
จากปี 2562 ที่โครงการริเริ่มขึ้น โดยมี 42 จังหวัดจากทุกภูมิภาค กับ 74 โครงการ ทั่วประเทศ หลังดำเนินงานต่อเนื่องถึงปี 2563 ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถตอบโจทย์ปัญหาสำคัญ ๆ ได้ โดยเฉพาะการปรับตัวต่อสถานการณ์ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่หลายโครงการเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง สร้างรายได้ให้กลุ่มสมาชิก และเป็นที่พึ่งพิงของกลุ่มคนที่ตัดสินใจกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฝึกทักษะอาชีพ มองหาช่องทางสร้างรายได้ และคิดถึงการอยู่ในชุมชนต่อไปในระยะยาว

“การใช้ชุมชนเป็นฐานคือการพัฒนาจากฐานราก ใจความสำคัญคือทำให้ทุกสิ่งในชุมชนสัมพันธ์กัน เอื้อต่อการใช้ชีวิตอยู่อย่างมั่นคง ไม่ใช่แค่เป็นทางออกในยามวิกฤติเท่านั้น เพราะอนาคตเรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของระบบตลาดแบบทุนนิยมอีกแน่นอน ดังนั้น เราจึงต้องสร้างหน่วยเล็ก ๆ อย่างชุมชนให้สามารถดึงดูดหรือรั้งคนมีความรู้ความสามารถให้เขาอยู่ในชุมชนได้ แล้วเมื่อวิกฤติผ่านไป เขาจะไม่จำเป็นต้องกลับไปหางานทำในเมืองอีก เขาจะอยู่ได้อย่างอุ่นใจ มีความสุข เกิดกระบวนการเรียนรู้ มีการผลิตคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งนั่นคือการคืนศักดิ์ศรีของความเป็นชุมชน ที่ทั้งคนในชุมชนเดิมและคนที่ต้องกลับไปอยู่บ้านสามารถภูมิใจได้” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น