xs
xsm
sm
md
lg

พักชำระ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” หนี้ไม่ลด-แค่แบ่งเบาภาระยามวิกฤต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักการเงินชี้มาตรการให้ความช่วยเหลือของสถาบันการเงิน แค่บรรเทาผลกระทบในช่วงสั้นเท่านั้น พักต้น-จ่ายดอก หนี้อยู่เท่าเดิม หากเลือกพักต้น-พักดอก ทำหนี้เพิ่ม เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาขาดรายได้เท่านั้น แต่ต้องทำใจรับสภาพ เลือกได้เท่าที่เจ้าหนี้เสนอ แนะคนที่ไม่ได้รับผลกระทบผ่อนตามปกติ

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในทั่วโลก คร่าชีวิตของผู้คนไปมากกว่า 1.3 แสนคน และสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย แม้จะมีบางประเทศประเมินว่าเหตุการณ์นี้ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว

วิธีการในการหยุดยั้งการแพร่กระจายของทุกประเทศไม่แตกต่างกัน นั่นคือการหยุดกิจกรรมการรวมตัว หรือพบปะกันของผู้คนในประเทศ ปิดช่องทางการติดเชื้อใหม่จากต่างประเทศ ด้วยคำสั่งและข้อห้ามของภาครัฐ ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็นการปิดประเทศหรือล็อกดาวน์ แต่มาตรการทั้งหมดคือแนวทางในการป้องกันการติดเชื้อที่แพร่จากคนสู่คน

ภายใต้การรับมือกับ COVID-19 รัฐบาลจะต้องเลือกระหว่างการเอาความปลอดภัยของประชาชนเป็นที่ตั้ง หรือจะแบ่งรับแบ่งสู้ด้วยการประคับประคองเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในทางปฏิบัติหากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจบอบช้ำมาก ก็ต้องลดมาตรการคุมเข้มทางด้านสาธารณสุขลง แต่จะส่งผลต่อการติดเชื้อภายในประเทศ และจำนวนผู้เสียชีวิตจากพิษของ COVID-19

รายได้หด-หนี้ไม่หด

ผลของการห้ามกิจการบางประเภทเปิดดำเนินการ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ นั่นหมายถึงทั้งผู้ประกอบธุรกิจและพนักงานที่อยู่ในข่ายต้องหยุดงาน ทำให้พนักงานที่รับค่าจ้างเป็นรายวันเหล่านั้นไม่มีรายได้ในช่วงที่รัฐมีคำสั่งห้าม รวมไปถึงคำแนะนำที่ให้ประชาชนอยู่ในเคหสถาน และหากเป็นไปได้ควรทำงานที่บ้าน นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงจากสภาพปกติ แม้ธุรกิจหลายประเภทที่ยังเปิดดำเนินการได้ แต่กำลังซื้อในส่วนนี้ได้ลดลงไป

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำรงชีพยังคงเดินหน้าต่อ ไม่ใช่เพียงแค่อาหารการกินในการประทังชีวิตเท่านั้น ภาระด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคลไม่ได้หยุดตามรายได้ที่หายไป บางคนมีภาระผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ผ่อนบัตรเครดิต-สินเชื่อ หรือผ่อนเงินกู้ยืมในการประกอบธุรกิจ

เมื่อรายได้หายไปจากมาตรการของรัฐที่ต้องการปกป้องชีวิตของประชาชนจากการแพร่ระบาด ทำให้คนที่อยู่ในข่ายต้องหยุดงานต่างประสบปัญหา กลุ่มทำงานในสังกัดของสำนักงานประกันสังคม ย่อมได้รับการชดเชยตามสิทธิ กลุ่มที่อยู่นอกประกันสังคม รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือรายละ 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน


เกณฑ์ขั้นต่ำช่วยลูกหนี้

ขณะที่ปัญหาเรื่องภาระหนี้สิน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อหาทางที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยมีแนวทางเกณฑ์ขั้นต่ำในการให้ความช่วยเหลือ ส่วนรายใดจะให้สิทธิประโยชน์ต่อลูกหนี้ก็สามารถทำได้

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ขยายวงกว้างไปยังประชาชนและธุรกิจในทุกภาคส่วน จึงต้องร่วมมือกันอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวข้ามภาวะที่ยากลำบากนี้ได้ จึงตกลงร่วมกันกับผู้ให้บริการทางการเงิน กำหนดมาตรการขั้นต่ำเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ใช้ผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อ ลีสซิ่ง สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ซึ่งยังไม่เป็นหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) มีผลตั้งแต่งวดการชาระหนี้ วันที่ 1 เมษายน 2563 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

บัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสดหมุนเวียน แนวทางช่วยเหลือลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ จากเดิม 10% เหลือ 5% ในปี 63-64 เพิ่มเป็น 8% ในปี 2565 และ 10% ในปี 2566 นอกจากนี้ ลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้ สินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่อนชำระเป็นงวด และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แนวทางช่วยเหลือ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน ส่วนผู้ให้บริการอื่นเลือกดำเนินการระหว่าง เลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือน หรือลดค่างวดอย่างน้อย 30% ของค่างวดเดิม เป็นเวลา 6 เดือน

สินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ วงเงินไม่เกิน 35,000 บาท รถทุกประเภท วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท และลีสซิ่ง มูลหนี้คงเหลือไม่เกิน 3 ล้านบาท แนวทางช่วยเหลือ ผู้ให้บริการเลือกดำเนินการระหว่างเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 เดือนหรือพักชำระหนี้เงินต้นเป็นเวลา 6 เดือน

สินเชื่อบ้าน วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจ SMEs ไมโครไฟแนนซ์ นาโนไฟแนนซ์ วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาท แนวทางช่วยเหลือพักชำระเงินต้น 3 เดือนและพิจารณาลดดอกเบี้ยให้ตามความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละราย


ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่มีสินเชื่อหลายประเภท สามารถได้รับความช่วยเหลือได้ทุกประเภทตามเงื่อนไข

ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งว่า ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือตามมาตรการนี้จะยังคงมีประวัติการชาระหนี้เป็นลูกหนี้ปกติในฐานข้อมูลเครดิตบูโร แต่ลูกหนี้ยังคงมีภาระการจ่ายชำระคืนหนี้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกับผู้ให้บริการทางการเงิน ส่วนลูกหนี้ที่ชำระหนี้ที่จะได้ตามปกติตามเงื่อนไขเดิม ผู้ให้บริการทางการเงินอาจให้สิทธิประโยชน์หรือเงื่อนไขพิเศษตามความเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงินที่ดี


หนี้บัตรเครดิต-ดอกเบี้ยสูง

นักการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า หนี้ในภาคบุคคลส่วนใหญ่แล้วจะมีบัตรเครดิต-สินเชื่อบุคคล บ้าน และเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ข้อตกลงที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้หารือกับสถาบันการเงินส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ส่วนใหญ่เป็นการเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในช่วงเวลา 3 เดือน หรือ 6 เดือน

ขณะที่แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้บัตรเครดิต ได้ปรับเกณฑ์ผ่อนชำระขั้นต่ำจากเดิม 10% ลดลงเหลือ 5% ในช่วง 2 ปีนี้ ปี 2565 ขยับขึ้นเป็น 8% และสู่เกณฑ์ปกติที่ 10% ในปี 2566 โดยลูกหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้

แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการช่วยลดภาระการผ่อนชำระต่อเดือนของลูกหนี้ลงในระยะนี้เท่านั้น จึงเหมาะกับผู้ที่ประสบปัญหาจนรายได้หายไปจากเดิม แต่จำนวนหนี้สินเดิมยังคงอยู่และระยะเวลาในการเป็นหนี้ต้องยืดออกไป ดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีอัตราที่สูง ส่วนช่องทางที่จะเปิดให้ลูกหนี้แปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวนั้น ต้องขึ้นอยู่กับผูู้ออกบัตรด้วยว่าจะมีแนวทางดังกล่าวออกมาหรือไม่


ออมสินรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต

เป็นที่ทราบกันดีว่า ดอกเบี้ยบัตรเครดิตมีอัตราสูงและยังมีค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงินอีก เราเห็นมีแค่ธนาคารออมสินที่เปิดรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตจากที่อื่น วงเงิน 10,000-100,000 บาท ชำระต่ำสุด 2.5% ของวงเงินอนุมัติ (ไม่น้อยกว่า 500 บาท) ผ่อนนาน 48 เดือน ฟรีค่าธรรมเนียมใช้วงเงินตลอดการผ่อนชำระ (4 ปี) อัตราดอกเบี้ยช่วง 4 ปีคิดที่ 8.5% สำหรับกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานลูกจ้างองค์กรของรัฐและผู้มีรายได้ประจำ ส่วนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ เจ้าของกิจการและผู้ประกอบการ SMEs คิดอัตราดอกเบี้ย 10.5% ช่วง 4 ปี

นับว่าเป็นทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการลดภาระหนี้บัตรเครดิตลง ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นวิธีการหาลูกค้าบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นของทางธนาคารออมสิน


ทุกค่ายพักต้น-ไม่พักดอก

ส่วนแนวทางช่วยเหลือด้วยวิธีเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไป 3 เดือนหรือพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือน สำหรับสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อรถนั้น ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าหนี้ว่าจะเสนอเงื่อนไขใดมาให้ลูกหนี้เลือก

สิ่งที่ควรทราบนั่นคือ การเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยออกไปนั้น ตัวดอกเบี้ยยังคงเดินหน้าต่อ เรียกว่า "พักชำระเงินต้นแต่ไม่ได้พักชำระดอกเบี้ย" แม้ในช่วง 3 เดือนที่ลูกหนี้ไม่ต้องชำระหนี้ และเมื่อพ้นช่วงดังกล่าวเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างไว้ในช่วง 3 เดือนก็จะถูกคิดในเดือนถัดไป

ส่วนการพักชำระหนี้เงินต้น 6 เดือนนั้น หมายความว่าไม่ต้องจ่ายเงินต้นในแต่ละงวด แต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยตามงวดปกติ เพียงแค่ยอดในการเรียกเก็บต่องวดจะลดลง เพราะเป็นการเก็บเฉพาะตัวดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นยังคงค้างอยู่ตามเดิม

ในกรณีผู้ที่มีภาระเรื่องผ่อนชำระบ้าน มีหลายข้อเสนอจากสถาบันการเงิน ทั้งพักเงินต้นผ่อนเฉพาะดอกเบี้ย ซึ่งก็เป็นวิธีการเดียวกันกับสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อเช่าซื้อ ธนาคารบางแห่งช่วยเหลือเพิ่มด้วยการลดดอกเบี้ยลงอีก 0.4-0.5% สำหรับในช่วงเวลานี้

ล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มีแนวทางพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 4 เดือน นั่นคือลูกหนี้ของ ธอส. ไม่ต้องจ่ายค่างวดบ้าน 4 เดือนทั้งต้นและดอก แต่ไม่ได้หมายความว่าธนาคารจะไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 4 เดือนนี้ เห็นได้จากเงื่อนไขที่ ธอส.ระบุมาว่า ดอกเบี้ยที่พักไว้หลังจากที่ครบระยะเวลาพักชำระหนี้ 4 เดือน ลูกค้าต้องทยอยผ่อนชำระเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้ครบภายในระยะเวลา 24 เดือน

ปัญหาในขณะนี้คือ ลูกหนี้แต่ละรายที่เลือกขอสินเชื่อจากบริษัทหรือสถาบันการเงินตามสัญญากู้นั้น อาจมีโปรโมชันในการให้ความช่วยเหลือแตกต่างกันไปบ้าง บางรายอาจให้เงื่อนไขที่ดีกว่าอีกรายแต่ลูกหนี้ก็ไม่สามารถย้ายได้ เพราะสถาบันการเงินอื่นไม่มีการเปิดโอนย้ายหรือรับรีไฟแนนซ์หนี้เหล่านี้ และภาครัฐก็ไม่มีสถาบันการเงินของรัฐเป็นศูนย์กลางในการรับรีไฟแนนซ์เช่นกัน

ส่วนแนวทางของสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ เป็นเพียงการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 เท่านั้น ลูกหนี้ที่ไม่มีทางเลือกก็ต้องรับสภาพ ประคองตัวให้พ้นสถานการณ์นี้ไปก่อน ส่วนลูกหนี้ที่ไม่ประสบปัญหาควรผ่อนชำระตามปกติ เพราะแนวทางช่วยเหลือที่เสนอมาสุดท้ายลูกหนี้ก็ต้องเป็นฝ่ายรับภาระที่เกิดขึ้นอยู่ดี


กำลังโหลดความคิดเห็น