เปิดปม ! สารพัดโครงการ “หากิน”กับกองทัพ จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ส่วนต่างนับหมื่นล้าน ท่ามกลางข้อครหาไม่คุ้มค่า-ราคาเกินจริง โครงการสวัสดิการทหาร รีดเลือดจากลูกน้อง ตั้งแต่ซื้อบ้าน ยันซื้อปืน แฉ สมัครทหารพรานเอาสวัสดิการ ส่วนเงินเดือนเข้ากระเป๋า“นาย” พบธุกิจของ “บิ๊กทหาร” และเครือญาติ มีผลประโยชน์ทับซ้อน “อดีต เลขา สมช.” ชี้ควรให้หน่วยงานกลางดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ป้องกันทุจริต
กรณีโศกนาฏกรรมที่จ่าทหารใช้อาวุธสงครามกราดยิงประชาชนในห้างเทอมินอล 21 จ.นครราชสีมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก แต่สิ่งที่สังคมให้ความสนใจในขณะนี้คือเบื้องลึกเบื้องหลังที่กดดันให้นายทหารผู้นี้ก่อเหตุ ซึ่งพบว่าประเด็นสำคัญมาจากการใช้อำนาจของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ทำมาหากินกับโครงการสวัสดิการเงินกู้สำหรับซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัยให้ทหาร และนี่ไม่ใช่ที่เดียวที่มีการหากินกันในลักษณะนี้
ขณะเดียวกันยังมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพอีกไม่น้อยที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัย เมื่อผนวกกับการให้อภิสิทธินายทหารระดับบิ๊กเข้าไปดำรงตำแหน่งในภาคส่วนต่างๆทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงก็ยิ่งนำไปสู่ข้อครหา และคำถามที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ ? เข้าไปทำมาหากินหรือเปล่า ? เพราะเมื่อเปิดบัญชีทรัพย์สินของบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็พบว่าหลายคนมีทรัพย์สินงอกเงยขึ้นมาเป็นร้อยล้านพันล้านอย่างไม่มีที่มาที่ไป
แหล่งข่าวซึ่งเป็นอดีตนายทหาระดับสูง ยอมรับว่า ปัญหาการทำหากินในกองทัพนั้นมีมานานแล้ว แต่ผู้ใหญ่ไม่ยอมแก้ไข และหากจำกันได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาก็มีกรณีอื้อฉาวของหลานชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จดทะเบียนบริษัทในกองทัพภาค 3 ประมูลโครงการก่อสร้างของกองทัพ และมีข้อครหาเรื่องฮั้วประมูลด้วย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แต่ผู้ใหญ่ในกองทัพบอกว่าการจดทะเบียนในค่ายทหารสามารถทำได้ เรื่องการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็เป็นอีกประเด็นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันมาก อย่างเช่น กรณีจัดซื้อเรือดำน้ำ
“นายทหารเขาก็มองว่าในเมื่อลูกหลานของผู้บริหารสูงสุดในบ้านเมืองทำได้ เขาก็ทำได้ ตัวใหญ่ก็ทำบริษัทประมูลโครงการ ตัวเล็กก็จัดสรรที่ดินไป ผมว่ากรณีแบบนี้มันทำให้กองทัพมัวหมอง ถ้าทหารจะทำอาชีพเสริม จะทำงานนอกเวลา ก็ควรทำกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับกองทัพ คิดว่ายังมีธุรกิจอื่นๆที่หากินกันในกองทัพอีกเยอะ ได้ยินว่ามีการสมัครทหารพรานเพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการเป็นข้าราชการ แต่ยกเงินเดือนให้นาย แล้วตัวเองไม่ต้องทำงาน เราปล่อยให้กองทัพมาถึงจุดนี้ได้ยังไง ” แหล่งข่าว ระบุ
ทั้งนี้ โครงการหลักๆที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าอาจเป็นการ “หากินกับกองทัพ” ได้แก่
1) “การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์” โดยมีการตั้งข้อสังเกตทั้งในเรื่องของความจำเป็นและราคาที่สูงเกินจริง จนนำไปสู่ข้อครหาเรื่องการคอร์รัปชั่น กินเปอร์เซ็นส่วนต่าง อาทิ
โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ 3 ลำ รุ่น Yuan Class S 26 Tจากจีน ของกองทัพเรือ ซึ่งอนุมัติจัดซื้อในยุครัฐบาล คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีการตั้งงบประมาณไว้ 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อซื้อเรือดำน้ำในเงื่อนไข “2 ลำ แถม 1 ลำ” ขณะที่วงในระบุว่าราคาที่พูดคุยกันอยู่ที่ประมาณลำละ 8 พันล้านบาท ส่วนราคาขายจริงประมาณ 12,000ล้านบาท หากซื้อ 2 แถม 1 จะใช้งบประมาณ 24,000 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่างบที่ตั้งไว้กว่าหมื่นล้าน นอกจากนั้นโครงการนี้ยังถูกวิจารณ์ถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าเนื่องจากปัจจุบันภูมิภาคอินโดจีนไม่ได้มีการทำสงครามสู้รบเหมือนในอดีต แต่เป็นการทำสงครามการค้าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเชิงเศรษฐกิจ
การจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์ AH-6i จากสหรัฐฯ ซึ่งกองทัพบกไทยมีดีลตั้งแต่ปี 2554 แต่เพิ่งได้รับอนุมัติขายจากกลาโหมสหรัฐฯ ในปี 2562 โดยไทยซื้อทั้งหมดจำนวน 8 ลำ พร้อมอาวุธและอุปกรณ์เสริม คิดเป็นเงิน 4.2 พันล้านบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2557 เอกสารกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุว่า เฮลิคอปเตอร์รุ่นเดียวกันที่สหรัฐขายให้แก่กองทัพซาอุดีอาระเบีย จำนวน 24 ลำ (มากกว่าไทย 3 เท่า) พร้อมเครื่องมือสนับสนุนภาคพื้นดินนั้น มีราคารวมเพียง 7.4 พันล้านบาท
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย มองว่า ปัญหาความมั่นคงของไทยที่ชัดเจนจริงๆก็คือการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังนั้นหากรัฐบาลนำเงินที่จัดซื้อเรือดำน้ำไปใช้ในการจัดซื้อเสื้อเกราะ อาวุธประจำกาย และเครื่องใช้จำเป็นให้แก่ทหารและอาสาสมัครในพื้นที่ก็ดูจะมีประโยชน์มากกกว่า
2) “โครงการสวัสดิการต่างๆของทหาร” เป็นหนึ่งในโครงการที่ถูกจับตาว่าเป็นช่องทางในการหากินในกองทัพและยากที่จะตรวจสอบ เนื่องจากเป็นโครงการที่มีความเกี่ยวพันระหว่างนายทหารชั้นผู้ใหญ่และผู้ใต้บังคับบัญชา จึงไม่มีใครกล้า “แฉนาย” ที่มีอำนาจให้คุณให้โทษ
อาทิ โครงการสวัสดิการเงินกู้สำหรับซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัยให้ทหาร ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ โดยผู้ที่เข้ามาหากินกับโครงการนี้ก็คือนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งบางรายอาจให้ภรรยาหรือเครือญาติเป็นผู้ดำเนินการแทนในลักษณะนายหน้าที่ประสานระหว่างเจ้าของที่ดินหรือเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรรกับนายทหารชั้นผู้น้อยที่จะเป็นผู้ซื้อบ้าน หรืออาจมีนายทหารชั้นผู้น้อยบางคนมาช่วยเดินนายหน้าให้นายด้วย โดยทหารชั้นผู้น้อยที่จะซื้อบ้านจะทำเอกสารสัญญากู้ภายใต้โครงการสวัสดิการเงินกู้ของกองทัพ และมี “นาย” ซึ่งเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ช่วยอำนวยความสะดวกในขั้นตอนนี้ วงเงินที่กู้ได้มักสูงราคาบ้าน จึงมีเงินส่วนต่างที่ทหารชั้นผู้น้อยสามารถเก็บไว้ใช้จ่ายหรือใช้ในการตกแต่งบ้าน ขณะที่ทหารชั้นผู้ใหญ่ เครือญาติ และทหารที่ช่วยเดินนายหน้าก็จะได้ค่านายหน้าจากเจ้าของโครงการ ว่ากันว่าโครงการในลักษณะนี้ทำกันในหลายพื้นที่ และมีมานานกว่า 20 ปีแล้ว
โครงการปืนสวัสดิการทหาร โดยมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ นำปืนที่สามารถซื้อภายใต้โครงการ สน.สก. หรือโครงการจัดหาอาวุธปืนเพื่อสวัสดิการ โดยมีสำนักการสอบสวนและนิติกร เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว มาให้ทหารในหน่วยจองซื้อ แต่ขอเรียกเก็บค่าดำเนินการ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 5,000 นับเป็นการหารายได้แบบจับเสือมือเปล่า
พล.ท.ภราดร ชี้ว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วจะแยกโครงการสวัสดิการต่างๆของกองทัพออกมาโดยมีหน่วยงานกลางของรัฐบาลกลางเป็นผู้ดูแล ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวจะมีความชำนาญในการจัดซื้อจัดจ้าง และมีหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งนอกจากจะทำให้กองทัพสามารถทำหน้าที่ด้านความมั่นคงได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังป้องกันปัญหาเรื่องการตรวจสอบการทุจริตเพราะไม่มีระบบโซตัส และลำดับชั้นความลับแบบทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง
“ผลประโยชน์ทับซ้อน” ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางทำมาหากินในกองททัพ โดยผู้ที่ดำเนินการมักเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีธุรกิจซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ อาทิ
กรณีที่ถูกพูดถึงกันมากอย่าง คือ การจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจัด (หจก.) คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น ของนายปฐมพล จันทร์โอชา บุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตแม่ทัพภาค 3 ซึ่งเป็นน้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่านอกจากจะจดทะเบียนในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งเป็นค่ายทหารแล้ว ยังได้โครงการใหญ่ของกองทัพภาคที่ 3 มาดำเนินการ ทั้งที่เป็นบริษัทใหม่และจดทะเบียนในมูลค่าที่ไม่สูงมาก โดยเป็นคู่สัญญารับเหมาก่อสร้างกับหน่วยงานภาครัฐในช่วงเวลา 2 ปี จำนวนถึง 16 โครงการ มูลค่ารวม 16,142,000 บาท แบ่งเป็น 1) คู่สัญญากับกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 9 สัญญา วงเงินรวม 107,905,000 บาท (7 พ.ค. 2557 - 25 เม.ย. 2559) 2) คู่สัญญากับสำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 9 กรมทรัพยากรน้ำ 1 โครงการ 44,887,000 บาท (5 มี.ค. 2558) และ 3)งานรับเหมาก่อสร้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิษณุโลก 6 โครงการ วงเงินรวม 16,142,000 บาท
อีกทั้งยังมีข้อครหาเรื่องการฮั้วประมูล เนื่องจากพบว่า ในขั้นตอนการประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละโครงการนั้นมีผู้เสนอเป็นนิติบุคคลรายเดิมๆ รวม 9 ราย โดยแต่ละโครงการจะมีผู้เสนอราคา 4-6 ราย และแต่ละราย จะเสนอราคาใกล้เคียงกันมาก บางโครงการต่างกันแค่หลักพันเท่านั้น และผู้แพ้ในโครงการที่บริษัทของนายปฐมพลชนะ จะเป็นผู้ชนะในโครงการอื่น ที่มี หจก.คอนเทมโพรารี่ฯ ของนายปฐมพลเข้าร่วมประกวดราคาด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้โครงการเหล่านี้จะถูกยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปราการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ตรวจสอบ แต่เรื่องก็เงียบหายไปกับสายลม
อีกประเด็นหนึ่งที่คนวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือการเข้าสู่เส้นทางการเมืองของทหารในยุครัฐบาล คสช. ที่แปลงร่างเป็นรัฐบาลพลังประชารัฐในปัจจุบัน เนื่องจากมีการใช้อำนาจจากการรัฐประหารออกกฎหมายและวางเครือข่ายไว้ในองค์กรต่างๆ เพื่อควบรวมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด จนทำให้กระบวนการตรวจสอบไม่สามารถทำงานได้ และหลายองค์กรกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ แน่นอนว่ากรณีนี้ถือเป็นเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ที่ชัดเจนอย่างยิ่ง
พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าตอนนี้คนเกลียดทหารกันมาก บ่นว่าทำไมทหารเป็นอย่างนี้ ทำไมเศรษฐกิจแย่อย่างนี้ เอายามมาปกครองประเทศหรือเปล่า ที่จริงถ้าทหารจะมาทำงานการเมืองก็ไม่แปลก แต่ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ แต่ถ้าขึ้นมาบริหารประเทศแล้วไม่มีความรู้ เศรษฐกิจย่ำแย่ คอร์รัปชั่นเกิดขึ้นเต็มไปหมด มันก็เสียถึงกองทัพ