นักวิชาการ ติง โครงการแก้ภัยแล้งเหลว เหตุไม่ศึกษาธรณีวิทยา “ดร.ไชยณรงค์” ชี้ ขุดบ่อบาดาลในอีสาน ทำให้เกลือใต้ดินกระจาย น้ำประปากลายเป็นน้ำกร่อย เรียกร้องนายกฯ เจรจารัฐบาลลาวเปิดเขื่อนไซยะบุรี ด้าน “ประสิทธิ์ชัย” ระบุ ขุดลอกแม่น้ำลำคลอง ต้นเหตุน้ำภาคใต้แห้งเหือด เพราะไม่มีแอ่งอุ้มน้ำ ซ้ำตลิ่งพัง ขณะที่ “หาญณรงค์” จี้ จับตา 11 โครงการผันน้ำ ผลาญงบ กระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งข้อสังเกต ส.ส. ดัน รมช.เกษตรฯ นั่งประธาน กมธ.
“ปัญหาภัยแล้ง”นับเป็นหนึ่งในปัญหาหนักที่คาดว่าจะเกิดในปีนี้ มีคำเตือนจากหลายฝ่ายให้ประชาชนเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ขณะเดียวกันก็มีคำถามตามมาว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีภัยแล้งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละปีก็มีการทุ่มงบหลายหมื่นล้านในการดำเนินโครงการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ มีการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีผลบังตับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2562 แต่เหตุใดดูเหมือนภัยแล้งกลับไม่ได้ถูกแก้ไขอย่างจริงจัง หนำซ้ำกลับแห้งแล้ง “หนักขึ้น” ทุกปี
ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี แม้ปริมาณน้ำที่ใช้การได้ในช่วงต้นฤดูแล้ง จะใกล้เคียงกับปี 2558 คือ 5,100 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำที่สูญหายมีมากกว่า และภัยแล้งจะหนักมากในเขตภาคกลางที่ไม่มีน้ำอยู่เลย ถ้ามีเกณฑ์เสี่ยงที่คาดว่าภัยแล้งจะเข้าขั้นวิกฤตระดับ 3 และพบว่ามีการลักลอบสูบน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรเกินความจำเป็น อาจมีโทษสูงถึงจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ” นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุ
จึงมีคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้น ? มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้งที่รัฐบาลดำเนินการตลอดหลายปีที่ผ่านมาถูกต้องหรือไม่ ? และเราควรทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ซึ่งติดตามและเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ชี้ว่า ที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลและหน่วยราชการต่างๆมุ่งที่จะแก้ปัญหาการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ วางแผนโครงการอยู่ในห้องแอร์ ไม่ได้ลงไปสำรวจสภาพพื้นที่จริง โครงการออกมาเหมือนกันทั้งประเทศทั้งที่สภาพแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ที่สำคัญยังแก้ปัญหาน้ำโดยเอา “โครงการก่อสร้าง” เป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้พิจารณาถึงระบบนิเวศน์ ทั้งสภาพดิน น้ำ ป่า และสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในระบบ ไม่ได้พิจารณาความเหมาะสมของโครงการ ผลกระทบที่เกิดกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม โครงการไม่มีความสัมพันธ์กับศักยภาพของลุ่มน้ำ ไม่ได้มีการติดตามประเมินผลว่าโครงการก่อสร้างดังกล่าวแก้ปัญหาน้ำได้จริงหรือไม่ น้ำท่วมก็สร้างเขื่อน ภัยแล้งก็สร้างเขื่อน ไทยมีเขื่อนเต็มประเทศแต่น้ำก็ยังท่วม หน้าแล้งก็ยังมีปัญหาขาดแคลนน้ำ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเขื่อนไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้
ในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์2 หรือรัฐบาลพลังประชารัฐ ก็มีการอนุมัติงบประมาณ 15,800 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม โดยจัดสรรให้ 76 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 200 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่จะทำโครงการขุดบ่อบาดาล ขุดลอกแหล่งน้ำ ขุดกันทั่วประเทศแต่แทนที่หน้าแล้งจะมีน้ำใช้มากขึ้น กลับปรากฎว่าการขุดบ่อบาดาลล้มเหลว แหล่งน้ำที่ขุดลอกจากเดิมที่มีปริมาณน้ำน้อยกลับกลายเป็นน้ำแห้งขอด ไม่มีน้ำเลย เป็นแบบนี้แถบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งนี้เพราะไม่มีการศึกษาภูมินิเวศน์ ทำโครงการโดยไม่มีความรู้
“ยกตัวอย่าง โครงการขุดลอกแม่น้ำใน จ.ระนอง และ จ.พังงา ขุดปุ๊บตลิ่งพังครืนลงมา ยิ่งทำให้ลำน้ำตื้นเขิน ขุดบ่อบาดาลในอีสานทำให้เกิดปัญหาน้ำกร่อย นำน้ำมาใช้ไม่ได้ ทั้งนี้เพราะหน่วยงานที่ทำโครงการไม่ได้ศึกษาสภาพแหล่งน้ำ คิดแค่ว่าถ้าขุดบ่อจะมีน้ำ ถ้าขุดลอกแหล่งน้ำจะทำให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้น แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงกลายเป็นโครงการผลาญงบและซ้ำเติมปัญหาน้ำแล้ง” นายหาญณรงค์ ระบุ
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมที่ติดตามปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคอิสานมายาวนาน ซึ่งระบุว่า ปัญหาภัยแล้งในภาคอีสานนั้นถูกปั่นให้ดูรุนแรงเกินจริงเพื่อที่จะตั้งโครงการ อนุมัติงบมาแก้ปัญหา ทั้งที่ความจริงเป็นแค่การขาดแคลนน้ำในบางพื้นที่หรือบางช่วงเวลาซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยการจัดการแห่งน้ำให้เหมาะกับพื้นที่ จึงไม่ควรใช้คำว่าภัยแล้ง อีกทั้งโครงการที่ลงมาก็ไม่ตอบสนองการแก้ปัญหา
ที่เห็นชัดคือ โครงการขุดบ่อบาดาล จากงบโครงการแก้ปัญหาแก้ภัยแล้งและน้ำท่วม ที่จัดสรรให้จังหวัดละ 200 ล้าน ในการขุดบ่อจะขุดแบบมั่วไปหมด ไม่มีการศึกษาด้านธรณีวิทยา ไม่ได้ศึกษาสภาพดินและลักษณะชั้นใต้ดิน หลายพื้นที่ขุดเท่าไหร่ก็ไม่เจอน้ำ ชาวบ้านจะรู้ดีว่าการขุดบ่อบาดาลจะต้องขุดบริเวณพื้นที่ดินเหนียว เมื่อเจอน้ำจึงจะสามารถอุ้มน้ำไว้ได้ แต่ราชการไปขุดบริเวณดินทราย ถึงจะเจอน้ำใต้ดินก็เอาขึ้นมาใช้ไม่ได้ เพราะดินทรายจะทลายลงด้านล่างตลอดเวลา นอกจากนั้นภาคอีสานจะมีเกลือผิวดินและเกลือใต้ดินอยู่เยอะ การขุดบ่อลึกลงไปในบริเวณที่มีเกลือจะทำให้เกลือกระจายไปในชั้นดินเป็นบริเวณกว้าง นอกจากน้ำที่ขุดเจอจะใช้ไม่ได้แล้วเกลือที่แพร่กระจายออกไปยังทำให้น้ำตามแหล่งน้ำกลายเป็นน้ำกร่อยและส่งผลกระทบต่อน้ำที่ใช้ทำน้ำประปา ทำให้น้ำประปากร่อยหรือเค็มอีกด้วย
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคอีสานในปัจจุบันมีเพียง 7 จังหวัด ที่อยู่ติดลำน้ำโขง ซึ่งปัญหาเกิดจากเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาวไม่ปล่อยน้ำลงมา ซึ่งปัญหานี้ต้องแก้ด้วยการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาว แต่ที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้สนใจที่จะไปเจรจา
“ เห็นชัดเลยว่าโครงการแก้ปัญหาน้ำของรัฐแก้ปัญหาไม่ได้ และไม่ตรงกับความต้องการ เพราะไม่ทำสิ่งที่ควรจะทำ โครงการจากงบ 1.5 หมื่นล้าน ซึ่งอนุมัติเมื่อปี 2562 ที่นำมาขุดบ่อบาดาล ปรากฏว่า จ.ศรีสะเกษ ขุดแล้วน้ำหายหมด ที่ จ.อุดรธานี และ จ.มหาสารคาม เกิดปัญหาน้ำกร่อย ล่าสุดการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2563 กลับมีการอนุมัติงบกลาง 3 พันล้าน เพื่อใช้ขุดบ่อบาดาล 500 บ่อ หรือในขณะที่น้ำโขงแห้งขอด กลับมีนักการเมืองบางกลุ่มเสนอโครงการโขง-ชี-มูล ใช้งบ 2 ล้านล้าน เพื่อจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาลงแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลในช่วงหน้าแล้ง ถามว่าแม่น้ำโขงไม่มีน้ำจะเอาน้ำที่ไหนมาผัน” ดร.ไชยณรงค์ กล่าว
ขณะที่ นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคใต้ ได้วิพากษ์ถึงการดำเนินโครงการขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่ภาคใต้เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาล ว่า เป็นโครงการที่สร้างปัญหา เนื่องจากมีการขุดลอกแม่น้ำลำคลองอย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลให้น้ำแม่น้ำลำคลองเหือดแห้ง เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วแม่น้ำคูคลองต่างๆจะมีความคดโค้ง ช่วยชะลอการไหลของน้ำ มีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมสองฝั่งตลิ่งซึ่งจะช่วยยึดหน้าดิน ส่วนใต้ท้องน้ำจะมีลักษณะลึก-ตื้นไม่เท่ากัน มีดินเลนปกคลุมซึ่งช่วยอุ้มน้ำและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ ช่วงหน้าแล้งใต้ท้องน้ำส่วนที่ลึกจะยังคงมีน้ำขังเป็นช่วงๆ น้ำไม่ได้แห้งหายไปหมด แต่เมื่อมีการขุดลอกแม่น้ำลำคลองแบบไถตรง กวาดทุกอย่างที่ขวางหน้า สภาพนิเวศน์ที่เกิดขึ้นใหม่คือ ต้นไม้ใบหญ้าริมตลิ่งหายหมด ความคดโค้งของแม่น้ำลำคลองหายไป ก้นแม่น้ำลำคลองกลายเป็นราบเรียบเท่ากันหมด ดินเลนซึ่งมีแร่ธาตอาหารและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือเวลาหน้าน้ำ น้ำจะไหลเร็วแรงและไหลลงทะเลหมด เพราะก้นลำน้ำไม่มีแอ่งให้น้ำขัง ไม่มีเลนช่วยอุ้มน้ำทำให้น้ำก้นคลองซึมลงดินหมด ตลิ่งพังเพราะไม่มีต้นไม้ช่วยยึด พอหน้าแล้งน้ำจึงแห้งขอดหมด ไม่มีน้ำเหลืออยู่เลย
“ สภาพที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ชาวบ้านในหลายพื้นที่ของภาคใต้กำลังประสบอยู่ โครงการที่ลงมานอกจากไม่ได้แก้ปัญหาแล้วยังมาสร้างปัญหาด้วย การขุดลอกไม่ถูกวิธีทำให้น้ำหายไปหมด สัตว์น้ำก็สุ่มเสียงที่จะสูญพันธุ์ ถามว่าใครจะรับผิดชอบ” นายประสิทธิ์ชัย กล่าว
นอกจากนั้นยังมีประเด็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งคือความพยายายามในการผลักดันโครงการผันน้ำของเหล่านักการเมืองในสภา โดย ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำฯ ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ขณะนี้มีความผิดปกติอย่างยิ่งที่นักการเมืองในสภาทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้ายฮั้วกันตั้งกรรมาธิการเพื่อผลักดันโครงการผันน้ำในพื้นที่ต่างๆ โดยมีกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการผันน้ำเกิดขึ้นพร้อมกันในวันเดียวถึง 19 คณะ ซึ่งกรรมาธิการเหล่านี้ร่วมกันเสนอโครงการผันน้ำในพื้นที่ต่างๆของประเทศ รวมแล้วถึง 11 จุด
เช่น โครงการโขง-ชี-มูล ที่จะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมาลงแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นโครงการที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้วเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้อต่อการผันน้ำ โครงการผันน้ำจากแม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวิน ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างถึง 7 หมื่นล้าน เพราะต้องสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเมย จ.ตาก และเขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ที่ จ.แม่ฮ่องสอน แล้วสูบน้ำผ่านอุโมงค์ที่เจาะรอดภูเขา ระยะทางกว่า 90 กิโลเมตร แล้วสร้างเขื่อนรับน้ำอีก 1 เขื่อน ก่อนที่จะผันน้ำลงมายังเขื่อนภูมิพล สร้างเสร็จต้องมีค่าใช้จ่ายในการผันน้ำอีกปีละ 2 พันล้าน นอกจากจะเป็นโครงการที่ทำลายระบบนิเวศน์และวิถีชีวิตชุมชนใต้เขื่อน เพราะชาวบ้านต้องอพยพออกนอกพื้นที่แล้ว ยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุนอีกด้วย
“ ต้องบอกว่าตอนนี้การเมืองไทยไม่ปกติ ที่จริงแล้วกรรมาธิการในสภามีหน้าที่แค่ให้ข้อเสนอแนะ ไม่ได้มีหน้าที่เสนอโครงการ นี่กลับเสนอโครงการแบบเดียวกัน พร้อมกันหมด ทั้งฝ่าย ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำ เสนอให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร เป็นประธาน กมธ. ทั้งที่บทบาทของรัฐมนตรีไม่ควรมานั่งเป็นกรรมาธิการในสภา ทั้งนี้ก็เพื่อต้องผลักดันโครงการผันน้ำจากแม่น้ำเมย และแม่น้ำสาละวินมาใช้ นอกจากนั้นยังให้ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเคยผลักดันโครงการนี้มาก่อน เป็นรองประธานฯ ส.ส.ที่เป็นกรรมาธิการก็ไม่มีความรู้อะไรเลย น่าตกใจมาก เขาถามว่าการประเมินความคุ้มค่าของโครงการคืออะไร ทำไปทำไม ศึกษาผลกระทบสิ่งล้อมเหรอ ไม่ต้องทำหรอก ทำให้โครงการล่าช้า ”
นอกจากการจัดทำโครงการต่างๆแล้ว พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ยังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกเรื่องการรวมศูนย์อำนาจในการจัดการน้ำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำในอนาคต
นายประสิทธิ์ชัย เห็นว่า โครงสร้างของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ ที่ให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาด จะส่งผลกระทบในอนาคตโดยเฉพาะหากเกิดวิกฤตน้ำแล้งอำนาจในการตัดสินใจว่าจะจัดสรรน้ำไปให้ใคร ภาคอุตสาหกรรมหรือการเกษตร ล้วนอยู่ที่นายกฯ และเมื่อดูจากท่าทีของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในปัจจุบันก็เห็นมีแต่โครงการที่จัดสรรน้ำในกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะที่ให้ภาคการเกษตรลดการใช้น้ำ ดังนั้นควรมีการแก้ไขกฎหมายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเป็นเป็นผู้ตัดสินใจจัดสรรน้ำในแต่ละพื้นที่เอง ไม่เช่นนั้นอาจมีสงครามแย่งชิงน้ำเกิดขึ้นในอนาคต