xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมกายต่อยอด”ทุ่งเบญจทรัพย์”ชวนร่วมกิจกรรมบุญ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ธรรมกายมาเหนือเมฆ ต่อยอดสวนทุ่งสวรรค์ ตะวันใส ที่ปลูกต้นเบญจมาศสำหรับกิจกรรมธรรมยาตรา หลังเฟสบุ๊ก Unseen Tour Thailand นำไปขยายผล จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ใกล้กรุงเทพ วัดสบช่องเปิดชมฟรีตลอดเดือนมกราคม สร้างจุดถ่ายรูปสวย ๆ ล่อใจ แต่มีเงื่อนไขชวนร่วมกิจกรรมบุญกับทางธรรมกาย สวดธรรมจักร นั่งสมาธิ และปิดแผ่นทองหลวงปู่พระผู้ปราบมาร เวียนประทักษิณ บูชาพระมหาธรรมกายเจดีย์ และร่วมกิจกรรมในเส้นทางธรรมยาตราได้ คาดงานนี้ได้ผู้ศรัทธาหน้าใหม่ไม่น้อย


โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ 8 “รักษ์บวร รักษ์ศีล 5” ถวายเป็นพุทธบูชาและบูชาธรรมมหาปูชนียาจารย์ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2-31 มกราคม 2563ของวัดพระธรรมกาย ที่กำลังดำเนินอยู่ในเวลานี้ กิจกรรมในปีนี้ไม่ต่างไปจากปีก่อน เป็นการเดินทางไปยังสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อสด ที่สำเร็จวิชาธรรมกาย จนทางวัดพระธรรมกายได้นำเอาหลักการนี้มาเป็นตัวชูโรงในการสอนบรรดาศิษยานุศิษย์

7 สถานที่สำคัญในเส้นทางพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี(สด จนทสโร) ประกอบด้วย

1.อนุสรณ์สถานมหาวิหารพระมงคลเทพมุนี สถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

2.อนุสรณ์สถานคลองบางนางแท่น สถานที่ตั้งมโนปณิธานบวชตลอดชีวิต อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

3.วัดสองพี่น้อง พระอารามหลวง สถานที่เกิดใหม่ในสมณะ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

4.วัดโบสถ์บน สถานที่เกิดใหม่ด้วยกายธรรม อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

5.อนุสรณ์สถานบางปลา สถานที่เผยแผ่วิชาธรรมกายครั้งแรก อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม

6.วัดปากน้ำ พระอารามหลวง สถานที่ค้นคว้าและเผยแผ่วิชาธรรมกาย เขตภาษีเจริญ กรุงเทพ

7.วัดพระธรรมกาย สถานที่ขยายวิชาธรรมกาย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

นับเป็นอีกปีหนึ่งที่ธรรมยาตราของวัดพระธรรมกายในครั้งนี้ ไม่ได้มีการเดินธุดงค์ของพระสงฆ์ตามท้องถนนเหมือนในอดีต การทำกิจกรรมเป็นการใช้รถยนต์เคลื่อนพระและลูกศิษย์ไปทำกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ มีการจัดพื้นที่ให้พระจำนวน 1,136 รูปได้เดินโดยมีลูกศิษย์โปรยกลีบดอกไม้ พระที่ร่วมกิจกรรมจะจำวัดและร่วมกิจกรรมในเชิงช่วยเหลือสังคมบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง รูปแบบนี้ทางวัดพระธรรมกายได้ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบเดิมมาตั้งแต่ช่วงที่เกิดคดีความกับวัดพระธรรมกาย


สวนทุ่งสวรรค์ ตะวันใส

แต่ก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมธรรมยาตราทางวัดพระธรรมกายจะมีการเชิญชวนบรรดาลูกศิษย์วัด ให้มาร่วมกันปลูกดอกไม้เพื่อใช้โปรยให้กับพระที่เดินธรรมยาตรา ระยะหลังได้ใช้ดอกเบญจมาศในการโปรยบนทางเดินให้พระ ทางวัดตั้งชื่อต้นเบญจมาศเป็นเบญจทรัพย์

สำหรับการปลูกในปลายปี 2561 เพื่อใช้ในกิจกรรมธรรมยาตราปี 2562 ปลูกบริเวณใกล้กับวัดพระธรรมกายใช้ชื่อว่าทุ่งสวรรค์ตะวันฉาย แค่เชิญชวนให้คนมารร่วมปลูกและร่วมเด็ดกลีบดอกไม้เพื่อใช้ในพิธี แต่ปีนี้ได้เปลี่ยนชื่อสถานที่ปลูกต้นเบญจทรัพย์เป็น สวนทุ่งสวรรค์ ตะวันใส และมีการปลูกทั้งต้นเบญจมาศและต้นบานชื่น(ทรัพย์บานชื่น) โดยเริ่มปลูกตั้งแต่ 1 กันยายน 2562

ทุ่งสวรรค์ตะวันฉายที่ปลูกต้นเบญจมาศในปลายปี 2561 นั้น เป็นการปลูกเพื่อใช้ในกิจกรรมธรรมยาตราเท่านั้น เปิดโอกาสให้ลูกศิษย์เข้ามาร่วมปลูก ร่วมบำรุงรักษา กำจัดวัชพืชและร่วมปลิดกลีบดอกไม้เพื่อใช้ในกิจกรรม


เฟสท่องเที่ยวดังร่วมโปรโมท

แต่การปลูกต้นเบญจมาศเมื่อปลายปี 2562 เพื่อใช้ในกิจกรรมธรรมยาตราปี 2563 นั้นแตกต่างจากครั้งก่อน ครั้งนี้มีการเชิญชวนบุคคลทั่วไปได้เข้าชมสวนดอกเบญจมาศที่กำลังบานฟรีตั้งแต่ 8.00-17.00 น. พร้อมทั้งแจ้งกฎระเบียบของทางวัดในการเข้าชม

ครั้งนี้พบว่ามีเฟสบุ๊ก Unseen Tour Thailand ที่เป็นเฟสบุ๊กแนะนำแหล่งท่องเที่ยวและมีสมาชิกมากว่า 3.89 ล้านคน ได้โพสต์ภาพความสวยงามของสวนเบญจมาศของวัดพระธรรมกายเมื่อ 18 ธันวาคม 2562

"สวนดอกไม้ปทุมเจดีย์" จ.ปทุมธานี เข้าชมฟรี!! เวลา 08.00-17.00 น. ชมดอกเบญจมาศสีชมพู ที่ สวนดอกไม้ปทุมเจดีย์ คลอง 2 อ.คลองหลวง ร่วมตัดดอกไม้ครั้งแรก วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2562 เวลา 16.00 น. สามารถมาร่วมตัดดอกไม้กันได้

พร้อมอ้างที่มาว่ามาจากเฟสบุ๊กของ Chaiyasak Rice Wonkpukdee ซึ่งพบว่าเป็นผู้ที่มีความศรัทธาในวัดพระธรรมกาย ด้วยจำนวนสมาชิกที่มากเกือบ 4 ล้านคน ทำให้ภาพได้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง โพสต์ดังกล่าวมีผู้กดชื่นชอบถึง 2.3 หมื่นรายและแสดงความคิดเห็นพร้อมทั้งโชว์รูปที่ถ่ายมาในสถานที่ดังกล่าวกว่า 3.1 พันรายการและยังมีการแชร์ออกไปอีก 3.5 พันครั้ง จนกลายเป็นเครื่องมือเชิญชวนให้คนเข้ามาที่สวนดอกไม้แห่งนี้มากขึ้น


ธรรมกายสร้างจุดถ่ายรูป

จากนั้นก็ได้มีการโพสต์สวนเบญจมาศของวัดพระธรรมกายอีกหลายครั้ง โดยทางสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกายได้อ้างอิงจากโพสต์ของ Unseen Tour Thailand มาทำการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้มาถ่ายรูป

โดยในทุ่งสวนสวรรค์ ตะวันใส ได้มีการจัดทำซุ้มสำหรับการถ่ายรูปและมีการแตกแต่งจุดต่าง ๆ เพื่อเสริมให้ผู้ที่จะมีถ่ายรูปที่สวนดังกล่าวเกิดความประทับใจ ไม่แตกต่างไปจากสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่ต้องมีจุดเด่นเพื่อการถ่ายภาพ

นับเป็นการต่อยอดจากการปลูกต้นเบญจมาศของวัดพระธรรมกายที่ต้องการใช้สำหรับการโปรยบนทางเดินให้กับพระในโครงการธรรมยาตรา จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ดึงดูดผู้คนให้ไปเยี่ยมชมสวนดังกล่าว

นอกจากนี้ทางวัดพระธรรมกายได้เปิดให้เข้าชมสวนทุ่งสวรรค์ ตะวันใส ฟรีตลอดเดือนมกราคม 2563 เวลา 06.00-18.00 น. มีบริการรถรับ-ส่ง วันจันทร์-เสาร์ จากหน้าตลาดรังสิต พร้อมแจ้งว่าโปรดแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยด้วยชุดขาว

ต่อยอดชมวัดพระธรรมกาย

ทางวัดพระธรรมกายได้เชิญชวนผู้ที่ไปชมสวนเบญจมาศของทางวัดว่า กิจกรรมหลังชมสวนมีอะไรบ้าง เวียนประทักษิณพระมหาเจดีย์ 1 รอบ บูชาพระมหาธรรมกายเจดีย์ด้วยดอกบัว 1 ดอก สวดธรรมจักร 1 จบ ปิดทองหลวงพ่อสด 1 แผ่น นั่งรถพ่วงชมวัดพระธรรมกาย ร่วมกิจกรรมธรรมยาตราโปรยกลีบดอกไม้ ต้องรับพระ จุดประทีป ตักบาตรถวายภัตตาหารและปานะ

สอดคล้องกับข้อปฏิบัติในการเยี่ยมชม“สวนทุ่งสวรรค์ ตะวันใส”ของทางวัดพระธรรมกายที่กำหนดไว้ว่า

1. วัดเป็นสถานที่สั่งสมบุญ ไม่ใช่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งนี้ เปิดให้บริการเฉพาะผู้เยี่ยมชมทั่วไป

2. แต่งกายสุภาพ เนื่องจากวัดเป็นบุญสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ควรเคารพสถานที่ด้วยการแต่งกายชุดขาวๆ ชุดสุภาพ งดการแต่งกายด้วยชุดสั้นหรือรัดรูป

3. เพื่อนต่างศาสนิก กรณีมาชมสวน ขอสงวนอนุญาตคลุมเฉพาะศีรษะได้ งดปิดหน้า คลุมบ่า หรือคลุมทั้งตัว

4. งดเด็ดดอกไม้ ยกเว้นแปลงที่เจ้าหน้าที่กำหนดเท่านั้น

5. กิจกรรมบุญต่อเนื่อง สวดธรรมจักร นั่งสมาธิ และปิดแผ่นทองหลวงปู่พระผู้ปราบมาร ณ มหารัตนวิหารคด, เวียนประทักษิณ ณ ลานธรรม, บูชาพระมหาธรรมกายเจดีย์ และร่วมกิจกรรมในเส้นทางธรรมยาตราได้

6. เขตพื้นที่อุโบสถ มหาวิหารหลวงปู่ฯ มหาวิหารคุณยายอาจารย์ฯ สงวนไว้สำหรับพระภิกษุสามเณร และพุทธศาสนิกชน เท่านั้น


เพิ่มฐานผู้ศรัทธา

จะเห็นได้ว่าจากการปลูกดอกเบญจมาศในครั้งนี้ของวัดพระธรรมกาย ได้มีความพยายามต่อยอดให้สวนดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ด้วยการที่มีเฟสบุ๊กด้านการท่องเที่ยวนำไปโปรโมทที่อ้างอิงมาจากผู้ที่ศรัทธาในวัดพระธรรมกายโพสต์ไว้ ทำให้สวนเบญจมาศของวัดพระธรรมกายเป็นที่รับทราบกันในวงกว้าง

ด้านหนึ่งอาจมีผู้ที่ไม่เคยรู้จักวัดพระธรรมกายเลย ต้องการเข้าไปถ่ายภาพสวย ๆ เก็บไว้เป็นที่ระลึก แต่คงไม่ได้จบลงที่แค่การถ่ายภาพตัวเองในทุ่งดอกไม้ ด้วยคำเชิญชวน การให้บริการต่าง ๆ ของทางวัดที่มาสนับสนุนการเยี่ยมชมวัดพระธรรมกาย ย่อมทำให้ผู้คนบางส่วนที่มาชมสวนดอกไม้เกิดความประทับใจในสถานที่อันใหญ่โตของวัดพระธรรมกายและด้วยพื้นฐานของชาวพุทธ โอกาสของการคล้อยตามจนเกิดความศรัทธาในวัดพระธรรมกายได้ไม่มากก็น้อย

ปรับกลยุทธ์สู่วัด

วิธีการดังกล่าวไม่ต่างไปจากแนวคิดทางธุรกิจ ที่มีกระบวนการในต่อยอดกิจกรรมที่ทำอยู่อย่างเป็นระบบ เท่าที่สังเกตในช่วงแรกของการปลูกต้นเบญจมาศของทางวัด แนวทางคล้าย ๆ กับการปลูกครั้งก่อนที่เน้นเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมของทางวัด แต่เมื่อมีการนำไปโพสต์บนเฟสบุ๊กดังด้านการท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้สวนเบญจมาศของวัดพระธรรมกายขยายออกสู่วงกว้าง ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen

จากนั้นทางวัดพระธรรมกายก็ได้นำเอาโพสต์ของเฟสบุ๊กท่องเที่ยวดังกล่าวนำมาขยายผล พร้อม ๆ กับสิ่งปลูกสร้างที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นซุ้มสวย ๆ สำหรับการถ่ายภาพ ที่ก่อนหน้านั้นไม่พบเห็นสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว เมื่อสวนเบญจมาศได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จึงได้ขยายไปสู่การนำชมวัดพระธรรมกายพร้อมด้วยคำแนะนำให้ทำกิจกรรมร่วมกับทางวัด

แบบนี้ย่อมไม่ต่างไปจากวิธีการเพิ่มจำนวนผู้ศรัทธาในวัดพระธรรมกายให้มากขึ้น ด้วยการใช้กลไกทางการสื่อสารที่มีอยู่นำมาประยุกต์ใช้และต่อยอดให้เข้ากับกิจกรรมของทางวัด แม้ไม่ได้เป็นการบังคับแต่ในทางมารยาทแล้ว เมื่อมาเยี่ยมชมสวนเบญจมาศ แล้วเจ้าภาพมีบริการรถรางให้เยี่ยมชมวัดและร่วมกิจกรรมเชื่อว่าคงไม่มีใครปฏิเสธ ส่วนใครจะศรัทธาในวัดพระธรรมกายเพิ่มหรือไม่ย่อมเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล แต่อย่างน้อยนับเป็นการสร้างโอกาสให้กับทางวัด

ต้องยอมรับว่าแนวคิดของวัดพระธรรมกายนั้นเหนือชั้นมาก น่าจะเป็นเพียงไม่กี่วัดเท่านั้นที่ประยุกต์เอากลยุทธ์ในทางธุรกิจ หลักการตลาด และช่องทางในการสื่อสารสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เข้ากับตัววัดได้เป็นอย่างดี



กำลังโหลดความคิดเห็น