xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตภัยแล้งกระทบหนัก เตือนกลุ่มเสี่ยงห้ามนำน้ำประปาไปต้มดื่ม!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาสถานการณ์ภัยแล้ง และน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลกระทบรุนแรงอีกหลายเดือน เตือนคนกรุงและปริมณฑล ห้ามนำน้ำประปาไปต้มดื่มเด็ดขาด พบความเค็มเพิ่มขึ้น 30% กระทบกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก แนะซื้อน้ำดื่มที่มีระบุว่าเป็นน้ำ “RO” ขณะที่เครื่องกรองน้ำระบบUF เอาไม่อยู่ต้องใช้เครื่องกรองระบบ “RO” เท่านั้น ส่วน กปน.ตั้งจุดแจกน้ำดื่มปลอดภัยให้กับประชาชน ขณะที่สวนทุเรียนเมืองนนท์ตายสนิท ด้านเกษตรกรปลูกข้าวเสียหายทั่วหน้า

สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต ระบุชัดว่าข้อมูลจากดัชนี SPEI : Standardized Precipitation and Evapotranspiration Index ซึ่งเป็นดัชนีบ่งชี้ความแห้งแล้ง พบว่ามีระดับใกล้เคียงปี 2541 แต่หากวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากเหตุการณ์จะมีแนวโน้มรุนแรงกว่าจนถึงเดือนพฤษภาคมหรืออาจจะถึงเดือนกรกฎาคม 2563 จึงจะมีปริมาณฝนเข้ามาช่วยลดวิกฤตภัยแล้งได้

ดังนั้นหลายๆ พื้นที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคกันแล้ว!


แต่สิ่งที่ประชาชนกำลังเผชิญไม่ใช่เพียงน้ำแล้ง เพราะขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่มีภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้น้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาจนส่งผลกระทบถึงการผลิตน้ำประปาเพื่อประชาชนของการประปานครหลวงที่เคยสามารถดื่มหรือบริโภคได้ แต่วันนี้การอุปโภคน้ำประปากำลังเข้าสู่สภาวะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมไปถึงบรรดาเรือกสวนไร่นาในจังหวัดต่างๆ กำลังถูกความเค็มของน้ำที่ทะลักเข้าไปทำลายพืชผลทางการเกษตร

ในส่วนของการประปานครหลวง (กปน.) นั้น นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ได้ออกมาชี้แจงว่าน้ำประปาในช่วงนี้มีน้ำทะเลหนุนสูงหรือช่วงที่มีความเค็มจะมีค่าคลอไรด์เกิน 250มิลลิกรัมต่อลิตร หรือมีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร หรือความนำไฟฟ้าประมาณ 1,200 หน่วย สูงกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด จึงขอให้ผู้ที่ใช้น้ำประปาปรุงอาหารช่วงนี้ ควรลดการเติมเครื่องปรุงให้น้อยลง

ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงและควรหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา เช่นผู้ที่เป็นโรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคทางสมอง ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก

ทั้งนี้เพราะคุณภาพน้ำดิบของแม่น้ำเจ้าพระยาที่นำมาผลิตเป็นน้ำประปาของ กปน.นั้นมีความแปรปรวนสูง ซึ่ง กปน.ก็พยายามหาวิธีการแก้ไขด้วยการร่วมมือกับกรมชลประทานใช้วิธีการ Water Hammer คือปฏิบัติการปล่อยน้ำจืดมาไล่น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา โดย กปน.ก็จะหยุดสูบน้ำดิบเข้าคลองประปาในช่วงเวลาทำWater Hammer เป็นเวลา 2 ชั่วโมง

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต
จากการคาดการณ์ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ในวันที่ 13-14 มกราคมนี้ จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุด ซึ่ง กปน.และกรมชลประทาน ได้เตรียมปฏิบัติการWater Hammer ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม ถึงวันที่ 13 มกราคมนี้ และคาดว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูงสุดอีกครั้งประมาณวันที่ 26-27 มกราคมนี้

เมื่อสถานการณ์น้ำเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการบริโภคน้ำประปาที่มีความเค็มจึงต้องหาวิธีการหลีกเลี่ยงเพื่อความปลอดภัยของชีวิต เบื้องต้น กปน.ได้มีการนำน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำเค็มที่ได้คุณภาพตามมาตรฐานWHO มาเปิดจุดจ่ายน้ำประปาดื่มได้ตั้งแต่ 08.00-20.00 น. ที่สำนักงานประปาสาขา ทั้ง 18 แห่งในพื้นที่ กทม. นนทบุรี และสมุทรปราการ โดย กปน.ขอให้ประชาชนช่วยกันสำรองน้ำในวันที่ไม่มีน้ำทะเลหนุนไว้เพื่อการอุปโภคและบริโภคต่อไป

ด้าน รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ระบุว่าจากการเฝ้าดูสถานการณ์น้ำคาดว่าจะมีความรุนแรงไปจนถึงเดือนมีนาคม จากนั้นจะเบาลง และไปเกิดอีกครั้งในช่วงเดือนกรกฎาคม ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำจืด ที่นับวันจะลดน้อยลง แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือทั้งกรมชลประทาน กปน.จะปฏิบัติการ Water Hammer เอาน้ำจืดมาไล่น้ำเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาจากที่ไหน เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องจัดการอย่างเป็นระบบในการแก้ไขปัญหาต่อไป

“ช่วงที่สถานการณ์ไม่เพิ่ม ไม่รุนแรง ก็เอาน้ำจากเขื่อนแม่กลองมาช่วยดันได้ ปล่อยน้ำจากเขื่อนแม่กลองลงมา มีคลองเชื่อมระหว่างแม่น้ำท่าจีน กับแม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา พอเอาผ่านทางนั้น ก็พอช่วยได้ แต่บางครั้งถ้าเอาจากท่าจีนมาคนข้างบนท่าจีนจะโวย เพราะสวนกล้วยไม้จะเสียหาย ทั้งการใช้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนหรือแม่กลอง ก็ต้องจัดเนื้อที่ให้เหมาะสม ควรเป็นเท่าไหร่”

นายปริญญา ยมะสมิต ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.)
ผู้อำนวยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต บอกว่าวิกฤตน้ำแล้งปีนี้มาเร็วมาก แทนที่จะเป็นช่วงมีนาคม เมษายน และน้ำฝนก็ไม่มีที่จะมาเติมน้ำในเขื่อนต่างๆ จึงส่งผลกระทบทั้งน้ำอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะด้านการเกษตร เพราะปริมาณน้ำเค็มที่สูงขึ้น ทำให้เขตนนทบุรี สวนกล้วยไม้ สวนทุเรียนซึ่งใบทุเรียนทุกต้นกำลังไหม้ และร่วงหล่น พืชผักต่างๆ เสียหายไปหมด ส่วนทางภาคเหนือ อีสาน ก็เสียหายมาก เพราะไม่มีการส่งน้ำให้ทำนา เพื่อรักษาปริมาณน้ำดิบไว้

“เกษตกรไม่รู้ เพราะรัฐไม่ได้แจ้งเตือน ตอนนี้ลงปลูกข้าวกันไปแล้ว 2ล้านกว่าไร่ ก็พยายามจะสูบน้ำเข้านา เกษตรกรที่ใกล้แหล่งน้ำก็ได้เปรียบเกษตรกรที่ไกลน้ำเพื่อจะรักษาผลผลิตของตัวเองไว้ เวลานี้สภาพเกษตรกรก็เป็นแบบตัวใครตัวมัน ใครมีกำลังก็ดึงให้ได้มากที่สุด”

ว่าไปแล้ววิกฤตน้ำแห้ง น้ำแล้ง ครั้งนี้ เป็นเพราะมีการใช้น้ำในปริมาณมาก เพราะเห็นว่าที่ผ่านมาต้นทุนน้ำดีมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงปล่อยน้ำมามากจนเกินไป เมื่อไม่มีปริมาณน้ำฝนมาเติมจึงทำให้ปีนี้เกิดปัญหาซึ่งเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำที่ไม่เหมาะสมคาดการณ์กันแค่ปีเดียว

“ข้อเท็จจริงต้องคาดการณ์ว่าอ่างขนาดนี้ต้องใช้เวลา2-3 ปี แต่นี่ใช้กันปีต่อปี เมื่อน้ำหมดก็หวังฝนมาเติมให้ เมื่อปีที่แล้วฝนไม่มาจึงเกิดวิกฤตน้ำแล้งปีนี้รุนแรง เพราะน้ำต้นทุนก็ไม่มี ไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอในการไล่น้ำเค็ม น้ำทะเลก็หนุนสูงจึงเกิดปัญหาทั่วไปหมด”

สวนทุเรียนเมืองนนท์ มาเจอกับภัยแล้ง และน้ำเค็มรุกทำให้ใบทุเรียนทุกต้นกำลังไหม้ และร่วงหล่น(ทุเรียนอ่อนไหวต่อความเค็มต้องน้อยกว่า 0.25 กรัมต่อลิตร) และต้องการนำ้จืดมาสร้างใบอ่อน เพื่อให้รอด พื้นที่แถบนี้ยังโชคดีที่มีน้ำประปาที่มีคุณภาพดีจากโรงกรองมหาสวัสดิ์ แต่น้ำก็ไม่เพียงพอ เพราะต้องใช้อุปโภค-บริโภค
รศ.ดร.เสรี บอกว่าประเด็นหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตครั้งนี้จึงอยู่ที่ไม่มีการเตรียมการแก้ปัญหาไว้ก่อน เพราะก็รู้อยู่ว่าปริมาณน้ำที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ได้มีการเตรียมการแก้ไขอย่างไรไว้หรือไม่

“วันนี้รัฐทุ่ม 3พันกว่าล้านบาท ลงไปขุดเจาะบ่อบาดาล กว่าจะขุดเจาะเสร็จ ต้องใช้เวลา 3 เดือนพอดี เกิดความเสียหาย เรือกสวนไร่นาก็ตายกันพอดี”

แต่สิ่งที่น่าห่วงในเวลานี้ก็เรื่องของสุขภาพของชาว กทม.และปริมณฑลที่ใช้น้ำจาก กปน. ซึ่งจากการทดสอบของ รศ.ดร.เสรี และอาจารย์สกุล หิรัญเดช ด้วยการนำน้ำประปาจากก๊อกมาวัดคุณภาพน้ำ พบว่ามีค่าความนำไฟฟ้า(เทียบเคียงความเค็ม) 806 ที่อุณหภูมิ 28.7 °C ถือว่าคุณภาพน้ำต่ำกว่ามาตรฐานเล็กน้อย(>750) จากนั้นจึงนำน้ำไปต้มในกาให้เดือดแล้วรอจนอุณหภูมิลดลง จึงวัดค่าความนำไฟฟ้าอีกครั้ง พบว่าความนำไฟฟ้าเพิ่มเป็น1050 ที่อุณหภูมิ 38.4 °C ซึ่งถือว่าน้ำมีคุณภาพต่ำมากขึ้น

“เราพบว่าน้ำที่เอามาต้ม มีความเค็มเพิ่มขึ้นถึง 30% ถือว่าเป็นอันตรายมากหากนำมาดื่มโดยเฉพาะพวกที่มีความเสี่ยงต่อความเค็ม ที่เป็นโรคไต เบาหวาน ความดัน หัวใจ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก”

โดย รศ.ดร.เสรี บอกว่าการต้มน้ำไม่ได้ช่วยให้น้ำมีความกร่อย หรือความเค็มลดลง แต่กลับทำให้ความเค็มเพิ่มขึ้น เพราะตามหลักวิทยาศาสตร์เมื่อต้มน้ำจนเดือด น้ำก็ระเหยไป แต่เกลือยังอยู่ ความเข้มข้นของเกลือในน้ำที่เหลือก็มากขึ้น จึงเป็นข้อมูลยืนยันได้ชัดเจนว่าไม่ควรดื่มน้ำดังกล่าว

ต้มน้ำกิน ทำให้ความเค็มเพิ่มขึ้น30%


ซึ่งมีอีกทางเลือกหนึ่งคือการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดที่ขายอยู่ในขณะนี้ และให้ดูฉลากว่าเป็นน้ำที่ผ่านเครื่องกรองในระบบ RO มาหรือไม่ เพราะหากมีกำลังซื้อเครื่องกรองน้ำ ก็ต้องเลือกเครื่องกรองในระบบRO:Reverse Osmosis System ที่มีไส้กรองตัวเกลือได้ ระดับการกรองอยู่ที่ 0.0001 ไมครอน ซึ่งนอกจากจะมีราคาสูงแล้ว การใช้ การดูแลรักษาค่อนข้างยุ่งยาก แต่เหมาะกับสถานการณ์น้ำที่มีความเค็มในปัจจุบัน ซึ่งเครื่องกรองในระบบUF:Ultrafiltration ที่ใช้กันอยู่ตามครัวเรือนทั่วไปไม่สามารถกรองความเค็มได้ แต่สามารถกรองสิ่งเจือปนขนาดเล็ก 0.01 ไมครอน ที่ทำให้ปลอดภัยจากแบคทีเรียเท่านั้น

ส่วน ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทางการแพทย์แนะนำว่าคนเราควรรับโซเดียมเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ปัจจุบันน้ำประปาของไทยมีโซเดียมประมาณ 100-150 มิลลิกรัมต่อลิตร เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่คนเราดื่มในแต่ละวัน ปริมาณโซเดียมที่ได้รับจึงไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ แต่อาจกระทบกับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น โรคความดัน โรคไต โรคหัวใจ


สำหรับการรับมือกับภาวะน้ำประปาเค็มนั้น ประชาชนสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

1. ดื่มน้ำบรรจุขวดที่ได้มาตรฐาน

2. ใช้เครื่องกรองน้ำอาร์โอ (Reverse Osmosis) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการดึงประจุเกลือ โดยอาร์โอเป็นระบบที่ทำให้บริสุทธิ์เพียวเท่าน้ำกลั่น เพราะทำให้แร่ธาตุที่ปนปื้อนในน้ำหมดไป ซึ่งเครื่องนี้ราคาอยู่ที่เครื่องละ 1,000-7,000 บาท

3. ใช้หม้อต้มกลั่น ซึ่งใช้กลไกการกรองเฉพาะไอน้ำนำมาควบแน่นให้กลายเป็นหยดน้ำ ซึ่งจะสามารถแยกเกลือออกจากน้ำได้ 100% ทำให้ได้น้ำที่ไม่มีเกลือเจือปน แต่วิธีค่อนข้างยุ่งยากและหม้อต้มกลั่นยังมีราคาสูงจึงยังไม่ได้รับความนิยม

4. ลดความเค็มในอาหาร โดยลดการใส่เครื่องปรุงที่มีรสเค็ม เช่น ซีอิ๊ว น้ำปลา กะปิ ผงปรุงรส และซุปก้อน

5. หลีกเลี่ยงการกินอาหารนอกบ้าน เนื่องจากร้านค้าอาจใช้เครื่องปรุงที่มีรสเค็ม เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น