xs
xsm
sm
md
lg

ทัวร์นอกวิกฤติ เร่งล้อมคอกก่อนเสียหายหนัก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ทัวร์เมืองนอกวิกฤติ เจ้าใหญ่สะดุดอ้างขาดสภาพคล่องลอยแพลูกทัวร์ ปีนี้เกิดทั้ง ELC Tour และรายล่าสุดเฟสติวัล ฮอลิเดย์ พ่นพิษ Agent ต้องควักเนื้อรับผิดชอบ บางรายอาจถึงขั้นปิดตัว หวั่นเจ้าของทัวร์ใช้เงินผิดประเภท พบปมปัญหาตัวกฎหมายล้าสมัยไม่ทันสภาพการณ์ ภาครัฐควรเข้ามาเร่งแก้ปัญหา ชี้เกณฑ์วางเงินประกันแค่ 2 แสนไม่เพียงพอต่อการชดเชยความเสียหาย เสนอคุมโฮลเซลวางเงินประกันสูง อาจต้องบังคับทำประกันกรณีไม่ได้เดินทาง

ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของทุกปี ถือได้ว่าเป็นช่วงที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากอากาศดีและเป็นทั้งการให้รางวัลกับตัวเองและเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับชีวิต

สำหรับคนที่มีกำลังทรัพย์พอการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ นับเป็นอีกเป้าหมายหนึ่งของใครหลายคน ด้วยสภาพการแข่งขันของแต่ละประเทศที่สนับสนุนการท่องเที่ยวรวมถึงการแข่งขันของสายการบินต่าง ๆ ทำให้การไปเที่ยวต่างประเทศถูกลงจากเดิมมาก

การท่องเที่ยวยุคนี้เปิดกว้างให้ผู้เดินทางสามารถเลือกได้ทั้งเดินทางไปเอง กำหนดโปรแกรมตามที่ต้องการ เลือกสายการบิน ที่พักและพาหนะที่ใช้เดินทางท่องเที่ยว แต่ต้องทำข้อมูลให้พร้อม หรือจะติดต่อกับผู้ให้บริการท่องเที่ยวประเทศปลายทางพร้อมทั้งกำหนดสถานที่ท่องเที่ยวและที่พักได้ ผู้เดินทางต้องซื้อตั๋วเครื่องบินและขอทำวีซ่าเอง

ส่วนการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมที่อาจดูล้าสมัยไปบ้าง อย่างการใช้บริการบริษัททัวร์ที่จัดการทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จ ไม่ยุ่งยาก จ่ายเงินอย่างเดียว แม้ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีอายุแต่ธุรกิจนี้ก็ยังได้รับความนิยมเสมอมา ด้วยเหตุที่ลูกค้ามีกำลังซื้อสูงและต้องการพักผ่อน ไม่ต้องทำการบ้านเรื่องข้อมูล ไม่ต้องกลัวหลง มีไกด์นำชมพร้อมบรรยายเสร็จสรรพ

ปีนี้ 2 รายใหญ่มีปัญหา

แต่ในปี 2562 นี้ได้เกิดปัญหากับวงการทัวร์ มีผู้ประกอบการนำเที่ยวรายใหญ่สร้างปัญหาให้กับลูกทัวร์ที่จ่ายเงินแล้วอย่างน้อย 2 ราย ทำให้ผู้ที่ต้องการเดินทางได้รับผลกระทบจากการใช้บริการบริษัททัวร์

รายแรกถือเป็นทัวร์รายใหญ่ ELC Tour ที่ออกโปรแกรมเที่ยวต่างประเทศในราคาต่ำ ทำการตลาดในระบบปิดผ่านทาง Facebook มีระบบสมาชิก เลือกโปรแกรมจ่ายเงินล่วงหน้าราว 1 ปีก่อนเดินทาง รายละเอียดของโปรแกรมออกก่อนเดินทาง 5-7 วัน ใบนัดหมายออก 1-3 วันก่อนเดินทาง มีสมาชิกมากกว่า 1 หมื่นราย ปีหนึ่งมีทัวร์ที่ออกราว 300 ทริป สุดท้ายมีปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถออกเดินทางได้ จนเกิดการฟ้องร้องเจ้าของบริษัทถูกจับและคดีนี้อัยการสั่งฟ้อง

รายที่ 2 เป็นบริษัททัวร์ที่ทำธุรกิจโฮลเซล คือ บริษัทเฟสติวัล ฮอลิเดย์ โดยเมื่อ 18 ตุลาคม 2562 บริษัทแจ้งยกเลิกการเดินทางกับลูกค้าและบริษัททัวร์ ตั้งแต่วันที่ 18-25 ตุลาคม 2562 ด้วยอ้างเหตุผลเรื่องขาดสภาพคล่อง ประเมินกันว่ามีลูกทัวร์ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ราว 2,000 คน
ผู้เสียหายจากบริษัท ELC Tour ยื่นเรื่องร้องเรียนที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล
คนนอกดูไม่ออก

การทำธุรกิจทัวร์ในปัจจุบันนี้แยกเป็นบริษัทที่ทำหน้าที่ขายโปรแกรมทัวร์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นผู้ออกโปรแกรมเอง มักเรียกว่า Agent เมื่อมีลูกค้ามาซื้อก็จะส่งต่อให้กับบริษัทที่ออกโปรแกรม รายได้มาจากส่วนแบ่งของราคาขาย ลูกค้า 1 รายอาจได้ 1,000 บาท และส่วนแบ่งจะสูงขึ้นหากขายทัวร์ในราคาสูง ๆ ได้ เช่น ยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา

บริษัททัวร์อีกประเภทหนึ่ง เป็นผู้ออกโปรแกรมเส้นทางต่าง ๆ หลากหลายเส้นทาง ประสานงานกับผู้ให้บริการปลายทาง(Land) กำหนดราคาขายออกมาให้ Agent ขายอย่างเดียว เราเรียกว่าโฮลเซล กลุ่มนี้ไม่ต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง

ทั้งนี้มีความยืดหยุ่นในการประกอบธุรกิจ บริษัททัวร์โฮลเซลรายใหญ่ อาจทำหน้าที่เป็น Agent ขายโปรแกรมทัวร์ให้กับรายอื่นได้เช่นกัน หรือ Agent ก็สามารถที่จะออกโปรแกรมการเดินทางเองได้เช่นกัน

ภายใต้การแข่งขันที่สูงจากสายการบินจากกลุ่มโลว์คอสต์ ที่ต้องการหาลูกค้าจากกลุ่มทัวร์ ทำให้สายการบินปกติก็ต้องลงมาเล่นในตลาดนี้เช่นกันเพื่อแย่งชิงผู้โดยสาร บางครั้งโปรแกรมทัวร์ที่ออกมาก็หาลูกค้าได้ไม่ครบตามจำนวนที่คุ้มทุน จึงมีรายการทัวร์ไฟไหม้ออกขายในราคาต่ำกว่าผู้ซื้อปกติ แต่จะมีระยะเวลาให้ตัดสินใจได้ไม่นาน เช่น อีก 2-3 วันจะต้องเดินทาง ผู้สนใจเงินและพาสปอร์ตต้องพร้อม

แต่บางรายขายแล้วมีลูกค้าไม่ครบตามจำนวนที่จะออกได้ ก็อาจนำไปรวมกับทัวร์อีกบริษัทหนึ่งที่มีโปรแกรมเดินทางเหมือนกัน เพื่อให้ได้จำนวนลูกค้าที่มากพอต่อการออกเดินทางและพอมีกำไร จะเรียกกันว่า Join Tour

ดังนั้นลูกทัวร์จะทราบเพียงว่าได้เลือกซื้อโปรแกรมทัวร์กับบริษัทใด แต่จะไม่ทราบเลยว่าใครเป็นผู้ออกโปรแกรม หรืออาจทราบเมื่อถึงเวลานัดหมายที่สนามบิน ซึ่งจะมีชื่อของบริษัทผู้ออกโปรแกรมติดไว้ที่จุดนัดหมาย
หนังสือชี้แจงจากทางเฟสติวัล ฮอลิเดย์
ทิ้งลูกค้ากลางทาง

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับบริษัทเฟสติวัล ฮอลิเดย์นั้น ทำให้ Agent ที่รับหน้าที่เฉพาะขายโปรแกรมให้ประสบปัญหา เพราะต้องรับผิดชอบเร่งแก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่มาซื้อโปรแกรมทัวร์กับทางบริษัท ด้วยการสำรองจ่ายเงินออกไปก่อน

ลูกค้าที่ยังไม่ได้เดินทางแยกเป็นกลุ่มที่จ่ายเฉพาะเงินมัดจำ ทาง Agent ก็ต้องคืนเงินมัดจำ ซึ่งต่อรายเป็นเงินราว 1-2 หมื่นบาท หากเป็นกลุ่มที่ชำระเต็มจำนวนตรงนี้ก็ต้องหาเงินมาคืนทั้งหมดหากลูกค้าปฏิเสธการเดินทาง ทั้ง 2 ส่วนนี้ทาง Agent อาจเสนอให้มีการเปลี่ยนโปรแกรมไปยังโฮลเซลรายอื่น แต่ก็ต้องออกเงินแทนลูกค้าไปก่อน แล้วจึงไปไล่บี้ฟ้องร้องกับทางเฟสติวัลฯ อีกที

หนักที่สุดคือลูกค้าที่อยู่ระหว่างเดินทางแล้วไม่มีที่พัก อาหาร รถบัส กระทั่งตั๋วเครื่องบินขากลับ แน่นอนว่าลูกค้ากลุ่มนี้เสียขวัญและกำลังใจไปมาก บรรยากาศการท่องเที่ยวย่อมลดความสนุกลงไปมาก ตรงนี้ Agent ต้องโอนเงินสำรองไปให้ความช่วยเหลือ แม้อาจจ่ายเงินเพียงบางส่วน ไม่เต็มจำนวนเหมือนกับการคืนเงินให้กับลูกค้าที่ปฏิเสธการเดินทาง แต่ที่เสียหายหนักคือชื่อเสียงของบริษัท

Agent เล็กอาจต้องปิดตัว

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้มีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะทัวร์ต่างประเทศที่ในแต่ละปีมีผู้ใช้บริการท่องเที่ยวผ่านบริษัททัวร์หลายแสนคน ความเชื่อมั่นที่จะใช้บริการจากบริษัททัวร์ย่อมลดลงไปไม่น้อย

“เราไม่ปฏิเสธว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้คนระแวงบริษัททัวร์มากขึ้น แต่ Agent ที่ขายทัวร์ให้กับลูกค้าก็แสดงความรับผิดชอบเต็มที่ ด้วยการโอนเงินให้กับไกด์ปลายทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อลูกทัวร์ น่าสงสารรายเล็ก ๆ อาจต้องขายบ้านหรือขายรถ เพื่อนำมาแก้ปัญหาให้ลูกค้าก่อนแล้วค่อยไปฟ้องร้องกับทางบริษัท เฟสติวัลอีกต่อหนึ่ง”

ทางเฟสติวัลฯ แจ้งว่าทางบริษัทขาดสภาพคล่องและได้นัดหารือเพื่อแก้ปัญหา แต่หลายรายไม่เห็นด้วยกับวิธีการดังกล่าว Agent ประมาณ 60 ราย จึงเข้าแจ้งความต่อตำรวจกองปราบปรามเมื่อ 23 ตุลาคม 2562 ความเสียราว 80 ล้านบาท

เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังบริษัทเฟสติวัลฯ ถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาดังกล่าว ได้รับคำตอบว่า ขอไม่ตอบคำถามใด ๆ
นายคมสัน ประสมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟสติวัล ฮอลิเดย์ จำกัด
จากนักศึกษาฝึกงานสู่เจ้าของทัวร์

บริษัทเฟสติวัล ฮอลิเดย์ เพิ่งฉลองครบรอบ 2 ปี เมื่อกลางเดือนกันยายน 2562 มีนายคมสัน ประสมศรี เป็นกรรมการผู้จัดการ เปิดตัวเมื่อปลายปี 2560 ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวเน้นที่ Outbound เป็นหลัก พร้อมสโลแกน “เทศกาลทัวร์ เทศกาลเที่ยว”

ก่อนหน้านี้เขาเข้าสู่วงการทัวร์ด้วยการเป็นเด็กฝึกงานของ บริษัท ท็อปฮิตทัวร์ เมื่อปี 2547 ในตำแหน่ง Sales Representative จนขยับขึ้นมาเป็นผู้จัดการทั่วไปเมื่อปี 2556 และมาเปิดบริษัททัวร์ของตัวเองเมื่อ 9 มกราคม 2557 ในชื่อดรีม เดสติเนชั่นส์ ทัวร์ หรือดีดีทัวร์ นอกจากนี้ยังรับตำแหน่งกรรมการกลางและเลขานุการนายก สมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยระหว่างประเทศ(TTI)

จนกลายมาเป็นเฟสติวัล ฮอลิเดย์ เมื่อปี 2560 และรับตำแหน่งนายกสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยระหว่างประเทศ(TTI) เมื่อปี 2561

กฎหมายไม่รัดกุม

ปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องของบริษัททัวร์นั้น อาจเกิดขึ้นได้หากเกิดปัญหากับพื้นที่ปลายทาง แต่ในธุรกิจนี้ผู้ออกโปรแกรมมีวิธีป้องกันได้เช่น ถ้าเห็นว่าต้นทุนที่ออกไปนั้นมีลูกค้าน้อยเกินไป ก็ยกเลิกได้เพราะมีเงื่อนไขกำหนดไว้ในเอกสารที่ลูกค้าได้อ่าน เช่น ต่ำกว่า 15 คนหรือต่ำกว่า 25 คนในบางเส้นทาง

สิ่งที่หลายคนเป็นห่วงนั่นคือการทำธุรกิจที่ไม่ตรงไปตรงมามากกว่า หากมีการนำเอาเงินจากลูกค้าไปใช้ในทางอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการทัวร์ ปัญหาเรื่องสภาพคล่องก็อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อบริษัทที่เป็นคนออกโปรแกรมมีปัญหา ย่อมต้องกระทบมาที่ Agent ที่ทำหน้าที่ขายเพราะต้องรับผิดชอบต่อลูกค้าโดยตรง

นอกจากนี้ในด้านกฎหมายตัวพระราชบัญญัติ ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 ไม่ครอบคลุมไปถึงธุรกิจโฮลเซล เพราะเน้นบังคับที่ตัวบริษัททัวร์ที่ทำธุรกรรมกับลูกค้าโดยตรง ซึ่งไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงของอุตสาหกรรมทัวร์

หลังจากเกิดปัญหาของเฟสติวัลฯ ทางสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(TTAA) ได้หารือกันถึงแนวทางในการป้องกันปัญหา มีความเห็นตรงกันว่าควรมีการแก้กฎหมายให้ครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจแบบโฮลเซลด้วย โดยอาจต้องวางเงินประกันสูงกว่าผู้ประกอบการแบบ Agent

ตอนนี้ตามพ.ร.บ.กำหนดให้วางเงินประกันกับนายทะเบียนเพียงแค่ 2 แสนบาท หากเกิดปัญหาที่ต้องชดใช้ต่อลูกทัวร์ เมื่อเงินลดลงไปก็ต้องเพิ่มเงินให้ครบภายใน 15 วัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง อย่างกรณีของ ELC Tour ลูกค้าที่มีปัญหาบางรายซื้อทัวร์ข้ามปีกันหลักล้านบาท เงิน 2 แสนบาทย่อมไม่พอต่อการชดเชยความเสียหาย

เราหารือกันถึงเรื่องควรจะมีการทำประกันกรณีที่ไม่ได้เดินทาง เพื่อเป็นทั้งการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการกันเองและเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าว่าหากเกิดปัญหาจะได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเรื่องนี้ภาครัฐต้องเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหา



กำลังโหลดความคิดเห็น