xs
xsm
sm
md
lg

วัดศรีชุม(ใหม่)หวังฮุบมรดกโลก มอบทนาย “สุทธิผล” ฟ้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เจ้าอาวาสวัดศรีชุม(ใหม่) ส่งทนายนามสกุล “สุทธิผล” ฟ้องกรมศิลปากรและอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หวังได้ครอบครองที่ดินในพื้นที่อุทยานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แถมเรียก 50 ล้านบาทและเงินค่าเข้าชมโบราณสถานทุกเดือน คนพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เผยที่เกิดปัญหาเพราะละเลยมานาน แถมมีผู้ใหญ่หนุน เดิมเป็นแค่สำนักสงฆ์ ด้านเจ้าคณะจังหวัด-เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ(วัดปากน้ำ)เงียบกริบ ชี้วัดนี้เน้นพุทธพาณิชย์ ออกทั้งพระกริ่งอวจนะอ้างบูรณะอุโบสถ 700 ปี ตั้งตู้บริจาค สวดมนต์คืนเพ็ญ โยนภาระค่าไฟให้อุทยานฯ จ่าย

เป็นกรณีที่น่าสนใจไม่น้อยเมื่อวัดศรีชุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย ฟ้องอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัยและกรมศิลปากร ข้อหาขับไล่ เรียกค่าเสียหาย ติดตามเอาทรัพย์สิน พร้อมเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2561

ทั้งนี้ทางวัดศรีชุมอ้างว่าโจทก์เป็นวัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ก่อตั้งมาแต่ปี พ.ศ. 1900 และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 ปัจจุบันมีพระครูสังฆรักษ์เกรียงไกร สุภาทโร เป็นเจ้าอาวาสวัด

เมื่อปี 2498 กรมที่ดินได้ออกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (สค.1) เลขที่ 723 หมู่บ้านที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ให้โจทก์แล้ว และเมื่อปี 2559 โจทก์ได้ยื่นคำร้องรังวัดขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสุโขทัยไว้แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการออกโฉนดของเจ้าพนักงานที่ดินฯ

ปี พ.ศ. 2538 จำเลยที่ 3 (กรมศิลปากร) ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุโขทัย (เมืองเก่าสุโขทัย) จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 43.750 ไร่ ซึ่งประกาศดังกล่าวได้รวมเอาที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวัดศรีชุมเอาไว้ด้วย

จำเลยทั้งสามได้ขอเข้ามาในบริเวณที่ดินอันเป็นที่ตั้งของวัดโจทก์เพื่อบูรณะซ่อมแซมองค์พระพุทธอจนะและมณฑป จากนั้นได้ขอให้โจทก์และพระสงฆ์รื้อกุฏิและสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ ออกไปก่อน เพื่อสะดวกแก่การที่จำเลยทั้งสามจะเข้าบูรณะซ่อมแซมองค์พระอจนะ มณฑป และพื้นที่โดยรอบ

เมื่อจำเลยทั้งสามดำเนินการบูรณะซ่อมแซมเสร็จกลับไม่ยอมออกไปจากที่ดินของโจทก์ ไม่ยอมส่งมอบพื้นที่ที่จำเลยทั้งสามเข้าบูรณะนั้นคืนโจทก์ และไม่ยอมให้โจทก์เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในที่ดินดั้งเดิม โดยจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันรื้อทุบปิดทางเข้าออกเดิมระหว่างอุโบสถของวัดกับมณฑปที่ประดิษฐานองค์พระพุทธอจนะ
พระครูสังฆรักษ์เกรียงไกร สุภาทโร เจ้าอาวาสวัดศรีชุม(ใหม่)
ร้องขอที่ดินและเงิน

นอกจากนี้จำเลยทั้งสามเรียกเก็บเงินค่าผ่านเข้าชม กราบไหว้ สักการะบูชาองค์พระพุทธอจนะและโบราณสถานที่ตั้งอยู่ในที่ดินของโจทก์ ราคาคนไทยคนละ 20 บาท ชาวต่างชาติคนละ 100 บาท ตลอดมานับแต่ปี พ.ศ. 2541 จนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท เริ่มจัดเก็บตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี เป็นเงินกว่า 95 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้จำเลยทั้งสามเอาไปทั้งหมด มิได้ส่งมอบให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของที่ดินแต่อย่างใด

เพราะฉะนั้นขอศาลออกหมายเรียกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษา และบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้

1.ให้จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากที่ดิน สค.1 เลขที่ 723 หมู่บ้านที่ 3 ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัยของโจทก์ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปทั้งหมด

2.ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าบัตรผ่านเข้าชมโบราณสถานวัดศรีชุมที่จำเลยทั้งสามร่วมกันจัดเก็บไปตั้งแต่ปี 2541 จึงถึงวันฟ้องเป็นจำนวนเงิน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

3.ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบเงินค่าผ่านเข้าชมโบราณสถานวัดศรีชุมที่จำเลยทั้งสามเรียกเก็บได้ทั้งหมดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปในแต่ละเดือนให้แก่โจทก์

4.ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในอัตราอย่างสูงแทนโจทก์

กรมศิลป์-อุทยานฯ สู้

ขณะที่กรมศิลปากรโดยนายอนันต์ ชูโชติ กล่าวว่า ไม่หนักใจเนื่องจากวัดศรีชุมใหม่ ที่ฟ้องร้องนั้นเป็นเพียงสำนักสงฆ์ การที่จะมาอ้างว่าพระอจนะ อยู่ในพื้นที่ของวัดเขานั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่ พ.ศ. 2478 และเข้าบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2490 แล้วสำนักสงฆ์จะมาบอกว่าเป็นของเขาได้อย่างไรกัน

ร้อยเอกบุณยฤทธิ์ ฉายสุวรรณ ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กล่าวว่า วัดศรีชุมเป็นวัดใหม่ เดิมเป็นสำนักสงฆ์เพิ่งได้รับการรับรองเป็นวัดเมื่อปี 2536 วัดศรีชุมเก่ากับวัดศรีชุมใหม่เป็นคนละส่วนกับวัดเก่าสมัยสุโขทัย
พิธีสวดมนต์คืนเพ็ญ วัดศรีชุม(ใหม่) (ภาพ:วัดศรีชุม อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
เงินทำบุญวัดได้-โยนค่าไฟให้อุทยานฯ

แหล่งข่าวในพื้นที่กล่าวถึงต้นเหตุในการฟ้องร้องครั้งนี้ว่า เป็นเรื่องของผลประโยชน์ ที่ผ่านมาทางวัดศรีชุม(ใหม่) จัดกิจกรรมสวดมนต์คืนเพ็ญมาโดยตลอด จัดในพื้นที่อุทยานทำให้ดูมีความขลังและมีผู้เข้าร่วมพิธีจำนวนไม่น้อย และทางวัดมีการติดตั้งเรื่องไฟประดับต่าง ๆ บางครั้งพบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถาน และเรื่องของค่าไฟในการจัดงานนั้นทางวัดปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอุทยานเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

“จัดทุกวันพระ เงินทำบุญวัดได้ ค่าไฟให้รัฐออก แถมยังมีการตั้งตู้รับบริจาคภายในมณฑป พระอจนะ เพื่อนำปัจจัยสมทบในการจัดตั้งกองทุนบูรณะปฏิสังขรณ์อุโบสถ เฉพาะตู้บริจาค 3 วันก็เต็ม ตอนนี้ทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้จัดพิธีสวดมนต์คืนเดือนเพ็ญแล้ว”

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2559 ทางวัดนี้ได้จัดทำพระกริ่งอจนะ บูรณะโบสถ์ 700 ปีวัดศรีชุม อ้างว่าได้จากผงมวลสารจากมณฑปหลวงพ่ออจนะ มวลสารในฐานพระองค์พระเดิมสมัยสุโขทัย พระกรุอุโบสถวัดศรีชุม มวลสารหลวงพ่อเพชร รอบนั้นได้เงินมาประมาณ 16 ล้านบาท แต่ไม่พบการบูรณะโบสถ์ 700 ปี มีแต่เป็นโบสถ์ของทางวัด(ใหม่) ที่สร้างทับฐานเดิมของโบราณสถาน

คนพื้นที่หนุนอุทยานฯ

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าวัดศรีชุมที่มีพระเกรียงไกร สุภาทโร เป็นเจ้าอาวาสนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวัดศรีชุมที่เป็นวัดในสมัยสุโขทัย คนพื้นที่ก็ทราบดีว่าประวัติท่านเป็นมาอย่างไร เดิมวัดศรีชุม(ใหม่)เป็นเพียงสำนักสงฆ์และตั้งชื่อวัดเป็นชื่อเดียวกัน เคยร้างไปบ้างและเจ้าอาวาสรูปก่อนก็มีเรื่องอื้อฉาว เมื่อได้ยกระดับขึ้นเป็นวัดทำให้เกิดการอ้างสิทธิ์ในที่ดินผืนดังกล่าว

ในทางคดีน่าจะชัดเจนว่าวัดศรีชุมใหม่ที่อ้างสิทธิ์เรื่องที่ดินนั้นคงต่อสู้ได้ยาก ส่วนหนึ่งที่เกิดปัญหาขึ้นเพราะส่วนราชการระดับผู้ใหญ่ละเลยไม่เข้ามาแก้ปัญหา ปล่อยให้ทุกอย่างผ่านไปและวัดนี้ก็มีผู้หลักผู้ใหญ่เข้ามาหนุน ส่วนหนึ่งอาจเพราะไม่เข้าใจความเป็นมา ทำให้เข้าใจผิด

คนสุโขทัยเองก็มีทั้งหนุนและต้านทางวัด แต่ส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกับกรมศิลปากร เพราะการฟ้องในครั้งนี้เป็นการทวงเอาสมบัติของชาติและมรดกโลกไปเป็นของทางวัด แน่นอนว่าหากสำเร็จจะสร้างประโยชน์ให้กับวัดได้มาก อีกทั้งวัดแห่งนี้เชี่ยวชาญเรื่องการจัดอีเวนต์บุญไม่ต่างกับวัดใหญ่ย่านปทุมธานี และที่หลายคนรับไม่ได้นั่นคือการแสดงความประสงค์ที่อยากได้เงินค่าเข้าอุทยาน ไม่ใช่เพียงตามที่ฟ้อง 50 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังหวังถึงค่าเข้าชมนับตั้งแต่วันที่ฟ้องเป็นรายเดือนอีก

คนพื้นที่มองว่านี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงวัดต้องการเงินในส่วนนี้ ทั้ง ๆ ที่วัด(ใหม่)ก็ทราบดีว่าไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน และเรื่องการจัดเก็บเงินของอุทยานนั้นก็เป็นไปตามกฎหมาย เงินที่ได้ก็นำเข้าหลวง เพื่อนำไปพัฒนาโบราณสถานที่อื่น ๆ แต่วัดแห่งนี้กลับฟ้องเพื่ออยากได้เงินในส่วนนี้
นายดนุสรณ์ สุทธิผล ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากวัดศรีชุม(ใหม่)
นามสกุล “สุทธิผล” เป็นทนายฟ้อง

นักวิชาการด้านพุทธศาสนาอีกรายตั้งข้อสงสัยว่า ปัญหาเหล่านี้ทางพระปกครองที่ไล่เรียงกันตั้งแต่เจ้าคณะตำบล อำเภอ จังหวัด เจ้าคณะภาค 5 จนถึงเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ปัจจุบันคือ พระวิสุทธิวงศาจารย์(วิเชียร) รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เหตุใดจึงไม่เข้ามาร่วมหาทางออกในเรื่องดังกล่าว

ที่น่าสังเกตไปกว่านั้นคือ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากทางวัดศรีชุม(ใหม่) คือนายดนุสรณ์ สุทธิผล จากสำนักงานทนายความวันชัยและเพื่อน แม้จะไม่พบความเกี่ยวข้องกับพระไชยบูลย์ สุทธิผล หรือพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย พบเพียงเคยเข้าอบรมที่สถาบันพลังจิตตานุภาพ ของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร แต่หลายคนก็อดคิดไม่ได้ว่ากรณีนี้ทนายความกลับมีนามสกุลเดียวกันกับพระธัมมชโย



กำลังโหลดความคิดเห็น