xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการชี้คนไม่นิยมเสพข่าว ต้นเหตุวิกฤตวงการสื่อทยอยปิดตัว-ทุนใหญ่ฮุบ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สื่อวิกฤต หนังสือพิมพ์บ้านเมืองปิดตัว AMARIN-ONE31 เปลี่ยนมือทุนใหญ่เสียบ ทีวีดาวเทียม นิตยสารทยอยเลิก อดีตคณบดีวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ชี้คนรุ่นใหม่ไม่นิยมอ่าน สุดท้ายเหลือสื่อไม่กี่ราย ด้านนิเทศฯ หอการค้าหวั่นทุนใหญ่แทรกกระบวนการทำงานข่าว แนะคนเสพรู้เท่าทัน ด้าน กสทช.เงียบกริบ

ธุรกิจด้านสื่อยิ่งนับวันก็ทรุดลง ถ้าไม่ล้มหายตายจากไปก็ต้องยอมให้มีการเปลี่ยนมือหรือจำเป็นต้องหากลุ่มทุนใหม่เพิ่มเข้ามา เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจนี้ยังเดินหน้าต่อไปได้ ในระยะนี้นับได้ว่าสถานการณ์เข้าขั้นวิกฤต

เริ่มที่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองอายุ 44 ปี 6 เดือน ได้แจ้งต่อสาธารณะเมื่อสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า เนื่องจากรูปแบบในการดำเนินธุรกิจได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก มีสื่อชนิดใหม่ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทำให้การคงอยู่ของสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปได้อย่างยากลำบาก ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไม่เอื้ออำนวย ทางผู้บริหารของบริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด พยายามประคับประคองการดำเนินธุรกิจให้คงอยู่อย่างสุดความสามารถมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ก็มิอาจทนต่อสภาวการณ์ในภาวะปัจจุบันได้ จึงตัดสินใจขอหยุดผลิตหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ตั้งแต่ฉบับวันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป และมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ทางบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ช่อง 36 ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการเพิ่มทุนจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2559 เสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี และนายปณต สิริวัฒนภักดี ในราคาหุ้นละ 4.25 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 850 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกลุ่มใหม่ที่เข้ามาเป็น 47.62% ของทุนจดทะเบียน

ทั้งนี้บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนที่จะได้รับจากการเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจทีวีดิจิตอลที่อยู่ในช่วงของการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการที่สูง โดยใช้สำหรับการชำระค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล การชำระค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลรายเดือน การชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ

ปราสาททองมีทั้งช่อง 36 และ 31

30 พฤศจิกายน 2559 สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมช่อง มีเดีย 84 ได้ประกาศว่า เนื่องจากบริษัทฯ จะยุติการดำเนินงานด้านการออกอากาศ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งกลุ่มทีวีดาวเทียมได้ยุติการออกอากาศไปก่อนหน้านี้ได้แก่ทีนิวส์ ทีวี เมื่อ 1 ตุลาคม และ MCOT WORLD ยุติเมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา

รายล่าสุดเมื่อ 1 ธันวาคม 2559 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า กลุ่มนายถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลช่อง one 31 จะลดสัดส่วนการถือหุ้นใน บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด โดยมี บริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ซึ่งมี นางสาวปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เข้ามาถือหุ้นใน บริษัท วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด 50%

โดยจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีกจำนวน 1.91 พันล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ 19.05 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 100 บาท ทุนจดทะเบียนใหม่เป็น 3.81 พันล้านบาท ภายหลังจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนเสร็จสมบูรณ์แล้ว แกรมมี่จะเป็นผู้ถือหุ้นใน วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ร้อยละ 25.50 กลุ่มนายถกลเกียรติ จะเป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 24.50 และปรมาภรณ์ จะเป็นผู้ถือหุ้น ร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียน

ก่อนหน้านี้เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2557 เคยมีกรณีที่บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เจ้าของสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ เข้าซื้อหุ้นของ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ NMG 12.27% เป็นเงิน 1,042.32 ล้านบาท ซึ่ง NMG เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด (NNV) ซึ่งได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิตอลในบริษัท ช่องข่าวเนชั่น

หรือย้อนไปถึงกรณีที่นางพันธุ์ทิพา ศกุนต์ไชย เจ้าของนิตยสารทีวีพูล และเจ้าของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวี และสถานีโทรทัศน์โลก้าทีวี ไม่ชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 และค่าธรรมเนียมใบอนุญาต รวม 288 ล้านบาท แก่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จนต้องถูกระงับการออกอากาศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2558

ขณะที่กลุ่มนิตยสารต่างก็ปิดตัวกันไปหลายเล่ม เช่น พลอยแกมเพชร สกุลไทย อิมเมจ เป็นต้น ส่วนสื่อที่ยังคงอยู่ หลายบริษัทมีผลประกอบการที่ลดลง ต้องมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

คนรุ่นใหม่ไม่อ่าน

รศ.ดร.พรจิต สมบัติพานิช อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ด้านสื่อที่เกิดขึ้นในเวลานี้เป็นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป หลังจากที่สื่ออินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งนิสัยของคนไทยชอบดูมากกว่าชอบอ่าน คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการความลึกซึ้ง ข้อมูลไม่จำเป็นต้องหามากก็ได้ เน้นไปที่ความบันเทิงส่วนบุคคล

ทั้งนี้สื่อที่ยุบไปก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด แต่เป็นการปรับเนื้อหาเข้าไปสู่สื่อดิจิตอล เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่นิยมติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ดิจิตอล

สำหรับวงการด้านเอเยนซี ส่วนหนึ่งตัวเจ้าของสินค้ามีการตัดงบโฆษณาลงมากจากสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังให้น้ำหนักกับสื่อดั้งเดิมอย่างกลุ่มหนังสือพิมพ์น้อยลง แต่ให้ความสำคัญกับสื่อดิจิตอลเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามในเมืองไทยยังมีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องการตลาดสื่อดิจิตอลไม่มากนัก เนื่องจากผู้บริโภคที่เสพสื่อดิจิตอลจำนวนไม่น้อยไม่ชอบเห็นโฆษณาเข้ามาขวางในการอ่านหรือรับชม ดังนั้นนักการตลาดในส่วนนี้จะต้องหาวิธีการแทรกโฆษณาลงไปเพื่อความอยู่รอดของตัวสื่อ แต่ต้องไม่ขัดขวางการอ่านหรือรับชม

สำหรับทีวีดิจิตอลสุดท้ายจะเหลือเพียงไม่กี่ราย เช่นเดียวกับสื่ออื่น ๆ การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดนั้นในต่างประเทศเขาทำกันมาระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือต้องหาจุดเด่นของตัวเองให้ได้แล้วโฟกัสไปที่เรื่องนั้นโดยตรง อาจเป็นสกู๊ปเจาะลึก หรือรูปแบบอื่น ๆ เพื่อยึดกลุ่มผู้อ่านหรือผู้ชมเป็นการเฉพาะ

หวั่นทุนใหญ่บิดสื่อ

เช่นเดียวกับ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่มองปรากฏการณ์การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในธุรกิจสื่อของกลุ่มทุนนั้น สะท้อนว่าตัวสื่อยังมีอนาคตถึงได้กล้าลงทุนระดับพันล้านบาท แต่สุดท้ายจะเหลือสื่อเพียงไม่กี่ราย

เราอาจได้เห็นกลุ่มทุนที่เข้ามาบางรายมีทีวีดิจิตอลอยู่แล้ว ก็เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในอีกช่อง เช่น PPTV ช่อง 36 ของกลุ่มบางกอก แอร์เวย์ส ก็ได้ช่อง ONE 31 ของแกรมมี่เข้ามาอีกเพียงแต่เป็นคนละนิติบุคคลกันเท่านั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่ต่างกับช่อง 3 ที่มีทีวีดิจิตอล 3 ช่อง คือช่อง 13, 28 และ 33

สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดนั่นคือเจ้าของสื่อที่เข้ามาใหม่นั้นจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานของทีมข่าวหรือไม่ เพราะสื่อถือว่ามีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจ ตัวเนื้อหาของการนำเสนอรายการจะเป็นไปอย่างอิสระหรือไม่ หรือเป็นไปเพื่อตอบโจทย์ของทุนใหม่ที่เข้ามา เมื่อนั้นข่าวสารที่ประชาชนได้รับก็จะบิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น

แม้เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่นักวิชาการด้านสื่อกังวล แต่ปัจจุบันก็ยังมีช่องทางในการตรวจสอบอื่น ๆ อีก เช่นเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กว่าเรื่องที่นำเสนอนั้นมีการบิดเบือนหรือไม่ ถือเป็นการถ่วงดุลกัน จึงไม่น่ากังวลเหมือนก่อนที่ตอนนั้นเครื่องมือในการตรวจสอบสื่อมีน้อย ดังนั้นผู้เสพสื่อจะต้องรู้เท่าทันสื่อด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนรุ่นใหม่ดูทีวีน้อยลง เนื่องจากมีตัวเลือกมากขึ้น เลือกชมเฉพาะรายการที่สนใจผ่านทางสื่อดิจิตอลในรูปแบบต่าง ๆ

สื่อสิ่งพิมพ์คนที่อ่านจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ยิ่งสภาพเศรษฐกิจในเวลานี้ยิ่งลำบาก เอเยนซีเลือกที่จะลงโฆษณา เห็นได้ชัดว่าคนรุ่นใหม่ไม่มีใครซื้อหนังสือพิมพ์อ่าน แต่อ่านจากสื่อดิจิตอลแทน ดังนั้นสื่อด้านนี้จะเหลือรอดเพียงไม่กี่รายเท่านั้น

กสทช.เงียบกริบ

ก่อนหน้านี้ทาง กสทช.เคยกังวลในเรื่องการครอบงำสื่อ เช่นโซลูชั่นคอนเนอร์ที่ถือหุ้นใหญ่ในสปริงนิวส์ เข้าไปซื้อหุ้นในเนชั่นฯ แต่ก็มีมติออกมาว่าไม่ใช่การครอบงำ แต่ในระยะนี้ทุนใหม่ที่เข้าถือกัน 40-50% หนักกว่ากรณีของสปริงนิวส์กับเนชั่น วันนี้ กสทช.เงียบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะการเปิดให้มีทีวีดิจิตอลเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน 20 กว่าช่อง ทุกช่องก็ต้องแย่งเม็ดเงินโฆษณากัน เพื่อแข่งขันกันทำรายการเพื่อดึงเรตติ้ง

การทำทีวีต้องใช้เงินทุนมาก ทั้งเรื่องบุคลากร เนื้อหารายการ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นเช่นค่าสัปทานและค่าโครงค่าย เมื่อรายได้หลักคือเม็ดเงินโฆษณามีจำกัด แถมเศรษฐกิจทั่วโลกประสบปัญหา กำลังซื้อคนในประเทศหดตัวหลายช่องจึงประสบปัญหาขาดทุน

สุดท้ายคนที่ไม่ต้องเข้าประมูลทีวีดิจิตอลก็สามารถเข้ามาเป็นเจ้าของทีวีดิจิตอลได้ ด้วยการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัทที่เข้าประมูลแทน หากเป็นไปตามที่นักวิชาการเคยเสนอให้เปิดแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้ว ไม่มีการดึงโฆษณากันดุเดือดจนกระทบไปยังสื่อประเภทอื่น สถานการณ์ด้านสื่อคงไม่เป็นแบบนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น