ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี ชี้ทุกคนมีโอกาสป่วยเป็น “มะเร็ง” ทั้งมะเร็งจากกรรมพันธุ์ที่มียีนผิดปกติ และการวิ่งเข้าหาปัจจัยเสี่ยงพบ “2 สารตัวแสบ” ในอาหารปิ้งย่าง ต้นเหตุของสารก่อมะเร็ง ด้านผู้หญิงเสี่ยงมะเร็งเต้านมสูงขึ้นจาก “กรรมพันธุ์-ยาคุม-ความอ้วน” ส่วนผู้ชาย มะเร็งปอด ลำไส้ ต่อมลูกหมาก แจงพ่อสูบบุหรี่ ลูกมีโอกาสเป็นโรคปอดและกลายพันธุ์สู่มะเร็งได้ ขณะที่มะเร็งตับมีแนวโน้มสูงขึ้น เตือนกินดิบๆ สุกๆ มะเร็งทางเดินน้ำดี ถามหา แนะวิธีห่างไกลมะเร็ง และ 5 แนวทางรักษาพร้อมหนทางสร้างสุขของคนเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
“มะเร็ง” โรคที่น่าสะพรึงกลัว และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประชากรทั่วโลก ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก มองภาพรวมของโรคมะเร็งและคาดการณ์ในอีก 14 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2573 ว่า จะมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทั่วโลกถึง 17 ล้านคน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขไทย ระบุว่า ในปีหนึ่งๆ โรคมะเร็งคร่าชีวิตคนไทย 60,000 คนต่อปี หรือชั่วโมงละเกือบ 7 ราย ถือได้ว่าเป็นอัตราที่สูง และก้าวขึ้นมาเป็นโรคเบอร์หนึ่งของการคร่าชีวิตคนไทย รองจากอุบัติเหตุ และโรคหัวใจ
แม้โรคมะเร็งจะเป็นโรคที่น่ากลัวในความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเราสามารถตรวจวินิจฉัยและพบในระยะแรก เช่น ระยะที่ 1 หรือ 2 ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งมีโรคมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ เนื่องจากวิทยาการด้านการรักษาโรคมะเร็งที่ทันสมัย ผนวกกับความก้าวหน้าของเครื่องมือคัดกรองโรคมะเร็งต่างๆ รวมทั้งการตรวจในระดับยีน ทำให้สามารถตรวจพบการก่อตัวที่ผิดปกติของเซลล์ได้เร็วขึ้นก่อนที่เซลล์จะผิดรูปและกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้โอกาสในการรักษามีมากขึ้นสำหรับคนไข้โรคมะเร็ง
อย่างไรก็ดีเราทุกคนมีสิทธิ์เป็นมะเร็งได้ ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งสูงตามไปด้วย ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงจากสภาพความเสื่อมของเซลล์ที่อาจก่อตัวผิดปกติได้เช่นกัน
ทุกคนมีความเสี่ยงเป็น “มะเร็ง”
ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา อดีตนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ปัจจุบัน เป็นรองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะไปหาความเสี่ยงนั้นมาให้ตัวเองหรือเปล่า เพราะปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็ง อาจมาจากพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตที่ดำเนินการมาเป็นเวลานาน เช่น การสูบบุหรี่ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดสูงถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับคนไม่สูบ
“ไม่ใช่แค่บุหรี่ คนอ้วน คนที่ชอบกินของมันๆ พออายุมากขึ้นก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง”
ส่วนผู้หญิงที่รับประทานยาคุมกำเนิดมาเป็นเวลานานๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม อีกทั้งพฤติกรรมในการบริโภคของคนแถบอีสาน หรือทางภาคเหนือ ที่ชอบบริโภคของดิบๆ ปลาดิบ ก็จะทำให้เกิดพยาธิใบไม้ในตับ ส่งผลต่อทางเดินน้ำดี อักเสบเรื้อรัง สุดท้ายก็จะกลายเป็นมะเร็งทางเดินน้ำดี
มะเร็งที่เกิดจากพันธุกรรม
อาจารย์หมอสุดสวาท บอกอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คนเกิดโรคมะเร็งนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีมะเร็งที่เป็นมรดกตกทอดมาจากครอบครัวที่เราไม่พึงปรารถนา หรือที่เรียกว่ามะเร็งจากพันธุกรรมหรือกรรมพันธุ์ จะเป็นกลุ่มของมะเร็งเต้านมและรังไข่ และเพิ่มโอกาสของการเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งตับอ่อน มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งถุงน้ำดี เป็นต้น
“สิ่งเหล่านี้เกิดจากความผิดปกติของสารพันธุกรรมที่เรียกว่ายีน (gene) ซึ่งจะพบในกลุ่มของครอบครัวที่เป็นมะเร็งกันมากในญาติสายตรง”
การเกิดมะเร็งจากกรรมพันธุ์นั้น มิได้หมายความว่าคนในครอบครัวจะเป็นมะเร็งแบบเดียวกัน หรือเป็นมะเร็งแน่นอน เพียงแต่ว่าเขามีความเสี่ยงเป็นมะเร็งอันเป็นผลมาจากความผิดปกติของยีน ซึ่งเมื่อเรารู้ว่า เรามีความเสี่ยงก็ควรไปตรวจและคัดกรองค้นหามะเร็งชนิดต่างๆ รวมทั้งต้องรู้จักใช้ชีวิตที่เหมาะสมและเลี่ยงต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะทำให้เราเป็นมะเร็งได้
ขณะที่มะเร็งตับซึ่งเกิดจากไวรัสตับอักเสบบีที่ทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับและทำให้เซลล์ตับถูกทำลาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดเป็นมะเร็งตับได้ ซึ่งสามารถถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูก หากแม่มีเชื้อลูกก็มีโอกาสรับเชื้อ 90% และประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีโรคไวรัสตับอักเสบบีสูงมาก
“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีการฉีดวัคซีนให้เด็กแรกคลอด จึงคาดว่าใน 10-20 ปีข้างหน้า น่าจะมีคนไข้ไวรัสตับอักเสบน้อยลง และจะส่งผลให้อัตราการเป็นมะเร็งตับลดลง ขณะที่ไวรัสตับอักเสบซี ทำให้เกิดตับอักเสบเฉียบพลัน และพัฒนาไปสู่มะเร็งตับ ซึ่งยังป้องกันไม่ได้” อาจารย์หมอสุดสวาท ระบุ
เซลล์กลายพันธุ์ก่อให้เกิดมะเร็งกระดูก
ขณะเดียวกัน อาจารย์หมอสุดสวาท ยังบอกด้วยว่า มะเร็งบางตัว เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งกระดูกได้ และอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งกระดูกได้ คือ เซลล์ในร่างกาย บางครั้งกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็งขึ้นมาเอง ซึ่งมะเร็งกระดูกจะพบในเด็กและวัยรุ่นอายุไม่มาก เรียกว่า ออสตีโอซาร์โคมา (osteosarcoma) ขณะที่เซลล์มะเร็งกระดูก ยังไม่ชี้ชัดว่าเป็นการติดต่อทางกรรมพันธุ์หรือไม่? และอยู่ระหว่างการศึกษาค้นคว้า แต่มักพบในเด็ก เช่น เด็กอายุ 10 ขวบ 15 ปี หรือ 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวของเด็กและวัยรุ่น ส่วนที่แก่สุดที่พบในผู้ใหญ่ อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งอาจเกี่ยวกับมะเร็งกล้ามเนื้อ
ในการสังเกตว่าเด็กเป็นมะเร็งกระดูก หรือ มะเร็งกล้ามเนื้อหรือไม่นั้น ตรวจดูได้จากการคลำพบก้อนแข็งผิดปกติ มีก้อนปูดขึ้น ก้อนนี้อาจเป็นเนื้อดี หรือ เนื้อร้ายก็ได้ และควรไปพบแพทย์
“2 สารตัวแสบ” ต้นเหตุของสารก่อมะเร็ง
เมื่อทุกคนมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งได้ทุกคน โดยเฉพาะคนที่ประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็ง ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก ขณะที่อาหารรสจัดทั้งหลาย เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หวานจัด มันจัด ของทอด ของปิ้ง ของย่างเกรียม ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงและควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีสารอะฟลาทอกซิน เช่น ถั่ว พริก ข้าวโพดที่อาจมีเชื้อรา ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชั้นดี
แม้กระทั่งเนื้อสัตว์เอง เราต้องหลีกเลี่ยงการทานเนื้อ เพราะเนื้อสัตว์มีสารพิษปนอยู่ เมื่อมีสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย ตับและไตจะทำงานหนักมาก และโอกาสจะเป็นมะเร็งก็สูงเช่นกัน
สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Cancer Institute) เคยออกมาเผยแพร่ว่า “การกินอาหารปิ้งย่างเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง” โดยสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในอาหารที่เมื่อโดนความร้อนสูงจนทำให้น้ำมันและน้ำที่หยดลงบนเตาไฟกลายเป็นเปลวไฟก่อมะเร็ง ทำให้เกิดสารเคมีที่เรียกว่า HCAs และ PAHs ซึ่งเป็นสารเคมีตัวแสบ 2 ตัว เป็นต้นเหตุของสารก่อมะเร็ง
ดังนั้นการกินอาหารคลีน (Clean Food) หรืออาหารที่ลดกระบวนการในการผลิตให้น้อยที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยหลีกเลี่ยงการสุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง และควรลดเครื่องปรุง เปรี้ยว เค็ม หวาน อาหารหมักดอง เลือกแต่สารอาหารที่ร่างกายต้องการคือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน กินผักผลไม้ จะเน้นผักสดหรือผลไม้สด หรือผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุดจะลดการเกิดมะเร็งได้
มะเร็งยอดฮิตของผู้หญิง-ผู้ชาย
อาจารย์หมอสุดสวาท ระบุว่า โรคมะเร็งที่ทำให้คนเสียชีวิตมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก ซึ่งแต่ละชนิดจะมีการดำเนินของโรคและวิธีการรักษาที่แตกต่างตามอวัยวะที่เป็นมะเร็ง ระยะของมะเร็ง สภาพร่างกาย และความเหมาะสมของผู้ป่วย
จากสถิติมะเร็งที่พบบ่อยของไทยในผู้ชาย ประกอบด้วย มะเร็งตับ, มะเร็งปอด, มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนผู้หญิง คือ มะเร็งเต้านม, มะเร็งปอด, มะเร็งตับ, มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ โดยประเทศไทยจะพบมะเร็งตับและทางเดินน้ำดี เป็นอันดับหนึ่ง
“การเกิดมะเร็งตับ เกิดจากไวรัสตับอักเสบบีและซี ซึ่งไวรัสประเภทนี้ 90% อาจหายเอง ขณะที่ 10% ที่เป็นพาหะต้องใช้ยารักษา แต่บางคนรักษาแล้วอาจไม่หาย และอาจพัฒนากลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง เป็นตับแข็ง และกลายเป็นมะเร็งตับในที่สุด”
อย่างไรก็ดี สาเหตุของการติดเชื้อไวรัสตับบี หรือ ซี มาจากปัจจัยหลักๆ เช่น การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก, การใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในกลุ่มที่ใช้ยาเสพติด ส่วนวิธีการป้องกัน การเกิดไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี ก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับบีในเด็กแรกคลอด และต้องไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน เช่น ยาเสพติด ซึ่งในต่างประเทศมีการรณรงค์ด้วยการแจกเข็มฉีดยาฟรี เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือ ซี รวมถึงโรคเอดส์ด้วย
สำหรับมะเร็งทางเดินน้ำดี พบมากทางภาคอีสาน เกิดจากพยาธิใบไม้ในตับ จากการกินของดิบๆ ทำให้น้ำดีอักเสบ เรื้อรัง สุดท้ายก็จะกลายเป็นมะเร็งทางเดินน้ำดี ซึ่งอุบัติการณ์นี้ไม่ได้แยกว่า มะเร็งตับหรือมะเร็งทางเดินน้ำดี แต่รวมกันจะมีอัตราการเกิดมะเร็งสูง เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ผู้ชายจะเป็นมากกว่าผู้หญิง ขณะที่ต่างประเทศ จะพบมะเร็งปอดเป็นอันดับหนึ่ง
มะเร็งเต้านม มีอัตราการเป็นเพิ่มขึ้นชัดเจน จากสถิติสมัยก่อน ใน 10 คน จะมีโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม 1 คน แต่ปัจจุบัน มะเร็งเต้านมพบบ่อยมาก และกลายเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิง ซึ่งนอกจากการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แล้ว คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น และจากพฤติกรรมการกิน กินไขมัน จากความอ้วน หรือจากฮอร์โมน ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เป็นมะเร็งเต้านมสูงขึ้น
ดังนั้นอาจารย์หมอสุดสวาท แนะนำว่า ผู้หญิงควรเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งถ้าพบในระยะแรกๆ ก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้ อีกทั้งยังมีมะเร็งยอดฮิตในผู้หญิง คือ มะเร็งปากมดลูก จากที่เคยเป็นอันดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกมีจำนวนลดลง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัส HPV และเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับผู้หญิง ซึ่งการป้องกันที่ดีที่สุดคือการไปตรวจเปปสเมียร์ (Pap smear) เพื่อคัดกรองหาความผิดปกติที่ปากมดลูกในระยะเริ่มต้น และจะทำการรักษาได้เร็วถ้าพบว่าเป็นมะเร็ง โดยควรตรวจตั้งแต่อายุ 23 ปี หรือใครที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ ก็ควรไปรับการตรวจ
“เหตุผลที่อัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกลดลง เป็นเพราะมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงฉีดวัคซีน HPV เป็นการป้องกันตั้งแต่ยังไม่แต่งงาน ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันแค่บางสายพันธุ์เท่านั้น”
นอกจากมะเร็งปากมดลูกแล้ว ผู้หญิงยังมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งมดลูก หรือ มะเร็งรังไข่ ซึ่งยังไม่มีระบบคัดกรอง กลุ่มผู้สุ่มเสี่ยง คือ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือ ในผู้หญิงที่มีประจำเดือน ซึ่งการพบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจภายในจะสามารถตรวจเช็กได้ในระดับหนึ่ง
บุหรี่มือสอง ตัวร้ายทำคนไม่สูบเป็นมะเร็ง
อาจารย์หมอสุดสวาท ระบุว่า คนสูบบุหรี่อาจเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอดค่อนข้างสูง แต่การเกิดมะเร็งปอดอาจเกิดขึ้นได้แม้ไม่ได้สูบบุหรี่ เช่น การที่เราต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับควันบุหรี่ เช่น ร้านอาหาร หรือ ไนต์คลับ หรือการที่สามีสูบ ภรรยาก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูงกว่าคนปกติ ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า บุหรี่มือสอง คือคนอื่นสูบ แต่เราเป็นผู้สูดดม
โดยผู้สูบบุหรี่มือสองจึงมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด, หลอดเลือดอุดตัน, โรคหัวใจ และโรคหอบหืด
“ภัยในบ้าน ถ้าพ่อสูบ ลูกก็มีความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ อาจเป็นโรคปอดได้ ถ้าเก็บสะสมไว้ จะส่งผลให้เด็กมีภูมิต้านทานน้อยกว่าและลูกมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเมื่อโตขึ้น”
อีกทั้งมะเร็งปอดจะลามไปที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะลามไปที่ปอด ในตับ กระจายไปสมอง ไปกระดูก ไปต่อมหมวกไต ซึ่งกระจายไปส่วนใด อวัยวะส่วนนั้นจะมีปัญหา เช่น ลามไปตับ ก็จะส่งผลให้ตับวาย ถ้าไปสมอง ก็จะทำให้อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
รู้เป็นมะเร็งปฏิบัติตัวอย่างไรให้อายุยืนยาว
อาจารย์หมอสุดสวาท ย้ำว่า หากเราตรวจพบมะเร็งได้เร็ว รักษาเร็วในระยะแรก มีสิทธิ์หายขาด ขณะที่วิธีการรักษามะเร็งประกอบด้วย 1.การผ่าตัด สำหรับมะเร็งในระยะแรกๆ ที่สามารถผ่าตัดมะเร็งออกไปได้หมด เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด มะเร็งกระดูก 2.เคมีบำบัด เป็นการรักษาช่วงมะเร็งแพร่กระจาย เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม เป็นต้น และ 3.การฉายรังสี หรือ รังสีรักษา 4.การรักษาด้วยยาแก้ปวด และ 5.การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า (Targeted therapy)
ในการรักษาด้วยยาพุ่งเป้านั้น ตัวยาจะมีราคาแพงแต่ไม่สามารถรักษาได้กับทุกคน ต้องเฉพาะกับคนที่มีเป้าคือ ชิ้นเนื้อจะมี receptor คล้ายๆ กล่องรับว่ายีนตัวนี้ผิดปกติ ซึ่งวิธีนี้จะใช้กับคนที่โชคดี มีเป้า และมีสตางค์ และผู้ป่วยที่มีสภาพร่างกายพร้อมด้วย
อาจารย์หมอสุดสวาท บอกว่า จากการดูแลคนไข้มะเร็งมาเป็นระยะเวลานาน จึงเห็นว่าหากกายป่วยแต่ใจต้องไม่ป่วย จะทำให้ใจสามารถช่วยกายได้ กำลังใจจึงเป็นเรื่องสำคัญมากต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง ขณะที่ทางการแพทย์ช่วยได้ระดับหนึ่ง ถ้าใจไม่สู้ หรือ หมดอาลัยตายอยาก ก็จะส่งผลกับอาการเช่นกัน ดังนั้น กำลังใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยแพทย์และพยาบาลจะช่วยรักษาทางกาย ซัปพอร์ตทางด้านจิตใจ เช่นให้คนไข้ฝึกสมาธิ (ฝึกจิต) เป็นต้น
“ตรงนี้ต้องคำนึงถึงว่าถ้าเราคิดว่าอย่างไรก็ต้องจากไป เขาอยากทำอะไร ในระยะเวลาที่เหลืออยู่ ตรงนี้เป็นความสำคัญที่เรามอบให้เขาได้ พยายามช่วย ในการสร้างความสุขให้คนไข้กลุ่มนี้ รวมทั้งการมีกลุ่มเพื่อน ผู้ป่วยทั้งหลาย มิตรภาพบำบัดกลุ่มเพื่อนมะเร็งช่วยมะเร็ง คนไข้มะเร็งเก่าช่วยคนไข้ใหม่ ให้กำลังใจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ” อาจารย์หมอสุดสวาท บอกและย้ำว่า
โรคมะเร็งเป็นโรคที่ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะแสดงอาการและเป็นโรคเรื้อรัง โดยทั่วไปโรคมะเร็งเป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มนี้อาจมีโรคมะเร็งระยะแรกซ่อนตัวอยู่เป็นเวลานานแต่ยังไม่แสดงอาการ ด้วยความเจริญทางการแพทย์มีมากขึ้น ทำให้ประชากรกลุ่มนี้มีอายุยืนยาวขึ้น (life expectency) ส่งผลให้โรคมะเร็งในผู้สูงอายุจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นการเอาใจใส่ต่อสุขภาพของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ และแม้ว่าทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง แต่ถ้าเราใส่ใจในสุขภาพตนเอง และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รวมถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการตรวจคัดกรอง สามารถตรวจพบผู้ป่วยโรคมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีและปลอดจากการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน