xs
xsm
sm
md
lg

พระมหาฯตีแผ่ความจริงวิธีธรรมกาย แค่ “ธง” ก็ชูสัญลักษณ์ฮิตเลอร์ ปฏิเสธธรรมจักร!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ วัดชนะสงคราม นำหลักธรรมคำสอน “ธรรมวินัย” จาก “พระไตรปิฎกเถรวาท” แจกแจงถึงวิธีการแผ่ขยายของธรรมกาย ผิดแผกไปจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทพระนิพพาน “อนัตตา” จนย้อนกลับไปหาแหล่งต้นเดิมไม่ได้ทั้ง “พระนิพพาน” จากเดิมที่เป็น “อนัตตา” “สุญญตา” “อปฺปติฏฺฐํ : ไม่มีฐานที่มั่น” แต่วัดพระธรรมกายทำให้เป็น “อัตตา” อายตนะมีฐานที่มั่นสถิตอยู่อย่างเป็นนิรันดร์ อีกทั้งรูปแบบและพิธีกรรมซึ่งไม่ใช่วิถีของพุทธศาสนา เช่น ธุดงค์ธรรมชัย, พิธีบูชาข้าวพระพุทธ ทั้งธง แบรนด์ โลโก้ และอัตลักษณ์ ที่เป็นของเฉพาะตน กลายเป็นทองเทียม ที่ถูกประดับตกแต่ง ชักชวนให้คนยึดถือเป็นสรณะ ส่วนทองแท้ คือพระสัทธรรมจริงจากพระไตรปิฎก กลายเป็นของเก่าที่ปล่อยทิ้ง สุดท้ายจะอันตรธานหายไปในที่สุด

เจตนาของการเขียนหนังสือ “อนัตตาเถรวาท ธรรมะเพื่อธรรมกาย” นี้ พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ กล่าวว่า มิใช่มุ่งที่สาธุชนชาวธรรมกายจำนวนมาก หากแต่มีความกังวลต่อ “บัณฑิตชนคนรุ่นใหม่” ซึ่งความคืบหน้าของหนังสือ อยู่ระหว่างการจัดทำอาร์ตเวิร์กและพิมพ์ ถือว่าเป็นหนังสือที่อาศัยแรงกาย แรงใจ แรงสติปัญญา แรงกำลังความเสียสละ และที่สำคัญกำลังทรัพย์จำนวนมาก

พร้อมกล่าวอีกว่า การออกหนังสือเล่มนี้ข้าพเจ้าเปลืองตัว ไม่อยู่ในสายตาควรชื่นชมยินดีของพระสงฆ์ทั้งหลาย แต่ไม่เป็นไร ข้าพเจ้ามองผ่านความไม่ยินดี ความยินดี ติฉินนินทาและสรรเสริญเยินยอทั้งสองอย่างนี้ไปได้ ข้าพเจ้าคิดทำถวายบูชาสักการะธรรมวินัยพระไตรปิฎกเถรวาทอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาอะไร

สิ่งที่สำคัญ คือ มองเห็นการแผ่ขยายไปของวัดพระธรรมกาย ซึ่งผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม จึงได้นำหลักธรรมคำสอน “ธรรมวินัย” จากพระไตรปิฎกเถรวาท มาชี้แจงแสดงอธิบายอย่างตรงไปตรงมา
โครงการธุดงค์ธรรมชัยฯ เส้นทางพระผู้ปราบมาร ที่มา : เวบไซด์dhammakaya.net
นับตั้งแต่การประกอบศาสนพิธี ธุดงค์ธรรมชัย เส้นทางพระผู้ปราบมาร ที่มีพระภิกษุจำนวนมากอยู่ในชุดแพลตฟอร์มอันเดียวกัน ประหนึ่งเหล่าทหารกล้าออกรบทัพจับศึก เดินเรียงแถวย่างเหยียบย่ำอยู่บนดอกดาวเรือง พร้อมกระแสต่อต้านจากประชาชนที่เดือดร้อนเพราะรถติด ซึ่งบัณฑิตชนคนรุ่นใหม่ที่อาจไม่ใช่ผู้นับถือพระพุทธศาสนา (พุทธมามกะ) จะตั้งคำถามได้ว่า “พระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้หรือ นี่หรือคือพระพุทธศาสนา รูปแบบพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้ เราไม่เลื่อมใสศรัทธา ไม่ปรารถนาเป็นพุทธมามกะ”

ยิ่งกว่านั้นด้วยรูปแบบที่วัดพระธรรมกายละทิ้ง “เนื้อแท้แก่นธรรมดั้งเดิม” มีการเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ แบรนด์ใหม่ โลโก้ใหม่ อัตลักษณ์ใหม่ เป็นของเฉพาะตน พร้อมแผ่ขยายออกไป แต่กลายเป็นทองเทียมที่ถูกประดับตกแต่งวาววับงามจับตา ชวนให้คนทั้งหลายไปยึดถือเป็นสรณะ ส่วนทองแท้คือ “พระสัทธรรมจริงจากพระไตรปิฎก” จะกลายเป็นของเก่าซอมซ่อโบราณคร่ำครึ ถูกหมางเมินปล่อยทิ้งรางเลือนไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะอันตรธานหายไป ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนหันกลับมาพิจารณา “ทองเทียมเทียบกับทองแท้” เพราะหากได้เห็นตามจริงแล้ว ก็จะไม่หลงไปกับทองเทียม
พิธีทอดกฐินธรรมชัย ที่มา : เวบไซด์dhammakaya.net
ยึดพระไตรปิฎกเถรวาทเป็นสูงสุด

โดยสิ่งที่สำคัญ คือ การยึดพระไตรปิฎกเถรวาทเป็นสูงสุด ซึ่งคำว่า “เถรวาท” คำเก่าแก่ของพระพุทธศาสนา แปลตรงตัวว่า “ถ้อยคำของพระเถระ” วาทะที่พระสังคีติกาจารย์อรหันตขีณาสพ 500 รูป นำโดยพระมหากัสสปะเถระประธานสงฆ์ สังคายนา เรียงถ้อยร้อยคำธรรมวินัยของพระตถาคตที่ทรงประกาศแสดงไว้ เริ่มต้นรวบรวมไว้นับแต่ปี พ.ศ. 1 (ศักราชที่เริ่มนับเมื่อพระโคตมพุทธเจ้าปรินิพพาน ) ครั้งปฐมสังคายนาวาระนั้น และสืบทอดมาอย่างเป็นระบบสามารถตรวจสอบเทียบเคียงข้อความ เลขหน้า วรรคตอนว่าตรงกับพระไตรปิฎกเถรวาทได้ทุกฉบับทั้งไทย พม่า เขมร ศรีลังกา

แต่ปัจจุบันชาวพุทธเริ่มถอยร่นตีตัวออกห่างจากพระไตรปิฎกเถรวาทนี้มาไกลแล้ว มีการตีความสอนผิดแผกแตกต่างกันไปเรื่อยๆ จนจะย้อนกลับไปหาแหล่งต้นเดิมไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่ปรารถนาจะเดินตามรอยธรรมย้ำรอยเดิมของพระไตรปิฎกเถรวาทนี้หรือไม่ จึงเกิดปัญหาต่างๆ ศรัทธาวิกฤต ความวิปริตผิดเพี้ยนอย่างที่ปรากฏอยู่ในทุกวันนี้

“ไม่ว่าใคร แม้นักวิชาการพุทธศาสนาสังกัดพระไตรปิฎกเถรวาทแท้ๆ ก็ยังมองไม่เห็นความสำคัญ แต่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเพิ่งผ่านประชามติล่าสุด วันที่ 7 เดือนสิงหาคม พุทธศักราช 2559 นี้ กลับเห็นความสำคัญเขียนกำกับคำว่า “เถรวาท” ไว้ในรัฐธรรมนูญวรรคสองของการบัญญัติเป็นแม่บทกฎหมายในรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งมองว่ารัฐไม่ได้ตั้งธงต้องการเอาผิด จัดการกับพระพุทธศาสนามหายาน ศาสนาอื่น ลัทธิ นิกายอื่นๆ หรือวัดใดวัดหนึ่งเป็นการเฉพาะ แต่ต้องการให้ชาวพุทธหวนย้อนกลับมาศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาทที่ตีตัวออกห่างมาไกล

นับว่าเป็นการอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน ซึ่งรัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการ กลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด รวมทั้งพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

ขณะเดียวกัน พุทธบริษัทแนวหน้า พระภิกษุผู้นำจิตวิญญาณทางศีลธรรมโดยเฉพาะนั้น ก่อนแนะนำพร่ำสอนเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะได้ตระหนักสำนึกรู้ว่า “นี้เถรวาทหรือไม่ เราสอนแสดงได้ถูกต้องตามศาสนธรรมคำสอนพุทธศาสนาดั้งเดิมไหม” ซึ่งจะทำให้ท่านตื่นตัวเรียนรู้ศึกษาพระพุทธศาสนาเถรวาท จากพระไตรปิฎกอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
พระไตรปิฎก ฉบับธรรมชัยของวัดพระธรรมกาย ที่มา : เวบไซด์dmc.tv
การตีความพระนิพพานที่ถูกต้องเป็น “อนัตตา”

สำหรับประเด็นที่สำคัญของเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้โดยหลักคือ ต้องการชี้แจงแสดงให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างอัตตา-อนัตตา นวโลกุตรธรรม 9 มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 เรียกได้ว่า มีคำตอบที่ดี และชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะการแยกแยะให้เห็นเรื่อง “พระนิพพาน” เป้าหมายของพระพุทธศาสนา ที่หมายถึง “อนัตตา” “สุญญตา” “อปฺปติฏฺฐํ : ไม่มีฐานที่มั่น”

เพราะแนวทางสอนวิชาธรรมกายไม่สอดคล้องถูกต้องตามพระไตรปิฎกอรรถกถาตั้งแต่ต้น (วัดพระธรรมกาย ปทุมธานี และวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หาทางออกว่า วิชาธรรมกายของพระพุทธเจ้าหายสาบสูญไปประมาณ 500 ปีที่แล้ว หลวงพ่อสด พระมงคลเทพมุนีเป็นผู้ค้นพบนำมาสอนใหม่) มิหนำซ้ำยังเอาพุทธวจนะที่ปรากฏในพระไตรปิฎกไปตีความเข้าข้างตนเอง เช่น กาเย กายานุปัสสี ตามดูกายในกายว่า กายซ้อนกายอยู่ เหมือนเมล็ดมะขามอยู่ในเนื้อผลมะขาม มีกายหยาบ กายละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายพระโสดาบัน กายพระสกิทาคามี กายพระอนาคามี กายพระอรหันต์ วัดหน้าตักได้กว้าง ยาว สูงขนาดเท่านั้นเท่านี้

มิหนำซ้ำยังจะไปแก้พระไตรปิฎกเรื่องอนัตตาให้เป็นอัตตาเข้าทางว่า “พระนิพพานอัตตา” ของตนเสียอีก นี้คือการบิดเบือนพุทธธรรมคำสอนอย่างเลวร้ายที่สุด

จากสารัตถธรรมมหายาน เราชาวพุทธเถรวาทก็แจ่มแจ้งทันทีว่า “ธรรมกายของพระพุทธศาสนามหายานมิได้เป็นรูปร่างเหมือนของวัดพระธรรมกาย” พระนิพพานตรงกันข้ามกับไตรลักษณ์อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตามคติของมหายานก็จริง แต่ข้อสุดท้ายพระพุทธศาสนามหายานท่านใช้คำว่า “สุญญตา” แทน ซึ่ง “สุญญตา” แปลว่า “ความว่าง” ว่างแบบไม่มีตัวมีตน ไม่ใช่เป็นอัตตาเหมือนวัดพระธรรมกาย

สิ่งที่ชี้บอกถึงความแตกต่างระหว่างพระนิพพานอัตตา พระนิพพานอนัตตาที่ชัดเจน โดย วิชาธรรมกายพูดถึงอนัตตาว่า ไม่มีตัวตน แต่นิพพานตรงกันข้ามเป็นอัตตามีตัวตนรูปพรรณสัณฐาน นิมิตเห็นแดนสถานอายตนนิพพานที่จะให้เข้าไปสถิตอยู่นิรันดร์ ซึ่งนั่นตอบสนองภวตัณหาความอยากมีอยากเป็นอยากมีภพภูมิได้เป็นอย่างดี

การบอกว่า “อนัตตา : ไม่มีตัวตน” แท้จริงเพียงเพื่อนำไปเชื่อมโยงถึงพระนิพพานว่า “อัตตา : มีตัวตน” ซึ่งเป็น “อัตตวาทุปาทาน” ยึดถือกล่าวว่า มีอัตตาข้างหน้าภพหน้าภูมิหน้ารออยู่ ซึ่งเป็นมิจฉาทิฐิอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ที่มา : เฟซบุ้คคุณครูไม่ใหญ่ ( วัดพระธรรมกาย )
นิพพานเป็น “อัตตา” ทำให้คนโลภทุ่มทำบุญ

พระมหาอุเทน กล่าวว่า พระนิพพานจะอัตตา อนัตตาก็เป็นเรื่องอยู่ไกลตัว มือเอื้อมไม่ถึงไปทำไม ควรทำเรื่องใกล้ตัว มือเอื้อมถึงน่าจะดีกว่า แต่ทว่าวิธีการสัมพันธ์กับหลักการ เพราะเริ่มกระทำอะไรอยู่ใกล้ๆ ก็สัมพันธ์กับเป้าหมายอยู่ไกลๆ ได้เหมือนกัน นั่นเพราะปัจจุบันนี้ศีลธรรมของผู้คนก็แย่เต็มทีอยู่แล้ว เรามาทำเรื่องศีลธรรมให้คนรักษาศีล 5 ได้ดี เป็น “หมู่บ้านศีล 5” ผู้คนไม่เห็นแก่ตัวรู้จักทำทาน แบ่งปัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไม่ดีกว่าหรือ

เพราะหากว่า “พระนิพพาน” เป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เมื่อชูเป็นอัตตานั้น จะส่งผลกระทบต่อระบบศีลธรรมระดับล่างทางพฤติกรรมความคิด ให้ยึดมั่นถือมั่น คนจะเกิดโลภะตัณหา อยากไปอยู่ในแดนสถานที่เนรมิตเทียมๆ นั้นขึ้นมา กลายเป็น “พ่อบุญทุ่ม” “แม่บุญทุ่ม” ทุ่มทำบุญอย่างสุดจิตสุดใจ จนจะไม่เหลืออะไร กู้หนี้ยืมสิน ขายบ้านขายรถเอามาทำบุญ จนเกิดผลร้ายในภายหลังอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว (ผู้ที่เป็นต้นคิดให้แก่พระนิพพานอัตตาก็ประสบเคราะห์กรรม วิบากผลร้ายเห็นเป็นตัวอย่างแล้วมิใช่หรือ)

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าถึงกับถูกโลภะตัณหาความอยากครอบงำ ก็จะกระทำผิดศีลธรรมได้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน คือ เกิดกรณียักยอกทรัพย์จากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นเอามาทำบุญตีเช็คสั่งจ่าย ส่งเข้าไปอยู่ในบัญชีธนาคารส่วนตัวของพระหลายรูป วัด และองค์กรสาธารณกุศลอื่นๆอีก เงินหมดสิ้นไปเป็นจำนวนมหาศาลถึง 10,000 ล้านบาท สร้างความเดือดร้อนให้แก่สมาชิกสหกรณ์โดยทั่ว ส่วนคนที่ยักยอกทรัพย์ก็ต้องคดีอาญาถูกดำเนินการ ศาลวินิจฉัยตัดสินให้ได้รับโทษทัณฑ์ถูกจองจำอยู่คุกตะรางหมดสิ้นอิสรภาพไปเรียบร้อยแล้ว

ส่วนพระนิพพาน ที่ชูอนัตตาเป็นเป้าหมาย ก็ส่งผลกระทบต่อระบบศีลธรรมระดับล่างอีกอย่างหนึ่ง คือ ชาวพุทธจะไม่มีพฤติกรรมทางความคิดแบบยึดมั่นถือมั่น ไม่พูดและทำด้วยโลภะตัณหาความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเข้าไปอยู่ในอายตนะสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เกิดพฤติกรรมตรงกันข้ามจากพระนิพพานอัตตายึดมั่นถือมั่นนั้นอย่างสิ้นเชิง กลายเป็นความว่าง ปล่อยวาง พูดและทำด้วยจิตปล่อยวางตั้งแต่ต้น ไม่ถูกล่อให้หลงบุญเมาบุญยึดถืออยากได้

นั่นเพราะสาระแก่นแท้ของพระนิพพานคือความปลดวางโลภะ โทสะ โมหะ ปล่อยวาง ศูนย์ ว่าง โดยเริ่มต้นจากการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา แต่หากไม่ปล่อยไม่วาง ยึดถือและอยากได้ จะเข้าถึงพระนิพพานนั้น จะปล่อยวาง ศูนย์ ว่างได้อย่างไร

สิ่งถูกต้อง ต้องไม่ขัดแย้งต่อพระสัทธรรม

พระมหาอุเทน กล่าวว่า “ธรรมกาย” แปลตามความหมายรูปศัพท์เดิมว่า “กายแห่งธรรม” “กองแห่งธรรม” “หมวดหมู่แห่งธรรม” “แหล่งประชุมรวมอยู่ของธรรม” ต่อมาสำเร็จเป็น 84,000 พระธรรมขันธ์ครบถ้วนบริบูรณ์อยู่ในพระไตรปิฎก หาได้มีรูปร่าง รูปพรรณสัณฐาน

แต่ตามที่มีการกล่าวอ้างว่า นิมิตเห็นในสมาธิ อยู่ที่ศูนย์กลางกายตรงกลางระหว่างท้อง เรียกว่า “ธรรมกายภายใน” ขณะเดียวกัน แม้พุทธรูปองค์พระก็เห็นอยู่ตรงกลางระหว่างท้องศูนย์กลางกายนั้น ความจริง พระพุทธรูป องค์พระควรสถิตอยู่เหนือเกล้าเหนือเศียรของตน แต่กลับไปอยู่ในท้อง

การรักษาพระพุทธศาสนาไม่มีอะไรดีไปกว่ารักษาธรรมวินัย ซึ่งจะรักษาเนื้อแท้แก่นธรรมภายในไว้ได้ คือ “ศึกษาปฏิบัติ” เข้าใจให้ลึกซึ้งก่อน เพราะหากว่าไม่ศึกษา ปฏิบัติ เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่นธรรม จะพากันแล่นออกนอกท่า จนไม่เข้าท่า หวนกลับคืนหาพระพุทธศาสนาไม่ได้

ซึ่งการรักษาภายในสามารถทำควบคู่กันไปกับการป้องกันภัยภายนอกได้ แต่หากมุ่งรักษาภายนอก แต่ไม่สนใจภายในเลย ปล่อยให้เนื้อในเน่า วัชพืชเกิดขึ้นเต็ม มะเร็งเนื้อร้ายปล่อยให้ลุกลามไป ไม่กล้ายอมเจ็บตัวผ่าตัดทิ้ง มิหนำซ้ำไม่คำนึงถึงผิด ถูก ชั่ว ดี สัมมาทิฐิ มิจฉาทิฐิ หากการรักษาคุ้มครองป้องกันภัยภายนอกสูญเสียสุจริตธรรมไปแล้ว จะมีประโยชน์อันใด เมื่อสัมปรายภพเบื้องหน้ากลายเป็นอบายภูมิ ทุคติ วินิบาต นรก
ประชาสัมพันธ์พิธีบูชาข้าวพระ ที่มา : สำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย
พิธีบูชาข้าวพระพุทธ ไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก

อย่างไรก็ตาม การที่วัดพระธรรมกายมี “พระนิพพาน” ที่มีความแตกต่าง โดยทำให้เป็น “อัตตา” “อายตนะมีฐานที่มั่นสถิตอยู่อย่างเป็นนิรันดร์” ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดศาสนพิธีข้อปฏิบัติใหม่ “บูชาข้าวพระพุทธ” จัดทำกันอย่างงดงามมลังเมลือง และร่วมกันใช้วิชาธรรมกายกลั่นเอาโภชนาหารให้เป็นทิพย์นำขึ้นไปถวายพระพุทธเจ้า โดยมีเป้าหมายของการเชิญชวนประชาชนให้ทำบุญบริจาคมากๆ ทุกต้นเดือน

สำหรับศาสนพิธี “การบูชาข้าวพระ” โดยเฉพาะคำกล่าวบูชาข้าวพระพุทธประโยคนี้ “อิมํ สูปพฺยญฺชนสมฺปนฺนํ โภชนํ สอุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ : ข้าพเจ้าขอบูชาโภชนะสมบูรณ์ด้วยข้าวและกับ พร้อมน้ำใสสะอาดนี้แด่พระพุทธเจ้า” เราชาวพุทธคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะก่อนชาวพุทธจะถวายสำรับกับข้าวอาหารแด่พระสงฆ์ให้กระทำภัตกิจหรือก่อนพระสงฆ์บิณฑบาตกลับมาจะกระทำภัตกิจฉันภัตตาหารเช้าก็ยกสำรับกับข้าวน้อยๆ (ในถ้วยตะไลเล็ก ไม่พออิ่ม ทำพอเป็นพิธี มิได้มลังเมลืองยิ่งใหญ่ ภาชนะเงินทองรองรับข้าวอาหารวาววับงามจับตา) ถวายเป็นพุทธบูชา ถวายข้าวแด่พระพุทธเจ้านั่นเอง

“การบูชาข้าวพระพุทธ ไม่ได้เริ่มปฏิบัติกันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล” เพราะสืบหาการบูชาข้าวพระพุทธไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก อย่างไรก็ตาม หากจะพิสูจน์เรื่องนี้โดยนำพระไตรปิฎกมาเป็นเครื่องชี้ผิดถูกนั้น พบว่ามีข้อความช่วงท้ายของพรหมชาลสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 9 บอกว่า ไม่ควรบูชาข้าวพระพุทธ (เหมือนไปเซ่นสรวงวิญญาณของพระพุทธเจ้า ปรามาสดูหมิ่นทำให้พระพุทธองค์เป็นเหมือนสัมภเวสีเร่ร่อนไปเสียเปล่า) เพราะไม่มีพระวรกายรูปลักษณะให้พบเห็นแล้ว เหลือเพียงพุทธคุณ ควรน้อมระลึกถึงโดยความเป็นอตีตารมณ์ “พุทธานุสติ” เท่านั้น

ถามให้คิดว่า “การบูชาข้าวพระพุทธ เราชาวพุทธปรารถนาบุญหรือไม่ จะได้บุญจริงๆ ไหม” พิจารณาคำว่า “บูชา” ก่อน ในมงคลสูตร 3 ข้อแรกแสดงไว้ว่า ไม่คบคนพาล 1 คบเฉพาะบัณฑิต 1 บูชาบุคคลผู้ควรแก่การบูชา 1 ทั้ง 3 ประการนั่นเป็นอุดมมงคล

การบูชาบุคคลผู้ควรแก่การบูชาเป็นสิริมงคล มิได้เป็นบุญ เช่นเดียวกับการบูชาข้าวพระพุทธ ถวายข้าวน้ำบูชาพระพุทธเจ้าก็เป็นสิริมงคล มิได้เป็นบุญ และเมื่อเกิดเป็นมงคล ก็เกิดเป็นกุศลจิต เมื่อเกิดเป็นกุศลจิตก็เกิดการทำกุศลกรรม เมื่อเกิดการทำกุศลกรรมก็สำเร็จเป็นบุญคุณความดี เมื่อสำเร็จเป็นบุญคุณความดีก็เกิดวิบากผลที่คนทำควรได้รับ ซึ่งจะต่อเนื่องสัมพันธ์กันไปเอง มิได้สลับซับซ้อนเลย เพียงแต่ต้องกล่าวให้ถูกต้องตรงตามเหตุปัจจัยที่เป็นจริงเท่านั้น

ดังนั้นคำว่า “บุญ” ในที่นี้ จึงหมายถึงผลานิสงส์ที่ตนพึงได้ตามกำลังแห่งบุญที่กระทำไว้ทั้งในอดีตชาติและปัจจุบันชาติ เช่น เสื้อผ้าอาภรณ์ ข้าว น้ำ เครื่องอุปโภคบริโภค ยวดยานพาหนะ ประทีปของหอมเครื่องลูบไล้

พระรุ่นเก่า-พระรุ่นใหม่ “รักษ์ของเก่าเฝ้านิยมของใหม่”

เมื่อยุคสมัยสังคมแปรเปลี่ยนไปแล้ว ถามว่าธรรมวินัยที่เก่ามาก ล่วงมาเป็นเวลา 2,600 ปีแล้วนั้น “ของเก่า ควรปรับตัวประยุกต์เปลี่ยนแปลงให้ตรงตามยุคสมัยหรือไม่ และธรรมวินัยเก่าๆ ท่านเข้าถึงเนื้อหาสาระแท้หรือยัง เนื้อหาสาระของเก่าเป็นอย่างไร ควรเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าเปลี่ยนแปลงใหม่ ของใหม่จะคงเนื้อหาสาระ หรือแทนที่ของเก่าได้ครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนเดิมหรือไม่”

สำหรับเรื่องนี้เจ้าประคุณสมเด็จพระมหาธีราจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม สมัยดำรงตำแหน่งพระราชาคณะชั้นธรรม “พระธรรมปิฎก” และชั้นรองสมเด็จ เคยเปรยเอ่ยไว้ท่ามกลางสงฆ์ครั้งหนึ่งว่า “ของเก่า ประเพณีเก่าๆ ดีงามอยู่ เราก็ต้องรักษาไว้ ถ้าพระเราไม่รักษาใครจะรักษา”

ซึ่งท่านหมายถึง การอนุรักษนิยมตามแนวทางเถรวาท ที่เคร่งคัมภีร์ และจริยาวัตรของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็คงเส้นคงวากับการทำกิจ ลงทำวัตรเช้า-เย็น ยามว่างเว้นจากศาสนกิจที่รัดตัว โดยเฉพาะอุโบสถปาติโมกข์ในวันพระธัมมัสวนะ ขึ้นและแรม 15 ค่ำทุกกึ่งเดือน และสำคัญที่สุดคือการลงเทศน์ เทศนาธรรมในพระอุโบสถทุกวันพระธัมมัสวนะ 8 ค่ำ 15 ค่ำประจำ เจ้าประคุณไม่รับกิจนิมนต์ไปที่ไหนเลย แม้เจ้าใหญ่นายโตมานิมนต์ก็ปฏิเสธ เพราะวันนี้เป็นวันของพระ พระต้องทำหน้าที่ตามกิจของสงฆ์

เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาประหนึ่งว่าเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของตน ทำได้ไหม ตอบว่า “ทำได้” แต่ต้องให้แน่ใจว่าเนื้อหาสาระมาแทนที่ของเดิมได้อย่างบริบูรณ์ อาจไม่ต้องถึงกับสมบูรณ์เต็มร้อย แต่อย่าให้ดูผิดเพี้ยนไป จนไม่เหลือร่องรอยของเดิมไว้เลย
ธงของวัดพระธรรมกาย
ทั้งนี้หากพิจารณาสัญลักษณ์ของวัดพระธรรมกาย เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าภายในรอบๆ ระบายด้วยสีแดงเข้ม ตรงกลางเป็นมหาธรรมกายเจดีย์แต่ลักษณะคล้ายรูปจานบินสีทองจรัสตา ซึ่งมีลักษณะเป็น “โลโก้ตราแบรนด์” เพราะมีการประทับตราไว้กับเสื้อผ้าชุดขาวของสตรีที่นุ่งห่มทำสมาธิ

ถึงแม้ว่าจะพยายามเข้าใจเจตนาของวัดพระธรรมกายว่า ต้องการสร้างโล้โก้ตราแบรนด์ใหม่ โดยเหลือร่องรอยของเก่าอยู่เพียงเล็กน้อย หรืออาจจะไม่เหลือรูปแบบของเก่า ชนิดที่ว่าผิดแผกแตกต่างไปเลย

แต่หากพิจารณา “ธงของวัดพระธรรมกาย” ซึ่งตั้งเรียงรายเป็นทิวแถวออกมาจากมหาธรรมกายเจดีย์ มองอย่างไรก็ไม่ใช่ธงที่ดัดแปลงมาจากธงธรรมจักรสีเหลืองของพระพุทธศาสนาแต่เดิม ตรงกันข้ามกลับเห็นว่าเป็นการดัดแปลงมาจากรูปสวัสติกะและปีกนกอินทรี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำของพรรคนาซี และยิ่งมีการสร้างหอคอยหรือโดมเสียดยอดสูงตั้งเด่นภายในวัด โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยสอดส่องระวังภัย โรยลวดหนามบนกำแพงสูงใหญ่ไว้ ยิ่งไม่ใช่แนวทางของพระพุทธศาสนาเลย

ศาสนาเทรนด์ใหม่

วัดพระธรรมกายเป็นศาสนาเทรนด์ใหม่หรือลัทธิใหม่ที่ต้องการเติบโต แตกกิ่งก้านสาขาออกไปในสังคมโลกสากลนิยมเสรีประชาธิปไตย ซึ่งตรงนี้มีข้อดี คือ ไม่มีเรื่องเก่า ปฏิเสธตะกรุด ผ้ายันต์ เครื่องรางของขลัง ลงเลข รดน้ำมนต์ พ่นน้ำหมาก ขากเสลด

แต่วัดพระธรรมกายก็ทำข้อเสียหายที่ถือว่าร้ายแรง คือ ทำลายเป้าหมายของพระพุทธศาสนา “พระนิพพาน” จากเดิมอนัตตาไม่มีฐานที่มั่นทำให้เป็นอัตตาอายตนะ

ทั้งนี้มีข้อเขียนของศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ผู้ที่เคยไปสอนหนังสือถวายความรู้แก่พระภิกษุสงฆ์ที่วัดพระธรรมกายมาตลอดเวลา 15 ปีแล้ว เห็นอะไรต่อมิอะไรในวัดพระธรรมกายมากมายกล่าวว่า

“ผมเรียนปรัชญา ทราบว่าการเปลี่ยนความคิดคนเป็นเรื่องยากที่สุดในโลก และคนที่เปลี่ยนความคิดยากที่สุดพวกหนึ่งเท่าที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ก็คือ “นักวิทยาศาสตร์” เมื่อมีการเสนอความคิดใหม่ในทางวิทยาศาสตร์ ความคิดนั้นมักจะไม่เป็นที่ยอมรับของพวกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเก่าๆ ต้องรอให้คนรุ่นนี้ตายหมดก่อน ความคิดใหม่จึงจะเป็นที่ยอมรับ

ตัวอย่างที่ผมคิดว่าวัดพระธรรมกายอาจใช้เป็นอนุสติ โดยบอกว่า อาจต้องใช้เวลามากพอสมควรที่จะให้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัด เป็นไปในทางบวก แต่การรอเวลาอย่างเดียวก็คงไม่เกิดผล ความคิดดีๆ ในทางวิทยาศาสตร์ที่เกิดขึ้นใหม่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นที่ยอมรับของคนรุ่นต่อมา เพราะความคิดนั้นได้รับการพิสูจน์มาพอสมควรว่าเป็นความคิดที่ดี มีประโยชน์ และมีเหตุมีผล”

พระมหาอุเทน กล่าวว่า เรายอมรับความเปลี่ยนแปลงพัฒนาการที่เรียกว่า “Evolution” นั้นได้ และควรปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยด้วย เพราะมิฉะนั้นจะเอาตัวไม่รอด ตกยุคไปเสียเปล่า แต่ก่อนจะเปลี่ยนแปลงอะไร โดยเฉพาะเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ท่านจะต้องเข้าใจเนื้อหาสาระได้อย่างถ่องแท้เสียก่อน เปลี่ยนแปลงใหม่ แต่สามารถรักษาเนื้อหาสาระได้อย่างสมบูรณ์เหมือนเดิม อย่างน้อยๆ สักร้อยละ70-80 เป็นอย่างต่ำ อย่าให้มองว่าผิดเพี้ยนไปเลย

พระมหาอุเทน กล่าวว่า ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นขั้วขัดแย้งอยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะอย่างน้อยพระสงฆ์ประมาณ 300 รูปที่รับกิจนิมนต์ ไปวัดพระธรรมกายเพื่อให้กำลังใจท่านเจ้าอาวาสก็ไม่ชอบใจ แต่การที่ออกมาเขียนงานทำหน้าที่ “ปรัปวาท” อีกครั้ง ไม่ได้คิดขัดแย้งคัดค้าน หรือล้มล้างใครเลย (เรือลำใหญ่มหึมาแล่นออกจากท่ามาไกลขนาดนี้แล้ว ล้มล้างไม่ได้ดอก) แต่ด้วยความมุ่งประโยชน์ (อัตถกามตา) ห่วงพระอนุชนคนรุ่นหลังที่ปรารถนาจะสร้างอัตลักษณ์แปลกใหม่ให้แก่ตนเองเป็นโลโก้หรือตราแบรนด์

เพราะการจะเปลี่ยนแปลงก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ขอให้ศึกษาเนื้อหาสาระของพระพุทธศาสนาให้เข้าถึงเข้าใจอย่างถ่องแท้เสียก่อน และที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงใหม่จะต้องรักษาของเก่าไว้ได้สมบูรณ์เหมือนเดิม ถ้าคิดว่าเปลี่ยนแปลงใหม่ แต่ไม่สามารถรักษาของเก่าไว้ได้สมบูรณ์ อย่าเปลี่ยนแปลงเลยดีกว่า เพราะของเก่าๆ สัญลักษณ์เก่าๆ เช่น ธงสีเหลืองตรารูปธรรมจักร ก็ดีสมบูรณ์แบบอยู่แล้ว”

ทำบุญแล้วรวยจริงหรือ?

ครั้งหนึ่งที่สนทนากับศิษย์วัดพระธรรมกาย ตั้งคำถามว่า “สอนทำบุญให้รวยไหมคะ” “ไม่ อาตมาไม่เคยสอนว่าทำบุญให้รวย ถ้าทำบุญแล้วรวยได้จริง คนทั้งโลกก็ไม่ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ประกอบธุรกิจการงานใดๆ ทุ่มทำบุญกันอย่างเดียว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘มา ภิกฺขเว ปุญฺญานํ ภายิตฺถ สุขสฺเสตํ อธิวจนํ ยทิทํ ปุญฺญานิ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากลัวบุญเลย คำว่า ‘บุญ’ บุญนี้เป็นชื่อของความสุข นั่นหมายความว่า มิใช่เป็นชื่อของความร่ำรวย เพราะทำบุญแล้ว สังเกตดูว่าตนรู้สึกสบายใจ ปลอดโปร่งโล่งใจ ปีติอิ่มใจหรือไม่ ถ้ารู้สึกว่าสบายใจ ปลอดโปร่งใจ ปีติอิ่มใจ บุญเกิดขึ้นแล้วทันใด และคนทำบุญก็เป็นเจ้าของแห่งบุญขณะนั้นทันที เป็นพลังสร้างสรรค์ความดีงามอยู่ภายในใจของมนุษย์อย่างหนึ่ง

หลังการทำบุญแล้วประสบความสำเร็จร่ำรวยในภายหลังก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นรวยไม่ใช่บุญ บุญไม่ใช่รวย อย่าเอามาเป็นจุดขายเพื่อให้คนทำบุญ “มิฉะนั้นจะเท่ากับว่าสอนให้คนโลภบุญทำบุญด้วยโลภะ หวังผลตอบแทนจากบุญคือความร่ำรวยอย่างเดียว”
พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ วัดชนะสงคราม
นอกจากนั้นศิษย์วัดพระธรรมกายถามอีกว่า “คนจะทำบุญมากๆ ปฏิเสธได้หรือคะ ไม่ขัดบุญเขาหรือคะ” “ปฏิเสธได้ เพราะการปฏิเสธปัจจัยไทยธรรมที่ทายกจะทำมากๆ แสดงถึงอัธยาศัยดีงามของปฏิคาหก คือ พระผู้รับเอง” มิใช่พระบอกให้ทายกถวายทั้งหมดไม่มีส่วนเหลือ “โยมมีอยู่สองแสนเหรอ ถวายทั้งหมดสองแสนนั้นเลย” นี้แสดงว่าพระโลภอย่างประหลาด

การที่พระปัจเจกพุทธเจ้าปิดบาตรไม่รับอาหารอีกครึ่งหนึ่ง เท่ากับปฏิเสธไม่รับ แต่ก็ปฏิเสธศรัทธาแรงกล้าไม่ได้ ยินดีรับหากเห็นศรัทธาเขาแรงกล้า นั่นแสดงถึงอัธยาศัยดีงามของปฏิคาหกพระผู้รับ มิใช่อยากได้อยากเอาทั้งหมดไม่มีส่วนเหลือเลย เขาจะเหลือกินไม่เหลือกินก็เรื่องของเขา เขาจะมีที่อยู่หรือไม่มีก็ช่างหัวเขา เอามาให้เท่าไหร่ รับมันให้หมดเท่านั้น รับไม่มีส่วนเหลือเลย มิหนำซ้ำยังบอกให้บริจาคแบบสุดชีวิตจิตใจ ตายเป็นตาย หมดเนื้อหมดตัวก็ไม่ว่ากัน นั่นมิใช่อัธยาศัยดีงามของพระ หากแต่เป็นนิสัยโลภะล้วนๆ เพราะว่าบุญเป็นเรื่องของการสั่งสมซึ่งเป็นไปตามลำดับ มิใช่จะมาทำกันทีเดียวเอาทีละมากๆ กลายเป็นพ่อบุญทุ่มแม่บุญทุ่มกันทันที

เจตนาและการกระทำเป็นเรื่องเดียวกัน

พุทธวจนะกล่าวไว้ว่า “เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ : ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม” ในความหมายคือ “กรรม - เจตนา เจตนา - กรรม เป็นตัวเดียวกัน” กรรมส่อเจตนา เจตนาก็ส่อถึงกรรม

ดังนั้นกรรม - เจตนา และเจตนา - กรรม แยกออกจากกันไม่ได้ กรรมคือการกระทำ พฤติกรรมแสดงออกนั่นแหละบ่งชี้เจตนาได้ กรณีของพระภิกษุสมัยปัจจุบันนี้ เมื่อมีคดีความมาถึงตัวท่านแล้ว หากท่านกล้าเผชิญกับความจริงให้สอบสวนอยู่ในที่เฉพาะหน้าเป็น “สัมมุขาวินัย” แต่กลายเป็นว่าตรงกันข้ามเลยใช่ไหม แสดงพฤติกรรมหลบเลี่ยงสับขาหลอกให้สังคมอ่านออกชัดเจน

ทีนี้เราจะเชื่อได้อย่างไรว่า ท่านซื่อตรงต่อธรรมวินัย ตอบตรงเจตนาของท่านตามจริง อีกอย่าง คนที่ออกมาแก้ต่างตอบแทนท่านว่า “ท่านไม่มีเจตนา ไม่รู้เรื่อง อจิตตกะไม่ประกอบด้วยจิตคิดลักขโมย ไม่ต้องอาบัติปาราชิก” คนอื่นๆ ทั้งหลายเข้าไปล่วงรู้เจตนาของท่าน รู้วาระจิตของท่านแล้วหรือ

ในยุคศีลธรรมเสื่อมถอย คืบคลานเข้ามาแม้ในแวดวงดงขมิ้นถิ่นผ้าเหลือง เราไม่อาจเชื่อถ้อยคำของใครได้เลย แม้ถ้อยคำของพระภิกษุที่ท่านบอกว่า “ไม่มีเจตนา ไม่รู้เรื่อง” แต่หลักฐานเส้นทางการเงินที่โยงใยเข้าไปถึงที่ตีเช็คสั่งจ่ายระบุชื่ออย่างชัดเจน

ถ้าเราเชื่อถ้อยคำของคนยุคปัจจุบันนี้ ทั้งที่ทราบดีว่า ลิ้นไม่มีกระดูกจะตวัดพูดอย่างไรก็ได้ เราก็ไม่จำเป็นต้องมีตุลาการ ศาล อัยการ นิติกรนักกฎหมาย ดีเอสไอ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สืบหาพยานหลักฐาน ผู้พิพากษา พิจารณาตัดสินตามพยานหลักฐาน จำเลยบอกว่าไม่มีเจตนาฆ่า แต่พนักงานสอบสวนสืบหาหลักฐาน เห็นร่องรอยการวางแผนฆ่าชัดเจน จำเลยไม่มีจิตคิดลักขโมย แต่พนักงานสอบสวนสืบหาเห็นหลักฐานการตัดช่องย่องเบา เข้าไปลักขโมยสิ่งของภายในบ้านคนชัดเจน ถ้าเราเชื่อตามที่เขากล่าวหมด โลกนี้จะมีแต่คนบริสุทธิ์ ไม่ต้องสร้างคุกตะรางมาคุมขังกันให้สิ้นเปลืองทรัพยากร

แม้ทุกวันนี้เขาจะสร้างหลักฐานเท็จได้ แต่หลักฐาน พยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในกระบวนการวินิจฉัยตัดสิน ศาลตุลาการท่านตัดสินไปตามหลักฐาน แม่บทกฎหมาย จริงหรือเท็จก็ต้องสู้กันด้วยหลักฐาน หาพยานหลักฐานมาต่อสู้หักล้างกันสิ มิไยมาอ้างเรื่องศรัทธา เชื่อว่าท่านบริสุทธิ์ เชื่อตามที่ท่านพูดว่า “ไม่มีเจตนา ไม่รู้เรื่อง” ซึ่งก็เป็นเพียงคำพูดเท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานอะไรชัดเจนเลย

ดังนั้นพยานหลักฐาน คือ สิ่งสำคัญที่สุด จะรอดพ้นหรือไม่รอดพ้นก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานทั้งนั้น ดังนั้นเราควรมาพูดถึงเรื่องพยานหลักฐานกันดีกว่า นำมาสู้คดีเถิด อย่าพูดถึงเรื่องเจตนาที่ออกมาเป็นถ้อยคำซึ่งเชื่อถือไม่ได้

ความจริงสิ่งควรทราบและยอมรับ

ความจริงต้องมาจากพระไตรปิฎกเป็นลำดับแรกก่อน ส่วนการอธิบายขยายความจากพระไตรปิฎก จะฟังอ่านพิจารณาอยู่ในลำดับสอง ดังนั้นเมื่อจะมาพูดคุยอภิปรายให้ตรงประเด็น ต้องยกข้อความพุทธดำรัสในพระไตรปิฎกที่นำมาเสนอแสดงและอธิบายว่าเป็นอย่างไร เช่น พระไตรปิฎกบอกว่า “สัสสตทิฐิ : อัตตาและโลกเที่ยง จัดเป็นมิจฉาทิฐิอย่างหนึ่ง

หากวิชาธรรมกายสอน “นิพพานอัตตาเที่ยงก็เป็นสัสสตทิฐิจัดเป็นมิจฉาทิฐิเหมือนกัน” และหากบอกว่า ไม่จริง ไม่ใช่ วิชาธรรมกายสอนนิพพาน อัตตาไม่เป็นสัสสตทิฐิมิจฉาทิฐิ ทางพุทธเราก็เปิดโอกาสให้ไม่เชื่อขัดแย้งโต้เถียงพระไตรปิฎกได้ บอกให้ชัดไปเลยว่า

“กระผม-ดิฉันไม่เชื่อพระไตรปิฎก ซึ่งเท่ากับไม่เชื่อพระพุทธเจ้า กระผม-ดิฉันเชื่อหลวงพ่อสดหลวงพ่อธัมมชโยของกระผม-ดิฉันเท่านั้น”

ขอให้ยกข้อความพระไตรปิฎกที่นำมาเสนออย่างตรงไปตรงมา เป็นหัวข้ออภิปราย ถกเถียงโต้แย้งแสวงหาข้อสรุปกัน ไม่ใช่มาโต้แย้งหรือพุ่งคำกล่าวหามาที่ตัวข้าพเจ้าซึ่งเป็นเพียงตัวบุคคลหนึ่งว่า “ท่านมาอวดอ้างความบริสุทธิ์เป็นสัมมาทิฐิอยู่รูปเดียว ตัดสินคนอื่นผิดเป็นมิจฉาทิฐิหมด” นี้ถือว่าท่านจับไม่ตรงประเด็นอย่างน่าประหลาดใจ

กรณีหากมีการโต้เถียงขัดแย้งได้ถึงขนาดที่ว่า “อย่าเอาของเก่าเรื่องอดีตในพระไตรปิฎกมาตัดสินของใหม่เรื่องปัจจุบัน” ก็เท่ากับบอกว่า “หลักธรรมวินัยในพระไตรปิฎกไม่ใช่ความจริง ไม่เป็นความจริง” ซึ่งย้อนแย้งกันอยู่ในตัว ถ้าพระไตรปิฎกไม่ดีจริงแล้วสืบทอดถึงยุคปัจจุบันได้อย่างไร ผู้รู้วิญญูชนทั้งหลายก็ยอมรับมาโดยตลอด

พระมหาอุเทน ทิ้งท้ายว่า ถ้ามีการแย้งกันว่า “พระไตรปิฎกไม่จริง ตัดสินปัจจุบันไม่ได้ พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถาอธิบายพระนิพพานไม่ได้” เราก็ทำลายพระไตรปิฎกนั้นทิ้งเสีย ต่อจากนี้ไปใครจะสอนแสดงอะไร จะทำธุรกิจพาณิชย์ค้าบุญอย่างไร ยิ่งใหญ่สวยงามตระการขนาดไหน ก็อิสระสบายได้ตามชอบใจ สอดคล้องกับยุคเสรีนิยมเปิดกว้างทางความคิด แล้วเราก็จะไม่ต้องมาขัดแย้งโต้เถียงกันให้เสียเวลาเลย

ดังนั้นจึงอยากให้ประชาชนหันกลับมาพิจารณาทองเทียม เทียบกับทองแท้ ซึ่งเมื่อเห็นตามจริงแล้ว ก็จะไม่หลงไปกับทองเทียม ด้วยความปรารถนาจะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่ง “ทองแท้” เนื้อแท้แก่นธรรมดั้งเดิม

กำลังโหลดความคิดเห็น