ดร.เสรี วงษ์มณฑา แนะวิธีปกป้องภาพลักษณ์และชื่อเสียงจากโลกโซเชียลมีเดีย เพราะพลังโซเชียลมีเดียมีอิทธิพล สามารถเปลี่ยน “เรื่องดีเป็นร้าย-ร้ายเป็นดี” ได้ คนเสพข่าวสารต้องคิดก่อนเชื่อหรือแชร์ ส่วนคนที่ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนไม่ชี้แจงอาจถูกสังคมตราหน้าไปโดยปริยาย ด้านนักกฎหมาย แนะวิธีรับมือทุกรูปแบบ และไม่ควรด่าหรือโพสต์ประจานโต้ตอบ แต่ให้อธิบายชี้แจงความจริงเพื่อรักษาชื่อเสียง จากนั้นให้นำพยานหลักฐานไปแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ระบุคนโพสต์หมิ่นหากมีการฟ้องร้องดำเนินคดี “อาจถึงกับต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน” เพราะมีประวัติกระทำผิดอาญา
ปัจจุบันเป็นยุคที่คนใช้พื้นที่สื่อโซเชียลมีเดียแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรีในทุกวงการ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจึงมีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ กลายเป็นข่าวร้อนในโลกโซเชียล
นับตั้งแต่กรณีการโพสต์แชร์ภาพวาบหวิว MV เพลงสะบัดของ “กระแต อาร์สยาม” ที่แม้ว่าจะมียอดวิวสูงทะลุกว่า 2 ล้านภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หรือการแต่งตัวในชุดบิกินี่สุดสยิวกลางงานมอเตอร์โชว์ของ “เชอร์รี่ สามโคก” ที่มีการโพสต์คลิปเผยแพร่ทางโซเชียล ซึ่งล้วนแต่ได้รับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมและอนาจารตามมา
ตามมาด้วยศิลปินร็อกชื่อดัง “เสก โลโซ” ที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อเล่าเรื่องราวต่างๆ มานาน และกลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์กับกรณีปัญหาครอบครัวที่มีการตอบโต้กันไปมาอย่างดุเดือด ล่าสุดจากการโพสต์ภาพและข้อความการทำร้ายร่างกายลูกน้องอดีตภรรยา ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโซเชียลมีเดียเช่นกัน
หรือกรณีดาราสาว “มิน พีชญา” หลังโพสต์ภาพซื้อกระเป๋าหรูจำนวนมากผ่านอินสตาแกรมของตัวเอง เป็นที่มาของการตั้งคำถามในโลกออนไลน์ ถึงการนำเข้าว่ามีการเสียภาษีศุลกากรอย่างถูกต้องหรือไม่
กระทั่งกรณีตัวอย่างที่ถูกนำไปใช้ในแวดวงการเมือง ก็จะเห็นได้ว่าฝ่ายตรงข้ามที่มีความคิดแตกต่างจากรัฐบาล ใช้พลังโซเชียลมีเดียในการรวมพลและเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาล คสช.ได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้ฝั่งรัฐบาลทำงานได้ยากขึ้น
ตัวอย่างเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงลบทั้งหมด หากไม่มีโซเชียลมีเดีย สถานการณ์จะไม่รุนแรงลุกลามบานปลายจนกลายเป็นข้อพิพาทได้
อย่างไรก็ตามไม่ว่าองค์กร บุคคล โดยเฉพาะคนดังหากถูกกระแสโจมตีและเกิดข้อมูลผิดพลาด ก็สามารถชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านแฟนเพจของตัวเองได้อย่างทันเวลาเช่นกัน โลกโซเชียลมีเดีย จึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะรู้จักวิธีการรับมือกับสิ่งเหล่านี้และเลือกที่จะใช้ประโยชน์อย่างไร
ยุคเปิดประเด็นข่าวไม่ต้องพึ่งสื่อ
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนและการตลาด บอกว่า ความยากง่ายของชีวิตคนในวันนี้ เกิดขึ้นจากการมีโซเชียลมีเดีย เพราะหลังจากที่โซเชียลมีเดียเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน เรื่องราวต่างๆจะเกิดได้ง่ายขึ้น โดยจะเห็นได้จากการสร้างกระแสข่าวที่มีมาตลอดเวลา ในยุคที่ผ่านมาซึ่งไม่มีโซเชียลมีเดีย มีแต่สื่อปิดนั้น หากเราอยากจะว่าใคร แต่สื่อมวลชนไม่สนใจ ก็ไม่สามารถจะไปแสดงความคิดเห็นต่อว่าหรือติชมใครได้ แต่เมื่อเข้ายุคโซเชียลมีเดีย ถือว่าเป็นสื่อเปิด คนที่อยากเปิดประเด็นข่าว ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อ
จึงเป็นยุคที่แม้ว่าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไม่ลงข่าวเรื่องราวต่างๆให้ก็ไม่เป็นไร เพราะมีทางเลือกอื่น ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวก็ได้ ซึ่งตรงนี้ถือว่ายากกับชีวิตมากขึ้น แต่อีกด้านก็ถือว่ามีความง่ายอยู่เหมือนกัน เพราะที่ผ่านมา หากจะแก้ไขกระแสข่าวทางลบ ต้องขอความร่วมมือกับสื่อมวลชนให้มาช่วยในการชี้แจงเพื่อแก้ข่าว และถ้าสื่อไม่สัมภาษณ์ก็ไม่สามารถชี้แจงได้ ปัจจุบันถือว่าเราชี้แจงได้ง่ายมากขึ้น เพราะมีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ของเราเอง
“แต่มีความยากอยู่ตรงที่ว่า หากเราทำตัวไม่ดีในสมัยนี้ จะก่อให้เกิดเรื่องดราม่าได้ง่ายขึ้น สมัยก่อนหากทำอะไรผิดพลาดจะไม่โดนดราม่าขนาดนี้”
ยุคที่ภาพลักษณ์ทั้ง “คน-ธุรกิจ” เสียหายง่ายมาก
ดร.เสรี บอกอีกว่า การแสดงความคิดเห็น และการแบ่งปันข้อมูลในสังคมโซเชียลมีเดีย ถือเป็นประชาธิปไตยในการสื่อสารที่มีเสรีภาพมากกว่าสื่อสารมวลชน หลายๆ เรื่องที่พูดได้ในโซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ในสื่อทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ตรงนี้จึงเป็นความเสี่ยงที่บุคคลทุกระดับ ตั้งแต่คนดัง คนทั่วไป รวมถึงธุรกิจบริษัทเล็ก/ใหญ่นั้น จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่มาจากโซเชียลมีเดียมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคนี้ ได้เกิดโรคใหม่ขึ้นในสังคม ซึ่งอาจารย์เสรีให้คำนิยามว่า “โรคดราม่าซินโดรม” หรือ “โรคที่ชอบดราม่า”
“ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องดังไปได้ เห็นแมลงสาบในร้านอาหาร พนักงานบริการไม่ดี คนไปจอดรถในที่ไม่ควรจอด แซงคิว มีการตบกันตีกันก็ดราม่า ซึ่งการดราม่าคนตัวเล็กที่ไม่มีคนรู้จักนั้น จะไม่ค่อยมีความหมายอะไรเท่าไหร่ เป็นเพียงสิ่งที่แชร์กันทั่วไป แต่หากว่าได้ดราม่าจากคนใหญ่คนโต คนดัง ดราม่าบริษัทใหญ่ ดราม่าบุคคลซึ่งมีตำแหน่ง จะเป็นสิ่งที่คน Enjoy มาก แล้วจะมีคนเข้ามาแชร์แบ่งปันข้อมูลให้เป็นที่รับรู้อย่างรวดเร็ว”
ดังนั้นคนในยุคนี้จึงต้องเรียนรู้ถึงวิธีการปกป้องภาพลักษณ์ชื่อเสียงจากโซเชียลมีเดีย ทั้งในเชิงรุกและรับ
กลยุทธ์จัดการข่าวสาร-ไม่ผิดแจงใน 1 ชั่วโมง
สำหรับวิธีการแบบเชิงรุก คือ การทำดีเป็นที่ตั้ง เพราะหากคนดังทำตัวเหมาะสม ไม่ทำตัวให้คนอื่นนำไปกล่าวหาว่าร้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรัก เรื่องเพศ การกระทำ นิสัยใจคอ ก็ไม่มีใครนำไปดราม่าได้
ส่วนบริษัทต่างๆ ถ้ามีหลักธรรมาภิบาล ทำธุรกิจไม่เอารัดเอาเปรียบใคร สินค้ามีคุณภาพ บริการดี หรือพนักงานของบริษัททำดี ก็ไม่มีใครสามารถนำไปดราม่าได้
ตรงนี้คือการทำงาน “เชิงรุก” ทั้งในเชิงขององค์กร และบุคคล
ส่วนการทำงาน “เชิงรับ” คือ เมื่อพบว่าโดนกล่าวหาในโซเชียลมีเดียแล้วจะนิ่งเฉยไม่ได้ เพราะคนจะเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง โดยหากโดนตราหน้าเรื่องใดก็ตาม ถ้ารู้ว่าเป็นเรื่องลบต้องรีบตอบโต้ภายในเวลา 1 ชั่วโมง อีกทั้งต้องหมั่นมอนิเตอร์ติตตามเรื่องราวตลอดเวลา และหากมีคนแสดงความคิดเห็นต่อว่าเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ก็ต้องรีบชี้แจงข้อเท็จจริงทันที
แต่ถ้าเราทำผิดจริงตามที่กล่าวกันในโซเชียลมีเดีย “ต้องขอโทษ” และชี้แจง อธิบายถึงเหตุผลว่า ทำไมถึงเกิดการผิดพลาดได้ และจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งความผิดพลาดใดๆก็ตาม ต้องทำให้คนรับรู้ว่าเป็นความผิดพลาดบนเหตุสุดวิสัย และจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เพราะได้เรียนรู้และได้บทเรียนจากความผิดครั้งนี้แล้ว และจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีก
ขณะเดียวกันหากตรวจสอบพบว่า “ไม่ผิด” ต้องรีบแสดงข้อเท็จจิงให้คนเข้าใจว่าได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด และบอกด้วยว่าเรื่องราวแท้จริงเป็นอย่างไรบ้าง โดยยึดหลักวิธีการสื่อสารว่า จะพูดอะไร ตอนไหน อย่างไร พูดในสื่อไหนแบบใด พูดในรูปแบบใด ใช้ข้อความ ภาพ ภาพเคลื่อนไหว หลักฐานตัวเลขมายืนยันเพื่อทำให้คนเกิดการเข้าใจที่ถูกต้อง
“อย่าทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่แยแส ไม่แคร์ว่าใครคิดอย่างไรก็ช่าง ฉันรู้อยู่ว่าความจริงสำหรับตัวฉันมันคืออะไร ถ้าคิดแบบนั้นแสดงว่า เราไม่เข้าใจคำว่าการบริหารจัดการภาพลักษณ์และชื่อเสียง ซึ่งถ้าปล่อยให้ภาพลักษณ์ชื่อเสียงเสียหายโดยไม่คิดว่าคนอื่นจะเข้าใจอย่างไรนั้น นับว่าเข้าใจผิดแล้ว เพราะมโนทัศน์คนที่เกี่ยวข้อง มีความสัมพันธ์กับตัวเรา มีความสำคัญมากกับการทำงานของเรา กับบริษัทและการดำรงอยู่ เพราะฉะนั้นจึงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้”
นี่คือ ยุทธศาสตร์ของการสื่อสารที่ต้องให้ความสำคัญ อย่ายอมเป็นเป้านิ่ง ไม่มีการชี้แจง เพราะคนจะเข้าใจผิดและเข้าใจตามข้อมูลเท็จที่ได้รับจากโซเชียลมีเดีย
ยอดฟอลโลว์ชื่อเสียง-ชื่อเสีย?
ดร.เสรี ระบุถึงสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ จากการเสพข่าวสารข้อมูลในโซเชียลมีเดีย คือ การสร้างภาพลักษณ์บนโซเชียลมีเดีย ทุกวันนี้คนสามารถใช้เครื่องมือเฟซบุ๊กมาสร้างตัวตนให้กับตัวเองได้ บางคนถึงขนาดเป็น “เน็ตไอดอล” มีคนตามฟอลโลว์กันเป็นหลักหมื่นหลักแสน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่ เพราะคำว่า ไอดอล หมายถึงบุคคลที่ควรเลียนแบบ
ดังนั้นการวัดกันแต่เชิงปริมาณ โดยนับจำนวนคนที่เข้ามาดู หรือว่ามีคนฟอลโลว์จำนวนมากถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะบางคนอาจทำตัวชั่วร้าย ด่าเจ็บแสบ ใช้คำหยาบคาย แล้วคนชอบตาม อย่างนี้ไม่เรียกว่า เน็ตไอดอล แต่เป็นขยะเน็ตมากกว่า
คนเหล่านี้ไม่เข้าใจระหว่างชื่อเสียกับชื่อเสียง เอาแต่เชิงปริมาณที่มีคนตาม คนดู คนแชร์ ที่มีตัวเลขจำนวนมาก แต่จริงๆแล้วต้องวัดกันในเชิงคุณภาพ โดยดูจากคอมเมนต์ว่ามีคนชื่นชมมากและติเตียนอย่างไรบ้าง โดยผู้รับสารต้องมีการอ่านประเมินจากข้อความหลายๆ คอมเมนต์ แล้วจะทำให้รู้ว่ามีความเห็นที่เป็นการติหรือชมมากกว่ากัน แต่หากมีปัญหาดราม่าบนโซเชียลมีเดีย ข้อห้ามคือ จะต้องชี้แจงโดยใช้วิธีการอื่นๆ ก่อน การฟ้องร้องในทางกฏหมายควรเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะพึ่งพา เมื่อไม่สามารถใช้วิธีการอื่นๆ ได้
“นั่นเพราะว่าชัยชนะทางกฏหมายไม่ได้เป็นชัยชนะที่น่าภูมิใจ เราอาจจะไม่สามารถดึงอารมณ์ความเกลียดความชังให้เปลี่ยนแปลงได้ เพียงแค่เราชนะทางกฏหมาย โดยเฉพาะกรณีการตอบโต้ในโซเชียลมีเดีย อย่านำกฏหมายมาใช้”
บทลงโทษที่โลกโซเชียลต้องรู้
ถึงแม้การใช้กฏหมายตอบโต้ จะเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ผลกระทบของบางกรณีพิพาทอาจขยายวงกว้าง จนผู้ได้รับความเสียหายต้องใช้กฎหมายเป็นที่พึ่ง ในประเด็นนี้ “ทนายภูวรินทร์ ทองคำ” บอกว่า
คดีหมิ่นประมาททางอินเทอร์เน็ต ที่มีลักษณะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทะเลาะกันด้วยสาเหตุต่างๆ แล้วโพสต์ข้อความใส่ร้ายหรือประจานคู่กรณี, เรื่องชู้สาว หรือทำการตัดต่อภาพเพื่อให้สาธารณชนเข้าใจผิด หากบุคคลที่ได้รับความเสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง ดารา นักร้อง นักธุรกิจ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงทางสังคม ก็จะได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
เมื่อการหมิ่นประมาทกระทำโดยเครื่องมือสื่อสารสังคมออนไลน์ดังกล่าว ความเสียหายจึงกระจายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการกระทำผิดโดยการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น ก่อให้เกิดความไม่สงบสุขในสังคมแห่งการออนไลน์
ถ้าจะกล่าวถึงคดีอาญาเกี่ยวกับการโพสต์ประจานในทางโซเซียลมีเดียนั้น แต่เดิมกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง
กรณีนี้ความเสียหายไม่มากมายนักเพราะมีเพียงแค่บุคคลที่สามที่รับทราบ (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความไม่มาก) กฎหมายจึงระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น
กรณีนี้ความเสียหายกระจายไปตามการโฆษณา (จำนวนผู้รับรู้การใส่ความมีมากขึ้น หรือโอกาสของบุคคลที่รับรู้การใส่ความจะเพิ่มมากขึ้น) กฎหมายจึงต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
ซึ่งการใส่ความที่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น หมายถึง “การยืนยันข้อเท็จจริง” หรือ “กล่าวยืนยันความจริง” หรือ “ความเท็จ” หรือ “เอาเรื่องไม่จริงไปแต่งความใส่ร้าย” หรือ “เอาเรื่องจริงไปกล่าว” ก็เป็นความผิด
เรียกได้ว่า “ยิ่งจริงยิ่งหมิ่นประมาท” หรือแม้แต่การเล่าเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมาไปพูดให้บุคคลอื่นฟังก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้ และต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นคำหยาบ หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้ ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คลุมเครือ หรือเลื่อนลอยหรือกล่าวด้วยความน้อยใจ และข้อเท็จจริงที่กล่าวนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีตหรือปัจจุบันไม่ใช่เพียงการคาดคะเน หรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคต
แต่กรณีแสดงความคิดเห็นบางอย่างแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นในอนาคต แต่หากฟังแล้วทำให้เข้าใจว่าในปัจจุบันเป็นเช่นไร ก็ย่อมเป็นการหมิ่นประมาทได้
ต่อเมื่อสังคมเจริญขึ้น เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร หรือเป็นสังคมแห่งการออนไลน์ที่ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือที่ทันสมัยเชื่อมต่อสัญญาณด้วยอินเทอร์เน็ต และมีโปรแกรมเครื่องมือสื่อสารเป็นของตนเอง เช่น เฟซบุ๊ก หรือโปรแกรมไลน์ โดยอยู่ที่ไหนก็ออนไลน์ได้ ไม่ต้องเห็นหน้าตากัน หรือรู้จักกันมาก่อนก็หมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นกันได้ง่ายขึ้น ด่าทอกันง่ายขึ้น เป็นที่มาของ “คดีเกี่ยวกับการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย” ที่มีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่อง
รัฐจึงต้องตรากฎหมายขึ้นมาควบคุมเพื่อให้ทันกับยุคสมัย ได้แก่ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีบทบัญญัติสำคัญในส่วนที่เกี่ยวกับการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดีย หรือการกดแชร์ส่งต่อข้อความอันเป็นความผิดด้วย คือ
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กราฟิกประกอบ)
มาตรา 16 ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติอัตราโทษจำคุกและโทษปรับให้หนักขึ้นมากกว่าความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดาหรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ทั้งนี้ก็เพราะการโพสต์ประจานในโซเชียลมีเดียมีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายเป็นวงกว้างนั่นเอง
วิธีจัดการทั้งคนหมิ่นและคนโดนประจาน
ทนายภูวรินทร์ แนะนำว่าคนที่ถูกโพสต์หมิ่น หรือเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการโพสต์ สิ่งแรกที่ต้องทำคือเก็บรวบรวมพยานหลักฐานการกระทำผิดให้ได้มากที่สุด ไม่ควรด่าหรือโพสต์ประจานโต้ตอบ แต่ให้อธิบายชี้แจงความจริงเพื่อรักษาชื่อเสียงเบื้องต้นเท่านั้น จากนั้นก็นำพยานหลักฐานดังกล่าวไปแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
สำหรับผู้ที่กระทำผิดโพสต์ประจานผู้อื่น หากเป็นเพียงความผิดฐานหมิ่นประมาท และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 16 ซึ่งเป็นความผิดที่สามารถเจรจาตกลงประนีประนอมยอมความกันได้ ก็ควรสำนึกผิดและขอโทษผู้เสียหายโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขการเจรจาให้ครบถ้วน ผู้เสียหายก็อาจถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้
แต่ในส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความกันได้ คือไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์หรือถอนฟ้องได้ แต่ก็ยังมีทางออกด้วยการสำนึกผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายจากการกระทำ ศาลย่อมเมตตาลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษไว้ก่อนเพื่อให้โอกาสไม่ต้องถูกจองจำ แต่หากต่อสู้คดีก็อาจได้รับโทษจำคุกสูงกว่าการรับสารภาพ
ดังนั้นก่อนที่จะโพสต์ข้อความใดๆ ที่มีลักษณะพาดพิงหรือเป็นการใส่ความบุคคลอื่นไม่ว่าเรื่องจริงหรือเรื่องแต่งขึ้นมาใส่ร้ายป้ายสีกันลงในโซเชียลมีเดีย โดยมีเจตนาไม่สุจริต จึงควร “ตั้งสติคิดให้รอบคอบ” ก่อนโพสต์หรือก่อนกดแชร์ส่งต่อ
นั่นเพราะบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการโพสต์หรือกดแชร์อาจแจ้งความกล่าวหาหรือฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาเพื่อให้ได้รับการจำคุก เป็นเหตุให้ต้องมีประวัติกระทำผิดอาญา “บางคนถึงกับต้องสูญเสียโอกาสในการทำงาน” เพราะมีประวัติกระทำผิดอาญาดังกล่าว
นอกจากนี้ “ผู้เสียหาย” ก็ยังมีสิทธิ์ฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายทางแพ่งอีกด้วย หากผู้เสียหายมีชื่อเสียงหรือเกียรติคุณทางสังคมสูง ค่าเสียหายก็จะสูงตามไปด้วย ฉะนั้น อย่าคิดโพสต์แค่เพียงความสะใจ เพราะอาจจะเสียใจภายหลังก็ได้