2 จิตแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แนะ การปั้นลูกให้มีคุณภาพตั้งแต่วัยทารกจนถึงวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ท่ามกลางวิกฤตปัญหาเด็กซึ่งมองเห็นเปรียบได้กับภูเขาน้ำแข็ง ที่ความจริงซ่อนปัญหาไว้หนักหนาสาหัส แจงเด็กจะดีได้อยู่ที่ครอบครัวบ่มเพาะ ขณะที่ละคร “วัยแสบสาแหรกขาด” ทางช่อง 3 ถือเป็นละครน้ำดีที่ใช้กรอบแนวคิดจากนักจิตวิทยาสะท้อนชีวิตจากครอบครัวจริง
วัยแสบสาแหรกขาด บทละครช่อง 3 ที่ได้รับกระแสตอบรับว่าเป็นละครสะท้อนสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดีทั้งในเรื่องปัญหาครอบครัวหย่าร้างที่ส่งผลกระทบมาสู่การแสดงออกทางพฤติกรรมต่างๆ ของเด็ก เช่น การใช้ความรุนแรง การโกหก การติดโซเชียล การทำร้ายตัวเอง หรือการลักขโมยก็ตาม
ปัญหาดังกล่าวเป็นแค่ส่วนหนึ่ง ท่ามกลางปัญหาอีกมากมายในสังคมที่มีความซับซ้อน ซึ่งนายแพทย์วีรพล อุณหรัศมี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา และแพทย์หญิงฐิติมา สงวนวิชัยกุล จิตแพทย์สถาบันจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ชี้แนะเพื่อให้ผู้ปกครองพร้อมรับมือและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุตรหลานได้เป็นอย่างดี
นายแพทย์วีรพล อุณหรัศมี รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า วัยแสบสาแหรกขาด ถือว่าเป็นละครที่ดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนมีกรอบความคิดของนักจิตวิทยา เพราะเนื้อเรื่องให้รายละเอียดสูงและถูกต้อง สะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้ประพันธ์น่าจะได้ข้อมูลจากนักจิตวิทยา และมีการเก็บรายละเอียดที่ดีมาก ทำให้เรื่องค่อนข้างเป็นไปตามทฤษฎี และเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้ เนื้อหาอาจจะนำมาจากชีวิตจริงหรือปัญหาครอบครัวจริงๆ ซึ่งในละครก็ตั้งต้นได้ดี และเนื้อหาสะท้อนถึงชีวิตครอบครัวจริงๆ
ในสังคมปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้มีให้พบเห็นกันมาก โดยเฉพาะปัจจุบันกระแสการเลี้ยงลูกคนเดียว single parent มีมากขึ้นทั้งในสังคมไทย หรือแม้ในต่างประเทศ ที่ก้าวหน้าถึงขนาดคู่รักเพศเดียวกันรับลูกบุญธรรมมาเลี้ยง แต่ในขณะเดียวกัน กับคำถามที่ว่าเด็กที่มาจากครอบครัวใบเลี้ยงเดี่ยวมีปัญหาหรือไม่นั้นหากจะเปรียบชีวิตคู่ เหมือนการซื้อสลากกินแบ่ง ถ้าครอบครัวอยู่พร้อมหน้า (อย่างมีความสุข) เป็นเรื่องดี เปรียบเสมือนการถูกหวยรางวัลที่หนึ่ง
ขณะที่ทุกคนแสวงหาการถูกรางวัลที่หนึ่ง แต่ถ้าไม่โชคดี ได้รางวัลรองมา เช่นรางวัลที่สอง ซึ่งถ้าเปรียบกับการใช้ชีวิตคู่ คือพ่อแม่ต่างรู้ว่า ตัวเองมีความต้องการที่ไม่ตรงกัน แล้วตกลงกันได้ และต่างคนจากกันอย่างสันติ ส่วนลูกจะอยู่ฝ่ายใดแล้วแต่ตกลง ส่วนรางวัลที่แย่ไปกว่านั้นคือ พ่อแม่ใช้กำลัง ด่าทอ แต่ทนอยู่ด้วยกัน หรือแยกจากกัน และด่าทอกันให้ลูกฟัง คือ กลุ่มพวกนี้คือพวกถูกกิน
หากสะท้อนจากความเป็นจริงจากสังคมปัจจุบัน บางครั้งการอยู่ร่วมกัน แต่ท่ามกลางการทะเลาะเบาะแว้ง เด็กอาจจะเป็นฝ่ายเรียกร้องให้พ่อแม่เลิกกันก็มี ทั้งนี้ ปัญหาครอบครัวหย่าร้าง เด็กบางกลุ่ม เช่นเด็กโตๆ อาจจะยอมรับสภาพได้แต่เด็กเล็กๆ อาจส่งผลกระทบพอสมควร
ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรกระทำอย่างยิ่งกับการเกิดปัญหานี้ก็คือ การชี้แจงเหตุผลตรงๆ และอธิบายให้เด็กเกิดความเข้าใจ และให้เห็นถึงความเป็นจริงของชีวิตและเหตุผลของการที่ไม่สามารถอยู่ด้วยกันได้ ว่าเพราะใครอย่างไร อย่างถูกต้อง และไม่มีการตำหนิฝ่ายใด และที่สำคัญที่สุดให้ลูกเห็นว่า ลูกคือคนสำคัญของพ่อและแม่ ลูกก็เป็นของพ่อและแม่ เด็กก็จะเข้าใจและจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาได้
สารพันปัญหาทำให้เด็กโกหก
สำหรับปัญหาเด็กโกหก ซึ่งเป็นหนึ่งปัญหาของตัวละคร คือ น้องโชกุน และอาจพบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์มีมุมมองว่า การที่เด็กโกหก ต้องดูที่เจตนาว่าโกหกเพราะอะไร อาจมาจาก 1. การไม่สามารถทำตามคำพูดได้ ในบางครั้งเด็กไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาที่กำหนดได้ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เด็กต้องการโกหก 2. เป็นเรื่องแฟนตาซี หรือจินตนาการสูง โดยการเอาความจริงเป็นหย่อมๆ ผสมกับความคิดของตนเองมาเล่า ซึ่งในข้อนี้เราก็ไม่อาจว่าเด็กตั้งใจโกหก ดังนั้น ผู้ใหญ่ควรเข้าใจธรรมชาติของเด็กด้วย 3. เด็กโกหกจริงๆ ทั้งนี้อาจจะเกิดจากพื้นฐานความกลัว เช่น กลัวการถูกลงโทษ เด็กอาจจะไม่ได้ในสิ่งที่อยากได้ บางครั้งกลัวการคาดคั้น ขณะที่เด็กบางคนอาจเอาตัวรอดในยามวิกฤตด้วยการโกหก และเมื่อทำซ้ำๆ ก็อาจเป็นนิสัย การแก้ไขปัญหา คือ อย่าคาดคั้น หรือเรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม หรือ ต้องการคำตอบว่าใช่หรือไม่ เพียงแต่บางเรื่องเราควรสอนไปเลย จะเป็นการดีกว่า ฉะนั้นถ้าเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กโกหก จะเป็นวิธีการที่ดีกว่า
อีกกรณีหนึ่ง คือการที่เด็กโกหกเพราะความอยาก อยากเป็น อยากมี อยากได้ ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ในขณะผู้ใหญ่มีความสามารถมากกว่าเด็ก ฉะนั้น ผู้ใหญ่จึงควรมานั่งวิเคราะห์ว่า เด็กควรจะได้อะไรในสิ่งที่ควรจะได้ เพื่อเด็กจะได้ไม่ต้องโกหก หรือที่เด็กไม่ควรได้ ในสิ่งนั้นๆ เพราะอะไร ซึ่งการชี้แจงให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผล จะเป็นการดีกว่าให้เด็กโกหกหรือกรณีเด็กโกหก จากโมเดลคือ พ่อแม่ เช่นพ่อโกหกแม่ โดยเด็กได้รับรู้พฤติกรรม หรือจากปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ที่เกิดจากการขับข้องใจ ซึ่งเด็กกลุ่มโกหกนี้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ก็อาจมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมได้
พฤติกรรมเด็กเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็ง
แต่ในความเป็นจริง ยังมีปัญหาพฤติกรรมอีกหลายๆ อย่างที่เด็กแสดงออก โดย แพทย์หญิงฐิติมา เปรียบเทียบว่า พฤติกรรมเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเราเห็นยอดภูเขา เด็กแสดงพฤติกรรมแบบนี้ แต่ภายเหนือภูเขาที่พ้นน้ำขึ้นมา เด็กอาจมีปัญหาที่แตกต่างกันก็ได้ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม อาจมาจากปัญหา หรือต้นตอที่ต่างกัน เช่น เด็กพฤติกรรมก้าวร้าว อาจมาจากพฤติกรรมเลียนแบบ โรคซึมเศร้า หรือระบายอารมณ์ ทางบุคลิกภาพ ซึ่งทั้งนี้ การให้คำแนะนำทางสุขภาพจิต หรือ ความเข้าใจทางครอบครัว จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ส่วนเด็กที่มีปัญหาทางสมอง อาจสะท้อนออกมาในรูปแบบการบกพร่องด้านการเรียน ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือการมีปัญหามาแต่เกิด และการมีปัญหาภายหลัง จากเหตุปัจจัยทั้งภายใน หรือ ภายนอก
ในขณะที่เด็กบางคนอาจมีสัญญาณความผิดปกติ ตั้งแต่ยังไม่ลืมตาดูโลกด้วยซ้ำ ถ้าเด็กคนนั้นต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง เช่น ได้รับสารเสพติด เช่น แม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เด็กก็จะออกมาดูโลกพร้อมความผิดปกติ ด้วยโรคบางโรคด้วยเช่นกัน
พ่อแม่คือต้นแบบของลูก
ทั้งนี้พ่อแม่ถือเป็นโมเดลที่สำคัญในการเรียนรู้ของลูก และเป็นแบบอย่างในการเรียนรู้ของลูกมากที่สุด และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่ใช่การพูดสั่งสอน แต่เป็นการทำให้เห็น แม้ในเรื่องบางเรื่องเด็กจะทำไม่ตรงกับปากก็ตาม แต่สิ่งที่เด็กจะทำก็เป็นสิ่งคล้ายที่พ่อแม่ได้ทำมา ฉะนั้น ในเรื่องการวางระเบียบวินัยให้เด็กในสังคมไทย ค่อนข้างมีปัญหาอย่างมาก ถ้าพ่อแม่ไม่มีวินัยก็อย่าได้คาดหวังว่าเด็กจะมีวินัยเช่นกัน จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่พ่อแม่ควรปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก การที่พ่อแม่เป็นตัวอย่าง คลุกคลีกับลูก ให้ลูกได้เรียนรู้ในสิ่งที่ควรเรียนรู้
ขณะเดียวกันสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งในครอบครัวและนอกครอบครัว โรงเรียน ทั้งเพื่อน ซึ่งการเลี้ยงลูกพ่อแม่ควรเลี้ยงลูกแบบกลางๆ ควรมีขอบเขตบ้าง และควรมีแบบแผน ไม่ตึง หรือหย่อนเกินไป ไม่ปล่อยให้อิสระเกินไป หรือปล่อยให้เด็กเรียนรู้เอง เพราะเด็กอาจไปเรียนรู้ในสิ่งผิดๆ ได้ และอาจทำให้เด็กก้าวไปสู่ปัญหาได้
พาลูกเรียนรู้จากของจริง
นอกจากนี้ในบางเรื่อง พ่อแม่อาจจะเป็นผู้พาลูกไปหาคำตอบ ซึ่งเป็นการปฏิเสธไม่ได้ว่า ลูกต้องมีเพื่อนและมีสังคม แต่กระนั้น การที่พ่อแม่พาลูกไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง อาทิ พาลูกเข้าผับ และให้ลูกได้เรียนรู้ เช่นการดื่มเหล้า และสถานการณ์ใด ที่ไหน ควรดื่ม ซึ่งเป็นการสอนเด็กได้รับรู้ เรียนรู้ หรือในกรณีที่ลูกอยากไปเที่ยวในสถานเริงรมย์กับเพื่อน โดยพ่อแม่บางคนยอมไปรับไปส่ง การที่ผู้ปกครองเข้าใจและไม่ปิดกั้น ความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ป้องกันปัญหาได้เช่นกัน
เพศศึกษา สิ่งที่น่าให้ความรู้
ในกรณีเพศศึกษา เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรให้ความรู้แก่เด็ก ทั้งนี้จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับวัย ถึงแม้ว่าจากวัฒนธรรม หรือ ความเชื่อ อาจคิดว่าจะทำให้เด็กแก่แดด แต่ในความเป็นจริง การห้ามให้เด็กเข้าถึงค่อนข้างยาก เนื่องจากความก้าวหน้าของเครื่องมือสื่อสาร เด็กมีอำนาจในการรับรู้ในมือ ดังนั้น ผู้ปกครองต้องคิดไว้ก่อนว่า อย่างไรเสียเด็กต้องเข้าถึงอยู่แล้ว การเข้าถึงเพศศึกษา จะช้าหรือเร็ว ไม่ใช่สิ่งสำคัญ
แต่สิ่งที่ควรตระหนัก คือ เด็กควรรับรู้สิ่งที่ถูกต้อง ว่าเด็กควรมีพฤติกรรมทางเพศอย่างไร การเรียนรู้ในวิธีป้องกัน หรือปัจจัยเสี่ยงในการติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งผู้ปกครองควรชี้แนะซึ่งจะดีกว่าการที่เด็กไปรับรู้วิธีผิดๆ เช่น เด็กผู้หญิงใช้ยาคุมกำเนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมากกว่า
สภาพสังคมปัจจุบันควรปรับอย่างไร
ท่ามกลางสภาวะสังคมในยุคปัจจุบัน แพทย์หญิงฐิติมา ย้ำว่า ควรปรับระบบทางด้านครอบครัว และการศึกษา ซึ่งทั้งสองเรื่องควรไปด้วยกัน ครอบครัวถือเป็นหน่วยที่เล็กและสำคัญที่สุด ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ของสภาพสังคมปัจจุบัน ครอบครัวไม่ได้หมายถึงแค่การอยู่ครบทั้งพ่อ แม่ ลูก ดังนั้น จึงไม่สามารถนิยามคำว่าครอบครัวได้ และถ้าจะถามว่า เราควรใช้ชีวิตครอบครัวอย่างไร เป็นเรื่องยากมาก ปัจจุบันเด็กอาจไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายาย หรือ เนิร์สเซอรี แทนก็ได้ ฉะนั้นครอบครัวซึ่งหมายถึง การมีพ่อ แม่ ลูก อาจจะไม่ตอบโจทย์คนบางกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ครอบครัวเดี่ยวหรือขยายมากนัก ทั้งนี้ทั้งนั้น ครอบครัวยังเป็นส่วนสำคัญมาก ทั้งในแง่การเป็นต้นแบบ การส่งเสริมหรือสนับสนุน
เรื่องที่สอง คือ เรื่องระบบการศึกษา ซึ่งปัจจุบันแตกต่างจากสมัยก่อน สมัยก่อนครูจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ เนื่องจากครูเป็นผู้กุมความรู้ไว้คนเดียว โดยเฉพาะช่วงวัยเด็กเล็ก ครูจะค่อนข้างมีอิทธิพลมาก สมัยก่อนพ่อแม่จะเป็นครูคนแรกของเด็ก และครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง แต่ปัจจุบันสภาพสังคมปัจจุบัน พ่อแม่โอนไปให้ครูจัดการหมด และด้วยกฎ กติกา ต่างๆ ที่ออกมา บทบาทครูซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพ่อแม่คนที่สองที่ต้องสั่งสอนอบรมเด็ก นอกเหนือจากการให้ความรู้ ได้เปลี่ยนไป ครูทำหน้าที่แค่ผู้สอนอย่างเดียว จึงทำให้การเชื่อมโยงทางสังคมเปลี่ยนไป
ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า พ่อแม่เป็นต้นแบบทางการใช้ชีวิตประจำวัน และถึงแม้ เด็กจะสามารถหาความรู้ได้จากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะทางเว๊ปไซต์ หรือ โรงเรียนกวดวิชา แต่กระนั้นครูยังมีความบทบาทที่สำคัญ ในแง่การสอนเด็กให้คิดวิเคราะห์ให้เป็น อีกทั้งยังเป็นต้นแบบในการ กลั่นกรอง ชี้แนะในการเลือก เรียบเรียงข้อมูล หรือ การนำข้อมูลมาใช้
เด็กมีปัญหาควรไปพึ่งใคร
อย่างไรก็ดี หากเด็กมีปัญหานั้นถ้าเป็นเด็กวัยก่อนเรียน ด่านแรกที่ให้การปรึกษาคงเป็นพ่อแม่ หรือ ปู่ยาตายาย หรือถ้าแก้ไขไม่ได้ คงต้องเป็น Professional อาทิ จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยา แต่ถ้าเป็นเด็กโตขึ้นมา นอกจากพ่อแม่แล้วจะมีครูในโรงเรียน ไม่ว่าจะครูอาวุโส ครูแนะแนว หรือนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน นักจิตวิทยาคลินิก หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
ปัจจุบัน ในบางโรงเรียน ในต่างประเทศ เริ่มจะมีนักจิตวิทยาในโรงเรียนเพื่อทำงานร่วมกับแพทย์ หรือทำงานร่วมกับครู หรือโรงเรียนที่ใหญ่ๆ ในเมืองไทยจะมีครูพิเศษเพื่อทำความเข้าใจ โดยจะได้รับการเทรนให้การดูแลเด็กพิเศษบางกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นเด็กที่ป่วยทางจิตเวช หรือ กลุ่มเด็กพิเศษที่บกพร่องทางกาย โดยการตั้งเป้าประสงค์ของการจัดกลุ่ม ต้องชัดเจน รวมทั้งการให้ความรู้ข้อมูลกับกลุ่มเพื่อนปกติ เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมได้
ขณะเดียวกัน ปัญหาสุขภาพจิด ซึ่งเป็นปัญหาที่สามารถเกิดได้กับทุกๆ คน และทุกวัย ประเด็นสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่า ปัญหาทางจิตใจ หรือ จิตเวช เป็นเรื่องที่คุยกันได้ และสามารถที่จะเข้าไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้ และคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตไม่ใช่คนที่น่ากลัว หรือ เป็นคนแปลก อีกทั้ง สถานพยาบาลจิตเวช ก็เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ ทุกคน สามารถเดินเข้ามาได้ ไม่จำเป็นแค่คนไข้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต อย่างเช่น โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ได้จัด โครงการ เพื่อแนะนำโรงพยาบาลแก่คนทั่วไป อาทิ การเดินเข้ามาเที่ยวชมตึกเก่าตึกโบราณ หรือ การเชิญชวนมาชมต้นไม้อายุ 200 ปี ( ซึ่งที่นี่ จะมีต้นไม้ใหญ่ๆ ค่อนข้างมากกว่าที่อื่น ในกรุงเทพ) หรือ โครงการปั่นจักรยาน ทั้งนี้ เพื่อ มุ่งหวังให้กิจกรรมต่างๆ นี้ ได้ปรับทัศนคติเกี่ยวกับโรงพยาบาลมากขึ้น และที่สำคัญ คือ การมีมุมมอง เข้าใจเละยอมรับ ว่า ผู้ป่วยทางสุขภาพจิต ไม่ได้เป็นบุคคลแปลกประหลาด หรือ น่ากลัวแต่อย่างใด และ ทุกคนเป็นมนุษย์ เหมือนกัน
หากเราต้องการให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพแล้วต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวเพราะถือเป็นหน่วยที่เล็ก แต่มีความสำคัญที่สุดของสังคม พ่อแม่ถือได้ว่าเป็นโมเดลที่ดีที่สุดในการเลียนแบบของลูก หรือเป็นเงาสะท้อนการใช้ชีวิตของลูกได้เป็นอย่างดี เพื่อให้เด็กเติบโตได้ดี และไม่เป็นปัญหาของสังคม จึงต้องประกอบด้วยปัจจัยเอื้อและการร่วมมือหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ เด็ก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมต่างๆ และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การเข้าใจและยอมรับกัน นั่นเอง