xs
xsm
sm
md
lg

แฉหลักสูตรพิเศษสร้างล็อบบี้ยิสต์ พัฒนาเมืองชัดสุด ‘จ่ายเช็ค’ ให้บิ๊กบริหาร!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตีแผ่หลักสูตรพิเศษ สร้างเครือข่ายผลประโยชน์จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ที่ผูกขาดอยู่กลุ่มคนข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า นักธุรกิจ ขณะที่ วิลาศ จันทร์พิทักษ์ มือปราบทุจริต ปชป. เปิดโปง 5 หลักสูตรด้านกระบวนการยุติธรรมที่ทรงอิทธิพล สะท้อนภาพ “ผู้พิพากษา” นั่งจิบไวน์กับพ่อค้า กลายเป็นวัฒนธรรมของวงการยุติธรรมไปแล้ว? ขณะที่หลักสูตรท้องถิ่น “พัฒนามหานคร” มีผู้เข้าอบรมเป็นข้าราชการ 50% และนักธุรกิจ 50% ตะลึงเช็คสั่งจ่ายของยักษ์บริษัทก่อสร้างในตลาดฯ ที่มอบให้ผู้บริหาร กทม.หลุดมาอยู่ในมือปราบทุจริต วิลาศ ลั่น “บิ๊กตู่” ไม่ดำเนินการ เตรียมจับมือนักวิชาการ นักการเมือง ลุยภาค 2

การเปิดโปงของวิลาศ จันทร์พิทักษ์ มือปราบทุจริตจากพรรคประชาธิปัตย์ กรณีหลักสูตรพิเศษองค์กรอิสระ ที่ฮอตฮิตกันในหมู่นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และไฮโซ แท้จริงคือหลักสูตร “ล็อบบี้ยิสต์” เพื่อสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ให้ตัวเองเจตนาก็เพื่อให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และเจ้าของหลักสูตรที่ใช้งบประมาณแผ่นดินไปหนุนให้เครือข่ายผลประโยชน์เหล่านี้เติบโต ต้องใช้อำนาจยกเลิกหลักสูตรหรือหามาตรการจัดการหลักสูตรเหล่านี้

6 หลักสูตรสร้าง Connection

ที่สำคัญการเปิดโปงของวิลาศ น่าจะไม่ใช่เรื่องลอยๆ หรือไม่มีหลักฐาน เพราะหากย้อนไปดูงานวิจัยที่ รศ.ดร.
นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ เรื่อง “เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง : เครือข่ายทางการศึกษา” ก็ได้ระบุไว้ชัดว่าหลักสูตรพิเศษต่างๆ เหล่านี้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของชนชั้นนำกันเอง ทำให้คนกลุ่มนี้มีความพยายามในการแสวงหาช่องทางที่จะเข้าไปเรียนในหลักสูตรชั้นสูง เพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อนฝูง (Connection) มากกว่าความสนใจด้านวิชาการที่หลักสูตรนั้นๆ กำหนดไว้

ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ก็มีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนไปแล้ว โดยระบุชัด 6 หลักสูตรยอดนิยมที่ได้ทำการศึกษาในขณะนั้น ประกอบด้วย

1.หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ของวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร 2.หลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ของวิทยาลัยการยุติธรรม สำนักงานศาลยุติธรรม 3.หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูง (ปปร.) ของสถาบันพระปกเกล้า 4.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) 5.หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการค้าและการพาณิชย์ (TEPCoT) ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับนักธุรกิจด้านการค้า-พาณิชย์ จัดโดยหอการค้าไทย และ 6.หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง

ถึงแม้ว่าแต่ละหลักสูตรจะมีที่มาที่ไปแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมเหมือนกัน คือการสร้างเครือข่ายระหว่างบุคคลระดับนำของสังคม ในรูปแบบ “ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ” ที่ทำให้เกิดเครือข่ายที่มีผลประโยชน์ขัดกันมาอยู่รวมกันได้
นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์
ใช้หลักสูตรสร้างสัมพันธ์ “ผู้พิพากษา”

หลายๆ คนที่เข้าเรียนในหลักสูตรชั้นสูง ให้เหตุผลว่า อยากได้เครือข่ายเพื่อนฝูง (Connection) ทำให้คนคนหนึ่งเข้าเรียนกันหลายหลักสูตร ซึ่งอาจจะเริ่มต้นที่ วปอ. จากนั้นไปต่อที่หลักสูตร วตท. ตามด้วยหลักสูตร TEPCOT หรือต่อด้วยหลักสูตร บ.ย.ส.เป็นต้น

“แต่ละคนที่เข้ามาเรียนมีที่มาแตกต่างกัน แต่มีเป้าหมายเหมือนกันคือต้องการเครือข่ายไว้ก่อน เพื่อโอกาสตัวเองทั้งเรื่องการงานและผลประโยชน์ในอนาคต” รศ.ดร.นวลน้อย ระบุ และบอกด้วยว่าสำหรับหลักสูตร บ.ย.ส. จากเดิมมีเพียงบุคลากรในวงการยุติธรรม ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา แต่ปัจจุบันกลับพบว่ามีนักธุรกิจเข้ามาเรียนมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะด้วยจริยธรรมพื้นฐานของผู้พิพากษา จะมีระยะห่างในการที่จะสมาคม แต่พอมีหลักสูตรนี้ขึ้นมาบรรดากลุ่มคนที่จ้องจะสนิทกับผู้พิพากษา ก็ต้องหาช่องทางที่จะมาเรียนเพื่อสร้างความสัมพันธ์ต่อไป

“ผู้พิพากษาบางส่วน ก็รู้สึกเหมือนกัน และเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะปล่อยให้มีช่องทางแบบนี้เกิดขึ้น”

ผลการศึกษายังสะท้อนให้เห็นถึงประเด็นปัญหาของหลักสูตรที่ขาดความระมัดระวัง และนำไปสู่การสร้างเครือข่ายที่ทำให้คนที่มีผลประโยชน์ขัดกันมาอยู่ร่วมกันได้ อีกทั้งยังเป็นความพยายามที่จะสร้างให้คนที่เข้าอบรมเป็นพวกเดียวกันผ่านกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ที่สำคัญสุดคือมีการทอดหรือเชื่อมความสัมพันธ์บางประการให้ต่อเนื่องกันไปทั้งที่คนเหล่านี้มีผลประโยชน์ขัดกัน

รศ.ดร.นวลน้อย ย้ำว่า การปล่อยให้ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนได้ (Conflict of Interest) เพราะในบางสายงานควรมีระยะห่างในการคบหาสมาคมกัน เช่นข้าราชการระดับสูงกับนักธุรกิจชั้นนำ สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าเจ้าของหลักสูตรน่าจะตอบได้ดีที่สุด

นักธุรกิจ “สปอนเซอร์” ในเวลา-นอกเวลาอบรม

ด้าน นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การออกมาเปิดโปงเรื่องนี้ เป็นเพราะเคยเป็นอดีตประธานคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนฯ และมีหลักฐานมากมายที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละหลักสูตร ที่ทนกับความอัปยศไม่ได้ จึงนำหลักฐานทางเอกสารและบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นว่า มีการเอื้อประโยชน์ของกลุ่มคนที่เข้าอบรมจริงและมีการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในองค์กรต่างๆ รวมไปถึงมีการฝากเด็กของตัวเองเข้ามาอยู่ในองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร ซึ่งวันนี้คนพวกนี้เติบโตอยู่ในองค์กร และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นคนพวกนี้แหละจะเป็นฝ่ายช่วยคนเหล่านี้ในการหาช่องทางพ้นผิดได้

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เข้าอบรมในหลักสูตรชั้นสูง ส่วนใหญ่จะเป็นหลักสูตรเรียนฟรี และใช้งบประมาณของรัฐ กลับพบว่ามีนักธุรกิจที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานขององค์กร แต่เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินในระหว่างการอบรมและนอกเวลาอบรม อีกทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่มีโอกาสเข้ามาหาผลประโยชน์จากหน่ายงานในหลายรูปแบบ ได้เข้าไปอบรมในหลักสูตรถึง 20-30%

“ไปตรวจสอบสถานะหรือรายชื่อกันในแต่ละหลักสูตรได้ ว่ามีบริษัทใดเข้าไปบ้าง พวกนี้เวลามีงานอะไรจ่ายหมด ไปทัศนศึกษาทั้งในหรือต่างประเทศ ข้าราชการจะเบิกได้บางส่วน แต่อยากนอนโรมแรมดีๆ โรมแรม 5 ดาว อยากได้ทัวร์ที่ดีๆ ส่วนเกินเอกชนจ่ายหมด หรือค่ารับรองของหน่วยงาน ไม่อยากบอกว่ามีการให้พ็อกเกตมันนี่กันหรือไม่”

เปิดหลักสูตรทำลายภาพลักษณ์ “ผู้พิพากษา”

นายวิลาศ บอกว่า การจัดอบรมหลักสูตรอะไรก็ไม่เท่ากับหลักสูตรพิเศษขององค์กรอิสระ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ในพวกกันเอง ตรงนี้รัฐบาลจะต้องเร่งจัดการโดยเร็ว โดยเฉพาะ หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม 5 หลักสูตร คือ หลักสูตร บ.ย.ส.ของศาลยุติธรรม, หลักสูตรนักบริหารการยุติธรรมทางปกครองระดับสูง (บยป.) ของศาลปกครอง, หลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นธป.) ของวิทยาลัยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ , หลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามทุจริตระดับสูง (นยปส.) ของสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ป.ป.ช., หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) ของสถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง

เขาให้เหตุผลว่าหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ผู้เข้าอบรมก็ควรจะเป็น ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ แต่ปัจจุบันมีนักธุรกิจเข้าไปเรียนกันเต็มไปหมด และเกิดขบวนการวิ่งเต้น ฝากคนของพวกตัวเองเข้าไปนั่งอยู่ในหน่วยงานพวกนี้กันมาก เวลาเกิดปัญหา มีคดีขึ้นมา ก็พวกที่เข้าอบรมมีสายสัมพันธ์กันนั่นแหละเป็นตัวช่วยกันเป็นขบวนการ

“เมื่อก่อนเวลาจะให้ใครเข้าอบรม เจ้าของหลักสูตรจะส่งหนังสือไปให้หน่วยงานคัดเลือกส่งคนเข้ามา แต่เดี๋ยวนี้จิ้มกันเอาเอง ต้องการใคร ดึงกันเข้ามา เพื่อสร้างเครือข่ายตัวเองแสดงความยิ่งใหญ่กัน เราจะเห็นได้ว่าคนคนเดียวเรียนมันทุกหลักสูตร ฝากๆ กันเข้ามา พวกพ่อค้าก็อยากสนิทกับผู้มีอำนาจ มีกฎหมายในมือ เราจึงเห็นภาพวันนี้ ผู้พิพากษาไปนั่งจิบไวน์กับพ่อค้าในงานเลี้ยงที่จัดขึ้นเต็มไปหมด”

ที่คลาสสิกที่สุด เห็นจะเป็นนักธุรกิจตระกูลหนึ่ง ที่สามีไปอบรมหลักสูตร กกต. ส่วนภรรยา อบรมหลักสูตร ป.ป.ช. ส่วนคุณลูกไปอบรมหลักสูตรของตุลาการศาลยุติธรรม!

อย่างไรก็ดี นายวิลาศ บอกว่า การที่ตัวเองเน้นเปิดโปงหลักสูตรองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมที่สุดเพราะหลายคดีของนักการเมืองถูกเล่นงาน และไม่สามารถเอาผิดได้ ก็มาจากการสร้างคอนเนกชันในหลักสูตรพวกนี้โดยตรง ตัวอย่างเช่น คนจาก ป.ป.ช.ไปเรียนหลักสูตร บยส.ก็ไปรู้จักกัน แล้วก็ดึงกันมาเรียนที่หลักสูตร นยปส. ของ ป.ป.ช. และในหลักสูตร ป.ป.ช.ก็มีคนจากศาลรัฐธรรมนูญมาอบรม ก็ชวนกันไปอบรมหลักสูตร นธป.ต่อไป แล้วก็ไปต่อหลักสูตร พตส. และคนพวกนี้ก็มีกลุ่มนักธุรกิจที่อบรมในหลักสูตรนั้นๆ ก็ดึงกันมาเข้าอบรมในหลักสูตรอื่นอีก เป็นวงจรอย่างนี้ นำไปสู่การสร้างกลุ่มก๊วนให้ยิ่งใหญ่ต่อไป

ส่วนหลักสูตร วปอ.นั้น เขาเห็นว่าไม่ได้ให้คุณให้โทษด้านกระบวนการยุติธรรม และยังเห็นว่าไม่ได้เลวร้ายเหมือน 5 หลักสูตรที่กล่าวมาแล้ว ส่วนหลักสูตร วตท. ต้องยอมรับว่า กฎหมายของตลาดหลักทรัพย์ฯ เข้มแข็งมาก จะเข้าไปหาประโยชน์ที่เป็นการเบียดบังเงินหลวงก็คงเป็นเรื่องยาก ส่วนหลักสูตร ปปร.สถาบันพระปกเกล้า ก็มีกระบวนการควบคุมดูแลกันอยู่แล้ว และยังเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้ให้คุณให้โทษเหมือนกับหลักสูตร วปอ.
สถาบันพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร จัดหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารงานพัฒนาเมือง(มหานคร)
หลักสูตร กทม. “ขรก-พ่อค้า” เอื้อประโยชน์สุดๆ

นายวิลาศ บอกอีกว่า ยังมีหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งเป็นหลักสูตรการบริหารการพัฒนาเมืองของ กทม. หรือที่เรียกกันว่าหลักสูตรมหานคร เป็นหลักสูตรที่เขาถือว่ายอดแย่มาก มีผู้อบรมเป็นข้าราชการ 50% และเป็นพ่อค้า นักธุรกิจ เอกชน 50% ที่เข้ามาล็อบบี้กันในเรื่องผลประโยชน์ หลักสูตรนี้จึงไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไป

ถ้าไม่มีหลักสูตร “มหานคร” ไม่ได้ทำให้องค์กรหรือบุคลากร กทม.เสียผลประโยชน์ เพราะการจะพัฒนาบุคลากรของ กทม. ก็สามารถส่งไปอบรมตามสถาบันการศึกษาและสถาบันฝึกอบรมต่างๆ ได้ แต่การที่ กทม.สร้างหลักสูตรนี้ขึ้นมาก็เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน

“หลักสูตรของ กทม.มีการดึงนักธุรกิจขนาดใหญ่ที่รับงาน กทม.เข้ามาอบรม และวันนี้คนพวกนี้ผูกขาดงานใน กทม.เพราะรู้จักมักคุ้นกับผู้บริหารระดับสูงของ กทม. พ่อค้าพวกนี้รับงาน กทม.ปีละ 2 พันล้าน มาเรียนเพื่ออะไร เรามีหลักฐานเป็นใบเสร็จที่บริษัทเอกชนจ่ายให้ผู้บริหาร กทม. มีการลงชื่อบริษัทสั่งจ่ายชัดเจน ซึ่งได้มาจากเจ้าหน้าที่ กทม.และคนในบริษัทเอกชนนำมาให้ อาจจะมีการจ่ายหนักหรืออย่างไร จึงได้หลุดออกมา เอกสารเหล่านี้ได้ส่งมอบให้ ป.ป.ช.ไปแล้ว และจะมีการส่งเพิ่มเติมอีกมาก”

นายวิลาศ ยกตัวอย่าง 3 บริษัทใหญ่ที่เข้ามาอบรมและมีภารกิจดูแลผู้บริหาร รายแรก เดิมขายแค่เครื่องสูบน้ำ แต่วันนี้แทบจะผูกขาดขายสินค้าให้ กทม.โดยเฉพาะเครื่องจักร และอีกบริษัทด้านรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีหลักฐานในการจ่ายชัดเจน ส่วนอีกรายเป็นคู่ค้าใหม่ กำลังมาแรง

“หลักฐานที่มีการจ่ายเงิน ไม่มีชื่อผู้ว่า สุขุมพันธุ์ บริพิตร เข้าไปเกี่ยวข้อง ส่วนไปอยู่ในชื่อใครบ้าง ป.ป.ช.ต้องตรวจสอบตามหลักฐานที่ส่งไปให้”

การออกมาเปิดโปงเรื่องหลักสูตรพิเศษ แท้จริงแล้วคือหลักสูตรล็อบบี้ยิสต์ เมื่อวันจันทร์ที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น นายวิลาศ ให้เหตุผลว่า เพื่อให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รีบแก้ปัญหา และเชื่อว่าจะได้รับการตอบรับ โดยมั่นใจว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะรับลูกและดำเนินการแก้ไขต่อไป เพราะนายวิษณุเป็นผู้ที่รู้และเข้าใจปัญหาของหลักสูตรพวกนี้ดีว่า ผลาญงบหลวงและเอื้อประโยชน์กันอย่างไร

“ท่านรองวิษณุรู้แต่คงไม่อยากออกมาเปิดศึกเอง แต่เมื่อผมออกมาเปิดศึกให้แล้ว ท่านก็คงตามทะลวงต่อไป”

ขณะเดียวกัน เมื่อระยะเวลาผ่านไปช่วงหนึ่งแล้ว รัฐบาลหรือองค์กรอิสระเหล่านี้ยังนิ่งเฉย นายวิลาศ บอกว่า ได้เตรียมดาบ 2 ไว้แล้ว เพื่อดิสเครดิตทั้งรัฐบาลและองค์กรอิสระเหล่านี้ โดยจะมีการประสานกับนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงและฝ่ายการเมืองช่วยกันออกมาทุบ และแฉหลักฐานกันให้เห็นว่าหลักสูตรพวกนี้ผลาญงบหลวง และกลุ่มนักธุรกิจหรือบรรดาข้าราชการผู้มีอำนาจที่หาช่องทางเข้ามาเรียนนั้น มีการเอื้อผลประโยชน์เป็นเครือข่ายกันอย่างไร 
“ชื่อคน ชื่อบริษัท และข้าราชการ ใครเป็นใคร เรียนกันมากี่หลักสูตร ดึงกันมาอย่างไร เป็นเครือข่ายกันอย่างไร มาแล้วได้ผลประโยชน์อะไรตามมา หาไม่ยาก เพราะข้าราชการในองค์กรเหล่านี้มีอยู่พร้อมแล้ว”

ดังนั้นเมื่อ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ มือปราบทุจริต ปชป. เดินหน้าเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เพื่อจัดการพวกกลุ่มผลประโยชน์ที่อาศัยช่องทางการอบรมจากหลักสุตรพิเศษ สร้างความยิ่งใหญ่ “อำนาจ-บารมี-เม็ดเงิน” ให้กับตัวเองและพวกพ้อง จึงต้องใช้เวลาถึงสัปดาห์ละ 3 วัน คือจันทร์-พุธ ในการเก็บข้อมูลและพบปะพูดคุยกับแหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นข้าราชการหลายหน่วยงาน พนักงานบริษัทต่างๆ ที่มีหลักฐานพร้อมจะส่งมอบให้กับเขาเพื่อนำไปใช้ในการเปิดโปงและส่งต่อหน่วยงานด้านปราบปรามการทุจริต อย่าง ป.ป.ช.เข้าตรวจสอบต่อไป...

กำลังโหลดความคิดเห็น