xs
xsm
sm
md
lg

ปส.แจงผลกระทบต่อไทย กรณีน้ำท่วมโรงไฟฟ้าฟุกูชิมาไดอิจิ 11 ก.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมาไดอิจิ เมื่อวันเดินเครื่องครั้งแรก (11 ส.ค.2015)หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ชี้แจงสถานการณ์ข่าว การเอ่อล้นของน้ำฝนจากทางระบายน้ำรอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมาไดอิจิ ทะลักลงสู่ทะเลของญี่ปุ่น ในวันที่ 11 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบ ณ เวลานี้ พบว่าสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทยยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในครั้งนี้
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้เผชิญกับฝนตกอย่างหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมาไดอิจิ ซึ่งอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมโครงสร้างที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์หลังจากเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในเดือนมีนาคม 2554 และบริหารจัดการกากกัมมันตรังสีในรูปแบบต่างๆ ที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2558 ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น ได้มีรายงานข่าวว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องนั้น ได้สร้างปัญหาให้กับระบบระบายน้ำของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมะไดอิจิ ซึ่งบริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ได้ยืนยันการทะลักของน้ำฝนจากทางระบายน้ำในครั้งนี้ การทะลักของน้ำฝนลงสู่ทะเลเกิดขึ้นในเวลา 0.300 05.20 และ 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเวลายาวนานรวมกันกว่า 2.5 ชั่วโมง จากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการคาดการณ์ว่าน้ำฝนที่ทะลัก จากทางระบายน้ำลงสู่ทะเลญี่ปุ่นรอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมาไดอิจินั้น อาจจะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการยืนยันจากทาง TEPCO ว่าน้ำฝนที่ทะลักลงทะเลตามรายงานข่าวนั้นปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ TEPCO ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำฝนจากทางระบายน้ำและอยู่ในระหว่าง การวิเคราะห์การปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี
ดร.อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการยืนยันถึงการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในน้ำฝน ที่ทะลักจากทางระบายน้ำลงสู่ทะเลตามรายงานดังกล่าว น้ำที่ลงสู่ทะเลก็จะถูกพัดพาไปในทิศตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นตามทิศทางการไหลของกระแสน้ำรอบประเทศญี่ปุ่นและทิศทางการไหลของกระแสน้ำบริเวณซีกโลกเหนือ (Gyre) ซึ่งไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทย และที่สำคัญ ปส. มีมาตรการเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสีทางทะเลแบบบูรณการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งได้มีการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังภัยฯ มาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในปัจจุบัน ปส. มีสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีใต้น้ำ จำนวน 3 สถานี ได้แก่ ระยอง ภูเก็ต สงขลา และสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศอีก 17 สถานี ซึ่งจะเฝ้าตรวจระดับรังสีแกมมาตลอด 24 ชั่วโมง และส่งข้อมูลที่เป็นปัจจุบันไปยังศูนย์เฝ้าระวังภัยทางรังสี ณ ปส. ซึ่งจากผลการดำเนินงานดังกล่าวพบว่า สิ่งแวดล้อมทางทะเลของประเทศไทย ยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกูชิมา ดังนั้น ขอให้ประชาชนในทุกภาคของไทยมีความมั่นใจ ว่าสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย เนื่องจาก ปส. คอยเฝ้าระวังความปลอดภัยจากรังสีให้ท่านอยู่ตลอดเวลา
กำลังโหลดความคิดเห็น