xs
xsm
sm
md
lg

ทีวีดิจิตอลจอดำ เปิดช่องกลุ่มทุนครอบงำสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการห่วงการล้มหายตายจากของทีวีดิจิตอลกลายเป็นช่องทางให้เกิดการครอบงำสื่อ หวั่นหากกลุ่มการเมืองแฝงตัวผ่านนอมินีบ้านเมืองจะวุ่น แนะหาทางป้องกัน ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจาก กสทช. เน้นสร้างผลงานในการเปลี่ยนผ่านบนความไม่พร้อมของสภาพโดยรวม คนประมูลมองโลกสวยเม็ดเงินโฆษณา สุดท้ายไปไม่รอด ชี้อีกไม่ช้ารายที่ไปต่อไม่ไหวหันกลับไปทีวีดาวเทียมเหมือนเดิม ด้านไอพีเอ็มประเมินทีวีดาวเทียมเริ่มฟื้น อนาคตเดินหน้าไปสู่ระดับ Super HD

หลายคนอาจใจจดใจจ่อกับการเปิดประมูล 4G ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยการประมูลคลื่น 1800 MHz จะเสนอราคากันในวันที่ 11 พฤศจิกายนเหมือนเดิม แต่คลื่น 900 MHz กลับไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม จากเดิมคือ 12 พฤศจิกายน 2558

แต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหาค้างอยู่และสะท้อนถึงความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอลนั่นคือการยุติการออกอากาศของทีวีดิจิตอล 2 ช่อง คือช่องไทยทีวีและช่องโลก้า ของบริษัทไทยทีวี จำกัด ที่ประมูลได้ไปในช่วงปลายปี 2556 โดยนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย หรือเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ที่ไม่สามารถชำระเงินค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอล งวดที่ 2 จำนวน285 ล้านบาทได้ตามเส้นตายในวันที่ 25 พฤษภาคม 2558

โดยทางไทยทีวีได้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อศาลปกครองให้ กสทช.คืนค่าเสียหายแก่ทางไทยทีวีและขอให้ศาลมีคำสั่งให้การประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ระบบดิจิตอลประเภทบริการธุรกิจระดับชาติของ กสทช.เป็นโมฆะ สุดท้ายศาลได้ให้ กสทช.และทางไทยทีวีไกล่เกลี่ยกันและออกอากาศต่อไปได้อีก 3 เดือน สิ้นสุด 31 ตุลาคมที่ผ่านมา

กรณีของไทยทีวีและโลก้านับเป็นผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลรายแรกที่ต้องยอมรับสภาพ แม้จะมีความพยายามที่จะดึงเอาพันธมิตรต่างๆ เข้ามากอบกู้สถานการณ์ ทั้งดึงเอากลุ่มเอ็มวีทีวีเอารายการเข้ามาช่วยเหลือในช่องโลก้า และยังมีกระแสข่าวถึงการดึงเอานายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ทายาทเนสกาแฟ เข้ามาร่วมถือหุ้นในนามบริษัทพีเอ็ม กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเคยเข้าประมูลช่องความคมชัดสูง และใช้บริษัท โฟร์วันวัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เข้าประมูลช่องวาไรตี้ทั่วไปแต่พลาดการประมูลไป

แต่สุดท้ายเมื่อย่างเข้าวันที่ 1 พฤศจิกายน ทีวีดิจิตอลทั้ง 2 ช่องก็งดการแพร่ภาพ หากนับตั้งแต่วันเริ่มทดลองออกอากาศที่ 1 เมษายน 2557 และเริ่มออกอากาศจริงในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ระยะเวลาแค่ 1 ปีเท่านั้นผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลก็เริ่มล้มหายตายจากกันแล้ว
วันเปิดประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล 26-27 ธันวาคม 2556
เร่งเปิดบนความไม่พร้อม

“ปัญหาที่เกิดขึ้นด้านหนึ่งเป็นผลจากการที่ กสทช.เร่งให้มีการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อกไปสู่ดิจิตอลที่รวดเร็วจนเกินไป โดยที่สภาพแวดล้อมโดยรวมยังไม่พร้อม เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลักดันให้ทีวีดิจิตอลประสบความสำเร็จ ครั้งนั้นมีการคัดค้านจากนักวิชาการหลายฝ่าย เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาถึงองค์ประกอบแวดล้อมต่างๆ ที่ดีพอ แต่ กสทช.ก็เร่งผลักดันจนเกิดผลอย่างที่เห็นในวันนี้” นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกล่าว

เริ่มตั้งแต่การแบ่งประเภทของช่องต่างๆ เช่น ช่องสาธารณะที่เปิดให้ 12 ช่องตอนนี้ก็ยังหาคนที่จะเข้ามาทำได้ยาก หรือการเปิดประมูลพร้อมกันทีเดียว 24 ช่อง ทุกรายจึงต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด ที่ถูกแล้วควรเปิดทีละล็อตเช่น รอบละ 3 ช่องแล้วทยอยกันไป

ประการต่อมางบโฆษณามีอยู่อย่างจำกัด เมื่อมีสถานีเพิ่มขึ้นงบโฆษณาเท่าเดิมก็ต้องแย่งกัน บางรายต้องเสนอราคาต่ำเพื่อให้มีรายได้เข้ามา สุดท้ายก็ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ดำเนินการ

ด้านเทคนิคโครงข่ายในการออกอากาศก็ยังไม่มีความพร้อม ตอนนี้กรมประชาสัมพันธ์ก็ติดขัดไม่สามารถขยายฐานได้ ของช่อง 9 ก็เคยเกิดปัญหาเรื่องสัญญาณล่ม ดังนั้นการออกอากาศจึงยังไม่สามารถทำได้ครอบคลุม ตามมาด้วยเรื่องกล่องรับสัญญาณ Set Top Box ที่คนจำนวนหนึ่งไม่ได้แลกหรือแลกไปแล้วไม่ได้ใช้จริง

จากเดิมมี 6 สถานี คราวนี้ขยับขึ้นเป็น 24 สถานี ตัวรายการที่จะใช้ออกอากาศจึงขาดแคลน หากสังเกตให้ดีจะเห็นได้ว่ามีบางรายการที่เคยออกอากาศในช่อง 9 ก็มาออกอากาศอีกช่องหนึ่งในระบบ SD หรือค่ายกันตนาที่มีรายการปราบผีก็ออกอากาศทั้งช่อง 7 และมีรายการที่คล้ายกันในช่องไทยรัฐทีวี มีหมอปลาปราบผีเหมือนกัน บางค่ายก็เน้นไปที่ฉายหนังตลอดทั้งวันหรือซื้อรายการจากต่างประเทศเข้ามา

อีกด้านหนึ่งตัวผู้ประกอบการเองก็เกรงว่าหากพลาดจากครั้งนี้คงต้องรอไปอีก 15 ปี พร้อมกับการคาดหวังสูงในเรื่องเม็ดเงินโฆษณา มองโลกด้านบวก จึงเข้าไปประมูลกันในราคาที่สูง อย่างช่องไทยทีวีประมูลมาที่ราคา 1,328 ล้านบาท และช่องโลก้า 648 ล้านบาท กลุ่มทีวีพูลจึงทุ่มเงินในการประมูลเกือบ 2 พันล้านบาท

เศรษฐกิจอย่างนี้ แถมรายใหญ่อย่างช่อง 3 และช่อง 7 ก็อยู่ในสนามเดียวกัน หากเนื้อหารายการไม่ได้ดีกว่าคงยากที่จะแบ่งเม็ดเงินโฆษณาจากรายใหญ่ได้

สุดท้ายทั้ง 2 ช่องของกลุ่มทีวีพูลก็ต้องยุติการออกอากาศ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งผลงานของ กสทช.ที่ต้องบันทึกไว้

เช่นเดียวกับนายธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ (สวส.) กล่าวว่า ราคาที่ประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลนั้นแพงเกินไป ไม่สะท้อนต้นทุนในปัจจุบัน ทำให้กลายเป็นภาระของผู้ประกอบการ รวมถึงช่องที่มี 24 ช่อง ถือว่ามากเกินไป ที่จริงควรมีการทยอยเปิดเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้มีความพร้อมและมีเวลาปรับตัว

ตอนนี้กลุ่มที่อยู่ได้คือกลุ่มที่มีคอนเทนต์เป็นของตัวเอง ส่วนกลุ่มที่มีสายป่านสั้น ยังผลิตรายการแบบเดิมๆ ไม่มีนวัตกรรมใหม่ หรือกลุ่มที่มีเรตติ้งอันดับ 14 ลงมาหรือบางช่องเรตติ้งดีแต่โฆษณาไม่เข้าคงอยู่ลำบาก
นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย(ติ๋ม ทีวีพูล) ในวันที่เข้าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอล
ทีวีดาวเทียมฟื้นรับ Super HD

นายมานพ โตการค้า ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอพีเอ็มทีวี จำกัด เราประเมินว่าจาก 24 ช่องอาจจะเหลือผู้ประกอบการที่ยืนอยู่ได้บนทีวีดิจิตอลราว 10-12 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีทุนหนา

ทั้งนี้ผู้ที่เข้าประมูลใบอนุญาตทีวีดิจิตอลหลายรายเคยทำทีวีดาวเทียมมาก่อน ซึ่งข้อจำกัดของทีวีดาวเทียมคือโฆษณาได้ 6 นาที หากเป็นทีวีดิจิตอลโฆษณาได้ 12 นาที ภาพในตอนนั้นหลายรายจึงอยากขยับขึ้นเป็นทีวีดิจิตอล เพราะมีระยะเวลาหาโฆษณาได้มากกว่าเท่าตัว แต่ต้นทุนในการทำทีวีดิจิตอลสูงกว่าต้นทุนของทีวีดาวเทียมกว่า 10 เท่า มีทั้งเรื่องค่าใบอนุญาต ค่าเช่าโครงข่าย ค่าทำรายการ หากหาโฆษณาไม่ได้ตามที่คาดหวังปัญหาขาดทุนจะตามมา

ในอนาคตหากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ไปต่อไม่ไหว แล้วหันกลับมาทำรายการในทีวีดาวเทียมแทน ตรงนี้จะเป็นผลดีกับอุตสาหกรรมทีวีดาวเทียมและกลุ่มเคเบิลทีวีอีกครั้ง หลังจากที่หยุดนิ่งมาในช่วงที่มีการแจกคูปองแลกกล่อง Set Top Box มูลค่า 690 บาท อย่างตอนนี้ยอดการจำหน่ายจานดาวเทียมก็เริ่มขยับดีขึ้น

อย่างตอนนี้คนที่ลงทุนในทีวีดิจิตอลในระบบ SD ก็ต้องยอมรับสภาพว่าจะต้องอยู่กับระบบนี้ตลอดไปจนครบ 15 ปี เพราะไม่สามารถที่จะอัปเกรดขึ้นไปเป็นระบบ HD ได้ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อีกไม่นานจะมีระบบ Super HD เข้ามา ความคมชัดในการรับชมจะเหนือกว่า HD ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

ตอนนี้ทีวีที่รองรับสัญญาณภาพในระดับ Super HD มีวางจำหน่ายแล้วในราคาที่ไม่แพง แน่นอนว่าตรงนี้จึงเป็นช่องว่างที่เปิดทางให้ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมและกลุ่มเคเบิลทีวี สามารถที่จะนำเอารายการเหล่านี้มานำเสนอให้กับผู้ชมได้ และจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีฟื้นขึ้นมาได้อีกครั้ง

รายการเจ๊ติ๋มกลับทีวีดาวเทียม

ขณะที่นักวิชาการด้านสื่ออีกรายกล่าวว่า กสทช.ไม่ได้นำเอาเรื่องช่องทางในการรับชมของประชาชนในปัจจุบันมาเป็นข้อพิจารณาก่อนให้ประมูลใบอนุญาต กว่า 70% ของคนไทยรับชมรายการทีวีผ่านระบบดาวเทียมและเคเบิลทีวี รวมไปถึงเรื่อง Must Carry ที่ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีต้องนำเอารายการของทีวีดิจิตอลไปออกอากาศด้วย คนจึงไม่ได้ให้ความสนใจในการรับชมการออกอากาศในระบบภาคพื้นดินมากนัก เพราะถึงอย่างไรดูจากจานดาวเทียมก็ชมช่องทีวีดิจิตอลได้อยู่แล้ว ดังนั้นการแจกคูปองแลกกล่อง Set Top Box จึงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องโครงข่ายที่ติดขัด บางพื้นที่ได้รับการแจกคูปองแลกกล่องมาแล้วยังไม่สามารถรับชมในระบบภาคพื้นดินได้ และยังต้องกลับไปซื้อเสาอากาศแบบก้างปลาที่เคยเลิกใช้แล้วกลับมาติดตั้งกันใหม่ ทำให้เกิดความยุ่งยากในการรับชม หลายคนจึงเลือกดูจากทีวีดาวเทียมตามเดิม

ประการต่อมาผู้ประกอบการที่ยกระดับตัวเองจากเจ้าของช่องรายการในทีวีดาวเทียม เมื่อขึ้นไประดับทีวีดิจิตอลกระบวนการผลิตยังคงเป็นแบบเดิม ลงทุนน้อย ทำให้ผลการตอบรับออกมาไม่ดีเท่าที่ควร

อย่างช่องของเจ๊ติ๋มที่มีจุดขายเรื่องดารา เมื่อขึ้นมาสู่สนามเดียวกับช่อง 3 และช่อง 7 เรื่องของดาราถือว่าเป็นสินทรัพย์ของทางช่องนั้นๆ การนำเอาดาราของช่องอื่นมานำเสนอ เท่ากับเป็นการเพิ่มเรตติ้งให้กับช่องของคู่แข่ง ดังนั้นช่องของกลุ่มทีวีพูลจึงเริ่มทำงานลำบากขึ้น

ประกอบกับการปั้นพิธีกรของช่องยังไม่สามารถดึงดูดใจผู้ชม รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่ไม่แตกต่างไปจากเดิม และสภาพเศรษฐกิจที่มีปัญหาในเวลานี้ทุกอย่างจึงลำบากไปหมด ในที่นี้คือทุกช่องก็เจอปัญหานี้เช่นเดียวกันเพียงแต่อยู่ที่เงินทุนว่าใครจะทนได้นานกว่ากัน

อย่างกลุ่ม RS แม้จะยกระดับจากทีวีดาวเทียมขึ้นมาเป็นทีวีดิจิตอล แต่ RS มีศิลปินและดาราเป็นของตัวเอง ทำให้การทำงานไม่ติดขัดและเรตติ้งก็ถือว่าอยู่ในระดับต้นๆ แต่ RS ก็ยังไม่ทิ้งทีวีดาวเทียมที่มีอยู่และหันกลับไปทุ่มลงทุนในช่อง 2 ในทีวีดาวเทียมมากขึ้น

“ในอนาคตเชื่อว่าจะมีอีกหลายรายที่ต้องหันกลับไปสู่จุดเดิมคือทีวีดาวเทียม ที่เคยอยู่ได้ในอดีตด้วยทุนต่ำกว่าทีวีดิจิตอลมาก อย่างตอนนี้กลุ่มทีวีพูลเริ่มมีการนำเอารายการของตัวเองกลับไปออกอากาศในทีวีดาวเทียมอีกครั้ง เพียงแต่เป็นการออกในช่องอื่นไม่ใช่ชื่อทีวีพูลเหมือนเดิม”
สถานการณ์จอดำทีวีดิจิตอลของกลุ่มทีวีพูล
ห่วงกลุ่มการเมืองครอบงำสื่อ

อาจารย์ด้านสื่อสารมวลชนรายหนึ่งกล่าวว่า เรื่องการล้มหายตายจากนั้นหากมองในเรื่องของธุรกิจแล้วถือว่าเป็นเรื่องปกติ ใครที่บริหารผิดพลาดก็ต้องยอมรับสภาพ ส่วนเรื่องต้นสายปลายเหตุนั้นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องคงต้องรับไปแก้ไข

แต่สิ่งที่เราเป็นห่วงมากที่สุดจากสถานการณ์ที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเริ่มล้มหายตายจากไป นั่นคือการแก้กฎหมายเรื่องใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่กำหนดว่า เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาตจะโอนแก่กันมิได้ เพื่อให้มีการเปลี่ยนมือได้ ทั้งนี้เพื่อใช้แก้ปัญหาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้

สิ่งที่จะตามมานั่นคือจะมีกลุ่มทุนที่รอเสียบเข้ามาเป็นเจ้าของทีวีดิจิตอล หากตั้งใจจริงเข้ามาทำธุรกิจด้านทีวีก็คงเป็นประโยชน์ต่อวงการทีวีดิจิตอล แต่ถ้าเข้ามาเป็นเครือข่ายย่อมมีโอกาสที่จะเกิดการครอบงำสื่อมากขึ้น

เรื่องหลักเกณฑ์ของ กสทช.ที่ห้ามถือครองสื่อเกิน 3 ช่องนั้น ถือเป็นเรื่องที่สกัดกั้นไม่ได้หากพวกเขาจะทำกันจริงๆ เพราะสามารถใช้นอมินีต่างๆ เข้ามาถือแทนได้ ในอดีตทีวีมี 6 ช่อง มีเจ้าของทั้งหมด กลุ่มใหม่ที่อยากมีสื่อก็ต้องเข้าไปที่ทีวีดาวเทียม

เรากลัวว่าท้ายที่สุดกลุ่มทุนที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองจะแปลงร่างเข้ามาถือครองทีวีดิจิตอลมากขึ้น ซึ่งพวกนี้ไม่ได้เน้นที่กำไรหรือขาดทุน เน้นไปที่การสื่อสารให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการเป็นหลัก เพราะมีทุนจากส่วนอื่นเข้ามาสนับสนุนในรายการอยู่แล้ว หากทุนเหล่านี้เข้ามาในร่างของนอมินีที่ภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เนื้อหาในการนำเสนอเอียงไปทางใดทางหนึ่งแล้วจะมีการควบคุมหรือป้องกันอย่างไร

อาจดูว่าเป็นการคิดในแง่ร้ายเกินไป แต่แนวทางนี้ก็มีสิทธิที่จะเกิดขึ้นได้ ตอนนี้เรามีทีวีดิจิตอลที่เชื่อมกับกลุ่มการเมืองอยู่ 1 ช่อง อีก 1 ช่องมีลักษณะการนำเสนอไปในทางเดียวกันและกำลังจะซื้อหุ้นในสื่อรายหนึ่งที่มีทีวีดิจิตอล 2 ช่อง หากทำสำเร็จจะกลายเป็น 4 ช่อง บวกกับกลุ่มทุนใหม่ที่จะเข้ามาในทีวีดิจิตอลที่ยอมจอดำ ชื่อของทุนใหม่ที่เห็นก็เกี่ยวข้องกับฐานการเมืองเดียวกัน ถ้าลงตัวก็จะกลายเป็น 6 ช่อง

วิธีการนำเสนอผ่านทางรายการไม่จำเป็นต้องโจมตีตรงๆ เหมือนในทีวีดาวเทียม แต่ใช้การแทรกและนำเสนอในรูปแบบที่นุ่มนวล ค่อยๆ โน้มน้าวฐานผู้ชมไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะกลายเป็นการหลอมรวมให้กลุ่มเป้าหมายมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน

ตรงนี้ถือว่าอันตรายมากหากเกิดขึ้นจริง ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วมีความเป็นไปได้ ดังนั้น กสทช.คงต้องไปหาวิธีการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ครอบงำสื่อเกิดขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น