แอปเรียกแท็กซี่ได้รับการตอบรับอย่างดี คนไทยนิยมใช้บริการมากขึ้นจนทำให้ผู้ให้บริการต้องแข่งขันเพิ่มเครือข่ายแท็กซี่เข้ามาในระบบแอป พร้อมทั้งกลยุทธ์งดเก็บค่าบริการเรียกรถ อัดแคมเปญโปรโมชันชิงลูกค้าอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ด้านคนขับระบบเก่า หันมาเข้าร่วมไม่ต้องวิ่งวนหาลูกค้าและช่วยประหยัดน้ำมัน แถมทุก 15 นาทีมีลูกค้าเข้ามา!
ในช่วงระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่การเรียกแท็กซี่จากแอปพลิเคชันเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งแบ่งเป็นแอปเรียกแท็กซี่ทั้ง 3 ราย เป็นแอปต่างประเทศเข้ามาบุกตลาดเมืองไทย คือ แกร็บแท็กซี่ อีซี่แท็กซี่ อูเบอร์แท็กซี่ และอีก 1 รายเป็นแอปไทย คือ All Thai Taxi ของบริษัทนครชัยแอร์ ต่างก็พยายามขยายตลาดสร้างการรู้จักให้หันมาใช้แอปเรียกเท็กซี่ โดยให้คนดาวน์โหลดแอปให้มากที่สุด
ทั้งนี้ด้วยข้อดีของแอปแท็กซี่ที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับคนที่ใช้บริการรถสาธารณะได้รับความสะดวกมากขึ้น และได้รับบริการจากพนักงานขับรถที่บริการดีสุภาพ เรียกได้ว่าด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้แอปเรียกรถแท็กซี่เข้ามาอยู่ในกระแสความนิยมอย่างรวดเร็ว
สำรวจพบความนิยมพุ่งขึ้น
จากข้อมูลแอปเรียกแท็กซี่ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีผู้สนใจในบริการนี้ เห็นได้จากยอดการดาวน์โหลดของผู้โดยสาร ในวันที่ 28 กันยายน 2558 ของแกร็บแท็กซี่นั้นมีทั้งหมด 1 ล้านดาวน์โหลด และอีซี่แท็กซี่ 10 ล้านดาวน์โหลด All Thai Taxi 1 หมื่นดาวน์โหลด ส่วนอูเบอร์แท็กซี่ประมาณ 10 ล้านดาวน์โหลด
ไม่เพียงยอดดาวน์โหลดที่พิสูจน์ยืนยันได้ว่า แอปแท็กซี่กำลังได้รับความนิยม แต่สิ่งสำคัญอีกประการคือ การสร้างเครือข่ายแอป "เรียกแท็กซี่" ให้รถแท็กซี่มาร่วมลงทะเบียนในสังกัดเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนรถที่จะรองรับให้บริการผู้โดยสารได้ทุกๆ เวลาและทุกพื้นที่
ซึ่งจากการตรวจสอบพบรถแท็กซี่สังกัดแอป ที่วิ่งให้บริการในกรุงเทพฯ และรอบปริมณฑล มีจำนวนรถมากกว่า 3 หมื่นคัน โดยแบ่งเป็น “รถแท็กซี่ในระบบเดิม” ซึ่งก็คือแท็กซี่เหลืองเขียว ชมพู ฟ้า เข้ามาลงทะเบียนกับ “แกร็บแท็กซี่” ซึ่งปัจจุบันมีรถอยู่ในระบบ 15,000 คัน “อีซี่แท็กซี่” มีรถในระบบกว่า 8,000 คัน ส่วน 2 รายที่ไม่ได้เป็นแท็กซี่ในระบบ เหลืองเขียว ชมพู ฟ้า คือ “ออลไทย แท็กซี่” มีรถในระบบ 500 คัน ขณะที่ “อูเบอร์” นั้น มีรถในระบบกว่า 1,000 คัน ทั้งนี้ผู้บริหารของแอปเรียกแท็กซี่ทุกรายต่างก็ยอมรับว่า การสร้างเครือข่ายรถแท็กซี่ คือการแข่งขันที่นอกเหนือจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก
ทั้งนี้นอกจากความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่มีจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นที่เป็นแรงผลักดันให้ตลาดแอปเรียกแท็กซี่ได้รับความนิยมแล้ว สิ่งที่เป็นข้อดีผลักดันให้คนไทยเริ่มรู้จักแอปแท็กซี่ และที่เคยใช้ศูนย์วิทยุแท็กซี่ 1681 หันมาใช้แอปเรียกแท็กซี่กันมากขึ้น นั่นคือ ระบบการเรียกรถที่ทำให้แท็กซี่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะอยากได้ค่าตอบแทนสูงกว่า โดยการเรียกผ่านแอปคนขับจะเห็นเส้นทางที่ผู้โดยสารจะเดินทางไป จึงสามารถตกลงกันได้ ขณะที่ฝั่งผู้โดยสาร ก็เห็นข้อมูลคนขับเพราะแอปมีการขึ้นรูปชื่อทะเบียนรถและเบอร์โทรศัพท์มือถือ ที่สามารถโทร.ไปคุยเพื่อตกลงกับคนขับได้ด้วยเช่นกัน
รวมถึงระบบการโหวตให้คะแนนที่กระทบต่อประวัติของคนขับ รวมถึงมีเงื่อนไขของบางแอปที่ระบุไว้ว่าจะโดนหักเงินประกันที่เปิดบัญชีไว้ และหากทำผิดบ่อยครั้งจะโดนปิดบัญชีและแบนถาวรนั้น ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยลดปัญหาคนขับให้มีมารยาทและระมัดระวังกิริยาที่ไม่สุภาพมากขึ้น ซึ่งอาจจะช่วยลดปัญหาอาชญากรรมจากแท็กซี่ได้อีกขั้นตอนจากที่กรมการขนส่งมีการตรวจสอบก่อนจะออกใบอนุญาตขับขี่สาธารณะให้กับคนขับแท็กซี่
Special Scoop ได้สอบถามคนขับแท็กซี่และผู้โดยสารที่ใช้บริการแอปเรียกแท็กซี่ทั้ง 3 รายที่มาจากต่างประเทศนั้น พบว่า คนที่ใช้แกร็บแท็กซี่ ส่วนใหญ่พอใจกับการใช้บริการที่มีจำนวนรถเพียงพอให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ ส่วนสิ่งที่ยังต้องปรับปรุง คือ การหาพิกัดตำแหน่งที่อยู่ของผู้โดยสารที่เรียกรถนั้นระบบยังไม่แม่นยำ บางครั้งจุดนี้จึงเป็นข้อเสียทำให้ผู้โดยสารรอรถนาน
ขณะที่อีซี่แท็กซี่ แม้จะมีดาวน์โหลดแอปมากกว่ารายอื่นก็ตาม แต่ด้วยจำนวนเครือข่ายรถแท็กซี่ที่มีให้บริการไม่ครอบคลุมพื้นที่ จึงน่าจะเป็นจุดด้อยที่ทำให้ผู้โดยสารใช้บริการไม่มาก
ส่วนความนิยมของอูเบอร์แท็กซี่ซึ่งมีค่าบริการที่สูงกว่าส่วนใหญ่จะเป็นผู้โดยสารอีกประเภทที่ไม่ได้ใช้รถสาธารณะทั่วไป
ขณะที่การให้บริการ ออลไทย แท็กซี่ ซึ่งอยู่ในช่วงทดสอบระบบและจำนวนรถ โตโยต้าพรีอุส ที่ให้บริการยังมีน้อยนั้น ผู้โดยสารให้ความเห็นว่า ยังมีข้อจำกัดมาก เพราะต้องลงทะเบียนใส่เลขบัตรเครดิต และการยกเลิกหลังจากเรียกรถ 5 นาที จะถูกคิดค่าใช้จ่าย 100 บาทนั้น ซึ่งนี่คือเหตุผลที่ทำให้แอปเรียกแท็กซี่ออลไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะผู้โดยสารทั่วไปที่ใช้เงินสดไม่สามารถใช้บริการได้ .
สมัครเป็นเครือข่ายแอปเรียกแท็กซี่
อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีและปัญหาการจราจรในเขตเมือง ทำให้บริการแอปเรียกแท็กซี่ได้รับความสนใจทั้งจากประชาชนผู้ใช้บริการและบรรดาคนขับแท็กซี่ในระบบเก่า ปัจจุบันจะมีผู้ใช้บริการเรียกผ่านแอป เรียกได้ว่าทุก 15 นาทีจะมีงานเข้ามา ซึ่งคนขับแท็กซี่หลายคันเห็นตรงกันว่าการใช้บริการแบบนี้จะช่วยให้ผู้ขับประหยัดเชื้อเพลิง เพราะไม่ต้องวิ่งรถวนหาผู้โดยสารอย่างไม่มีเป้าหมายอีกต่อไป จึงหันมาเข้าร่วมแอปเรียกแท็กซี่
ส่วนแท็กซี่ทั้งในรูปแบบอู่และคนขับ ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมแต่สนใจนำรถมาลงทะเบียนในระบบแอปนั้น มีขั้นตอนการสมัครเป็นแท็กซี่ในระบบแอปดังนี้ คือ คนขับจะต้องสมัครรับรหัสประจำตัวกับผู้ให้บริการแต่ละแอป โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
จากนั้นเมื่อจะต้องเปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับค่าบริการที่มีคนเรียกรถผ่านแอป เช่นค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารต่อครั้ง จะมีการแบ่งระหว่างผู้ให้บริการแอปและคนขับ นอกจากนั้นยังมีเป้ารายเดือน ถ้าคนขับทำยอดได้ตามเป้าจะได้รับเงินเดือน และสวัสดิการต่างๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเรียนบุตรหลาน ค่าเสื้อฟอร์ม ซึ่งคนขับที่ได้ยกระดับเป็นวีไอพีจะรับเงินเดือนประจำ กรณีในแอปบางรายอย่างแกร็บแท็กซี่จะไปสมัครเป็นรถแท็กซี่ในสังกัดแอปเรียกแท็กซี่รายอื่นไม่ได้
3 ค่ายปรับกลยุทธ์ต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน เมื่อกระแสความนิยมที่ผู้โดยสารใช้บริการแอปเรียกแท็กซี่ที่มีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแอปเรียกแท็กซี่ต่างก็ออกมาเปิดเกมบุกด้วยกลยุทธ์การลดราคา หรือแคมเปญโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง เห็นจากในช่วงที่ผ่านมาอีซี่แท็กซี่ และแกร็บแท็กซี่ แข่งขันกันอัดโปรโมชัน แจกรางวัลโทรศัพท์มือถือ แจกรถ สำหรับผู้ที่ใช้บริการที่ยิ่งเรียกรถมากเท่าไร ก็ยิ่งมีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลมากขึ้น ซึ่งเป็นการตลาดเพื่อจะเข้ามาเสริมศักยภาพทำให้แอปเรียกแท็กซี่ของตนเองเป็นตัวเลือกหนึ่งของผู้โดยสาร เรียกได้ว่าโอกาสตกเป็นของผู้โดยสารที่จะได้ใช้บริการในราคาที่ถูกลง และถ้าโชคดีก็อาจได้รางวัลมาเป็นของแถมอีกด้วย
โดยเฉพาะเงื่อนไขการลดราคาค่าโดยสาร และการงดเว้นการเก็บค่าบริการเรียกรถที่เก็บเพิ่มจากมิเตอร์ด้วย หรือแคมเปญแจกรถ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าแต่ละแอปมีจำนวนรถและค่าบริการที่ต่างกัน โดยค่าเรียกเพิ่มจากมิเตอร์ผู้โดยสารต้องจ่ายเพิ่มของ แกร็บแท็กซี่ คิดในอัตรา 25 บาท ส่วนอีซี่แท็กซี่ และออลไทยแท็กซี่ คิดค่าบริการเรียกแท็กซี่ 20 บาท ขณะที่อูเบอร์ ที่วางโพสิชันเป็นรถแท็กซี่หรูนั้นก็มีการปรับค่าบริการเรียกรถจากเดิมกำหนดขั้นต่ำที่ 45 บาท ลดลงเหลือ 25 บาท
“อูเบอร์ เราแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือรถลีมูซีน (อูเบอร์แบล็ก) ซึ่งเป็นรถยนต์หรู ไว้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการความสะดวกสบาย หรือต้องการใช้รถคันใหญ่ ส่วนอูเบอร์เอ็กซ์ จะเป็นรถที่คนส่วนใหญ่ใช้เป็นทางเลือกในการเดินทางในชีวิตประจำวันแทนแท็กซี่ ซึ่งเราจะมีโปรโมชันพิเศษไว้รองรับผู้ใช้บริการเป็นช่วงๆ และราคาของอูเบอร์เอ็กซ์ไม่ได้แพงกว่าแท็กซี่ทั่วไป” ผู้บริหารอูเบอร์ระบุ
ทั้งนี้แม้ว่าแอปเรียกแท็กซี่บางรายจะมีลูกค้าขาประจำมาใช้บริการ และมีความพร้อมเพื่อรับการแข่งขันที่รุนแรง โดยมีการขยายพื้นที่การให้บริการไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างจังหวัด อย่าง พัทยา ภูเก็ต เชียงราย แต่บางรายก็อาจจะต้องมีการพัฒนาอัปเกรดระบบให้ใช้บริการที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัยมากขึ้น นับตั้งแต่ขั้นตอนการยืนยันสถานะการเรียกรถ พร้อมแจ้งข้อมูลชื่อของคนขับ การติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ และมีจีพีเอสที่ทำให้ผู้โดยสารสามารถรู้พิกัดของรถที่กำลังวิ่งอยู่บนถนน
อย่างไรก็ตามในวันนี้แม้ว่าตลาดแอปเรียกแท็กซี่จะได้รับความนิยมมากขึ้นแต่สิ่งที่ยังคงเป็นปัญหา ซึ่งมีการคาดการณ์กันว่า หากมีแอปเรียกแท็กซี่เกิดขึ้นจะทำให้จำนวนรถแท็กซี่ที่วิ่งรับผู้โดยสารบนถนนลดลง แต่ในความเป็นจริงก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เรียกได้ว่าก็ยังมีการจอดรอรับผู้โดยสารของแท็กซี่ที่ยังคงสร้างปัญหาการจราจรติดขัดเช่นที่ผ่านมา