xs
xsm
sm
md
lg

กลยุทธ์แก้ปัญหายางพาราแบบยั่งยืน ซีพีเสนอตัวผลิตสร้างถนนแทนคอนกรีต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิชาการ-เอกชน-ภาคอุตสาหกรรม เสนอแนวทางการแก้ปัญหายางพาราอย่างยั่งยืน ด้วยการปฏิรูปยางพาราทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ ชี้ทางรอดในการช่วยเกษตรกรไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม ขณะที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ สร้างต้นแบบการทำอุตสาหกรรม “ยางพารา” แบบครบวงจร แจงหากรัฐหนุนพร้อมผลิตยางพารามาสร้างถนนแทนที่การระเบิดหินสร้างถนนคอนกรีตได้นับพันกิโลเมตร เตรียมก้าวสู่เป้าหมายตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์ส่งออกทั่วโลก

ยางพารา เป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยแต่ต้องพบชะตากรรมจากการที่มียักษ์ใหญ่ 2 ประเทศคือ จีน และอเมริกา เป็นผู้กำหนดราคา และท่ามกลางราคายางที่ตกต่ำติดต่อกันมานาน ซึ่งรัฐบาลหลายๆ ยุคหลายสมัยที่เข้ามาบริหารก็พยายามหาทางออก แต่สุดท้ายปัญหานี้ก็ยังคงค้างคามาจนถึงปัจจุบัน

ดังนั้นปัญหายางพาราจึงตกทอดมาถึงรัฐบาล คสช. ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เร่งแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งที่เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน ด้วยโครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาท ตลอดจนการหาทางออกในการปฏิรูปยางเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวภายใต้โรดแมป 16 โครงการ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะพัฒนายางทั้งระบบด้วย 4 แนวทาง คือ 1.ลดผลผลิต (Supply) 2. การเพิ่มสภาพคล่อง 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด 4.การเพิ่มการใช้ยางในประเทศ

อย่างไรก็ดี เวทีสัมมนาวาระประเทศไทย “อนาคตยางพาราไทย วิกฤตหรือโอกาส’ ที่มีตัวแทนนักวิชาการ คือ ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และตัวแทนภาคเอกชน คือ นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และนายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมระดมความคิดพร้อมเสนอแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราไทยให้เดินหน้าไปในอนาคตได้แบบยั่งยืนนั้น มี 11 แนวทาง ประกอบด้วย

ข้อ 1 ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ หันมาพัฒนาการแปรรูปในประเทศให้มากขึ้น ไม่พึ่งพาการส่งออกอย่างเดียว โดยเฉพาะการนำยางมาเป็นวัตถุดิบในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในประเทศให้มากขึ้น

ข้อ 2ส่งเสริมด้านพัฒนาการผลิตและการตลาด ไทยมีจุดแข็งในเรื่องสายพันธุ์ ดังนั้น หากเพิ่มผลผลิตต่อไร่และคุณภาพมากขึ้นจะสร้างโอกาส โดยเฉพาะเกษตรกรต้องเข้าถึงเทคโนโลยีเกี่ยวกับปุ๋ยและการดูแล

ข้อ 3หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน เพื่อไปสู่เป้าหมายพัฒนาการแปรรูปยางพาราในประเทศให้มากขึ้น

ข้อ 4 เสนอรัฐบาลให้ดึงตลาดขายยางพาราล่วงหน้าจากประเทศสิงคโปร์มาที่ประเทศไทย และให้มีการซื้อ-ขายและส่งมอบจริง

ข้อ 5 รัฐจะต้องส่งเสริมและผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียนต่อไป

ข้อ 6 รัฐต้องออกนโยบายจำกัดโรงงานแปรรูปขั้นกลาง จากยางพาราสู่ยางแผ่นให้เป็นธุรกิจเฉพาะคนไทยเท่านั้น เช่นเดียวกับโรงสีข้าว

ข้อ 7การลงทุนของต่างชาติ ต้องลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือให้เฉพาะกรณีที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น

ข้อ 8รัฐต้องดูแลเกษตรกรเรื่องเงินทุน โดยให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อและมีบริษัทน่าเชื่อถือรับความเสี่ยง

ข้อ 9ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ประกอบการลงทุนห้องทดสอบศึกษาวิจัยและพัฒนา เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานที่ดีให้ยางพาราไทย ทั้งในด้านการลดต้นทุน และเพิ่มศักยภาพการผลิต

ข้อ 10 เสนอให้รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนายางพาราอย่างชัดเจน เนื่องเพราะภาคเอกชนจะดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้

ข้อ 11ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การยางแห่งประเทศไทย ต้องส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีขีดความสามารถในการแข่งขัน

หนุนใช้ยางพาราในประเทศ เพิ่มขึ้น

ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงที่มาของการเสนอปรับยุทธศาสตร์หาทางออกให้ยางพาราไทย ซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ 1 ใน 10 ของประเทศนั้น มาจากข้อมูลในปี 2557 พบว่ามูลค่าการส่งออกยางพาราของประเทศไทยร่วงมาอยู่ที่อันดับ 3 และมีเพียง 1.9 แสนล้านบาท ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยางพาราของไทยทรงตัว โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท ดังนั้นการหาทางออกจึงมุ่งไปที่เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น และที่สำคัญคือ ลดการพึ่งพาการส่งออกที่ยังมองไม่เห็นอนาคต

“ตัวเลขของการส่งออกยางพาราของไทยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกมากถึง 87.2 % และใช้ในประเทศเพียง 12.8% เท่านั้น นั่นหมายถึงเรากำลังนำอนาคตของยางพาราไทยไปเสี่ยงไว้กับจีน สหรัฐฯ ให้เป็นผู้กำหนดราคา”

ด้านภาคเอกชนรายใหญ่ที่เข้ามาปักธงในธุรกิจยางพาราอย่าง ซีพี ได้ตอบรับยุทธศาสตร์นี้ พร้อมเสนอว่าหากรัฐบาลสนับสนุนอย่างชัดเจน บริษัทก็เตรียมพร้อมจะเดินหน้าโปรเจกต์นำยางพารามาใช้ในรูปแบบต่างๆ นับตั้งแต่ทำถนน กรวยจราจร ตลอดจนถึงลู่กีฬา ลู่วิ่งและสนามเด็กเล่น

ด้านสภาอุตสาหกรรมซึ่งมีบทบาทในการขับเคลื่อนให้มีการแปรรูปยางพาราออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น ก็เห็นด้วยกับแนวทางการนำยางพารามาใช้ในประเทศ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความชัดเจนของภาครัฐเอง 'บุญหาญ อู่อุดมยิ่ง' กล่าวถึงจุดเปลี่ยนที่ประเทศไทยกำลังจะมี พ.ร.บ.การยางฯ ว่า หากข้อกฏหมายฉบับนี้ไม่ได้ระบุถึงการส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถทางการเเข่งขันให้กับผู้ประกอบการนั้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้นักลงทุนหนีไปลงทุนที่ประเทศอื่น ซึ่งจะส่งผลกระทบทำให้ตัวเลขการผลิตและใช้ยางพาราในประเทศไม่เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้
นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์
ขณะที่นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า การทำถนนหากใช้คอนกรีตต้องระเบิดภูเขา ซึ่งไม่สามารถสร้างใหม่ได้ แต่หากส่งเสริมให้ใช้ยางพาราแทนที่คอนกรีตจะมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านตัน โดยการทำถนน 1,000 กม. จะใช้ยางพาราปริมาณ 3,000 ตัน และการผลิตกรวยจราจร 3 ล้านกรวย จะใช้ยางพารา 3,000 ตัน

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องส่งเสริมราคาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อย่างเหมาะสมเป็นธรรม หน่วยราชการ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ หรือกระทรวงอุตสาหกรรม ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน พัฒนาการแปรรูปในประเทศให้มากขึ้น ไม่พึ่งปริมาณการส่งออกอย่างเดียว แต่หันมาใช้ในประเทศด้วย

สำหรับการสร้างศักยภาพ และโอกาสการแข่งขันให้ยางพาราไทยในตลาดอาเซียนนั้น หากมีการส่งเสริมด้านพัฒนาการผลิตและการตลาด โดยเฉพาะการใช้จุดแข็งในเรื่องการมียางสายพันธ์ุที่ดี และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพต่อไร่ให้มากขึ้นนั้น เชื่อว่าจะสามารถรักษาความเป็นเบอร์ 1 ของผู้ผลิตยางพาราของโลก ซึ่งในวันนี้ประเทศอินโดนีเซียกำลังไล่ตามมาติดๆแล้ว รวมถึงดึงตลาดขายยางพาราล่วงหน้าจากประเทศสิงคโปร์มาอยู่ที่ไทย และเปิดให้มีการซื้อ-ขาย และส่งมอบจริง ตลอดจนส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์อันดับ 1 ในอาเซียนต่อไป

ซีพีต้นแบบอุตสาหกรรม “ยางพารา” แบบครบวงจร

สำหรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เป็นกรณีตัวอย่างของการสะท้อนมุมมองผู้ประกอบการที่มีพืชเศรษฐกิจ “ยางพารา” เป็นอุตสาหกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะการวางนโยบายให้ยางพาราเป็น 1 ใน 5 ธุรกิจหลักของกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร

จุดเริ่มต้นที่ซีพีลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปยาง ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ซึ่งถือเป็นโซนที่มีการปลูกยางมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่นี่มีศูนย์เรียนรู้เพื่อเป็นพี่เลี้ยงช่วยเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งในเรื่องการใช้พันธุ์ยางที่ดี มีต้นกล้ายางจำหน่ายให้กับเกษตรกรด้วย และยังให้คำปรึกษาในการปลูกและการดูแลใช้ปุ๋ย ระบบน้ำ และการกรีดยางอย่างไรถูกวิธี ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนมีผลผลิตสูงต่อไร่ต่อปี

ส่วนตัวอย่างของการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมยางพารา ที่ซีพีต่อยอดจากการตั้งโรงงานนำร่องมาสู่ธุรกิจกลางน้ำ และปลายน้ำนั้น คือ การจับมือร่วมกันระหว่างภาครัฐ - เอกชน - เกษตรกร ที่จะช่วยฝ่าวิกฤตราคายางพาราตกต่ำได้อย่างยั่งยืน โดยจับมือกับหน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสวนยาง ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร โดยซีพีได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปช่วยชาวสวนยาง ในด้านการพัฒนาการผลิตและการตลาดยางก้อนถ้วยคุณภาพ โดยรับซื้อยางก้อนถ้วยจากเกษตรกรในรัศมี 30 กิโลเมตร เรียกได้ว่าเป็นการแปรรูปยางที่ให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา รวมถึงได้ผลผลิตน้ำยางที่มีคุณภาพและมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกด้วย

แผนในอนาคต หลังจากที่มีการตั้งโรงงานแปรรูปยางแล้ว ซีพีวางแผนเตรียมขยายธุรกิจยางพาราโดยเตรียมจะตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์เพื่อใช้ในประเทศและส่งออกอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นปลายน้ำของอุตสหกรรมยางพาราแบบเต็มตัว เพราะการใช้ยางพาราในตลาดโลกนั้นนำมาผลิตยางล้อรถยนต์มากถึงร้อยละ 70

โอกาส-อุปสรรคการส่งออกยางพารา

ด้าน ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์ยางพาราในตลาดโลก ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ยางของประเทศไทยว่า ปริมาณการใช้ยางธรรมชาติของ 4 ประเทศหลักๆ คือ จีน อเมริกา ยุโรป และอินเดีย คิดเป็นร้อยละ 60 ของปริมาณยางทั่วโลก ซึ่งโอกาสในการเติบโตหลักๆ นั้นมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในแต่ละประเทศ
ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ทั้งนี้จากตัวเลขการใช้ยางพาราที่ผ่านมานั้น ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีการใช้ยางพารารายใหญ่ที่สุดในโลก เฉลี่ย 6 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 35 ของปริมาณการใช้ยางพาราทั่วโลก และร้อยละ 70 ของยางรถยนต์จีนผลิตจากยางพาราต่างประเทศ และอีกโอกาสที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ เป้าหมายการผลิตรถยนต์ประเภทต่างๆ ให้ได้จำนวน 40 ล้านคันต่อปีของประเทศอินเดียนั้น เป็นที่มาของการส่งเสริมให้มีการปลูกยางพาราในประเทศ โดย 3 ประเทศ คือ อินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา คือ ประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุด และต้องการยางพารามาใช้ในอุตสาหกรรมนี้สูงถึงร้อยละ 70 ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สำคัญของอนาคตยางพาราของประเทศไทยด้วยเช่นกัน

นับว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังเฟื่องฟูในประเทศต่างๆ นั้น ก็ทำให้หลายๆประเทศในอาเซียนก็มองเห็นโอกาสนี้ด้วย โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่การปลูกยางพารา ทั้งนี้จากข้อมูลพื้นที่การปลูกยางพาราในอาเซียน ประเทศที่ติดอันดับ 1 คือ อินโดนีเซีย มีพื้นที่ 22 ล้านไร่ และในปี 2563 อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายจะขยายพื้นที่ปลูกให้ได้เป็น 25 ล้านไร่ ตามมาเป็นอันดับ 2 คือ ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางพารา 20.7 ล้านไร่ ส่วนอันดับ 3 และ 4 คือ ประเทศจีน 7.1 ล้านไร่ และมาเลเซีย 6 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานนี้ประเทศจีนมีการขยายพื้นที่การปลูกยางพาราเพื่อรองรับการเติบโตที่รวดเร็วของอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเพิ่มพื้นที่ภายในประเทศ และเพิ่มการลงทุนธุรกิจยางพาราในต่างประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

“ เมื่อหันมาดูยุทธศาสตร์ขยายพื้นที่ปลูกยางพาราของไทยตั้งแต่ปี 2542-2556 จากเดิมมีพื้นที่การปลูกยางทั้งหมด 12 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 20 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยปีละ 5 แสนไร่ โดยปัญหาที่ผ่านมาพบปัญหายังไม่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จะส่งเสริมให้เพิ่มผลผลิตได้ 300 กก.ต่อไร่ แต่ผลผลิตจริงๆ ทำได้เพียง 257 กก.ต่อไร่เท่านั้น” ผศ.ดร.อัทธ์กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น