xs
xsm
sm
md
lg

ฉงน! หม่อมอุ๋ย-จักรมณฑ์ ออกแรงดันเหมืองโปแตช ผลประโยชน์ชาติจริงหรือ ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จับตาการอนุมัติประทานบัตรเหมืองโปแตช จะกลายเป็นเผือกร้อนในมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้หรือไม่? วงใน ฉงน “หม่อมอุ๋ย-จักรมณฑ์” เร่งผลักดันเหมืองโปแตช หวั่นจะเกิดผลกระทบด้านการเกษตรทั้งเรื่องดินเค็ม แย่งน้ำเกษตรกร ชี้จักรมนต์วางยุทธศาสตร์และดึงคนสนองนโยบายเหมืองโปแตช ตั้งแต่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แจงหากเกิดได้กระตุ้นการพัฒนาประเทศ ดันอุตสาหกรรมปุ๋ยโตแบบยั่งยืน ด้านคนในกระทรวงอุตฯ ติงถ้าเป็นยุคการเมืองทุกอย่างพร้อม รอแค่ลายเซ็น รมต.อนุมัติประทานบัตร เข้าค่าย “เคาะกะลา” แต่ยุคนี้ช้าเพราะเหตุใด!

ความพยายามผลักดันให้มีการอนุมัติประทานบัตรโครงการทำเหมืองโปแตชขนาดใหญ่ในจังหวัดอุดรธานีภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะสำเร็จได้ในยุคนี้ หลังจากที่มีประวัติศาสตร์การต่อสู้มายาวนาน ระหว่างกลุ่มคัดค้านและผู้สนับสนุน โดยเชื่อว่า พลังผลักดันของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล (หม่อมอุ๋ย) รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ก่อนหน้านี้ออกโรงหนุนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีตัดสินใจเดินหน้าพัฒนาเหมืองแร่โปแตชในประเทศไทย

จัดวางกำลังผุดประทานบัตรเหมืองโปแตช

โดยเริ่มจากการผลักดันโครงการของบริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท APMC ยื่นขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน ที่ระดับความลึก 180 เมตรจากระดับผิวดิน ในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างประเทศอาเซียนมาเกือบ 30 ปี ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นเป็นของเอกชน และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นบางส่วน

อย่างไรก็ดีเพื่อให้โครงการทำเหมืองโปแตชได้รับความมั่นใจในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่บริเวณนั้น โดยเฉพาะต่อพื้นที่เกษตรกรรมทั้งในเรื่องของดินเค็มที่เกิดจากกระบวนการทำเหมืองแล้วทำให้เกิดเกลือออกมาค่อนข้างมาก รวมถึงการแย่งน้ำภาคการเกษตรที่ทุกวันนี้ก็เกิดวิกฤตแล้งซ้ำซากอยู่แล้ว ดังนั้น หม่อมอุ๋ย และนายจักรมณฑ์ จึงเดินทางไปศึกษาเทคโนโลยีการทำเหมืองโปแตชของบริษัท คาลิ แอนด์ ซอลต์ (KALI and SALT) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสุดในเยอรมนีที่มีการอัดเกลือกลับไปใต้ดินเหมือนเดิม

“รัฐมนตรีจักรมนต์ และผู้บริหารกรมเหมือง มั่นใจในเทคโนโลยีเยอรมันมาก ว่าทันสมัยสุด ไม่ทำให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรแน่และเยอรมันเองก็สนใจที่จะร่วมทุนด้วย”

แหล่งข่าวย้ำว่า นายจักรมณฑ์มีความชัดเจนที่ต้องการให้โครงการเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมซึ่งจะต้องผลักดันให้มีการให้ประทานบัตรกับผู้ลงทุนในยุคนี้ และเมื่อเขาเข้ามานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมจึงได้ให้นโยบายชัดเจนกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมในเรื่องการเกิดเหมืองโปแตช พร้อมกับโยกย้ายข้าราชการที่รู้เรื่องเข้ามานั่งที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)

“สุรพงษ์ เชียงทอง จากผู้ตรวจราชการกระทรวง ย้ายมานั่งเก้าอี้อธิบดีกรมเหมือง เพราะเป็นคนที่รู้เรื่องและเชี่ยวชาญเรื่องเหมืองโปแตชมากที่สุด เคยเป็นผู้อำนวยการสำนักอุตสาหกรรมที่กรมเหมืองมาก่อน ส่วนจักรมณฑ์เข้ามานั่งเป็นรัฐมนตรีได้เพราะหม่อมอุ๋ยเป็นคนเสนอชื่อให้ คสช.”

เมื่อนโยบายการให้สัมปทานเหมืองโปแตชมีความชัดเจนทำให้การชงเรื่องของข้าราชการใน กพร.เป็นไปได้โดยง่าย ตั้งแต่ขั้นตอนการพิจารณาของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เพื่อส่งให้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ ปี 2545 ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานพิจารณาให้ความเห็น เพื่อนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงในประทานบัตรดังกล่าว

ทั้งนี้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.แร่ ได้มีมติเห็นชอบให้ประทานบัตรเหมืองแร่โปแตช 3 แห่ง ประกอบด้วย

1. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.นครราชสีมา 1 ซึ่ง บริษัท เหมืองไทยสินทรัพย์ จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ อ.คง บัวใหญ่ บ้านเหลื่อม อ.ขามสะแกแสง จ.นครราชสีมา 28 แปลง เนื้อที่ 280,000 ไร่

2. โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.นครราชสีมา 2 ซึ่ง บริษัท ธนสุนทร (1997) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจในพื้นที่ ต.ด่านช้าง อ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา 3 แปลง เนื้อที่ 30,000 ไร่

3.โครงการเหมืองแร่โปแตช จ.ชัยภูมิ ซึ่งบริษัท APMC เป็นผู้ยื่นขอสัมปทาน ที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ
การคัดค้านเหมืองโปแตชที่อุดรธานี (ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
เมืองไทยจะเป็นยักษ์ใหญ่ผลิตแม่ปุ๋ย

แหล่งข่าวบอกอีกว่า ความพยายามผลักดันเหมืองโปแตชเพื่อให้เอกชนเริ่มลงทุนได้ภายในปี 2558 เป็นเพราะว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ จะมีการไหลเข้ามาลงทุนและเกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น สามารถสร้างมูลค่าได้กว่า 10,000 ล้านบาท

ที่สำคัญจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งผลิตโปแตชที่ดีที่สุดในอาเซียน และหากเหมืองโปแตชเกิดได้จริงไทยจะสามารถลดการนำเข้าโปแตชจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากและยังสามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศได้ด้วย

“แร่โปแตชจะเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแม่ปุ๋ยโปแตสเซียมที่ใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งเราต้องนำเข้าประมาณปีละ 70,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าเราผลิตได้เองจะเป็นผลดีกับไทยโดยตรง”

อีกทั้งจากการสำรวจทางธรณีวิทยา พบว่าประเทศไทยมีปริมาณสำรองแร่โปแตชประมาณ 407,000 ล้านตัน ซึ่งสะสมตัวอยู่ทั่วไปบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ที่มีมูลค่ามหาศาลทั้งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยและเป็นแหล่งผลิตแม่ปุ๋ยที่สำคัญของโลก ซึ่งกรมเหมืองฯ ในฐานะผู้ดูแลในการออกประทานบัตรเหมือง ก็ตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมปุ๋ย จึงมีการเสนอความเห็นควรออกประทานบัตรให้กับบริษัทเหมืองต่างๆ ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี ไม่ให้เกิดปัญหามลภาวะและการอยู่ร่วมกันของชุมชนรอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย

“เราต้องมองให้ไกลในการให้สัมปทานบัตรเหมืองโปแตช เพราะที่สำคัญสุดของแร่โปแตช คือ การนำไปสกัดให้ได้เป็นโปแตสเซียมในการผลิตปุ๋ย เรากำลังจะพัฒนาต่อเนื่องไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตแม่ปุ๋ยโปแตสเซียม จะทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ลดการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ แต่ต่อไปเราจะส่งออกทำรายได้เข้าประเทศได้มหาศาล”

ดังนั้นผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการได้ประทานบัตรเหมืองโปแตชก็คือการได้วัตถุดิบหลักในการผลิตอุตสาหกรรมแม่ปุ๋ยที่มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งภาคเอกชนหมายตาแม้จะต้องใช้เวลาในการขอประทานบัตรนานก็ตาม

“ถ้ามองในแง่ดีการให้ประทานบัตรเหมืองโปแตชจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมปุ๋ยมากมาย ส่วนผลประโยชน์จะหล่นทับใครบ้างเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก”

สิ่งที่ปรากฏให้เห็นชัดเจนก็คือ ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีกระแสข่าวว่าคณะกรรมการแร่ ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีการเสนอความเห็นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกประทานบัตรให้กับเหมืองโปแตชอาเซียนที่ชัยภูมิ ของบริษัท APMC โดยมีบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) ถือหุ้นสัดส่วน 4% ซึ่งบริหารโดยนายสมัย ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการบริหารทั้งในบริษัท APMC และ TRC ทำให้บรรดานักเล่นหุ้นพึงพอใจในราคาหุ้นของ TRC ส่งผลให้มีแรงซื้อขายหนาแน่น ราคาหุ้นก็ปรับตัวขึ้นแรงอย่างต่อเนื่อง จากราคา 5-6 บาทเศษช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคาที่ผ่านมา

วันนี้ (16 ก.พ.) ซึ่งมีพิธีรับมอบประทานบัตรเหมืองโปแตชจากรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ทำราคาสูงสุดที่ 12.70บาท ปิดที่ 11.20 บาท ลดลง 0.40 บาท หรือ 3.45% มูลค่าซื้อขาย 1,050,538 ล้านบาท

หากมองย้อนไปดูราคาหุ้น TRC ที่มีการปรับตัวขึ้นแรงในช่วงที่มีข่าวว่าเอกสารทุกอย่างรออยู่หน้าห้องรัฐมนตรี เหลือเพียงแค่รัฐมนตรีลงนามประทานบัตร จะพบว่า ราคาหุ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ หุ้น TRC ทำราคาสูงสุดที่ 9.50 บาท และลงมาปิดที่ 8.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.95 บาท หรือ 12.10% มูลค่าซื้อขาย 1,523.99 ล้านบาท

ส่วนในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ทำราคาสูงสุดที่ 9.90 บาท และลงมาปิดที่ 9.55 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 หรือ 8.52% มูลค่าซื้อขาย 1,773,464.38 ล้านบาท ซึ่งการที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงเป็นเพราะคาดว่าบริษัท TRC จะได้งานก่อสร้างเหมืองโปแตชมูลค่าก่อสร้างถึง 3 หมื่นล้านบาท

เหมืองอุดร แร่คุณภาพเยี่ยมที่สุด

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวบอกอีกว่า การได้ประทานบัตรเหมืองโปแตชทั้ง 3 แห่งที่รอการลงนามจากรัฐมนตรีอุตสาหกรรมนั้น ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ภาคเอกชนและผู้บริหารในกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดไว้ เพราะความจริงแล้วแหมืองโปแตชที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกจะอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งบริษัท เอเชีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ยื่นขอสัมปทานเหมืองใต้ดินในพื้นที่อุดรใต้ 22,437 ไร่ ใน ต.โนนสูง ต.หนองไผ่ อ.เมือง และ ต.ห้วยสามพาด ต.นาม่วง กิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม และยื่นขอสัมปทานในพื้นที่อุดรเหนือ 52,073ไร่ ในเขตเทศบาลนครอุดร อ.เมือง อ.หนองหาน และกิ่ง อ.ประจักษ์ศิลปาคม รวม 74,437 ไร่

จากการที่บริษัท ไทยอะกริโก โปแตซ จำกัด ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท APPC ได้อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อหาแหล่งแร่ “สมบูรณ์” ที่จะพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ จึงพบว่าจะสามารถผลิตโปแตชได้ปีละประมาณ 2 ล้านเมตริกตัน และเกลืออุตสาหกรรมประมาณ 2 แสนเมตริกตัน

โดยคุณภาพแร่โปแตชที่ผลิตได้ จะอยู่ในระดับมาตรฐานสากล จะถูกส่งไปขายที่ประเทศจีน 540,000 เมตริกตัน มาเลเซีย 380,000 เมตริกตัน อินเดีย 275,000 เมตริกตัน อินโดนีเซีย 200,000 เมตริกตัน และฟิลิปปินส์ 70,000 เมตริกตัน ที่เหลือจะจำหน่ายภายในประเทศ

ขณะที่เกลืออุตสาหกรรมที่ผลิตได้ประมาณ 2 แสนเมตริกตัน จะมีความบริสุทธิ์ 99% จะจำหน่ายภายในประเทศ โดยขายให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ยาต่างๆ รวมทั้งโรงงานผลิตสบู่ กระเบื้อง ผงซักฟอก เป็นต้น

ปัจจุบันโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเม้นท์ จำกัด (มหาชน: ITD) ได้เข้ามาซื้อกิจการ ร่วมทุนอยู่กับกลุ่มจีน แต่ก็มีกระแสข่าวว่า ITD จะขายหุ้นบางส่วนออกไป

“เหมืองโปแตชอุดร เป็นที่หมายตาของกลุ่มทุนใหญ่ เพราะที่นี่แร่มีคุณภาพสูงกว่า ส่วนที่เหมืองโปแตชชัยภูมิแร่มีคุณภาพต่ำกว่ามาก”

ดังนั้นแม้จะมีแรงผลักดันทั้งฝ่ายการเมือง ข้าราชการ กลุ่มทุน ที่ต้องการจะออกประทานบัตรเหมืองโปแตชอุดร ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ง่ายทั้งที่มีกลุ่มชาวบ้านและเอ็นจีโอบางส่วนให้การสนับสนุน

“ที่อุดร เชื่อว่าประทานบัตรออกได้ยาก หรืออาจไม่ออกเลย เพราะกลุ่มต่อต้านเข้มแข็งมาก มีทั้งชาวบ้าน กลุ่มเอ็นจีโอในและนอกพื้นที่ร่วมตัวต้าน พวกนี้ไม่เชื่อมั่นในเทคโนโลยีการผลิต เขาเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร ไม่ว่าจะชี้แจงอย่างไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ แต่ที่โคราชและชัยภูมิ ไม่ได้มีปัญหาอย่างที่อุดร”

ดังนั้นหม่อมอุ๋ยและนายจักรมณฑ์จึงนำร่องให้ประทานบัตรเหมืองโปแตชที่ชัยภูมิ และโคราช 2 แห่งก่อน ขณะที่ยังมีเหมืองโปแตชที่อื่นๆ ที่รอต่อคิวคือโครงการเหมืองโปแตช จังหวัดสกลนคร โครงการเหมืองโปแตช จังหวัดมหาสารคาม โครงการเหมืองโปแตช จังหวัดขอนแก่น
เหมืองโปแตช ชัยภูมิ ที่ออกประทานบัตรแล้ว (ภาพ:ศูนย์อนามัยที่ 5 นครราชสีมา)
ฉงน!หม่อมอุ๋ย-จักรมณฑ์เร่งผุดเหมืองโปแตช

ด้านแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า มีรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งข้อสังเกตหม่อมอุ๋ยและนายจักรมนต์ ที่เร่งรัดผลักดันโครงการเหมืองโปแตชให้เกิดในรัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะต้องการให้ประทานบัตรกับเหมืองโปแตชอุดรธานี เพราะความจริงแล้วคณะรัฐมนตรียังมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของชุมชน และภาคการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนอีสาน โดยเฉพาะปัญหาดินเค็มและการใช้น้ำที่กระทบการเพาะปลูกจะทำให้เกษตรกรเดือดร้อนหนัก

“มีการขอประทานบัตรเหมืองโปแตชในอีสานหลายแห่งมาก จำเป็นต้องศึกษาผลกระทบกันให้รอบคอบ เราจะไปเปรียบเทียบกับเยอรมันทั้งหมดไม่ได้ เพราะเยอรมันไม่ได้ทำเกษตรกรรมเหมือนประเทศเรา เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ติงๆ อยู่เหมือนกัน”

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวออกมาว่ากลุ่มที่จะมาทำโครงการเหมืองโปแตชที่อุดร ก็อาจจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่ทำเหมืองโปแตชที่จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะกลุ่มของบริษัท TRC ที่อาจจะมีการเชื่อมโยงไปกับกลุ่มการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย และหากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยอมให้มีการอนุมัติประทานบัตรเหมืองโปแตชในอุดรฯ โดยไม่คำนึงถึงเสียงคัดค้านของกลุ่มมวลชนในพื้นที่ก็อาจกลายเป็นปมขัดแย้งเหมือนกับสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้จนถึงวันนี้

“คณะกรรมการแร่ ส่งความเห็นไปให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมออกประทานบัตรเหมืองโปแตช 3 แห่ง เพิ่งจะเซ็นของจังหวัดชัยภูมิ มีการทำพิธีรับมอบเย็นนี้ (16 ก.พ.) ส่วนที่โคราช ยังต้องรอไปก่อน หากเปรียบในยุคการเมืองคุมกระทรวง ถ้าค้างอยู่ในห้องนานๆ ถูกเสียงวิจารณ์ในเรื่องผลประโยชน์กันไปแล้ว แต่ยุคนี้คนในกระทรวงอุตฯ ก็ได้แต่สอบถามกันไปมา ว่าทำไมยังไม่เซ็นออกมา”

ดังนั้นจากนี้ไปต้องจับตาดูว่าความพยายามผลักดันประทานบัตรเหมืองโปแตชโดยเฉพาะที่จังหวัดอุดรธานีจะกลายเป็นเผือกร้อนในมือรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้หรือไม่?

กำลังโหลดความคิดเห็น