xs
xsm
sm
md
lg

อัยการเหยียบเรือสองแคมคดีทุจริตข้าว เชื่อ คสช.อยู่ไม่นาน-เพื่อไทยคืนชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักกฎหมายชี้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง “ยิ่งลักษณ์” คดีทุจริตจำนำข้าว เป็นได้ทั้งขาวและดำ เพิ่มหลักฐานแน่นไม่ให้คดีหลุด อีกด้านอาจเลี่ยงปะทะกับเพื่อไทยที่อาจกลับมาอีกครั้งหลังพ้น คสช. ขณะที่หลายฝ่ายยังเคลือบแคลงหัวหน้าชุด ร่วมงานกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์มาก่อนในบอร์ดออมสิน ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส.จนถูกสั่งสอนถอนเงินกว่าแสนล้าน ด้านความมั่นคงมั่นใจอัยการฟ้องแน่กอบกู้ภาพลบในอดีต

ทำเอาสะดุดไปห้วงหนึ่งของคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เรื่องละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท โดยที่อัยการสูงสุดยังไม่สั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์

14 วันนับจาก 4 กันยายน 2557 ทั้งอัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อพิจารณาหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่าจะดำเนินการฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่

โดยที่ทางอัยการสูงสุดระบุว่าขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานไม่มีการกำหนดระยะเวลาว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด จากนั้นคณะกรรมการร่วมทั้งสองต้องมีมติร่วมกันว่าจะส่งฟ้องต่อศาลฎีกาฯ หรือไม่

การดำเนินคดีนี้นับเป็นอีกความหวังหนึ่งที่ฝ่ายที่คัดค้านและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางในการบริหารโครงการนี้ดำเนินการฟ้องร้องเอาผิด เพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติและเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะทำให้รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยในขณะนั้นต้องสะดุดลง

แม้หลังจากการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คดีดังกล่าวจะเดินหน้าต่อไปตามกระบวนการ แต่ก็มีข้อสังเกตไม่น้อยเมื่อ 17 กรกฎาคม 2557 จากการที่ คสช.ได้อนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศได้ตามที่ร้องขอ เนื่องจากพิจารณาแล้ว ที่ผ่านมาให้ความร่วมมือด้วยดีตลอด ไม่มีพฤติกรรมที่จะต่อต้านขัดขวาง

กำหนดเดินทางในช่วงวันที่ 20 กรกฎาคมและกลับประเทศไทยวันที่ 10 สิงหาคม ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าการเดินทางไปต่างประเทศในครั้งนี้อาจจะซ้ำรอยเดียวกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร พี่ชาย ที่ขอเดินทางออกนอกประเทศก่อนศาลมีคำพิพากษาและไม่กลับมารับโทษตามคำพิพากษา

แต่ในวันเดียวกันคือ 17 กรกฎาคม หลังจากที่ผู้คนในสังคมรับทราบว่าทาง คสช.ได้อนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศได้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติของที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์มีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 และตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. มาตรา 123/1 และส่งเรื่องให้อัยการเพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

อย่างไรก็ตาม นางสาวยิ่งลักษณ์ยังคงเดินทางไปต่างประเทศได้ตามกำหนดเดิม และร่วมฉลองงานวันเกิดกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และเดินทางกลับมาประเทศไทยตามกำหนด ไม่สร้างความเสียหายให้กับผู้อนุมัติ

อัยการสั่งไม่ฟ้อง “ยิ่งลักษณ์”

4 กันยายนครบกำหนดระยะเวลาที่อัยการสูงสุดจะต้องตัดสินใจหลังจากได้รับเรื่องจาก ป.ป.ช.ว่าจะดำเนินการฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ต่อศาลฎีกาฯ หรือไม่

ก่อนหน้า 1 วัน นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เปิดตัวหนังสือ “ชำแหละโกงจำนำข้าวทุกขั้นตอน มหากาพย์โกงข้าว” ยิ่งทำให้คนในสังคมให้ความสนใจผลการพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดในวันดังกล่าวมากขึ้น
นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงานคดีจำนำข้าว
ผลที่ออกมาคือ คณะทำงานของอัยการสูงสุดมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าสำนวนคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีตามข้อกล่าวหา โดยเห็นว่า สำนวนของ ป.ป.ช.มีประเด็นที่ยังไม่สมบูรณ์ 3 ด้าน

1.ประเด็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโครงการรับจำนำข้าวดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้เป็นนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 178 บัญญัติให้ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ ต่อรัฐสภาด้วย

ดังนั้น จึงควรรวบรวมพยานหลักฐานให้ได้ความชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการที่จะยับยั้งโครงการที่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่

2.ประเด็นเรื่องการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ควรทำการไต่สวนรวบรวมพยานหลักฐาน ให้สิ้นกระแสความว่า ภายหลังจากที่โครงการรับจำนำข้าวถูกท้วงติงจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ดำเนินการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตหรือไม่ อย่างไร ผลการตรวจสอบเป็นอย่างไร

3.ประเด็นเรื่องการทุจริต ควรไต่สวนพยานเพิ่มเติมให้ได้ความว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ยืนยันว่ามีการทุจริตนั้น พบการทุจริตในขั้นตอนใดและมีการทุจริตอย่างไร

นอกจากนั้นมีการกล่าวอ้างถึงรายงานวิจัยโครงการนโยบายข้าวของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า โครงการดังกล่าวมีการทุจริตและมีความเสียหายจำนวนมาก แต่ในสำนวนการไต่สวนปรากฏว่า มีเพียงหน้าปกรายงานวิจัยเท่านั้น ดังนั้นจึงให้รวบรวมรายงานวิจัยทั้งฉบับเป็นพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนให้สมบูรณ์ด้วย

กระบวนการนี้ถือเป็นขั้นตอนหนึ่งของแนวทางปฏิบัติ จากนี้ไปทั้ง ป.ป.ช.และอัยการสูงสุดต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการฟ้องต่อหรือไม่ หากอัยการสูงสุดเห็นสั่งไม่ฟ้อง ทาง ป.ป.ช.ก็สามารถส่งเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาลฎีกาฯ ได้โดยตรง

มองได้ทั้ง “ขาวและดำ”

“การที่อัยการสูงสุดยังไม่สั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์คดีทุจริตจำนำข้าวนั้น เป็นไปได้ทั้งด้านขาวจนถึงดำ เพราะไม่มีใครทราบได้ว่าทางอัยการสูงสุดคิดอย่างไร” นักกฎหมายคนหนึ่งตั้งข้อสังเกต

พร้อมอธิบายต่อไปว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรที่ผิดปกติ เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย อัยการอาจเห็นว่าสำนวนและหลักฐานที่ ป.ป.ช.รวบรวมมานั้น มีความไม่แน่นหนาหรือรัดกุมเพียงพอ หากส่งเรื่องฟ้องต่อศาลคดีนี้อาจจะหลุดได้ อีกทั้งคดีดังกล่าวถือเป็นคดีใหญ่และมีความสำคัญจึงต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ นี่เป็นการมองในมุมบวก เป็นเรื่องของเจตนาดี

เมื่ออัยการสูงสุดมีมติดังกล่าวด้านหนึ่งเพื่อความรอบคอบของคดี แต่อีกด้านหนึ่งคือย่อมทำให้คดีดังกล่าวต้องยืดออกไปอีก ส่วนจะนานแค่ไหนเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.กับทางอัยการสูงสุดต้องหารือร่วมกัน และปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อมติของอัยการสูงสุดออกมาอย่างนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ย่อมมีเวลามากขึ้นหากต้องมีการสอบสวนพยานเพิ่มเติม

ภายใต้มติเดียวกันนี้ยังอาจถูกตีความในเชิงลบต่อคณะทำงานของอัยการสูงสุดได้เช่นกัน ด้านหนึ่งคือการประวิงเวลาให้กับนางสาวยิ่งลักษณ์ในช่วงหนึ่ง หากท้ายที่สุดทางอัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้อง หรือถ้าผลการหารือร่วมกันแล้วอัยการสูงสุดไม่ฟ้อง ป.ป.ช.ก็ต้องส่งสำนวนฟ้องต่อศาลเอง ก็ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

อัยการก็คน-คสช.อยู่ไม่นาน

อย่าลืมว่าอัยการก็คนเหมือนกัน คดีนี้เป็นคดีใหญ่และมีความสำคัญในทางการเมือง อีกทั้งอำนาจของ คสช.ที่มีอยู่ในเวลานี้อาจจะมีเพียง 1 ปีหรือ 2 ปีเท่านั้น เมื่อทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ พรรคการเมืองต่างๆ ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ พรรคเพื่อไทยก็มีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลค่อนข้างสูง

เมื่อ คสช.ถอนตัวออกไปแล้วพรรคเดิมกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ถามว่าใครจะคุ้มครองพวกเขาอีก

อีกทั้งที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดมักถูกจับตาจากคนในสังคมว่า มักจะดำเนินงานในทิศทางที่เป็นบวกกับพรรคเพื่อไทย อดีตอัยการสูงสุดบางท่านเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ โดยเมื่อ คสช.เข้าทำการยึดอำนาจมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารในหลายหน่วยงาน หนึ่งในนั้นคือเปลี่ยนตัวอัยการสูงสุดจากนายอรรถพล ใหญ่สว่าง มาเป็นนายตระกูล วินิจนัยภาค

คดีทุจริตจำนำข้าวที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องมาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณานั้น มีนายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทำงานในการพิจารณา จนมีมติไม่สั่งฟ้องเมื่อ 4 กันยายนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตถึงรองอัยการที่รับผิดชอบในคดีดังกล่าวว่า เคยร่วมงานกับรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ในช่วงที่ผ่านมาในตำแหน่งคณะกรรมการของหน่วยงานรัฐหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือธนาคารออมสินที่เคยอนุมัติเงินกู้ยืมให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องในการดำเนินงานโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล จนมีกระแสต่อต้านและถอนเงินออกจากธนาคารออมสินนับแสนล้านบาท

อีกทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) รุ่นที่ 12 ในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม 2554 ก่อนที่ประธานรุ่นจะเข้าสู่สนามการเมืองจนเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

เพื่อไทยมีโอกาสกลับมา

“ด้านหนึ่งอาจเป็นวิธีการป้องกันตัวเองของทางอัยการ เตรียมการไว้หาก คสช.พ้นจากอำนาจไป หากตีความในเชิงลบเป็นการส่งสัญญาณว่าทางอัยการไม่เอาด้วยกับเรื่องนี้ ยิ่งถ้าหารือกันแล้วอัยการไม่สั่งฟ้องอีก ก็เท่ากับเป็นการถอยออกจากปัญหา ปล่อยให้ ป.ป.ช.เดินหน้าชนกับพรรคเพื่อไทยโดยตรง ถ้าเพื่อไทยกลับเข้ามาอีกครั้งก็ต้องเช็กบิลกับ ป.ป.ช. เหมือนกับการยึดอำนาจในปี 2549 ที่อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ โดนมาแล้ว” นักสังเกตการณ์ทางการเมืองตั้งข้อสังเกต

นักสังเกตการณ์รายเดิมยังชี้ให้เห็นว่าในวันเดียวกันนั้น ทางอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งฟ้องคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กับเหตุการณ์ในปี 2546 ที่มีการจัดสัมมนาเรื่อง “สตง.ในความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา” ในวันที่ 31 ตุลาคม 2546 มีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 479,980 บาท และคุณหญิงจารุวรรณ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ลงนาม

ในวันดังกล่าวทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ขอรับพระราชทานผ้าพระกฐินนำไปถวายพระสงฆ์จำพรรษา ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร วัดพญาภู จังหวัดน่าน ทำให้เลยกำหนดเวลาสัมมนาจึงไปใช้สถานที่สโมสรหมู่บ้านสันติภาพ 2 แทน

โดยผลสอบของ ป.ป.ช.ชุดของศาสตราจารย์ภักดี โพธิศิริ ระบุว่า งานสัมมนาดังกล่าวที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากไม่ได้ไปจัดสัมมนาที่โรงแรมดังกล่าวตามที่ระบุไว้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวผู้ร้องคือพรรคเพื่อไทย

“เราไม่ได้บอกว่ากรณีไหนผิดหรือไม่ผิด แต่นี่คือความแตกต่างของทั้ง 2 คดี”

ป.ป.ช.โต้เจ็บ

ปฏิกิริยาหลังจากที่อัยการสูงสุดยังไม่สั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น ทาง ป.ป.ช.ในฐานะต้นเรื่องได้ออกมาตอบโต้อัยการสูงสุด โดยนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าว กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานเลื่อนลอยเด็ดขาด หลักฐานเป็นของจริงทั้งสิ้น ฉะนั้นเรียนยืนยันได้เลยว่า เราจับคดีทุจริต ไม่มีการกลั่นแกล้งใครเป็นอันขาด
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.
พร้อมทั้งกล่าวว่า “เราก็เห็นใจท่านอัยการสูงสุด เพราะขณะนี้สถานะท่านง่อนแง่น เราเห็นได้เลยว่าอัยการสูงสุดคนที่แล้วถูกปลดกลางอากาศ จากโทรทัศน์” และ “เราสวดมนต์ทุกวันให้อัยการสูงสุดอยู่รอดปลอดภัย แม้ ป.ป.ช.อยากจะฟ้องเองใจจะขาด ก็ต้องทำตามกระบวนการก่อน”

นับเป็นการสะท้อนถึงแนวทางการทำงานของทั้ง 2 หน่วยงานนี้ได้เป็นอย่างดี

“เราก็หวังว่าเมื่อทั้ง 2 ส่วนงานนี้เห็นต่างกันอยู่บ้าง แต่ท้ายที่สุดก็น่าจะส่งเรื่องฟ้องต่อศาลได้ เพราะตอนนี้ภาพลักษณ์ของอัยการสูงสุดในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างติดลบ จึงน่าจะใช้โอกาสนี้เข้ามากอบกู้ภาพลักษณ์ที่เสียไปในอดีต” แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าว

ดังนั้นคดีทุจริตจำนำข้าวของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเป็นที่จับตาของคนไทยทั้งประเทศว่าท้ายที่สุดแล้วทนายของแผ่นดินอย่างอัยการสูงสุดจะตัดสินใจในเรื่องนี้อย่างไร และหากอัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องอีก ปฏิกิริยาของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะเคลื่อนไหวอย่างไร เนื่องจากนาทีนี้ทาง คสช.ยังคงกฎอัยการศึกอยู่

กำลังโหลดความคิดเห็น