xs
xsm
sm
md
lg

3 พื้นที่ชุมนุมเสี่ยงนองเลือด จับตา “ศาลรธน.” สอย“ยิ่งลักษณ์”พ้นนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สัญญาณอันตรายมาแล้ว โอกาสนองเลือดสูงปรี๊ด! ปชป.เผย 3 จุดอันตรายพร้อมปะทะ ขณะที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ยึดตามคำสั่งทักษิณไม่สลายการชุมนุม แต่จะฟ้องร้องทางกฎหมายทันทีที่ผู้ชุมนุมทำผิดกฎหมาย พร้อมเปิดเวทีรัฐสภา ขณะที่ “บวร ยะสินธร” ฟันธง รุนแรงเมื่อไร ม็อบมวลชนจะมีอารมณ์โกรธแค้น “ทักษิณ-ตระกูลชินวัตร-ส.ส.-ส.ว.-คนรับใช้”ทั้งหมดอยู่ในห้วงอันตราย แต่หากรัฐบาลยังใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ก็ยังเหลือดาบ ปปช.ชี้ขาดภายใน2 สัปดาห์ส่วนไม้เด็ดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีสิทธิ์เชือดถึงยิ่งลักษณ์ได้

ยิ่งกว่าสุกงอมเมื่อตอนนี้ประชาชนคนไทยโดยเฉพาะกลุ่มปัญญาชนคนชั้นกลางในเมือง ประกอบด้วย แพทย์ อาจารย์ นักวิชาการ นักธุรกิจ คนทำงาน นักศึกษาทุกสถาบัน ต่างออกมาร่วมม็อบต่อต้านรัฐบาลอย่างคับคั่งและต่อเนื่องที่พร้อมจะโค่นรัฐบาลในทุกรูปแบบที่แกนนำสั่ง

และวันนี้ (25 พ.ย.) ยุทธวิธีดาวกระจายไปยังหน่วยต่างๆ 13แห่ง ก็ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะยุทธการตัดไฟที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง ก็ได้รับความสำเร็จเพราะที่นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาล

ขณะเดียวกันแกนนำม็อบก็ไม่ต้องการให้ศึกครั้งนี้ยืดเยื้อยาวนาน และต้องการเผด็จศึกให้ได้ภายใน 3-4 วันที่จะถึงนี้

มาถึงวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีรวมถึงพรรคเพื่อไทยและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. จะมีมาตรการอย่างไร ในขณะที่กลุ่มม็อบต่อต้านก็ปฏิเสธทั้งแนวทางยุบสภา หรือ ลาออก และยกระดับสู่การขับไล่ระบอบทักษิณให้หมดไปจากสังคมไทยเพียงเงื่อนไขเดียว

ไม่ลาออก-ไม่ยุบสภา

แหล่งข่าวระบุว่า ในหลักการแล้วหากการเมืองถึงขั้นวิกฤตดังเช่นปัจจุบันที่มีม็อบต่อต้านออกมาจำนวนมหาศาลบนถนนราชดำเนิน มีการปิดถนน และมีการดาวกระจายไปยังสถานที่ราชการต่างๆ แม้ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวแบบอารยะก็ตาม แต่ก็อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

“รัฐบาลก็มีมวลชนที่สนับสนุน ก็อาจไม่พอใจนำไปสู่การต่อต้านอย่างรุนแรงเสียเลือดเสียเนื้อกันเกิดขึ้น ก็อาจจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้”

รัฐบาลโดยทั่วไปก็จะเลือกอันดับแรกคือการที่นายกรัฐมนตรีลาออก และก็มีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อยุติสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงให้จบลงหรือเบาบางลง แต่กรณีนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ เลือกแนวทางลาออกก็ไม่ได้ เพราะม็อบเชื่อว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ลาออกไปแล้ว แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภา ก็จะเลือกทายาทของตัวเองขึ้นมาทำหน้าที่แทน

“อาจจะเป็น นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวอีกคนขึ้นมาแทน หรืออาจจะเป็นใครในพรรคก็ได้ และบางกระแสก็บอกรอให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้ามาเป็นนายกฯได้หลังวันที่ 2 ธันวาคมนี้เมื่อบ้านเลขที่ 109 ครบอายุซึ่งความจริง นายสมชายมาเป็นนายกฯอีกครั้งไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นส.ส.”

ปัญหาในข้อนี้ทำให้พรรคเพื่อไทย รู้ว่าไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง เพราะถึงอย่างไรม็อบของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือพรรคประชาธิปัตย์ และม็อบกลุ่มต่างๆ ไม่ยอมยุติแน่ เพราะเวลานี้อารมณ์ของมวลชนที่เข้าร่วมชุมนุมได้ยกระดับไปไกลเกินจุดที่จะรับได้กับการที่คนตระกูลชินวัตรจะขึ้นมาสู่ตำแหน่งนายกฯคนต่อไป หรือแม้กระทั่งคนอื่นๆ ในพรรคเพื่อไทยทั้งหมด เพราะไม่ตอบโจทย์การล้มระบอบทักษิณ

ส่วนแนวทางที่สอง การยุบสภา เวลานี้ถือเป็นทางออกที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักธุรกิจต้องการให้เกิดมากที่สุด แต่ก็เป็นที่รู้กันว่าโดยเงื่อนของเวลา ขณะนี้ยังทำไม่ได้

เหตุผลที่หนึ่งคือ เมื่อฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และทางประธานสภาฯได้รับไว้พิจารณาแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน และจะมีการอภิปรายในวันที่ 26-27 พ.ย.นี้ ดังนั้นตามกระบวนการทางกฎหมาย รัฐบาลย่อมมิอาจยุบสภาได้ในเวลานี้ ส่วนอีกเหตุผลคือ การยุบสภาวันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณรู้ดีว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทยแม้จะได้กลับมา แต่จะไม่ชนะขาดจากประชาธิปัตย์มากนัก โอกาสที่พรรคที่ 3 อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาจะร่วมกับฝ่ายตรงข้ามก็มีอยู่สูง

ดังนั้นไม่มีอะไรรับประกันได้เลยว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะมีส.ส.ในมือจำนวนมาก ที่จะกำหนดซ้ายหัน ขวาหัน มีอำนาจแบบเผด็จการรัฐสภาได้อีกเหมือนในเวลานี้

“รัฐบาลจะยุบสภาได้นะ แต่ต้องรอให้อภิปรายจบ มีการลงมติเรียบร้อย หรือไม่ก็คือฝ่ายค้านถอนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจออก ก็จะสามารถยุบสภาได้ทันที” นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคประชาธิปัตย์กล่าว

พร้อมเผยว่า แนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะขอถอนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะนี้ยังไม่มีเรื่องนี้เกิดขึ้น และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะดำเนินการไปในทิศทางที่เตรียมไว้คือ พุ่งเป้าไปที่ 2 คนหลักเท่านั้น คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ในฐานะบริหารราชการผิดพลาด โดยเฉพาะโครงการประชานิยม และการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลวอย่างมาก ขณะที่คนที่สองที่หนีไม่พ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ทั้งในเรื่องของการทุจริตและการทำหน้าที่ที่มิชอบ

โดยคาดว่าในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ก็เป็นปกติที่จะจบลงเหมือนเดิม ด้วยการลงมติไว้วางใจรัฐบาลโดยส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล

แต่ถ้าถามว่าขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ตอนนี้บอกได้แค่ว่าตอบไม่ได้

เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเป็นแบบต้องวิเคราะห์วันต่อวัน นาทีต่อนาที

“ตอนนี้บ้านเมืองมีความวุ่นวาย การปิดล้อมของประชาชนมีหลายจุด สิ่งที่ต้องดูในวันนี้ (26 พ.ย.)คือ ส.ส.จะเข้าไปประชุมที่รัฐสภาได้หรือไม่ และถ้าไม่จะไปประชุมที่ไหน ซึ่งตอนนี้ได้ข่าวมาแล้วว่า รัฐบาลจะจัดให้มีการประชุมที่กระทรวงการต่างประเทศ และมีแนวโน้มที่จะทำวิธีการบางอย่างเพื่อไม่ให้ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมประชุม”

ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็เชื่อว่า ยุบสภาก็ยังทำให้ระบอบทักษิณคงอยู่เนื่องจากเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคเพื่อไทยก็ยังมีโอกาสชนะเลือกตั้งเหมือนเดิม เพียงแต่อาจชนะไม่มาก และเชื่อว่าพรรคขนาดกลางก็อยากจะเข้าร่วมกับพรรคเพื่อไทย มากกว่าที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์

ดังนั้น การยุบสภาจึงไม่ใช่ทางออกที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึงม็อบราชดำเนินต้องการ

ยุบสภาทันทีที่ทหารออก

แต่ก็ใช่ว่ายุบสภาจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น

นายไพจิต ศรีวรขาน แกนนำกลุ่มอีสานพัฒนา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าโอกาสยุบสภามีแต่จะมีการยุบสภาเกิดขึ้น เป็นคำตอบสุดท้าย เมื่อเห็นว่าอำนาจทางการทหารกำลังจะเข้าแทรกแซงทางการเมืองแล้ว จะมีการยุบสภาทันที

แต่ก็ยืนยันว่าเป็นปัจจัยเดียวเท่านั้นที่จะมีการยุบสภาเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่ถ้าไม่มีการแทรกแซงของอำนาจพิเศษ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะทำต่อจากนี้ไป คือ

พรรคเพื่อไทยได้รับนโยบายมาว่าจะต้องไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้นเด็ดขาด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลจะเดินหน้าต่อไป คือการที่จะใช้เวทีที่ประชุมรัฐสภา และเวทีสภาผู้แทนราษฎร

“เราจะประคองสถานการณ์ด้วยการใช้เวทีรัฐสภาเป็นหลัก โดยเริ่มแรกก็จะพยุงการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้จบสิ้นไปก่อน หลังจากนั้นจะให้มีการคุยกันถึงทางออกของประเทศ โดยเฉพาะคุยกันว่าการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร ใครมีความคิดเห็นอย่างไรให้มาคุยกัน”

ถือเป็นการยอมอ่อนของพรรคเพื่อไทยที่จะยอมเปิดพื้นที่ให้พรรคฝ่ายค้านมีบทบาทในเวทีรัฐสภามากยิ่งขึ้น เพราะย่อมลดโทนความขัดแย้งของการเมืองภายนอกได้

“ประชาธิปัตย์มีหลายกลุ่ม กลุ่มคุณสุเทพจะสู้ข้างถนนก็เรื่องของเขา แต่มันยังมีกลุ่มอื่นที่พร้อมจะเข้าไปสู้กันในสภา กลไกของรัฐสภาต้องเป็นทางออก”

สำหรับเวทีการเมืองนอกสภาฯนั้น นายไพจิตยืนยันว่า คำสั่งที่ไม่ให้เกิดความรุนแรงนั้นเป็นคำสั่งหลัก เพราะจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดอำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้ โดยพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นมา

ดังนั้นหากการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ ไม่ผิดกฎหมายก็จะปล่อยให้มีการชุมนุมต่อไปเรื่อยๆ ถือเป็นการหนักนิดเบาหน่อยอภัยให้แก่กัน

แต่หากมีการก่อวินาศกรรมขึ้นมาเมื่อไร หรือผิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างเห็นได้ชัด รัฐบาลก็จะไม่เลือกใช้วิธีรุนแรงอยู่ดี จะไม่มีการสลายการชุมนุม แต่จะทำการฟ้องร้อง ใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้าสู้

“มวลชนก็คือแฟน แฟนของใคร ใครก็มา แฟนของพรรคเพื่อไทยคือคนจน คนจนเขาก็มาสนับสนุนเรา แฟนของประชาธิปัตย์ก็เกณฑ์กันมา ก็มากันได้ ก็ถือว่าเป็นแฟน แฟนของใครแฟนของมัน”

คนเดือนตุลาชี้การใช้ความรุนแรงมีแน่

อย่างไรก็ดี นายบวร ยะสินธร อดีตแกนนำนักศึกษาสมัย 14 ตุลาคม 2519 ยังมองว่าความรุนแรงมีโอกาสเกิดขึ้นทุกเวลานับจากนี้เป็นต้นไป

“ถ้าเกิดความรุนแรงเมื่อไรโดยไม่รู้สาเหตุ คนที่จะตกอยู่ในภาวะอันตรายทันทีคือตัว พ.ต.ท.ทักษิณและตระกูลชินวัตร,ส.ส.,ส.ว. และคนที่ได้ชื่อว่ารับใช้ตระกูลชินทั้งหมด เพราะเวลานี้คนเกลียดชังมีมาก และไม่ยอมทนอยู่ใต้อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณอีกต่อไป แต่วันนี้ทุกคนยังรอให้กระบวนการทางกฎหมายให้รัฐบาลลงจากอำนาจอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเกิดอะไรรุนแรงขึ้นมาเมื่อไร จากประสบการณ์ทางด้านการมองปรากฏการณ์ทางการเมืองมองได้ว่าอารมณ์จะพามวลชนไปสู่จุดของความเกลียดชังตระกูลชินวัตรขั้นสูงสุด”

ตอนนี้จึงบอกได้ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายเตรียมพร้อมที่จะมีความรุนแรงต่อกันแน่ แต่ถ้าความอดทนของฝ่ายมวลชนมีเพียงพอก็จะรอกระบวนการทางกฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ถ้าไม่รอ และฝ่ายรัฐบาลอดทนไม่พอ นองเลือดเมื่อไร รัฐบาลจะแพ้

และมวลชนต่อต้านรัฐบาล อาจจะไม่เป็นไปอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณคาด คือค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลา แต่พบอีกว่า ในการชุมนุมที่ราชดำเนินในช่วงที่ผ่านมา มีคนเสื้อแดงเข้าร่วมจำนวนมาก

“ตอนนี้ นปช.ที่เป็นมวลชนเป็นรากหญ้า ทางจิตวิทยาแล้ว โดยส่วนหนึ่งไม่กล้าแสดงออกทางการเมืองในช่วงนี้ เพราะกระแสมวลชนจำนวนมากแสดงให้เห็นแล้วว่าเขาไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณ หลายคนจึงไม่กล้าใส่เสื้อแดง ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นรากหญ้าจริงๆ ลักษณะของคนกลุ่มนี้คือไม่ได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แท้จริง แต่สามารถเปลี่ยนกลุ่มเข้าร่วมได้ และมีสิทธิที่จะคล้อยตามสิ่งที่คนระดับปัญญาชนคิดและทำเนื่องจากจะค่อยๆ รู้ตัวว่าที่ผ่านมานั้นตัวเองถูกหลอกใช้ ถูกหลอกให้เชื่อ ไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรทางการเมืองที่แท้จริงเลย”

นายบวรมองว่าหากคนที่คิดจะปฏิรูปการเมืองในเวลานี้ ถือโอกาสประกาศไปด้วยเลยว่า จะให้รากหญ้ามีสิทธิ มีเสียงทางการเมืองที่แท้จริงขึ้นมาได้ ตรงนี้จะทำให้มวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากเปลี่ยนฝ่ายมาร่วมกับฝ่ายต้านรัฐบาลมากขึ้นได้

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลเลือกจะนิ่งเฉย ไม่ลาออก ไม่ยุบสภา ไม่รู้ไม่เกี่ยวข้องใดๆ รัฐบาลก็อยู่ยากอยู่ดี เพราะความชอบธรรมทางการเมืองไม่มีอีกต่อไปแล้ว ทุกคนเห็นแล้วว่าทุกอย่างที่รัฐบาลทำมีการแอบอ้างความเป็นประชาธิปไตยเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องอย่างไร และไม่ใช่แค่คนไทยที่เห็น แต่เวลานี้ชาวต่างชาติก็เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นที่แท้จริง และจะไม่มีใครเข้าข้างฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยอีก
แล้วท้ายที่สุด การต่อสู้ครั้งนี้ระหว่างมวลชนกับระบอบทักษิณจะเดินไปจุดไหน

นายบวรกล่าวว่า การเมืองไทยได้เดินมาถึงจุดที่จะมีการเปลี่ยนแปลงแล้ว เชื่อว่าจะมีเงื่อนไขที่ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น เป็นเงื่อนไขใหม่ๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 7 แต่เพียงอย่างเดียว

“ที่สำคัญ ตอนนี้อย่าคิดว่าหน่วยความมั่นคงเฉยนะ เขามีความเตรียมพร้อมอยู่แล้วที่จะเข้าข้างประชาชน ผมเชื่อนะว่าคุณสุเทพจะมีคนมาช่วย แต่คงจะไม่ทำรัฐประหาร เพราะคนในสังคมรับไม่ได้ ตอนนี้มวลชนจะเป็นผู้นำสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นกับการเมืองการปกครองของไทยเอง”

ดังนั้นสิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณกลัว คือการออกมาของทหาร และจะรีบชิงยุบสภาก่อน ก็มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน

3 จุดอันตรายโอกาสนองเลือดสูงปรี๊ด!

สำหรับพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดได้นั้น เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นภายหลังที่ม็อบมีการดาวกระจายไปในพื้นที่สำคัญๆ และแม้ว่าเวลานี้รัฐบาลจะนิ่งเฉย แต่มั่นใจได้ว่าไม่ใช่เป็นการแสดงว่ายอมแพ้ และวันต่อๆ ไป รัฐบาลหรือหน่วยราชการก็อาจจะมีการตอบโต้อะไรบางอย่างออกมา

โอกาสความรุนแรงถึงขั้นนองเลือดในช่วงนี้จึงสูงปรี๊ด!

“ดูให้ดีนะ ตอนนี้จุดที่มีการเผชิญหน้ามีถึง 3 จุดใหญ่ โอกาสรุนแรงมีเหมือนกันไม่ใช่ไม่มี” นายบุญยอดกล่าว

จุดแรกคือจุดการนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ขณะนี้ได้ทำการยึดกระทรวงการคลัง กรมประชาสัมพันธ์ และมีเป้าหมายเข้ายึดกระทรวงอื่นๆ อีกในวันที่ 26 พ.ย.56

จุดที่สองคือจุดการนำของกลุ่ม คปท. ที่ตอนนี้ไปยึดกระทรวงการต่างประเทศเรียบร้อย

จุดที่สามคือจุดที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ก็เป็นจุดอันตรายเช่นกัน

ขณะที่ราชดำเนินก็ยังเป็นจุดที่มีคนอยู่จำนวนมากเป็นจุดที่ต้องระวังเช่นกัน

ป.ป.ช.-ศาลรอเชือดระลอก 2 รัฐบาลปูเน่า

อย่างไรก็ดีจากนี้ไปไม่มีอะไรที่จะง่ายสำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะทำในสิ่งที่เขาต้องการได้อย่างใจอีกต่อไป เพราะขั้นตอนทางกฎหมายก็จะเป็นจุดจบรัฐบาลได้เช่นกัน เพราะเป็นตัวชี้ชาดว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมในการบริหารงานที่ชัดเจน แถมยังมีเรื่องของการทุจริตแบบที่ประชาชนรับไม่ได้

นายบวรบอกด้วยว่า สิ่งที่ต้องจับตาในขั้นตอนการพิจารณาต่อจากนี้ไป คือเรื่องทางกฎหมายจะอยู่ที่ 2 องค์กรเป็นสำคัญ หนึ่งคือศาลรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนที่สำคัญ 2 เรื่องได้แก่ การแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 โดยมาตรา 190 ถือว่ารัฐบาลมีกระบวนการทางกฎหมายที่ผิดอย่างชัดเจน และกรณีนี้จะต่างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของส.ว.จุดที่สำคัญคือ จะสามารถโยงความผิดไปถึงตัวนายกรัฐมนตรีได้ด้วย

“ความจริงนายกฯเป็นฝ่ายผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารลดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ โดยปกติแล้วฝ่ายบริหารจะต้องการอำนาจนี้ และมักจะเป็นผู้เสนอแก้กฎหมายเข้ามา ฝ่ายนิติบัญญัติต้องพิจารณาว่าจะยอมหรือไม่ยอมมอบอำนาจนี้ให้ฝ่ายบริหาร แต่ปรากฏว่าฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้เสนอแก้กฎหมายให้ประโยชน์ฝ่ายบริหารเสียเอง เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิด ถือเป็นความผิด”

ความผิดนี้นอกจากจะยุบพรรคได้แล้ว นายกฯจะต้องรับผิดชอบด้วย

ขณะที่มาตรา 68 นั้น จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น หากฝ่ายรัฐบาลไม่เดินหน้าลงมติวาระ 3 ที่ค้างอยู่ในสภาฯ แต่เมื่อไรที่พรรคเพื่อไทยเดินหน้าลงมติแก้วาระ 3 เมื่อนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็อาจจะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาได้ทันทีเช่นกัน

สำหรับในกระบวนการทางกฎหมายที่อยู่ในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั้น ขณะนี้มีอยู่หลายเรื่อง ทั้งโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน,พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน,การทุจริตในโครงการจำนำข้าว,พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และล่าสุดคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มาของส.ว.

จุดนี้เรื่องร้องเรียนที่อยู่ในมือ ป.ป.ช.ทั้งหมด เป็นเรื่องที่รัฐบาลเสียเปรียบอย่างมาก

เพราะว่าทันทีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด คณะรัฐมนตรี หรือส.ส.ส.ว.ทั้งหมดต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที

กระบวนการพิจารณาของ ป.ป.ช.นั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมีการเร่งพิจารณาไหม ถ้ามีการเร่งพิจารณา ซึ่งตอนนี้สังคมให้ความสนใจก็เป็นไปได้ อย่างเร็วที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือ 1-2 สัปดาห์ที่จะมีการรับเรื่องมาพิจารณาได้เลย

“เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรับฟ้อง ก็จบเลย ถือว่านักการเมืองจะต้องหยุดทำหน้าที่ แถมในสายตาของสังคมก็จะเกิดภาพลบมากขึ้นไปอีก”

ทั้งนี้ในขั้นตอนของป.ป.ช. ก็ใช่ว่าจะสะดวกเรียบร้อย เพราะสามารถไปติดขัดอยู่ที่ขั้นตอนของอัยการสูงสุดได้ ที่อาจจะมีการขัดขวางกระบวนการทางกฎหมายให้ล่าช้า

จุดนี้เนื่องจากมาตรา 68 ยังไม่ถูกแก้ไข ดังนั้นป.ป.ช.สามารถนำเรื่องร้องเรียนกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เหมือนกัน

ในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนนี้จะมีการพิจารณาที่ช้ากว่า ป.ป.ช. โดยจะใช้เวลา 3 สัปดาห์-1 เดือนเป็นต้นไป เพราะต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจง มีการนัดไต่สวน จึงจะช้ากว่า ป.ป.ช.

ทั้งนี้ แม้มวลชนแผ่วไปตามใจอย่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณประเมินไว้ แต่ดาบทางกฎหมายก็พร้อมลงทัณฑ์ความลุแก่อำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณให้แพ้ภัยตัวเองต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น