ทีมข่าว special scoop ขอร่วมถวายสักการะพระศพ และน้อมจิตเป็นหนึ่งส่งเสด็จ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สู่นิพพาน ด้วยการรำลึกถึงหนังสืออันทรงคุณค่าที่ทรงนิพนธ์เรื่องต่างๆ ทางด้านพระพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นตำรา พระธรรมเทศนา และทั่วไป ซึ่งเป็นหลักธรรมคำสอนที่ประชาชนชาวไทยและต่างชาติสามารถใช้เป็นหลักคิดหรือแนวทางในการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี พร้อมนำเสนอตัวอย่างหนังสือที่ทรงนิพนธ์ดังนี้
‘การศึกษาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์’
พระนิพนธ์ฉบับนี้จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา (5 ธันวาคม 2555) “เรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์นี้” ได้ปรับปรุงมาจากธรรมบรรยายของเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ทรงสอนพระนวกภิกษุ วัดบวรนิเวศวิหาร ในพรรษากาล 2533 โดยคัดเลือกตัดตอนมาในส่วนของความรู้ความเข้าใจเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา ตามหลักคำสอนและตามความหมายทางพระพุทธศาสนา มีเนื้อหาไม่ยากและไม่ง่ายจนเกินไป ที่ผู้อ่านจะได้ความรู้เรื่องศีล สมาธิ ปัญญา สามารถเป็นพื้นฐานที่จะศึกษาต่อไป อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการนำไปประพฤติปฏิบัติให้เกิดสันติสุขแก่ชีวิตและสังคมได้ด้วย
‘ความสุขหาได้ไม่ยาก’
พระนิพนธ์ฉบับนี้จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสคล้ายวันประสูติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ที่ทรงเจริญพระชนมายุกาลครบ 93 พรรษา ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2549 โดยคณะศิษย์เห็นว่าพระนิพนธ์เรื่องความสุขหาได้ไม่ยาก เป็นพระนิพนธ์ที่ทรงอธิบายถึงพุทธวิธีที่จะสร้างความสุขให้ชีวิต ตามหลักคำสอนและตามความมุ่งหมายทางพระพุทธศาสนา สามารถไปปฏิบัติได้ง่าย
‘ความสุขอันไพบูลย์’
พระนิพนธ์เรื่อง ‘ความสุขอันไพบูลย์’ จัดพิมพ์โดยมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ท่าพระจันทร์ เป็นหนังสือที่คัดมาจากคำบรรยายเรื่อง “จิตตภาวนา” ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณสังวร (วัดบวรนิเวศวิหาร) ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุยานเกราะ 792 ศูนย์การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของมูลนิธิฯ เป็นประจำทุกวัน โดยพระนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ให้ผู้อ่านเข้าใจธรรมะในด้านปฏิบัติดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ข้อที่ว่าด้วย สัจจะ คือ อริยสัจ 4 และได้แสดงทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือ ทุกข์ อันเป็นข้อที่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นทุกข์ว่า ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เป็นอันตรัสชี้ให้เห็น “สภาวทุกข์” ทุกข์ตามสภาพคือตามภาวะของตนเอง อันหมายถึงตามเหตุปัจจัยของขันธ์อายตนะเอง เป็นต้น
‘จตุธรรมสำคัญ’
จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2527 โดยมูลนิธิส่งเสริมการปฏิบัติสมาธิทางพุทธศาสนา โดยเรื่อง “จตุธรรมสำคัญ” นี้เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรฯ แสดงในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2527 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธภาษิต ชี้ให้ผู้ที่สนใจศึกษาปฏิบัติธรรมทั่วไปเห็นว่า พระพุทธศาสนาสอนให้มีอะไรเป็นข้อสำคัญ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจธรรมในพระพุทธศาสนา เจริญในสัมมาปฏิบัติยิ่งๆ ขึ้น เช่นคำถามที่ขึ้นต้นว่า “ตนเองนั้นควรจะมีอะไรเป็นอานิสงส์ ควรจะยิ่งด้วยอะไร ควรจะมีอะไรเป็นแก่นสาร และควรจะมีอะไรเป็นใหญ่” ซึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงมีสิกขาเป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นอย่างยิ่ง หรือยิ่งด้วยปัญญา มีวิมุตติเป็นสาระคือแก่นสาร มีสติเป็นอธิปไตยคือมีสติเป็นใหญ่ดั่งนี้”
‘เถรธรรมกถา’
พระนิพนธ์ฉบับนี้ พิมพ์โดยศิษยานุศิษย์สำนักวัดเขาบางทราย เพื่อเป็นอนุสรณ์การบำเพ็ญกุศลประจำปี 6 ตุลาคม 2506 มีเนื้อหาอธิบายพุทธภาษิตที่ว่า “ปญฺจหิ ภิกฺขเว ธมฺเมหิ สมนฺนาคโต” แปลว่า ภิกษุผู้เป็นเถระ ประกอบด้วยธรรม 5 ประการได้แก่ เป็นผู้มีศรัทธา 1 ผู้มีหิริ 1 เป็นผู้มีโอตตัปปะ 1 เป็นผู้ปรารภความเพียร 1 เป็นผู้มีปัญญา 1 โดยเนื้อหาจะอธิบายพระพุทธภาษิตนี้เพื่อชักนำไปปฏิบัติทั่วๆ ไปในหมู่พระภิกษุ
‘พระพุทธศาสนากับสังคมไทย’
“พระพุทธศาสนากับสังคมไทย” จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 เป็นพระนิพนธ์ที่จะอธิบายให้รู้ว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญต่อสังคมไทยอย่างไร สาระสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุด จนสามารถพิสูจน์ได้ และเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน และยังนำไปสู่อนาคตตราบเท่าโลกจะสูญหายไปจากจักรวาล
‘การบริหารทางจิตสำหรับเด็กวัยรุ่น’
เป็นพระนิพนธ์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในการพระราชพิธีฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ 80 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2523 ซึ่งหนังสือเรื่อง “การบริหารทางจิต” เกิดขึ้นจากการบรรยายทางวิทยุของสถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต ที่เมื่อปี พ.ศ. 2511 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถานีวิทยุ อ.ส.พระราชวังดุสิต จัดรายการบริหารทางจิตเป็นประจำทุกเช้าวันอาทิตย์ และทรงโปรดให้อาราธนา สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร แต่ครั้งยังเป็นพระสาสนโสภณ จัดดำเนินรายการสำหรับผู้ใหญ่ เด็กวัยรุ่น และเด็กเล็ก โดยหนังสือเล่มนี้จะรวมบทความบริหารจิตวัยรุ่น โดยคุณหญิงโสมรัสมิ์ จันทรประภา เป็นผู้รวบรวม เนื้อหาสำคัญเช่น พูดกับเด็กวัยรุ่นเรื่องพระพุทธศาสนา, เรื่องของความทุกข์, สี่มิติของตัวตนของเด็กวัยรุ่น, สุขภาพจิตของเด็กวัยรุ่น, ความเกเร, ความกังวลของเด็กวัยรุ่น, เด็กวัยรุ่นกับอุดมคติ, ใจเมา เป็นต้น
‘ผู้ทำความดีย่อมได้ที่พึ่ง’
ผู้ทำความดีย่อมได้ที่พึ่ง พิมพ์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เป็นหนังสือธรรมะโดยสมเด็จพระญาณสังวร เป็นหนังสือเพื่อระลึกถึงพระพุทธโอวาท ซึ่งจะทำให้ผู้ระลึกถึงลดบาป เพิ่มบุญ หนุนใจให้ผ่องใสมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะเรื่องของ “ความดี” ที่เริ่มจากความมี “ใจดี” ถ้าทำความดีให้มีขึ้นในจิตใจแล้ว ก็จะทำอะไรอื่นดีไปด้วยได้ ดังนั้นผู้ฉลาดทั้งหลายจึงไม่น่าจะเป็นความเหนื่อยยากวุ่นวายแต่อย่างใดเลยที่จะทำความดีให้เกิดขึ้นในใจตนให้หนัก ให้ควรเป็นที่เคารพเชื่อถือได้ของบุคคลทั้งหลาย
‘โลก-เหนือโลก’
มูลนิธิส่งเสริมการปฏิบัติสมาธิทางพุทธศาสนา วัดบวรนิเวศวิหาร ได้จัดพิมพ์พระธรรมเทศนาของสมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) แสดงในอุโบสถ วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2537 ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อเป็นธรรมบรรณาการแด่ท่านผู้ใฝ่การประพฤติปฏิบัติธรรม จักได้นำสาระสูงค่าของพระธรรมเทศนานี้ไปขัดเกลาจิตของตน ให้เกิดความสงบสุขและความพ้นทุกข์ อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
ใจความหลักของบทแสดงธรรมในครั้งนี้ กล่าวถึงบุคคลที่เกิดมาเป็นมนุษย์ มีกายเป็นมนุษย์ จิตใจมีหลายระดับ ธรรมะอย่างหิริโอตตัปปะจะช่วยขัดเกลาจิตใจมนุษย์ให้สูงขึ้น
‘วิธีสร้างบุญบารมี’
“วิธีสร้างบุญบารมี” เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติ 60 ปีของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื้อหาใน แยกบุญเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนของเหตุ และส่วนของผล
บุญส่วนเหตุ ได้แก่ กุศลเจตนา กุศลกรรม สุจริต กุศลธรรม บุญในส่วนนี้เป็นเครื่องชำระล้างกิเลสทั้งปวง
บุญส่วนผล เป็นส่วนของความสุขที่ปรารถนาใคร่รักพอใจ ตลอดถึงบรมสุขคือนิพพาน
‘อาหุเนยฺโย’
“อาหุเนยฺโย” เป็นหนังสือพระนิพนธ์อีกเล่มที่ทรงคุณค่า ซึ่งเป็นพระธรรมเทศนาของพระธรรมวราภรณ์ (สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร (สมเด็จพระสังฆราชฯ) ปี 2501 ได้แสดงให้เห็นถึงผู้ควรบูชา อันได้แก่บุคคลที่ควรบูชาเป็นต้น ทั้งบิดา มารดา และในฝ่ายของศาสนาอันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสงฆ์สาวก ซึ่งเป็นข้อที่พระสงฆ์พึงปฏิบัติเพื่อเป็นผู้ที่มีความเป็นอาหุเนยฺโย
‘โอวาทวันลาสิกขา’
เป็นพระนิพนธ์ที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ต้องการให้ข้อพึงปฏิบัติสำหรับพระภิกษุที่ลาสิกขาบทเพื่อออกไปเป็นฆราวาส โดยให้ทบทวนสิ่งที่ผิดพลาดเมื่อครั้งเป็นฆราวาส เมื่อมีสิ่งใดผิดพลาดก็แนะนำให้ปรับปรุงตัว พร้อมทั้งให้ตั้งใจรักษาศีล 5
‘จิตตนคร นครหลวงของโลก’
พระนิพนธ์ฉบับนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (สุวัฑฒนมหาเถระ) ได้กล่าวถึงเมืองจิตตนคร ซึ่งเป็นเมืองที่พร้อมพรั่งด้วยผู้คนและสิ่งต่างๆ หลายหลากมากประการ อยากจะดูอะไรก็มักจะมีให้ดู พรั่งพร้อมไปด้วยเสียงหลากหลาย อยากฟังอะไรก็มักจะมีให้ฟัง
แม้ว่าจิตตนครเป็นนครที่น่าเป็นสุขสบาย แต่ก็ยังเป็นเมืองที่มีทุกข์ร้อนภัยพิบัติอยู่มาก ทั้งโดยเปิดเผย ทั้งโดยซ่อนเร้น อันเกิดจากภัยธรรมชาติก็มี เกิดจากภัยพลเมืองของจิตตนครนั้นก่อขึ้นก็มี ทั้งเจ้าเมืองเองบางคราวก็มีความหลงเข้าใจผิด คบคนผิด ใช้คนผิด ก็ยิ่งทำให้เกิดความวุ่นวายเดือดร้อนระส่ำระสาย และจะเป็นดังนี้จนกว่าพระพุทธเจ้าจะเสด็จมาโปรด
พระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จึงเป็นสิ่งเดียวที่สามารถใช้เป็นเครื่องปราบ เครื่องขับไล่ เครื่องกำจัดบรรดาเหตุแห่งความเดือดร้อนวุ่นวายของจิตตนครทั้งหลายได้
หนังสือที่นำเสนอดังกล่าวจึงเป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถติดตามหาอ่านได้ที่เว็บไซต์ http://sangharaja.org/ ซึ่งมีหนังสือทุกเล่มที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงนิพนธ์ จัดเก็บไว้ในรูป E-Book Online อีกทั้งยังมีพระธรรมเทศนาที่เก็บในรูปไฟล์เสียงแบบ MP3 ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดมาฟังได้เช่นกัน