xs
xsm
sm
md
lg

สงครามตัวแทน! “ทักษิณ-เนวิน” เปิดศึกชิงนายกบอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชิงดำนายกสมาคมลูกหนัง “ดุเดือด” เนวินเปิดหน้าหนุนฝ่ายตรงข้ามนายกคนเก่า ด้าน “วรวีร์” แม้จะมีปัญหาด้านภาพลบ แต่กุมความได้เปรียบเสียงสนับสนุนที่มาจากฝ่ายที่เต็มใจและไม่เต็มใจ จากทีมในสังกัดพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล แถมได้กระแส “ทักษิณ” หนุน คนวงในเผยงานนี้เสมือนสงครามตัวแทนเพื่อไทยกับภูมิใจไทย การเมืองหนุน “วรวีร์” ชนะแน่ อาจเฉือนที่ 37:35 จับตา 3 เกมที่เหลือทุกอย่างพลิกได้หมดทั้งจ่าฝูงและทีมตกชั้น

การเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 17 ตุลาคม 2556 นี้ จะเป็นอีกครั้งหนึ่งที่มีการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งกันอย่างดุเดือดระหว่างนายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมคนเก่าที่ตั้งความหวังจะเป็นนายกสมาคมฯ ติดต่อกันสมัยที่ 4 กับผู้ท้าชิงอย่างนายวิรัช ชาญพานิชย์

ครั้งนี้ได้มีการนำเอาธรรมนูญการเลือกตั้งมาจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เข้ามาใช้ ตัดสินจากสโมสรสมาชิกฟุตบอลภายในประเทศ 72 เสียง พร้อมด้วยข้อบังคับที่ต้องเปิดเผยรายชื่อคณะทำงานในตำแหน่งอุปนายก 5 คนและกรรมการกลางอีก 13 คน คราวนี้มีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ทำไมการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเป็นที่จับตาของคนในแวดวงฟุตบอล ไม่ว่าจะทั้งระดับสโมสรหรือแฟนบอลทั่วประเทศ เพราะครั้งนี้เปรียบเสมือนยักษ์ชนยักษ์ ฝ่ายที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงในวงการฟุตบอลไทย โดยเฉพาะผลงานของนักฟุตบอลทีมชาติไทยที่ย่ำแย่มาอย่างต่อเนื่อง พลาดแชมป์แม้กระทั่งรายการอย่างซีเกมส์ที่ทีมชาติไทยเคยครองความยิ่งใหญ่มายาวนานด้วยการตกรอบแรก 2 สมัยซ้อน

สงครามตัวแทน

การเปิดหน้าชกของนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ขั้วอำนาจใหม่ของวงการฟุตบอลที่ประกาศทิ้งการเมืองหันมาทำทีมฟุตบอลอย่างจริงจังจนคว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกมาแล้ว ที่คราวนี้ประกาศว่าหนุนใครก็ได้ที่ไม่ใช่วรวีร์ และครั้งนี้จริงจังกว่าการเลือกตั้งนายกสมาคมครั้งก่อนที่ท้ายสุดนายเนวินก็ยอมให้นายวรวีร์ดำรงตำแหน่งต่อ แต่คราวนี้ดูเหมือนความตั้งใจจะจริงจังกว่าครั้งที่ผ่านมา

เห็นได้จากการออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมาในความตอนหนึ่งว่า “ผมขอเรียนว่า 2 ปีก่อน ในฐานะประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผมให้การสนับสนุนนายวรวีร์ เป็นนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แต่เพราะนายวรวีร์ไม่ทำงานตามนโยบายที่ประกาศไว้ วงการฟุตบอลไทยไม่พัฒนาตามที่ควรจะเป็น การเลือกตั้งครั้งนี้ ผมจึงประกาศอย่างเปิดเผยว่าในฐานะประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ผมไม่สนับสนุนนายวรวีร์ อีกต่อไป และพร้อมจะสนับสนุนผู้สมัครคนใดก็ได้ที่ไม่ใช่นายวรวีร์”

ส่วนคอบอลที่ติดตามข่าวสารในวงการนี้มาตลอดย่อมทราบดีว่านายกสมาคมฯ คนเก่าอย่างนายวรวีร์ไม่ธรรมดา แม้จะผ่านข้อครหาต่างๆ นานามามากมาย ท้ายที่สุดก็คว้าเก้าอี้นี้มาได้ถึง 3 ครั้งติดต่อกัน อีกทั้งตำแหน่งกรรมการบริหารในพรรคไทยรักไทยยังเป็นอีกหนึ่งพลังต่อรองที่มองข้ามไม่ได้

หากจะมองว่าเป็นศึกระหว่างพรรคไทยรักไทยกับพรรคภูมิใจไทยก็อาจจะไกลเกินไป หรือจะเป็นศึกแค้นที่ไม่มีวันให้อภัยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายเก่าของเนวินที่ฝังใจไม่ลืม เมื่อครั้งที่นายเนวินหอบเอาพลพรรคเข้าไปเป็นรัฐบาลร่วมกับประชาธิปัตย์ในรัฐบาลชุดก่อน เรื่องอย่างนี้คงไม่มีใครกล้าประกาศออกมา

รอยแค้นฝังลึกเช่นนี้จึงอาจต้องการทำทุกอย่างเพื่อสกัดอำนาจนายเนวินในการยึดกุมเวทีฟุตบอลก็เป็นได้

แม้ว่าแถลงการณ์ของประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในฉบับเดียวกัน ที่ออกมาแสดงความไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็สะท้อนให้เห็นถึงความหวาดหวั่นต่อผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ไม่น้อยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เกี่ยวข้องหรือต้องการสยบข่าวดังกล่าว เพื่อสกัดคะแนนเสียงบางสโมสรที่อาจหันไปเทคะแนนให้นายวรวีร์

ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลืออีกไม่กี่วันนี้ การช่วงชิงคะแนนเสียงของสโมสรสมาชิกทั้ง 72 เสียงจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขุมกำลัง

สำหรับรายชื่อคณะทำงานของทั้งผู้ท้าชิงและเจ้าของตำแหน่งเดิม ที่ประกาศตัวไปแล้วประกอบด้วย

สภากรรมการบริหารชุดทำงานของ นายวิรัช ชาญพานิชย์ นายกสมาคมฯ วิรัช ชาญพานิชย์ (พัทยา เอฟซี), อุปนายก 5 คน นายพิฑูร พุ่มหิรัญ (บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด), พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ (ศรีราชา เอฟซี), นายอดิศักดิ์ เบญจศิริวรรณ (ชลบุรี เอฟซี), พล.ร.ต.ธนกฤต วงษ์ชัยสมร (ระยอง ยูไนเต็ด), นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (สโมสร จ.ระยอง)

กรรมการกลาง จำนวน 13 คน ประกอบไปด้วย นายธนศักดิ์ สุระประเสริฐ (ชลบุรี เอฟซี), พล.อ.อ.สมนึก สวัสดิ์ถึก (ศรีราชา), พล.ท.ภานุวัชร นาควงษม์ (พัทยา เอฟซี), พล.ต.ท.บริหาร เสี่ยงอารมณ์ (พัทยา ยูไนเต็ด), ดร.เสนีย์ สุวรรณดี (ม.เกษมบัณฑิต), นายชาดา ไชยเศรษฐ์ (ปากน้ำโพ เอ็นเอสอาร์ยู), นายอดิศร์ หะริณสุต (สโมสร จ.ระยอง), นายเจนวิทย์ คราประยูร (ระยอง เอฟซี), นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช (อุดรธานี), นายสุเทพ วงษ์รื่น (ม.เกษตรฯ), นายพินิจ งามพริ้ง (เทศบาลตำบลเขาบายศรี), นายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ (ระยอง ยูไนเต็ด) และนางสาวนันทนี วงศ์อำนิษฐกุล (จันทบุรี)

ส่วนสภากรรมการบริหารชุดทำงานของ นายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฯ วรวีร์ มะกูดี (บีอีซี เทโรศาสน) อุปนายก ดร.อุดรพันธ์ จันทรวิโรจน์ (เชียงใหม่ เอฟซี), นายภิญโญ นิโรจน์ (นครสวรรค์ เอฟซี), พล.อ.ชินเสณ ทองโกมล (สุพรรณบุรี เอฟซี), พล.อ.ต.เจษฎา วิจารณ์ (แอร์ฟอร์ซ ยูไนเต็ด), นายวิชัย สุทธิล้ำ (ระยอง เอฟซี)

กรรมการบริหาร นายองอาจ ก่อสินค้า (ศุลกากร เอฟซี), พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก (นครสวรรค์ เอฟซี), พล.ท.ม.ล.สุปรีดี ประวิตร (ราชประชา), พล.ร.ต.อานนท์ ดาระสวัสดิ์ (มาบตาพุด นาวิกโยธิน), ดร.กษม ชนะวงศ์ (ขอนแก่น เอฟซี), ดร.ภานุวัฒน์ สะสมทรัพย์ (นครปฐม ยูไนเต็ด), นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ (บางกอก เอฟซี), นายเศกสิทธิ์ ไวนิยมพงศ์ (ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด), นายธัญญา โพธิ์วิจิตร (ตรัง เอฟซี), นายมิตติ ติยะไพรัช (เชียงราย ยูไนเต็ด), นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์ (บางกอกกล๊าส), นายภูษิต พิศาลกิจสกุล (พิษณุโลก ทีเอสวาย) และนางนวลพรรณ ล่ำซำ (บุคคล)

ผลประโยชน์ล้วนๆ

หากพิจารณาจากรายชื่อของคณะกรรมการของผู้สมัครทั้ง 2 ย่อมบ่งบอกได้ว่าสโมสรฟุตบอลใดสนับสนุนใคร ในฟากฝั่งของนายวรวีร์มีสโมสรใหญ่อย่างเมืองทอง ยูไนเต็ด ของนายระวิ โหลทอง เจ้าพ่อสื่อกีฬายักษ์ใหญ่อย่างสยามสปอร์ต ที่ยืนเคียงข้างกับนายวรวีร์มาโดยตลอด และยังมีบีอีซี เทโรศาสน ทีมเดิมของนายวรวีร์ ที่ได้ช่อง 3 เข้ามาเป็นอีกหนึ่งพันธมิตร รวมไปถึงบางกอกกล๊าสที่กลับลำไปหนุนนายกคนเก่า

ส่วนอีกหลายทีมที่เป็นของนักการเมืองตามจังหวัดต่างๆ ที่อยู่พรรคเพื่อไทยหรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ยกเว้นทีมบางกอกเอฟซี ที่มีนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสโมสร ที่เข้าร่วมอยู่ในกรรมการชุดของนายวรวีร์ พร้อมด้วยการให้เหตุผลว่า “ฟุตบอลไม่ใช่เรื่องของการเมือง” ขณะที่ทีมฟุตบอลจากเมืองชลในสังกัดของตระกูลคุณปลื้มแห่งพรรคพลังชลแห่งเมืองชลที่เทใจให้กับผู้ท้าชิง

ในฝ่ายของนายวิรัช ชาญพานิชย์ ที่เด่นๆ คงหนีไม่พ้นบุรีรัมย์ ยูไนเต็ดของนายเนวิน ชิดชอบ และทีมจากภาคตะวันออกในกลุ่มของชลบุรี เอฟซี พัทยาและศรีราชาของตระกูลคุณปลื้ม พรรคพลังชล รวมถึงทีมจากจังหวัดระยอง

“เรื่องใครหนุนใคร บางครั้งก็เป็นความจำเป็น ที่ผ่านมาบางกอกกล๊าสก็ไม่เห็นด้วยกับการบริหารของคุณวรวีร์ แต่ความจำเป็นบางประการที่ไม่สามารถให้เหตุผลได้ ก็ทำให้ต้องเข้าไปร่วมงานกัน เช่นเดียวกับทีมนครปฐมที่ถูกลงโทษอย่างรุนแรงโดนแบน 2 ปี แม้จะไม่พอใจกับคำสั่งลงโทษในครั้งนั้นก็ต้องกลับเข้ามาสนับสนุน” ผู้ที่คลุกคลีในวงการฟุตบอลกล่าว

เขากล่าวต่อไปว่า ถามว่าแฟนบอลทั้งประเทศพอใจการบริหารงานของคุณวรวีร์หรือไม่ ร้อยละ 80-90 ไม่พอใจทั้งนั้น แม้กระทั่งแฟนบอลของเมืองทอง ยูไนเต็ด เองก็ตาม แต่นั่นเป็นเพียงแค่แฟนบอล การลงคะแนนเพื่อเลือกตัวนายกสมาคมฯ เป็นสิทธิของสโมสร แม้ผู้บริหารสโมสรบางคนอาจจะไม่ชอบคุณวรวีร์ แต่เมื่อมีคำสั่งที่เหนือกว่าสุดท้ายก็ต้องปฏิบัติตาม

หลากปัจจัยบีบเลือกข้าง

ดังนั้นนอกเหนือไปจากการล็อบบี้ของทีมงานผู้สมัครทั้ง 2 รายแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการเลือกตั้งนายกสมาคมครั้งนี้อีกด้วย

ในวงการฟุตบอลเมื่อเข้าสู่ระบบอาชีพแล้ว เรื่องของผลประโยชน์ถือเป็นเรื่องสำคัญ บางแห่งต้องอาศัยอำนาจของนายกสมาคมฯ ให้สิทธิประโยชน์ในงานบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอล บางสโมสรมีแฟนบอลน้อย รายได้ไม่พอใช้จ่าย งบต่างๆ จากสมาคมหรือไทยพรีเมียร์จึงมีความสำคัญมากกว่าแฟนบอล การเลื่อนชั้นหรือตกชั้นมีผลต่อรายได้ทั้งสิ้น

เรื่องของสปอนเซอร์ก็มีความสำคัญเช่นกัน เพราะเงินในส่วนนี้บวกกับเงินสนับสนุนจากฝ่ายจัดการแข่งขันจะช่วยให้ทีมอยู่รอดได้ สปอนเซอร์ใหญ่ก็มีไม่กี่ราย หนีไม่พ้นกลุ่มน้ำเมาและน้ำมัน หากกลุ่มน้ำเมาค่ายหนึ่งหนุนผู้สมัครรายหนึ่ง อีกค่ายหนึ่งก็ต้องเลือกอยู่ฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเมืองไทยก็มีแค่ช้างกับสิงห์เท่านั้น ส่วนสปอนเซอร์ที่เป็นน้ำมันก็ต้องไปดูว่าอิงกับนักการเมืองค่ายไหน ส่วนใหญ่หนีไม่พ้นพรรคที่เป็นรัฐบาล

ประการต่อมาคือตัวเจ้าของทีม หากเป็นนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล ย่อมต้องเทน้ำหนักไปที่นายวรวีร์ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตประธานสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี
การเมืองเข้าสู่ฟุตบอล

“หลายคนอาจจะพูดสวยหรูว่า วงการฟุตบอลไม่ควรมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ถือว่าเป็นการมองโลกในเชิงอุดมคติ ในทางปฏิบัติแล้วสำหรับฟุตบอลไทย ประธานสโมสรส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม”

เพราะนักการเมืองเริ่มเปลี่ยนวิธีการหาเสียง จากการหาเสียงเฉพาะช่วงเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ด้วยการหันมาทำทีมฟุตบอลควบคู่กันไปด้วย เนื่องจากหาเสียงได้ทุกวันทุกสัปดาห์ และด้วยอำนาจที่มีทำให้การปั้นทีมฟุตบอลที่ต้องใช้เงินเข้ามาทำทีม ทำได้ง่ายกว่าบุคคลหรือองค์กรทั่วไป

ในช่วงที่พรรคไทยรักไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล ได้มีการย้ายทีม TTM พิจิตร (ทีมโรงงานยาสูบ สังกัดกระทรวงการคลัง) ครั้งนั้นอยู่ในความดูแลของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ มาเป็นทีม TTM เชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ที่ดูแลกระทรวงการคลังในเวลานั้น เพื่อหวังจะให้เป็นทีมฟุตบอลของจังหวัดบ้านเกิดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สุดท้ายก็ตกชั้น

ยิ่งนายกสมาคมฟุตบอลคนเก่า นั่งเก้าอี้กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยด้วย ทุกอย่างยิ่งชัดเจน แถมด้วยกระแสข่าวบินไปพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่แม้จะไม่มีหลักฐานแต่คนในวงการก็รู้กันดีว่ามีผลต่อการเลือกตัวนายกสมาคมฟุตบอลในวันที่ 17 ตุลาคมนี้แน่นอน

เมื่อย้อนกลับไปที่ตำแหน่งประธานสโมสรของสโมสรฟุตบอลต่างๆ มักจะเป็นนักการเมืองทั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น รวมถึงเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังทรงอิทธิพลอยู่ในรัฐบาลปัจจุบันไม่ต่างกับนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศ ย่อมสามารถให้คุณให้โทษได้ทุกวิถีทาง อีกทั้งเครือข่ายธุรกิจของเขาก็เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลของไทยทั้งไทยคม เอฟเอ คัพ และเอไอเอสลีก ภูมิภาค หากทีมไหนคิดจะแข็งข้อก็ต้องถามว่าทำได้อย่างทีมบุรีรัมย์หรือชลบุรีหรือไม่ ถ้าทำได้ก็ดีไป แต่ถ้าทำไม่ได้สุดท้ายทีมก็จะมีปัญหาเรื่องรายจ่าย

อย่างปีที่แล้ว บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ FA Cup ที่มูลนิธิไทยคมเป็นผู้จัด วันดังกล่าวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้มอบถ้วย ส่วน นายเนวิน เป็นผู้รับถ้วย หากไม่คิดอะไรมากก็ดีไป แต่คนในการเมืองอาจไม่คิดแบบนั้น และในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน บุรีรัมย์เบียดชนะเมืองทองมาได้โดยที่หลังเกมเกิดปัญหาเรื่องแฟนบอลเข้าชิงกับบางกอกกล๊าส

งัดข้อกับสมาคมฯ มักเจอปัญหา

อีกทั้งด้วยโครงสร้างของสมาคมฟุตบอลที่เกี่ยวโยงกับบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกที่จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศไทย การถือหุ้นยังเป็นเรื่องของบุคคลไม่กี่คนที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกัน โดยที่รูปแบบของเรายังไม่เป็นสากลเหมือนในต่างประเทศที่เปิดให้สโมสรต่างๆ เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น ดังนั้นทิศทางการดำเนินงานของสมาคมกับบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกจึงเป็นไปในแนวทางเดียวกันทั้งหมด ทีมที่แข็งข้อกับสมาคมฟุตบอลมักจะเจอปัญหาอยู่เนืองๆ

การที่ตัวนายกสมาคมฟุตบอลมีส่วนได้เสียกับทีมฟุตบอล ที่มีผลประโยชน์ระหว่างกันทั้งในเรื่องการถือหุ้นในทีมนั้นหรือมอบเรื่องของลิขสิทธิ์ให้ทีมที่ตนเองมีสายสัมพันธ์ด้วย จึงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับทีมอื่น

เรื่องแบบนี้ไม่มีใบเสร็จ วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการส่งผู้ตัดสินในสายของตัวเองไปตัดสินในแมตช์ที่ทีมที่แสดงตัวเป็นปฏิปักษ์ลงแข่งขัน เพื่อทำให้โอกาสชนะของทีมที่แข็งข้อมีน้อยลง การให้ฟาวล์หรือไม่ การทำลายเกมรุกหรือสมาธิของนักเตะ รวมไปถึงการให้จุดโทษและการให้ลูกฟุตบอลที่เข้าประตูไปแล้วเป็นประตูหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่ผู้ตัดสิน จุดเหล่านี้เองจึงทำให้เกิดปัญหาเรื่องของการทำร้ายผู้ตัดสินและการดักยิงผู้ตัดสินนอกสนาม

นอกจากนี้ยังใช้เรื่องของตารางในการแข่งขันมาบีบ เช่น ถ้าทีมนั้นต้องแข่งหลายถ้วย การจัดโปรแกรมเพื่อให้ทีมนั้นมีคิวลงเตะมากๆ ถี่ๆ ก็จะส่งผลให้ตัวนักเตะอ่อนล้า และทำผลงานได้ไม่ดี หรือถ้าเป็นทีมที่อยู่ในฝ่ายตัวเองก็อาจยืดเวลาให้

บริหารตามใจฉัน

ที่ผ่านมานายวรวีร์มักกล่าวว่าเขาถูกเลื่อยขาเก้าอี้ จากผลงานของทีมชาติไทยที่ไม่สามารถคว้าแชมป์ใดๆ ได้ ว่าเป็นผลจากการที่สโมสรต่างๆ ไม่ปล่อยตัวนักเตะออกมา หรือถ้าปล่อยตัวออกมาแล้วก็เล่นไม่เต็มที่

“ปัญหาคือสมาคมฯ จะเลือกนักเตะคนไหน บางครั้งก็เลือกนักเตะที่ฝีเท้ายังไม่เข้าขั้น แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น เมื่อสมาคมฯ เรียกตัวนักเตะไปติดทีมชาติ เราก็ปล่อยตัวทุกครั้ง ปัญหาอยู่ที่จำนวนแมตช์ในการแข่งขันที่คิวเตะในประเทศมีมากถึง 3 รายการหลัก ยิ่งในปีหน้าที่สมาคมฯ จะเพิ่มทีมในพรีเมียร์ลีกจาก 18 เป็น 20 ทีม ปัญหาก็จะมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ทีมที่มีโอกาสลุ้นแชมป์เมื่อทีมชาติเรียกตัวไปแล้วบาดเจ็บกลับมา ย่อมไม่เป็นผลดีต่อแมตช์การแข่งขันที่เหลือของทีมนั้น” หนึ่งในผู้บริหารของทีมในไทยพรีเมียร์ลีกกล่าว

ตามปกติในต่างประเทศการจะเพิ่มทีมหรือลดทีมฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถทำได้ แต่จะแจ้งระยะเวลาให้ทราบ เช่น ในอีก 2 ฤดูกาลหน้าจะเพิ่มทีมหรือลดทีมเพื่อให้ทุกฝ่ายมีเวลาเตรียมตัว ไม่ใช่นึกจะประกาศใช้ก็จะมีผลทันทีในฤดูกาลถัดไป

อย่างในฤดูกาลนี้ที่จะมีผลต่อฤดูกาลหน้า ปล่อยทีมตกชั้นไปดิวิชัน 1 จำนวน 1 ทีม และเอา 3 อันดับแรกของทีมจากดิวิชัน 1 ขึ้นมา นี่ก็เป็นปัญหาของการบริหารงานของนายวรวีร์ เนื่องจากในฤดูกาลก่อนหน้าได้อนุญาตให้ทีมศรีสะเกษย้ายไปที่อุบล ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความขัดแย้งของผู้บริหารในทีม หนึ่งในนั้นคือนายธเนศ เครือรัตน์ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย และประธานกรรมาธิการท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร จากนั้นในฤดูกาลนี้ก็อนุญาตให้มาที่ศรีสะเกษตามเดิม จนมีการฟ้องศาลปกครอง ทำให้ทีมศรีสะเกษแตะได้เพียง 3 นัดก็ต้องหยุด การแก้ปัญหาคือกำหนดให้ทีมศรีสะเกษไม่ตกชั้น

การบริหารแบบรวบรัด มีเรื่องของพรรคพวกเพื่อนพ้องเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดกลุ่มที่ต่อต้านนายวรวีร์ หากสมาคมฯ มีการบริหารจัดการที่ดีปัญหาเหล่านี้ก็จะลดลง ผลงานของทีมชาติไทยก็จะดีขึ้น
นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด
3 นัดพลิกได้ทั้งจ่าฝูงและทีมตกชั้น

ขณะนี้เหลือการแข่งขันอีก 3 นัดก็จะจบฤดูกาล ทีมนำอย่างบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่นำทีมอันดับ 2 อย่างเมืองทอง ยูไนเต็ด จากเดิมที่คะแนนห่างกัน 5 แต้ม เวลานี้เหลือเพียง 3 แต้ม ที่มีข้อกังขาในเรื่องการตัดสินของกรรมการในนัดที่บุรีรัมย์เจอกับราชบุรี มิตรผล ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแชมป์ในปีนี้อาจพลิกมาเป็นของเมืองทองก็มีความเป็นไปได้

รวมไปถึงทีมที่จะตกชั้นที่คาดกันว่าอาจเป็นเชียงราย ยูไนเต็ด ของตระกูลติยะไพรัช อีก 3 นัดที่เหลืออาจมีปาฏิหาริย์กับทีมนี้ก็ได้ เพราะคะแนนสูสีกับทีมพัทยา ยูไนเต็ดของตระกูลคุณปลื้มแห่งพรรคพลังชล และทีมราชบุรี มิตรผล ของตระกูลกลิ่นประทุมแห่งพรรคภูมิใจไทย

ส่วนทีมที่จะเลื่อนจากดิวิชัน 1 ขึ้นมา 3 ทีม ที่น่าจะไม่พลิกโผคือสโมสรแอร์ฟอร์ซ เอวิเอ เอฟซี ของกองทัพอากาศ ทีม ปตท.ระยอง ของยักษ์ใหญ่อย่าง ปตท. แต่ที่ต้องลุ้นกันคืออันดับ 3 ที่เวลานี้ทีมบางกอก เอฟซี ของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอันดับ 4 สิงห์ ท่าเรือ เอฟซี ที่ได้ พล.ต.ท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เข้ามาเป็นประธานสโมสรกิตติมศักดิ์

ทุ่มสรรพกำลังอุ้ม “วรวีร์”

สำหรับความเคลื่อนไหวในการหาเสียงเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในวันที่ 17 ตุลาคม 2556 นี้ ทั้งนายกคนเก่าและผู้ท้าชิงต่างเดินสายหาเสียงกันอย่างเข้มข้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แม้ดูเหมือนกลุ่มผู้ท้าชิงจะได้รับความสนใจจากหลายๆ ฝ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ถือว่ากลุ่มผู้ถ้าชิงยังเป็นรอง

“ตอนนี้โผของคะแนนเท่าที่มีการสำรวจกันค่อนข้างสูสี ตัวคะแนนอาจจะออกมาที่ 37 ต่อ 35 โดยคะแนนของนายวรวีร์ยังนำอยู่ หรืออาจออกมาในรูปของ 38 ต่อ 30 ที่เหลืออีก 4 งดออกเสียง พูดง่ายๆ ว่าโอกาสที่นายวรวีร์จะเป็นนายกสมาคมฯ สมัยที่ 4 มีความเป็นไปได้สูง” หนึ่งในทีมงานผู้ท้าชิงเปิดเผย

นาทีนี้ทีมงานของกลุ่มผู้ท้าชิงก็ทราบดี เพียงแต่หวังว่าจะเกิดเหตุการณ์พลิกผันเท่านั้น ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อย เพราะฝ่ายหนุนนายกคนเดิม ต่างทุ่มทุนทุกวิถีทางเพื่อรักษาเก้าอี้นายกสมาคมฟุตบอลไว้ให้กับนายวรวีร์!

กำลังโหลดความคิดเห็น