xs
xsm
sm
md
lg

บีบพม่า ล่าขุมทรัพย์ทวาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิปลับของคนเสียงคล้ายนักโทษชายกับนายทหารใหญ่แห่งกระทรวงกลาโหม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.ว่าการกระทรวงกลาโหม ที่พาดพิงไปถึงนายทหารใหญ่แห่งกองทัพพม่า ส่อแสดงในทำนองว่าบุคคลทั้งสองใช้อำนาจเข้าแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประโยคที่ชายเสียงคล้าย พล.อ.ยุทธศักดิ์บอกว่า "....ถ้าจะบีบเรื่องทวาย นายกฯ เรียกผบ.สูงสุด มาใช้ได้อีกงานหนึ่ง เป็นงานต่างประเทศ"

คนเสียงคล้ายพล.อ.ยุทธศักดิ์ ยังอวดว่า "เรื่องของพม่า ผมบอกกับนายกฯ ไปแล้วนะครับ บอกว่า ใช้ ผบ.สูงสุดให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุดเลย เพราะไอ้มิน อ่อง ลาย ซึ่งเป็น ผบ.สูงสุดของพม่า มันเป็นมือหนึ่งของท่านประธานาธิบดีเต็งเส่งเลย แล้วเต็งเส่งให้ความเกรงใจมากที่สุด และทีนี้ไอ้ ผบ.สูงสุดเขากับ ผบ.สูงสุดไทยนี่ มันมาเป็นเคาน์เตอร์พาร์ตกัน ผลัดกันกินข้าวคนละเดือน คนละเดือน เพราะฉะนั้นถ้าจะบีบอะไรเรื่องทวาย นายกฯ เรียก ผบ.สูงสุดมาใช้ได้อีกงานหนึ่ง เป็นงานต่างประเทศ" ....

" ไอ้มิน ออง ลาย นี่นะฮะ โอ้โฮ มันชั้นหนึ่งเลย มันบอกผมนะ เฮ้ยไอ้รัฐมนตรีกลาโหมเนี่ย มันตั้งนะ มันเป็น ผบ.สูงสุด แต่ตั้งรัฐมนตรีนะ มันบอกเลย มันบอก และรัฐมนตรีอีกหลายคนมันเป็นคนตั้ง ไอ้นี่้ต้องเอาไว้ ไอ้นี่ต้องเอาไว้นะ แหม่ .... ไอ้นี่ต้องเอาไว้นะครับ ถ้าได้ พม่านี่เสร็จเราหมดเลย ต้องเอาให้ได้...."

ขณะที่คนเสียงคล้าย นช.ทักษิณ ข่มกลับในทำนองว่า ตนเองเพิ่งไปสงกรานต์กับ "ไอ้เนี่ย ผบ.สูงสุดน่ะ" แล้วมันก็เป็น "พวกผมทั้งนั้นแหละ มันยกที่ให้ผมแปลงนึง ใจกลางเมืองย่างกุ้ง"

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผบ.สส. ที่ถูกพาดพิงถึงนั้น นายดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงที่มาที่ไปของนายพลคนนี้ผ่านทางสำนักข่าวอิศรา ว่า เติบโตมาจากสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับพล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำเผด็จการทหารของพม่า โดยเป็นคนที่ได้รับความไว้วางใจมาก เคียงคู่กับ พล.อ.เต็ง เส่ง

พล.อ.มิน อ่อง ลาย ได้รับแต่งตั้งจาก พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ให้เป็น ผบ.สส.ในปี 2553 ปีเดียวกับที่ พล.อ.เต็งเส่ง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานาธิบดีพม่า ซึ่งอีกนัยหนึ่งเป็นการวางตำแหน่งให้สองคนนี้คานอำนาจซึ่งกันและกัน เพราะขณะที่ประธานาธิบดีมีอำนาจบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญของพม่า ได้กำหนดให้ผบ.สส. มีสิทธิเสนอตั้งรมว.กลาโหม, รมว.มหาดไทย และรมว.กิจการชายแดน แถมยังมีอำนาจตั้งสมาชิกรัฐสภาได้ถึง 1 ใน 3อีกด้วย

นอกจากนั้น กลไกทางกฎหมายของพม่า ผบ.สส.ยังสามารถเข้ามาแทรกแซงกิจการในบ้านเมืองผ่านการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยสภากลาโหม ซึ่งสมาชิกสภากลาโหมกว่าครึ่งเป็นคนที่ ผบ.สส.แต่งตั้ง ทั้งตัว ผบ.สส.เอง รอง ผบ.สส. รมว.กลาโหม และตัวแทนหน่วยงานความมั่นคงต่างๆ ดังนั้น ผบ.สส.มีสิทธิที่จะล็อบบี้ให้ประกาศสภาวะฉุกเฉินเมื่อไรก็ได้

“ตรงนี้ชัดเจนว่า ผบ.สส.มีอำนาจเหนือกว่าประธานาธิบดี หากคิดจะยึดอำนาจมาบริหารเอง ทั้งหมดเป็นสูตรที่ ตาน ฉ่วย เขียนสูตรวางเกมเอาไว้ แล้วคอยชักใยอยู่เบื้องหลัง เพื่อรักษาฐานอำนาจของตัวเอง”

อาจารย์ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ยังวิเคราะห์ว่า หากดูโครงสร้างการเมืองพม่าเช่นนี้ ก็จะรู้ได้ว่าผู้มีอำนาจตัวจริงของพม่า ก็ยังคงเป็นพล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย โดยบริหารอำนาจในกองทัพพม่าผ่านพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย จึงไม่แปลกที่คนในคลิปจะพูดว่าหากจะเคลียร์ปัญหาเรื่องท่าเรือน้ำลึกทวาย จะต้องประสานงานผ่านพล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย

กล่าวสำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายแล้ว ถึงแม้กลุ่มอิตัลไทย จะได้สัมปทานจากรัฐบาลพม่ามาแล้วหลายปี แต่ทว่ากลับไม่สามารถผลักดันให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้ เนื่องจากมีปัญหาด้านเงินทุน จนกระทั่งเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง นช.ทักษิณ ชินวัตร ได้ล็อบบี้รัฐบาลพม่า และใช้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้เป็นน้องสาว ยึดสัมปทานดังกล่าวมาจากกลุ่มอิตัลไทย พร้อมกับผันงบประมาณของแผ่นดิน ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเข้าไปเชื่อมโยงระบบคมนาคมของสองประเทศเข้าด้วยเช่นกัน 

โดยก่อนหน้านี้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.กระทรวงคมนาคม บอกว่า เบื้องต้นฝั่งไทยจะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณ 76,289 ล้านบาท  เพื่อก่อสร้างโครงการทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร งบประมาณ 45,510 ล้านบาท และเชื่อมต่อไปยังด่านชายแดนบ้านพุน้ำร้อนอีกประมาณ 70 กิโลเมตร วงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนทางรถไฟนั้น คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท

รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ยังตั้งเป้าควักเงินภาษีของประชาชนไทย ไปสนับสนุนทางการเงินสำหรับโครงการทวายมากถึงแสนล้านบาท จากเม็ดเงินที่คาดว่าจะต้องทุ่มเทเพื่อพัฒนาโครงการนี้ประมาณ 4 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ฯลฯ ครอบคลุมพื้นที่ 4 แสนไร่ พร้อมด้วยถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงไทยรวมไปถึงน้ำมันและท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวมะตะบันไปยังชายแดนไทย-พม่า ถือเป็นโครงการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในทศวรรษนี้ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

รัฐบาลนอมินีของนช.ทักษิณ ยังร่วมกับผู้นำพม่า จัดตั้งกลไกขับเคลื่อนโครงการทวายขึ้นมาสองชุด คือ หนึ่ง คณะกรรมการร่วมระดับสูง ระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายไทย มีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี สายตรง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ส่วนพม่า มีรองประธานาธิบดี เป็นประธาน และ สอง คณะกรรมการระดับประสานงานระหว่างไทย-เมียนมาร์ เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JCC) ซึ่งมี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สายตรงนช.ทักษิณ - คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของเมียนมาร์ เป็นประธาน 

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลไทยและพม่า ได้ลงนามร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 56 โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง และนายญาณ ทุน เป็นประธานร่วม โดยทั้งสองชาติถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากันฝ่ายละ 50% พร้อมกับรับโอนสิทธิในสัมทปานโครงการทวายจากที่เคยเป็นของบริษัททวาย ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ที่มีกลุ่มอิตัลไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มายังSPV ที่รัฐบาลไทยกับพม่าจัดตั้งขึ้น ถือเป็นการยึดสัมปทานจากอิตัลไทยอย่างเป็นทางการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

แผนการยึดสัมปทานโครงการทวายนี้ นช.ทักษิณ หวังจะใช้กลุ่มทุนเครือปตท. เป็นหัวหอกในการเข้าไปลงทุนด้านพลังงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่จะตามมา ทั้งโรงแยกก๊าซฯ ปิโตรเคมี ซึ่งกลุ่มปตท.วางแผนไว้รองรับแล้ว เป็นการสานฝันความต้องการลงทุนด้านพลังงานของ นช.ทักษิณ ที่กำลังพยายามอย่างยิ่งในการเจาะเข้าไปลงทุนในธุรกิจนี้ทั้งที่พม่าและกัมพูชา โดยที่กัมพูชานั้น นช.ทักษิณ เพิ่งส่งหลานสาวไปแต่งงานกับลูกชายนักการเมืองที่ใกล้ชิดสมเด็จฯ ฮุน เซน ผู้นำชาติเขมร

การแสดงออกว่ามีคอนเนคชั่นและมีอำนาจถึงขนาดสามารถกำคอผบ.สส.ของพม่าเพื่อบีบให้ทำตามที่ต้องการ หรือการส่งหลานสาวไปบรรณาการกัมพูชา ไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายสำหรับ นช.ทักษิณ ผู้ที่ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองโดยใช้รัฐบาลน้องสาวกล่าวอ้างสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศเป็นเรื่องบังหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น