xs
xsm
sm
md
lg

“มิน อ่องหล่าย” ใหญ่จริง แต่ต้องผ่าน “เต็ง เส่ง-ฉ่วย มาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังบทสนทนา พล.อ.ถั่งเช่า-ชายปริศนา ที่กำลังสะท้านแผ่นดิน ตอนหนึ่งได้กล่าวถึงบุคคลสำคัญในแวดวงการทหาร-การเมืองของสหภาพพม่า (The Republic of Union of Myanmar) นั่นคือ “มิน อ่องหล่าย” หรือรอง พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า ตอนหนึ่งระบุทำนองที่ว่า

“ถ้าจะบีบพม่าเรื่องท่าเรือน้ำลึกทวาย (ทวายโปรเจกต์) ต้องบีบผ่านมิน อ่องล่าย”(http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9560000082476)

ทำให้ ผบ.สส.ของพม่า และทวายโปรเจกต์ ถูกจับจ้องอย่างเลี่ยงไม่พ้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งนักวิชาการ คนที่ติดตามการเมืองในพม่ามาอย่างยาวนานหลายคนมองว่า ชายปริศนาในคลิปกำลังแทงหวยการเมืองในพม่าเพื่อผลประโยชน์ในอนาคต และมีโอกาสที่จะแทงผิดไม่น้อยเช่นกัน

คืนใส ใจเย็น บรรณาธิการสำนักข่าว Shan กระบอกเสียงของกลุ่มไทใหญ่ หรือไต ในพม่า เปิดเผยต่อ “เอเอสทีวีผู้จัดการ” ว่า มิน อ่องหล่าย มีอิทธิพลอยู่ในทางการเมือง การทหารของพม่าจริง แต่ยังไม่ถึงขั้นชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้ ในสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติก็มีกรรมการอยู่ 11 คน เป็นทหาร 5 นาย พลเรือน 5 คน โดยมี พล.อ.เต็ง เส่ง เป็นประธานฯ ซึ่ง ผบ.สส.เป็นหนึ่งในกรรมการเท่านั้น

เขาบอกว่า มิน อ่องหล่าย เป็นนายทหารรุ่นน้อง หรืออาจจะรุ่นหลานเลยก็ว่าได้ โดย พล.อ.หม่อง เอ ได้ผลักดันให้ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำสูงสุดทางทหารของพม่าแต่งตั้งขึ้นเป็น ผบ.สส. คานอำนาจกับ พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดี ที่เคยเป็นลูกน้องของ “ขิ่น ยุ้นต์” ที่ถูกโค่นล้มไป ตั้งแต่สมัยที่ขิ่น ยุ้นต์มีตำแหน่งเป็น ผบ.พัน

พล.อ.มิน อ่องหล่าย สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยป้องกันชาติแห่งประเทศพม่า(Defense Services Academy-DSA) จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการรัฐมอญ ปี 2545

เลื่อนขั้นรับตำแหน่งผู้บังคับบัญชีการกองบัญชาการของกรมทหารภาคสามเหลี่ยมในรัฐฉาน (The Triangle Regional Military Command) เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการเจรจากับกองกำลังชนกลุ่มน้อย 2 กลุ่ม คือ กองทัพแห่งรัฐว้า (United Wa State Army-UWSA) และกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย หรือกลุ่มหยุดยิงเมืองลา (National Democratic Alliance Army-NDAA)

ปี 2552 เป็นผู้นำกำลังเข้าต่อต้านกลุ่มกองกำลังสัมพันธมิตรชาติประชาธิปไตย (NDAA) ในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยโกกัง ส่งผลให้ชาวโกกังราว 3.7 หมื่นคนลี้ภัยไปจีน

ปี 2553 ได้รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองยุทธการพิเศษที่ 2 (The Chief of the Bureau of Special Operations-2) หน่วยบัญชาการทหารภาครัฐฉานและรัฐกะเหรี่ยง ก่อนที่ในปี 2554 จะได้รับการสืบทอดตำแหน่งจาก พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของกองทัพจนถึงปัจจุบัน

“แต่ ผบ.สส.จะทำอะไรก็ยังต้องฟังรุ่นพี่ ทั้ง พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดี และฉ่วย มาน ประธานสภาฯ ที่ถือเป็นรุ่นเก๋ากึ๊กกกว่า มีอาวุโสกว่าอยู่”

หรืออาจกล่าวได้ว่า มิน อ่องหล่ายมีอิทธิพลในพม่าจริง แต่ยังไม่สมบูรณ์ ยังต้องฟังเสียงรุ่นใหญ่กว่า ทั้งประธานาธิบดี หรือรัฐบาล (เต็ง เส่ง) ประธานสภาฯ (ฉ่วย มาน) นายทหารสายเหยี่ยวที่คุมรัฐสภาอยู่ และล่าสุดฉ่วย มานได้ประกาศตัวลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2558 ด้วย

สอดคล้องกับความเห็นของล็อบบี้ยิสต์ที่ทำมาหากินในพม่ามานานร่วม 10-20 ปี ที่บอกว่า แม้กองทัพพม่าจะยังคงมีบทบาททางการเมืองในพม่าอยู่อีกนาน และรัฐบาลพม่าปัจจุบันก็มาจากทหารเป็นหลัก แต่คนที่คุมเกมที่แท้จริงยังคงเป็น พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย ที่อยู่หลังม่านมากกว่า

นอกจากนี้ เมื่อคราวที่ พล.อ.มิน อ่องหล่าย เพิกเฉยต่อคำสั่งประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ที่สั่งให้ยุติการสู้รบกับกองกำลังคะฉิ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2554 จนทำให้มีทหารเสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีกระแสข่าวที่จะปลด ผบ สส.ออกจากตำแหน่งมาแล้ว ทำให้ พล.อ.มิน อ่องหล่าย ต้องอยู่อย่างเงียบๆ มาช่วงหนึ่ง

ด้านนักธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในพม่า หลายคนบอกตรงกันว่า บทบาทของทหารในการเมืองพม่า แม้ว่าจะยังมีอยู่แต่ไม่มากเหมือนอดีตแล้ว สิทธิพิเศษต่างๆ ที่กองทัพเคยได้ ลดลงไปมาก บริษัทนิติบุคคลของกองทัพทั้ง Myanmar Economic enterprise, Myanmar Economic corporation รวมถึงบริษัทลูกหลานนายทหาร/รัฐมนตรีต่างๆ ซึ่งเคยได้สิทธิพิเศษ-สัมปทานผูกขาดทางธุรกิจ ปัจจุบันก็ต้องเสียภาษีเงินได้ 25% สัมปทานที่เคยได้ก็มีบริษัทเอกชนเข้าไปดำเนินธุรกิจแข่ง

ผศ.วิรัตน์ นิยมธรรมรอง คณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ (รักษาการผู้อำนวยการศูนย์พม่าศึกษา) มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การเมืองในพม่าอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีความโปร่งใสมากขึ้น ดูได้จากสื่อ-ภาคประชาสังคมของพม่าที่เข้ามาตรวจสอบภาครัฐได้

“2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพม่าฟังเสียงประชาชนโครงการต่างๆ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก ระทบต่อประชาชน กระทบต่อท้องถิ่น ถูกประท้วงมาตลอด ทวายโปรเจกต์ก็เช่นกัน จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องเป็นมติกลาง มีฉันทานุมัติจากทหาร รัฐบาล ภาคธุรกิจ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลพม่าก็อยู่ลำบาก”

ผศ.วิรัตน์กล่าวอีกว่า พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่า ก็ต้องระมัดระวัง เพราะพม่ากำลังก้าวไปเชื่อมโยงกับโลกตะวันตกมากขึ้น

ขณะที่ “ทวายโปรเจกต์” โครงการใหญ่ที่ถูก พล.อ.ถั่งเช่า-ชายปริศนา กล่าวถึงในคลิปนี้ด้วย อีกทั้งชายปริศนาก็เคยบินเข้าออกทวาย-ย่างกุ้ง นั่งดื่มกาแฟที่โรงแรมชาเทียร์หลายครั้ง และรัฐบาลไทย นำโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปชักชวนญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในโครงการนี้ด้วย ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 56 ที่ผ่านมา

แต่หลังจากนั้นไม่กี่วัน นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ของญี่ปุ่น พร้อมคณะก็ได้เดินทางเยือนพม่า พร้อมกับหารือถึงแนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก-เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ชานกรุงย่างกุ้ง แทน โดยไม่มีการกล่าวถึงท่าเรือน้ำลึกทวายแต่อย่างใด

จนกล่าวกันว่า โครงการนี้จีนไม่สน-ญี่ปุ่นไม่เอา
กำลังโหลดความคิดเห็น