เปิดกระบวนการสร้างศรัทธาหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ของกลุ่มคนนุ่งผ้าเหลืองสวมจีวรบังหน้า กับบรรดาเครือข่าย ร่วมกันปั้นแต่งสารพัดรูปแบบ “จัดงาน” เพื่อเรียกเงินเข้ากระเป๋า จนมีฐานะร่ำรวย ใช้ “เงิน” เนรมิตได้ดังใจปรารถนา เลียนแบบนักการเมืองซื้อตำแหน่งเป็นพระผู้ใหญ่ คืนทุนได้ในเวลาสั้นๆ ชี้สูตรในการ “หาเงิน” ของทุกวัดไม่แตกต่างกัน เผยพระลูกวัดมีรายได้เฉลี่ย 2 หมื่นบาท พระผู้ใหญ่เฉลี่ย 1 แสนบาท ส่วนวัดดังใน กทม. เดือนละกว่าล้านบาท เผยบางคนบวชพระ สามารถสร้างทรัพย์สินให้ครอบครัวได้ง่าย
ขบวนการหากินของคนห่มเหลือง! จะนำเสนอเป็นตอนจบ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงขบวนการหาประโยชน์ของพระและวัดต่างๆ ที่ใช้รูปแบบไม่แตกต่างกัน หวังดึงประชาชนเข้ามาในวัด นำไปสู่กระแสศรัทธา สร้างความร่ำรวย จนกระทั่งสามารถเนรมิตในสิ่งที่พระและวัดต้องการได้โดยง่าย
เจ้าอาวาสวัดชั้นพระผู้ใหญ่ของวัดที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี และกรรมการวัดดังกล่าว บอกเล่าให้ Special scoop ฟัง ถึงวิธีการหารายได้ของวงการสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นวัดใน กทม.หรือต่างจังหวัด ไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่ารายได้ที่ได้รับจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า วัดดังกล่าวอยู่ในย่านชุมชนที่เศรษฐกิจดีหรือไม่ และวัดนั้นสามารถสร้างหรือปลุกกระแสศรัทธาให้กับประชาชนทั่วสารทิศหลั่งไหลเข้ามาได้หรือไม่เท่านั้น
“วัดจะใช้แรงศรัทธา ความเลื่อมใส ความเชื่อ ประเพณีต่างๆ ของคนที่มีต่อพุทธศาสนา เป็นตัวกำหนดในการหารายได้เข้าวัดและเข้ากระเป๋าพระบางรูป”
โดยขั้นตอนง่ายๆ ในการหารายได้ก็ด้วยวิธีการจัดงานบุญต่างๆ ทั้งงานปลุกเสกพระ เครื่องรางของขลัง จัดบูชาบูรพาจารย์ จัดพิธีไหว้ครู เททองหล่อพระพุทธรูป ฝังลูกนิมิต สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตาเสริมดวง เสริมบารมี ซึ่งการจัดงานเหล่านั้น ล้วนดึงผู้ศรัทธา ญาติโยมเข้าวัดได้จำนวนมาก
หากสังเกตจะพบว่าญาติโยมที่เข้ามาในวัดจะไม่ได้แค่มาร่วมงานบุญเท่านั้น แต่ทุกคนไม่รีรอที่จะควักเงินในกระเป๋าออกมาร่วมทำบุญ โดยไม่ได้ยั้งคิดว่าเงินเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ในการบำรุงพระพุทธศาสนาหรือไม่ หรือว่าจะตกหล่นไปยังพระสงฆ์หรือกรรมการวัด เพราะเป็นประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน จึงทำให้สามารถหาเงินหรือรายได้เข้าวัดแต่ละงานเป็นจำนวนมาก
“แต่ละงานหาเงินได้งานละหลายๆ แสนบาทถึงหลักล้าน หากวัดตั้งอยู่ใกล้ชุมชนและอยู่ในตัวเมือง จะใช้เวลาในการจัดนาน 7-10 วัน บางวัดที่มีคนศรัทธาหรือขึ้นมากๆ จัดนานเป็นเดือนก็มี เงินก็จะเข้ามามหาศาล”
เจ้าอาวาสชั้นผู้ใหญ่เล่าว่า เกือบทุกวัดจะใช้วิธีจัดงานเพื่อดึงคนเข้าวัด บางวัดมีการจัดงานทุกเดือน เพราะสามารถเรี่ยไรเงินจากญาติโยมได้จำนวนมาก ทั้งจากการตั้งตู้บริจาค สะเดาะเคราะห์ สะเดาะโศก สะเดาะโรค สะเดาะภัย ซึ่งการตั้งตู้บริจาคยังใช้วิธีตั้งตู้รับบริจาคหลายจุดภายในวัด และยังแยกตู้หลายๆ ใบในที่เดียวกันด้วย
อีกทั้งจะใช้วิธีเขียนหน้าตู้ว่า บริจาคเพื่ออะไร เช่น ชำระหนี้สงฆ์ ค่าอาหาร ทุนการศึกษา ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบูรณะวัด ค่าเซียมซี ค่าบริจาคโลงศพ ต่อชะตา เสริมบุญบารมี ทำให้ผู้ที่ศรัทธาตัดสินใจหยอดเงินหลายตู้ ต่างจากในอดีตที่มีเพียงตู้เดียวเท่านั้น
นอกจากนี้ วัดยังมีรายได้จากการขายดอกไม้ ธูปเทียน ทองเปลว กระเบื้องมุงหลังคา ซึ่งทั้งการจัดงานและขายของดังกล่าวจะได้เงินจำนวนมาก โดยไม่รู้ว่าเงินเข้าวัดหรือเข้ากระเป๋าพระรูปใดรูปหนึ่ง หรือกรรมการวัด เพราะไม่มีใครตรวจสอบว่าเงินเข้าวัดเต็มจำนวนที่ได้หรือไม่
ทั้งนี้ เงินที่เข้าวัดส่วนใหญ่จะถูกหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อนเข้าวัด ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่มีใบเสร็จรับเงิน และไม่มีใครกล้าตรวจสอบ เพราะทำกันเป็นขบวนการ รู้กันตั้งแต่เจ้าอาวาส พระลูกวัด ไปจนถึงคณะกรรมการวัด นั่นคือต้นเหตุของความร่ำรวยของพระ และคณะกรรมการวัด
เจ้าอาวาสชั้นผู้ใหญ่บอกด้วยว่า การหาเงินของวัดและพระชั้นผู้ใหญ่ พระลูกวัด กรรมการวัดมีมานานแล้ว ซึ่งนับวันก็จะยิ่งมากขึ้น เพราะทุกวันนี้พระก็ต้องใช้เงินในการสร้างบารมี
“พระทุกวันนี้ก็ต้องแสวงหายศถาบรรดาศักดิ์ ก้าวสู่ตำแหน่งใหญ่ๆ ก็ต้องใช้เงินซื้อเหมือนกัน ไม่ได้ต่างจากนักการเมือง เมื่อเป็นพระผู้ใหญ่ บารมีและทรัพย์สินเงินทองก็จะตามมา”
ดังนั้นพระสงฆ์ที่ร่ำรวยแบบผิดปรกติ โดยเฉพาะพระผู้ใหญ่ที่มียศ มีตำแหน่ง ส่วนใหญ่จะทำทุกวิถีทางที่ให้ตนเองมียศถาบรรดาศักดิ์ เพราะรู้ว่าสิ่งที่จะได้รับหลังจากเป็นพระผู้ใหญ่แล้ว นั่นคือบารมีที่จะได้รับจากทั้งคณะสงฆ์ด้วยกัน รวมไปถึงบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมืองก็จะวิ่งเข้าหา ซึ่งสิ่งเหล่านั้นจะนำมาซึ่งทรัพย์สิน เงินทองจำนวนมหาศาล
โดยหากประชาชนสังเกตให้ดี จะเห็นวิถีชีวิตของพระเปลี่ยนไปทุกอย่าง จะเริ่มมีแบรนด์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น รถยนต์ที่ใช้จะเป็นรถดีๆ ทั้งนั้น ระดับรองเจ้าอาวาสต้องใช้รถเบนซ์ ส่วนเจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด ไปจนถึงระดับภาคยิ่งต้องหรูขึ้นไปอีกในการเดินทาง พระหลายรูปใช้รถหรูหราราคาแพง ไม่เหมาะกับสมณเพศ ซึ่งการใช้รถดีๆ เป็นการแสดงให้เห็นถึงบารมีของตนเอง
เงินบริจาคเข้าวัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง
ด้านแหล่งข่าวที่เคยได้รับสัมปทานจัดงานในวัด กล่าวว่า ผู้ที่รับเหมาจัดงานต่างๆ ในวัดจะต้องรู้จักช่องทางว่าไปวิ่งเต้นตรงไหนจึงจะได้งาน โดยทุกรายจะต้องวิ่งเข้าหาคณะกรรมการวัดทั้งงานก่อสร้างซ่อมแซม บูรณะวัด รวมไปถึงในช่วงที่วัดมีงานจะได้สัมปทาน ขายดอกไม้ ธูปเทียน จัดการแสดง จัดเวที เปิดซุ้มยิงเป้า ปาลูกโป่ง ช้อนไข่ เป็นต้น
ส่วนหลักเกณฑ์ที่จะได้รับสัมปทานงานของวัด ก็ไม่ได้ต่างกันคือ จะต้องแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้กับเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และคณะกรรมการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัด ทางวัดจะได้เพียงค่าเช่าสถานที่ซึ่งเป็นเงินน้อยมาก เพราะวัดจะคิดค่าเช่าถูกมาก เนื่องจากพระได้เงินค่าเปอร์เซ็นต์หรือเงินใต้โต๊ะจากผู้ได้สัมปทานไปแล้ว
ลงขันซื้อเก้าอี้เจ้าอาวาส
เจ้าอาวาสชั้นผู้ใหญ่ และกรรมการวัด เล่าว่า ประชาชนที่เลื่อมใสศรัทธาพุทธศาสนา และพระดังๆ ทั้งหลายอาจนึกไม่ถึงว่าในวงการสงฆ์จะมีการวิ่งเต้น และมีการจ่ายผลประโยชน์เพื่อให้ได้ตำแหน่งของพระ ไม่ต่างจากการซื้อตำแหน่งในวงการของข้าราชการ นักการเมือง ด้วยการจ่ายเงินใต้โต๊ะ เช่นกัน
โดยพระสงฆ์ที่จะได้ตำแหน่ง ไม่ต้องควักเงินจ่ายเองทั้งหมด หรือบางกรณีไม่ต้องจ่ายเงินเองแม้แต่บาทเดียว เพราะลูกศิษย์ลูกหาจะลงขันกันจ่ายเงินให้ โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อได้ตำแหน่งแล้ว จะต้องให้สัมปทานงานในวัดแก่ผู้ที่ลงขันจ่ายเงินซื้อตำแหน่งให้ ซึ่งจะมีการแบ่งกันตามสัดส่วน หมายถึงใครจ่ายมากก็ได้งานมาก จ่ายน้อยก็ได้งานน้อย
โดยตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดขนาดกลาง อยู่ใกล้ชุมชน ในเขตเมือง เช่นที่จังหวัดชลบุรี จะมีการซื้อ เก้าอี้เจ้าอาวาสประมาณตัวละ 1 ล้านบาท ซึ่งแหล่งข่าวยืนยันว่า ใช้เวลาเพียง 4 ปี จะสามารถคืนทุนได้ หากวัดมีการจัดงานแบบปรกติ เช่น งานประจำปี ปิดทองฝังลูกนิมิต แต่ถ้าต้องการคืนทุนอย่างรวดเร็ว ก็จะใช้วิธีจัดงานบ่อยๆ ยิ่งมีทุกเดือนยิ่งคืนทุนเร็ว หลังจากนั้นก็นั่งเก็บรายได้ไปเรื่อยๆ
ทั้งนี้ รายรับจะแยกกันชัดเจน ระหว่างพระ และฆราวาส โดยพระจะมีรายได้จากการทำบุญ และไม่ส่งเงินเข้าวัดทั้งหมด ส่วนฆราวาส หรือคณะกรรมการ จะได้เงินจากการจัดงาน การเล่นเกม ซึ่งแต่ละคืนผู้จัดงานขายตั๋วได้คืนละหลายหมื่นบาท ส่วนคืนสุดท้ายจะขายตั๋วได้นับแสนๆ บาท ถ้าจัดงาน 10 คืน เหลือเงินหลายแสนบาท และยังได้เงินจากค่าก่อสร้าง ค่าบูรณะ ค่าสร้างเมรุ เป็นต้น
“บางครั้งส่วนนี้พระจะขอค่าคอมมิชชัน หรือเพิ่มมูลค่างาน หรือราคาค่าก่อสร้างแพงกว่าราคาปกติด้วย เช่นเดียวกับงานก่อสร้างของภาครัฐที่นักการเมืองมีการบวกเข้าไป”
วิ่งรอกวันเดียวรับ 3 งาน
อย่างไรก็ดี รายได้ของพระที่มาจากการทำบุญตามตู้ต่างๆ และจากการจัดงานประเพณี หรืองานวัดต่างๆ แล้ว พระยังมีรายได้ในแต่ละวันมาจากการออกกิจนิมนต์ ซึ่งแต่ละวันจะมีประชาชนมานิมนต์พระไปสวดมนต์ทำพิธีต่างๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ เปิดร้านใหม่ วันเกิด แต่งงาน งานบวช ซึ่งงานดังกล่าวสามารถไปได้ทั้งช่วงเช้าและบ่าย
ส่วนตอนกลางคืน ก็มีงานศพ ซึ่งชาวบ้านจะใส่ซองให้พระธรรมดารูปละ 100-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าของงาน แต่ถ้าเป็นพระระดับเจ้าอาวาสขึ้นไป จะต้องใส่ซองตั้งแต่ 500-10,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับฐานะและความศรัทธาของเจ้าของงาน
ส่วนพระผู้ใหญ่ระดับเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด จะได้รับซองที่มาพร้อมกับเงินระดับหลัก 10,000-50,000 บาทขึ้นไป ขณะที่ระดับภาคก็จะได้เงินมากขึ้นไปตามยศศักดิ์ สำหรับระดับสมเด็จ ซองละระดับแสนบาทขึ้นไป
เจ้าอาวาสชั้นผู้ใหญ่บอกด้วยว่า บรรดาพระลูกวัดรูปหนึ่งจะมีรายได้จากการออกกิจนิมนต์เฉลี่ยเดือนละ 10,000-20,000 บาทขึ้นไป ไม่รวมรายได้จากที่ญาติโยมมายืมข้าวของเครื่องใช้ภายในวัด หรือการมาจัดงานศพที่วัด ซึ่งรายได้ดังกล่าวส่วนใหญ่เข้าวัดน้อยมาก และส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่พระที่ดูแลข้าวของเครื่องใช้ภายในวัด เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ถ้วย จาน ชาม ช้อน รวมถึงศาลา เมรุเผาศพ ที่จะได้จากเจ้าภาพ จึงไม่แปลกอะไรที่พระลูกวัดจะแย่งกันขอดูแลทรัพย์สินของวัด ซึ่งวัดขนาดใหญ่ที่มีคนนิยมมาจัดงาน เจ้าอาวาสจะแก้ปัญหาด้วยการแบ่งกันดูแลทรัพย์สิน เพราะเมื่อทุกคนมีรายได้ จะอยู่ร่วมกันได้ ข่าวเสียหายก็ไม่เกิดขึ้นกับวัดและพระ
“รายได้ที่พระได้รับ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่บางคนไม่ได้ศรัทธาและเลื่อมใสในพุทธศาสนา แต่เข้ามาบวชเพราะเชื่อว่าเป็นวิธีที่หาเงินได้ง่าย โดยไม่รู้จักสำรวมในความเป็นพระ จนเกิดข่าวฉาว ทั้งเสพยา เมาเหล้า กลางคืนถอดจีวรใส่ชุดฆราวาส ออกเที่ยวก็มีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ”
ส่วนพระผู้ใหญ่ระดับผู้ช่วย รองเจ้าอาวาส เจ้าอาวาส จะมีรายได้เดือนละ 70,000-100,000 บาทขึ้นไป ไม่รวมเงินอื่นๆ ที่ได้มาแบบไม่ถูกไม่ควร
“ลองคิดเล่นๆ ดูว่า หากเป็นวัดดังๆ ในกรุงเทพฯ หรือวัดดังๆ ในต่างจังหวัด จะมีรายได้เท่าไหร่ ไม่ต่ำกว่า 500,000 ถึง 1 ล้านบาทแน่นอน” เจ้าอาวาสชั้นผู้ใหญ่ในวัดที่มีชื่อเสียง จังหวัดชลบุรี ระบุ
นอกจากนี้ วัดที่มีชื่อเสียงหรือวัดดังๆ ที่ประชาชนศรัทธา ผู้ชายคนหนึ่งจะเดินไปขอบวชโดยไม่ต้องจ่ายเงินเหมือนในอดีตไม่มีอีกแล้ว ถ้าหากต้องการบวชจะต้องเสียเงินค่าเซ้งกุฏิ ขึ้นอยู่กับว่าจะบวชนานแค่ไหน ซึ่งวัดดังๆ ในกรุงเทพฯ เกือบทุกแห่ง รวมถึงวัดในต่างจังหวัดที่มีชื่อเสียงล้วนแล้วแต่ต้องจ่ายเงินค่าเซ้งกุฏิทั้งนั้น เพราะเมื่อมาบวชแล้วก็จะมีรายได้จากการออกไปงานตามที่ถูกนิมนต์
พระฐานเสียงนักการเมือง
ขณะเดียวกันวัดและพระทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ทุกวันนี้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ด้วยการแสดงตัวเป็นฐานเสียงที่สำคัญให้นักการเมืองอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงเห็นว่า นักการเมืองหลายคนต้องเข้าวัดทำบุญ หรือบางครั้งต้องนิมนต์พระผู้ใหญ่ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสมาฉันภัตตาหารเป็นประจำทุกเดือน หรือทุกสัปดาห์ และจะต้องใส่เงินในซองถวายซองละหลักหมื่นบาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง เพราะพระเหล่านั้นจะไปบอกต่อญาติโยมว่านักการเมืองคนนั้นดี คนนี้ดี ให้เลือกเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร ซึ่งประชาชนจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ และคนต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะเชื่อสิ่งที่พระบอก ทำให้นักการเมืองไม่ลืมที่จะนึกถึงพระ และอาศัยพระเป็นฐานเสียงที่สำคัญ
ส่งผลให้การชุมนุมทางการเมืองของแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเสื้อแดง จะเห็นพระออกมาร่วมชุมนุมเรียกร้องด้วยอาการและวาจาที่ไม่สำรวมปรากฏให้เห็นอยู่เป็นประจำ
เจ้าอาวาสท่านดังกล่าว บอกทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจว่า ญาติโยมจำนวนมากเริ่มเสื่อมศรัทธากับพุทธศาสนาเพราะข่าวดังๆ ที่เกี่ยวกับพระผู้ใหญ่ พระดังๆ ประพฤติตัวไม่เหมาะสม ต้องปาราชิกเพราะเรื่องของผู้หญิง จนทำให้ศาสนามัวมอง และมองตำหนิไปถึงว่า พระก็เป็นอาชีพอาชีพหนึ่งที่จะสามารถสร้างความร่ำรวยได้โดยง่าย เพราะแต่ละวันมีรายได้จากกิจนิมนต์และยังมีรายได้จากแหล่งอื่นๆ มากมาย ทำให้หลายๆ คนหันมาบวชพระโดยไม่สนใจในพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
“วัดที่นี่มีพระบางรูปเก็บสะสมรายได้ และเห็นว่าพอแล้ว เขาก็สึกออกไป มีเงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ให้ครอบครัว”
ทั้งที่ความจริงพระต้องมีวินัยถือศีล 227 ข้อ ควรรู้ว่าจะครองตนอย่างไร ไม่ใช่เข้ามาใช้ผ้าเหลืองห่มกายเพื่อแสวงหาทรัพย์สินหรือความสุขสบายให้กับตนเองและครอบครัว
แต่ควรกระทำตนเป็นผู้เผยแผ่และทำนุบำรุงพุทธศาสนาสืบต่อไป จึงจะถูกต้อง เหมาะสมที่สุด!