xs
xsm
sm
md
lg

พบแล้ว! ประชานิยมลวง หลายโครงการลอยแพรากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานช้ำ เพื่อไทยให้ 300 บาทแล้วทิ้ง ปล่อยนายจ้าง-ลูกจ้างหาข้อยุติ สุดท้ายแลกตกงาน “ชาลี ลอยสูง” ไม่ได้ถูกรัฐบาลหลอก แต่นโยบายที่ผ่านมาเข้าข่ายโฆษณาชวนเชื่อ แถมหักหลังพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับประชาชน ส่วนรับจำนำข้าวเล่นเล่ห์เพิ่มเงื่อนไขลดปริมาณเข้าร่วมโครงการ ขณะที่จำนำมันรัฐลดปริมาณเหลือ 10 ล้านตัน ปิดรับสิ้นมีนาคม นักเศรษฐศาสตร์เผยหลายโครงการทำเพียงเพื่อให้เห็นว่าทำตามสัญญา หลังจากนั้นปล่อยทิ้ง แถมโครงการจำนำข้าว-มันเริ่มเพิ่มเงื่อนไขลดปริมาณเข้าโครงการ

หลังการบริหารประเทศมา 1 ปีเศษของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้รับแรงหนุนจากกลุ่มรากหญ้าและคนเสื้อแดงพึงพอใจกับนโยบายที่พรรคเสนอให้เหนือกว่าพรรคคู่แข่งอย่างประชาธิปัตย์ รวมไปถึงการให้น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดดลงมาในสนามการเมืองและวางตัวให้เป็นนายกรัฐมนตรี แม้ก่อนหน้านี้จะมีการผลักดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย สามีของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว จนท้ายที่สุดประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย

เมื่อพรรคเพื่อไทยได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล การเร่งผลักดันนโยบายตามที่เคยหาเสียงถูกนำมาใช้ เริ่มต้นที่การทำตามนโยบายลดค่าครองชีพ ด้วยการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเมื่อ 1 กันยายน 2554 ส่งผลให้ราคาน้ำมันเบนซิน 95 ปรับลดลงมาทันที 7.50 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ลดลง 6.70 บาทต่อลิตร และดีเซลลดลง 2.80 บาทต่อลิตร แม้จะมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานถึงความไม่เหมาะสมของมาตรการดังกล่าว เพราะเงินกองทุนน้ำมันถูกใช้เพื่อชดเชยราคาก๊าซ แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าต่อ

แต่จากความไม่รอบคอบในนโยบายทำให้ราคาน้ำมันเบนซินที่ลดลงไปใกล้เคียงกับราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างราคากันใหม่ ระยะเวลาของการลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันทำได้แค่ไม่กี่เดือนก็ต้องเลิก เพราะเงินกองทุนน้ำมันเริ่มติดลบมากขึ้นเรื่อยๆ

ความสุขระยะสั้น

แม้จะสร้างความพึงพอใจให้กับภาคประชาชนในช่วงระยะเวลา 4 เดือน แต่เมื่อหักช่วงเลาที่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่แล้ว คนไทยได้ใช้น้ำมันราคาถูกตามนโยบายของพรรคเพื่อไทยแค่ราว 2 เดือนเท่านั้น โดยรัฐบาลได้กลับลำให้เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันอีกครั้งเริ่มวันที่ 16 มกราคม 2555

พร้อมกับเดินหน้าปรับขึ้นราคาก๊าซทั้ง LPG และ NGV โดยก๊าซ LPG ตามปั๊มจะขยับจาก 11.14 บาท เป็น 16.06 บาท และ NGV จาก 8.50 บาท เป็น 14.50 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนภาคขนส่ง LPG อยู่ที่กิโลกรัมละ 21.13 บาท ภาคอุตสาหกรรมต้องจ่ายค่าก๊าซในราคากิโลกรัมละ 30.13 บาท

ขณะนี้ราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงกว่าหลายประเทศ ที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงกว่าประเทศไทยมาก ขณะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับที่ผ่านมารัฐบาลเดินหน้าโครงการรถยนต์คันแรกมากกว่า 1 ล้านคัน ทำให้หลายคนเริ่มมองว่าราคาน้ำมันที่รัฐบาลกำหนดไว้ในขณะนี้สร้างประโยชน์ให้กับบริษัทน้ำมันที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

คนไทยได้ประโยชน์จากพรรคเพื่อไทยแค่ช่วงแรกเท่านั้น รัฐบาลดำเนินการลดราคาน้ำมันเพียงเพื่อให้เป็นไปตามที่หาเสียงไว้ แต่ด้วยกลไกของระบบราคาพลังงานที่มีอยู่ สุดท้ายก็ต้องกลับมาเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันตามเดิม

ลืมผู้ใช้แรงงาน

อีกนโยบายหนึ่งที่ส่งผลให้พรรคเพื่อไทยได้รับการเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาล คือนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ และเงินเดือนปริญญาตรีที่ 15,000 บาท ด้วยการออกแบบมาเพื่อเกทับนโยบายค่าแรงของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำในช่วง 2 ปีที่ 240 บาท แต่เพื่อไทยประกาศใช้ทันทีเมื่อเป็นรัฐบาล

ในฝั่งของผู้ประกอบการแม้จะมีความพยายามคัดค้านมาตรการดังกล่าวแต่ก็ไม่เป็นผล แม้จะมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือแต่ก็ยังไม่ตรงกับความต้องการของบรรดานายจ้างและกลายเป็นที่มาของปมปัญหาในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่สมาชิกจำนวนหนึ่งมองว่าการทำงานของประธานสภาอุตสาหกรรมเอนเอียงไปในทางเดียวกับรัฐบาล ไม่ได้ปกป้องผลประโยชน์ของสมาชิก

ระหว่าง 300 บาททันทีกับ 240 บาทในอีก 2 ปี เป็นใครก็ต้องเลือก 300 บาทเพราะได้มากกว่าเห็นๆ จะไปโทษคนรากหญ้าและผู้ใช้แรงงานก็ลำบาก เพราะด้วยสภาพความเป็นจริงในสังคมแล้วทุกคนย่อมอยากมีรายได้เพิ่ม แต่เพียงแค่รัฐบาลเพื่อไทยมีแนวโน้มว่าจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล ราคาสินค้าก็ปรับตัวขึ้นมารอรัฐบาลนี้แล้ว เป็นอันว่า 300 บาทที่ได้กับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นไม่แตกต่างจากการได้ค่าแรงขั้นต่ำของเดิม

ที่สำคัญคือเมื่อรัฐบาลประกาศใช้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศเมื่อ 1 มกราคม 2556 (ก่อนหน้านี้ประกาศใช้ 7 จังหวัด) หลังจากนั้นรัฐบาลปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ใช้แรงงานที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนายจ้างเอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการจ่ายค่าจ้าง ตัดสวัสดิการ ลดโบนัส หรือแม้กระทั่งเลิกจ้าง รัฐบาลไม่ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยพี่น้องแรงงานอย่างจริงจัง

ที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ต้องไปยื่นเรื่องกับสถานทูตต่างๆ ที่มีเอกชนของประเทศนั้นมาเปิดกิจการในเมืองไทยว่าให้ช่วยดูแลแรงงานไทยด้วย สะท้อนให้เห็นถึงผู้ใช้แรงงานต้องเข้ามาแก้ปัญหาจากนโยบายของรัฐบาลด้วยตัวเอง

ตามมาด้วย 21 มีนาคม 2556 สภาผู้แทนราษฎรที่เป็นเสียงส่วนใหญ่จากพรรคเพื่อไทย มีมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับประชาชนที่มีวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เป็นผู้ผลักดัน

“ขอแสดงความเสียใจไปยังประชาชนผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติเช่นนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงานหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเฉพาะปัญหาของกองทุนประกันสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับถูกปฏิเสธจากตัวแทนที่พวกเราเลือกเข้าไปนั่งอยู่ในสภาฯ เสียเอง รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง และขอให้ผู้ใช้แรงงานทุกคนปฏิเสธรัฐบาลชุดนี้ เหมือนที่เขาปฏิเสธพวกเรา รัฐบาลไม่เคยฟังเสียงของผู้ใช้แรงงาน เอาแต่ใช้เสียงส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในสภาฯ รัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศแบบเผด็จการ”

ซึ้งน้ำใจรัฐบาล

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้ประกาศให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทจริง แต่ยังขาดเรื่องการป้องกันและปัญหาที่จะตามมาจากการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล บริษัทใหญ่ เขามีวิธีซิกแซ็ก ลูกจ้างตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่กล้าโวย ภาครัฐไม่มีนโยบายเชิงรุกเรื่องการตรวจ

“สิ่งที่รัฐบาลทำมาทั้งหมดหากจะบอกว่ารัฐบาลหลอกพี่น้องผู้ใช้แรงงาน คงไม่หลอก แต่เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ รัฐทำให้ตามสัญญาแต่หลังจากนั้นเป็นเรื่องของลูกจ้างกับนายจ้างต้องแก้ปัญหากันเอง”

ถามว่าพี่น้องผู้ใช้แรงงานรู้สึกกับเรื่องนี้อย่างไร ได้รับคำตอบว่า ส่วนหนึ่งก็เริ่มรู้แล้วว่ารัฐบาลเป็นอย่างไร แต่บางส่วนก็เป็นกลุ่มที่รักหมดใจ ในอนาคตแล้วความนิยมในรัฐบาลคงเริ่มลดลง แต่ไม่ได้หมายความว่าผู้ใช้แรงงานจะไม่เลือกรัฐบาลชุดนี้อีก เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด หัวคะแนนของนักการเมืองก็จะไปเข้าหาทางพ่อแม่และครอบครัวที่ยังชื่นชอบอยู่ แม้ว่าลูกหลานที่มาขายแรงงานในเมืองหลวงจะทราบดีว่ารัฐบาลเป็นอย่างไร สุดท้ายก็ต้องเลือกตามพ่อแม่ที่ขอร้องกันมา

หักหลังชาวนารอลงขาด

อีกโครงการหนึ่งที่ถูกจับตามองและเป็นส่วนหนึ่งในชัยชนะของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง คือ นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ที่ผ่านไปแล้ว 1 ฤดูกาล แม้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความไม่คุ้มค่าและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาด อีกทั้งวิธีการดังกล่าวยังเท่ากับรัฐบาลทำตัวเป็นพ่อค้าเสียเอง

ข้ออ้างเรื่องชาวนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้ถูกยกมาใช้เป็นข้อต่อสู้กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ในฤดูกาลที่ผ่านมารัฐบาลได้รับจำนำข้าวทุกเมล็ด แม้ว่าจะเคยถูกทักท้วงเรื่องพันธุ์ข้าวบางสายพันธุ์ซึ่งเป็นข้าวด้อยคุณภาพ แต่รัฐบาลก็ไม่ได้สนใจ ในฤดูกาลนี้รัฐบาลได้เพิ่มเงื่อนไขในโครงการรับจำนำข้าว ด้วยการไม่อนุญาตให้ข้าวที่มีอายุต่ำกว่า 100 วันเข้าร่วมโครงการ และอีกไม่นานนี้จะมีการประกาศโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มเข้ามา

เงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามาเท่ากับเป็นการลดปริมาณข้าวที่จะรับจำนำให้น้อยลง ต่างจากฤดูกาลก่อนที่รับจำนำข้าวทุกเมล็ด ปัญหาคือการประกาศในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นมีผลกับการรับจำนำในฤดูกาลปัจจุบัน ซึ่งมีชาวนาจำนวนหนึ่งที่ปลูกข้าวประเภทนี้ไปก่อนหน้าเพื่อนำเข้าร่วมโครงการรับจำนำเหมือนฤดูกาลก่อน แน่นอนว่าต้นทุนที่ได้ดำเนินการไปต้องไปวัดดวงกับราคาตลาด

หวั่นข้าวเน่า

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ สถาบันคลังสมองของชาติ ได้ลงตรวจพื้นที่ตามโรงสีในโครงการรับจำนำของรัฐบาล พบว่า “ขณะนี้ข้าวของรัฐบาลที่เก็บไว้ตามโกดังต่างๆ คุณภาพของข้าวเริ่มลดลง และถ้าปีหน้าไม่มีเงินแล้วจะทำอย่างไร สิ่งที่รัฐทำอยู่คือเอาชาวบ้านเป็นเกราะ สร้างความเสียหายสาธารณะ เมื่อรัฐไม่มีเงินก็จำเป็นต้องไปดึงเงินจากส่วนอื่นมา”

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวกล่าวว่า ข้าวที่มีคุณภาพลดลงเท่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้หมายถึงข้าวที่เก็บไว้เกิดความชื้นสูง มีทั้งส่วนที่ล้นโกดังจนไม่มีที่เก็บเพราะรัฐยังไม่สามารถระบายออกไปได้ หากปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ไม่ใช่เราจะขาดทุนจากการรับซื้อจากชาวนาสูงกว่าราคาตลาดเท่านั้น และถ้าข้าวชื้นจนเป็นเชื้อราก็ไม่สามารถขายได้ เท่ากับที่รับซื้อมานั้นเกิดความเสียหายทั้งหมด ภาระขาดทุนของรัฐบาลจะเพิ่มมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินกัน
โครงการบ้านหลักแรกและรถยนต์คันแรก
ชาวไร่มันเตรียมประท้วง

อีกหนึ่งโครงการที่รัฐบาลได้ดำเนินการมาคือ โครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลัง โดยในปี 2555/2556 ได้มีเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังยื่นหนังสือเรียกร้องแนวทางการแก้ปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำและขยายระยะเวลารับจำนำออกไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2556 เพราะระยะเวลารับจำนำจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2556 พร้อมเสนอให้เพิ่มโควตาในการรับจำนำ

ขณะที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 26 มีนาคม 2556 ได้รับทราบความคืบหน้าโครงการแทรกแซงตลาดมันสำปะหลังปี 2555/2556 โดยได้ปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการลงจากเดิมที่กำหนดเป้าหมายรับจำนำหัวมันสด 15 ล้านตัน เหลือ 10 ล้านตัน ในวงเงิน 30,481 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียน 26,950 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 3,531 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำกว่ากรอบวงเงินเดิมที่ได้รับอนุมัติในโครงการรับจำนำมันในปี 2554/2555 จำนวน 10 ล้านตัน ที่มีวงเงิน 32,096 ล้านบาท ถึงร้อยละ 5.03

พรรคชนะเป็นเรื่องหลัก

นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าวว่า ปัจจุบันนี้พรรคการเมืองมุ่งเน้นไปที่ชัยชนะในการเลือกตั้งเป็นหลัก ดังนั้นการออกนโยบายจึงหวังเพียงเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชนให้มาเลือกพรรคของตน โดยที่นโยบายนั้นทำได้จริงหรือไม่ถือเป็นเรื่องอนาคต หรือจะเกิดความเสียหายตามมาหรือไม่ไปวัดดวงเอาข้างหน้า เมื่อได้รับชัยชนะมาก็ทำให้ตามที่เคยหาเสียงไว้ ส่วนจะทำได้กี่วันกี่เดือนขึ้นอยู่กับสถานการณ์

เราได้เห็นแล้วว่าการลดราคาน้ำมันทำได้เพียงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น หลังจากนั้นก็ต้องกลับมาสู่สภาพเดิม และอาจจะต้องแบกรับภาระที่หนักกว่าเดิมในระยะยาว เช่นเดียวกับ 300 บาท ท้ายที่สุดตัวลูกจ้างเองก็ต้องเผชิญกับโอกาสของการถูกกดขี่หรือถูกเลิกจ้าง โดยรัฐบาลที่เลือกมาไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง แถมค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ 300 บาทที่ได้รับมาแทบจะไม่มีความหมาย

แม้กระทั่งเรื่องการจำนำข้าวในฤดูกาลนี้ก็ได้เพิ่มเงื่อนไขในการรับจำนำ ไม่ได้จำนำข้าวทุกเมล็ดเหมือนอย่างที่เคยเป็น หากรัฐบาลประสบปัญหาเรื่องเงินที่จะมาใช้ในโครงการนี้ โอกาสที่จะเลิกโครงการนี้ในฤดูกาลถัดไปย่อมมีความเป็นไปได้สูง รวมไปถึงโครงการแทรกแซงราคามันสำปะหลังที่สิ้นสุดโครงการในสิ้นเดือนมีนาคม 2556 โดยที่เกษตรกรผู้ปลูกมันเตรียมเคลื่อนไหวชุมนุม

รัฐบาลทำเพื่อให้รู้ว่าได้ทำ บางโครงการก็ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น โครงการบ้านหลังแรก ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 3 ปี จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รับความสนใจไม่มากนักเพราะกำหนดวงเงินไว้ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ที่ประสบความสำเร็จคงหนีไม่พ้นเรื่องโครงการรถคันแรก ที่มีรถเข้าร่วมโครงการมากกว่า 1.25 ล้านคัน ด้วยการคืนภาษีสรรพสามิตไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน ซึ่งถือว่าไม่มีความจำเป็นเพราะสวนทางกับนโยบายประหยัดพลังงานและเพิ่มปริมาณรถในถนนมากขึ้น และผู้ซื้อต้องเตรียมตัวเผชิญกับการฟ้องร้องเป็นคดีความและต้องคืนสิทธิประโยชน์ที่ได้รับมาในกรณีที่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามเงื่อนไข

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการของรัฐบาลที่ลดสิทธิประโยชน์ของกลุ่มคนรากหญ้า เช่น ลดการใช้ไฟฟ้าฟรีจาก 90 หน่วย เหลือ 50 หน่วย การปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG และ NGV กระทบกับหลายภาคส่วนและยังกระทบต่อโครงการบัตรเครดิตพลังงานที่ต้องการช่วยเหลือแท็กซี่ หรือโครงการพักหนี้ดีของ ธ.ก.ส. แต่ไม่ได้พักหนี้เสียให้กับเกษตรกร

แต่ในบางนโยบายก็ยังทำไม่ได้ อย่างเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ที่คนในกลุ่มนี้เทคะแนนเสียงให้กับพรรคเพื่อไทย หรือนโยบายเอาใจคนกรุง ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือโครงการสร้างเขื่อน-ถมทะเล

เมื่อนักการเมืองใช้วิธีการออกนโยบายด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อชัยชนะของพรรคเป็นหลัก ทำได้หรือไม่ได้ ประเทศชาติเสียหายหรือไม่ไม่สนใจ ท้ายที่สุดคนที่จะต้องแบกรับกับปัญหาที่รัฐบาลทำไว้ก็คือประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเลือกพรรคที่เป็นรัฐบาลหรือไม่ก็ตาม เพราะนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาลต่างใช้เงินจากภาษีอากรของประชาชนเข้ามาบริหารโครงการเหล่านั้น ไม่มีใครใช้เงินของตัวเองเข้ามาทำ เมื่อล้มเหลวก็เปลี่ยนรัฐบาล แต่ภาระที่เกิดขึ้นประชาชนทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ

กำลังโหลดความคิดเห็น