xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ไหน? ให้ดอกเบี้ยฝากสูงสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ยังเดินหน้าล่าเงินฝาก ยังให้ดอกเบี้ยเหนือดอกเบี้ยนโยบาย คนการเงินแนะล็อตสุดท้ายก่อน กนง.ปรับลง เกียรตินาคินงัดดอกเบี้ย 3.5% เข้าสู้ ขณะที่แบงก์รัฐอย่างออมสินและธอส.ร่วมวง พร้อมแนะระยะนี้แบงก์เปลี่ยนรูปแบบ เงินต้นที่ครบกำหนดไม่โอนเข้าบัญชีออมทรัพย์เหมือนเดิม แต่จะปรับต่อให้เป็นฝากประจำ ใครที่ไม่อยากเสียประโยชน์ควรไปทำรายการ พร้อมเลือกโปรโมชันใหม่

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนและวันแห่งความรักเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้เร่งออกโปรโมชันเงินฝากกันหลายแห่ง ท่ามกลางแรงกดดันจากกระทรวงการคลังให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อสกัดกั้นการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว

สำหรับโปรโมชันเงินฝากในช่วงนี้แต่ละค่ายจะให้อัตราดอกเบี้ยที่ใกล้เคียงกันระหว่าง 2.75-3.5% ระยะเวลาของการฝากจะอยู่ที่ราว 4-15 เดือน มีทั้งบัญชีเงินฝากประจำและออมทรัพย์พิเศษ

“ดอกเบี้ยชุดนี้อาจเป็นชุดสุดท้าย ก่อนที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้ หากปรับลดลงอีก 0.25% ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลงมาเหลือที่ 2.5%” แหล่งข่าวกล่าว

ดอกเบี้ยในเดือนกุมภาพันธ์เป็นการปรับลดมาจากโปรโมชันที่มีในเดือนมกราคม อย่างเงินฝาก 4 เดือนของธนาคารธนชาต ดอกเบี้ย 3.05% เพิ่งสิ้นสุดเมื่อสิ้นเดือนมกราคม พอเข้าเดือนกุมภาพันธ์มีโปรโมชันต่อคือเงินฝาก 118 และ 188 วัน ดอกเบี้ยระหว่าง 2.77-2.9% เท่านั้น ใครที่ต้องการฝากเงินคงต้องรีบล็อกดอกเบี้ยไว้ก่อน เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยคงปรับลดลงไปอีก

เมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์เงินฝากที่มีอยู่ในขณะนี้ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย อาจมีการปรับเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ยังขึ้นกับขนาดของธนาคาร หากเป็นธนาคารใหญ่ สาขามาก ตัวดอกเบี้ยจะไม่สูงนัก อย่างของไทยพาณิชย์กับกรุงไทยมีเงินฝาก 8 เดือน ดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.88% กับ 2.9% ต่างกันที่เงินฝากขั้นต่ำ กรุงไทยเริ่ม 5 หมื่นบาท ส่วนไทยพาณิชย์เริ่มที่ 1 แสนบาท

สำหรับดอกเบี้ยที่ให้ในอัตราสูงคือของธนาคารทิสโก้ 3.4% กำหนดวงเงินที่ 1 ล้านบาทกับเงินฝาก 4 เดือน ส่วนของเกียรตินาคินเป็นการบวกเพิ่มให้อีก 0.2% จากดอกเบี้ยฝากประจำ 12 เดือน ซึ่งดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 3.4-3.45% อีก

ขณะที่แบงก์เฉพาะกิจของรัฐที่โดดลงมาชิงเงินฝากในช่วงนี้คือ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กับเงินฝากประจำ 360 วัน ดอกเบี้ย 3.25% ส่วนธนาคารออมสินเป็นบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 199 วัน ดอกเบี้ย 2.75%

กรณีเงินฝากของธนาคารรัฐอย่าง ธอส.เป็นบัญชีเงินฝากประจำ ต้องเสียดอกเบี้ย 15% ดังนั้นดอกเบี้ยสุทธิจะอยู่ที่ 2.7625% ส่วนของแบงก์ออมสินเป็นเผื่อเรียกไม่ต้องเสียภาษีคือรับเต็ม 2.75% ถือว่าใกล้เคียงกันมาก แต่ของออมสินฝากสั้นกว่าราว 6 เดือนเศษ

“สถานการณ์ในเวลานี้แนะนำให้เลือกฝากยาวไว้ก่อน เพราะโอกาสที่ดอกเบี้ยจะปรับลดลงมีความเป็นไปได้สูง หรือใครสนใจเงินฝากออมทรัพย์พิเศษที่ไม่ต้องหักภาษีแล้วได้อัตราดอกเบี้ยสูงต้องสำรวจตัวเองให้ได้ก่อนว่า ท่านสามารถทำตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนดไว้ได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นได้ไม่คุ้มเสีย”

รู้เงื่อนไขก่อนตัดสินใจ

แหล่งข่าวแนะนำว่าในระยะหลังนี้ ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปรับรูปแบบเงินฝากที่ครบอายุใหม่ หากใครไม่สังเกตหรือไม่ฟังคำชี้แจงให้ดีก็อาจเสียประโยชน์ได้ เช่น เงินฝากโปรโมชัน A เมื่อครบกำหนดแล้ว ธนาคารจะไม่โอนเงินต้นที่ครบกำหนดเข้าในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เหมือนที่เคยทำมา แต่จะปรับให้เงินต้นที่ครบกำหนดแล้วกลายเป็นบัญชีเงินฝากประจำ เช่น 6 เดือนแล้วรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 6 เดือนในอัตราปกติ

พนักงานธนาคารแห่งหนึ่งแนะนำว่า ถ้าไม่ต้องการให้เสียประโยชน์ ผู้ฝากเงินจะต้องทราบว่าวันครบกำหนดของเงินฝากก้อนนี้เมื่อไหร่ และต้องมาทำรายการในวันที่เงินฝากครบอายุ เช่น ในวันนั้นต้องมาทำรายการถอนออก แล้วพิจารณาว่าในช่วงนั้นมีโปรโมชันเงินฝากดอกเบี้ยอัตราพิเศษด้วยหรือไม่ ถ้ามีและพอใจในโปรโมชันนั้นก็แสดงความจำนงที่จะฝากเงินในโปรโมชันที่ท่านสนใจ

แต่ถ้าท่านไม่มาทำรายการเอง เงินต้นของท่านก็อาจได้รับดอกเบี้ยที่ประมาณ 2% หรือต่ำกว่าถ้าดอกเบี้ยในวันดังกล่าวปรับลดลง

นอกจากนี้จะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นด้วยเช่น หากไถ่ถอนก่อนครบกำหนดจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราใด เพราะธนาคารพาณิชย์บางแห่งก็ไม่ให้ดอกเบี้ยเลย หรือปรับดอกเบี้ยลงมาเหลือแค่ออมทรัพย์เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีบางแห่งเคยคิดอัตราดอกเบี้ยให้ตามแต่ละช่วงเวลาที่ฝาก

ทั้งนี้ หากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา จะทำให้โปรโมชันเงินฝากครั้งต่อไปของธนาคารพาณิชย์ย่อมต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา ดังนั้นหากใครพร้อมในช่วงนี้ก็ควรใช้โอกาสนี้ฝากยาวล็อกดอกเบี้ยไว้ก่อนน่าจะเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด

กำลังโหลดความคิดเห็น