xs
xsm
sm
md
lg

ยุค “ยิ่งลักษณ์” คอร์รัปชันกันง่ายๆ ขยันจัดอีเวนต์กินส่วนต่าง 25-50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาคประชาชนเห็นพ้อง “คอร์รัปชันยุคนี้มากที่สุด” อานันท์ ปันยารชุน สารภาพน่าเป็นห่วง ชี้ลึกลับมากกว่าเดิม ทำเป็นเครือข่าย เศร้าใจคนดีๆ ติดอำนาจเงิน รสนา โตสิตระกูล ชี้คอร์รัปชันปรับโฉมผ่านอีเวนต์ กินง่ายไร้ตรวจสอบ แนะปฏิรูปการใช้เงินรัฐบาลควรดูประโยชน์แท้จริงที่ได้มากกว่าแค่สร้างภาพ ด้าน พลเดช ปิ่นประทีป เผยยุคนี้โกงแบบไม่แคร์ ขณะที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเมินปีหน้าเฉพาะงบรัฐสูบแค่ 30% ประเทศหายนะกว่า 2.82 แสนล้านบาท

จากผลการจัดอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกประจำปี 2555 ประเทศไทยได้อันดับที่ 88 จาก 176 ประเทศ ส่วนคะแนนได้เพียง 37 คะแนนจาก 100 โดยได้คะแนนเท่ากับประเทศมาลาวี โมร็อกโก ซุรินาม สวาซิแลนด์และแซมเบีย ส่วนในระดับเอเชียประเทศไทยอยู่อันดับที่ 11 จาก 21 ประเทศ โดยมีประเทศภูฏานอยู่ในอันดับ 4 และศรีลังกา อันดับ 9

นับได้ว่าอันดับภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยในปี 2555 หล่นจากปี 2554 จากอันดับ 80 มาอยู่ที่อันดับ 88

ตามมาด้วย นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในงาน “โปร่งใสยามบ่าย คนไทยไม่โกง” ว่า ปีนี้ผมมีอายุครบ 80 ปี และเป็นปีแรกที่ต้องขอสารภาพด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์และไม่มีอคติว่า ปีนี้ผมมีความห่วงใยเรื่องคอร์รัปชันในเมืองไทยมากที่สุด ตั้งแต่เกิดมา เพราะในอดีตการคอร์รัปชันเป็นเรื่องการให้ค่าน้ำชา ค่าสินบน การให้ของชำร่วย ช่วยเหลือในด้านต่างๆ ระหว่างบุคคลกับบุคคล หรือกลุ่มกับกลุ่มเท่านั้น
อานันท์ ปันยารชุน
แต่ปัจจุบันคอร์รัปชันมีความลึกลับมาก ไม่ใช่แค่ค่าน้ำชา สินบน แต่มีการวางยุทธศาสตร์ มีการวางแผนการณสำคัญที่สุดก็คือ มีการบูรณาการกันอย่างพร้อมเพรียง ไม่ใช่เรื่องของคนต่อคน หรือกลุ่มต่อกลุ่มอีกต่อไป ขณะนี้เป็นเครือข่ายกันหมด ครอบคลุมถึงนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ สื่อ องค์กรต่างๆ ทั้งรัฐวิสาหกิจ หรือแม้แต่องค์กรอิสระที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้น สุดท้ายสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การยึดครองพื้นที่ของประเทศทั้งหมด ทุกพื้นที่ ทุกกิจกรรม ทุกส่วน สมัยนี้จึงไม่ใช่เรื่องการโกงกิน ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่เป็นการ “กินเมือง” อะไรขวางซื้อหมด อำนาจเงินกลายเป็นอำนาจสูงสุด คนไม่มีค่า

นโยบายปัจจุบันจะนำความหายนะมาสู่ประเทศ ซึ่งตนเศร้าว่าคนดีๆ ที่มีความรู้ ก็ตกหลุม ติดกับอยู่กับนโยบายเหล่านี้ ดังนั้น สิ่งที่อยากฝากก็คือ คอร์รัปชัน มีความหมายมากกว่าทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวง และคอร์รัปชันไม่ใช่ความหมายเฉพาะเรื่องเงิน แต่การโกหกประชาชนก็เป็นหนึ่งของการคอร์รัปชัน ตราบใดที่เรายังเห็นคนที่มีอำนาจ มีความรับผิดชอบออกมาหลอกประชาชนทุกวัน วันละ 3 มื้อ อย่าหวังว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยได้ การที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวในประเทศไทยได้นั้น จะต้องทำให้คนไทยรู้สึกว่า เงินที่โกงกินเป็นเงินของเรา เรามีส่วนเป็นเจ้าของ อีกทั้งกลุ่มที่ทำงานเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันต้องบูรณาการการกระทำของคนทุกกลุ่มร่วมกัน จึงจะได้ประสิทธิภาพมากขึ้น

สอดคล้องกับศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ หรือกรุงเทพโพลล์ ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ความเห็นของคนกรุงต่อการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์” พบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 88 เห็นว่าระดับความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทย อยู่ในระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 12 เห็นว่าอยู่ในระดับน้อยถึงน้อยที่สุด

สำหรับต้นเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมไทยมีปัญหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชันอยู่ในปัจจุบัน ร้อยละ 62.9 ระบุว่าคือ นักการเมืองระดับชาติ (ส.ส. ส.ว.) รองลงมาร้อยละ 57.5 ระบุว่าคือ นักการเมืองท้องถิ่น (อบต. อบจ. ส.ก. ส.ข.) และร้อยละ 50.1 ระบุว่าคือ ตัวกฎหมายมีช่องโหว่ล้าสมัย

ส่วนความเห็นต่อรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 64.2 เห็นว่าให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 35.8 ให้ความสำคัญค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ทั้งนี้เมื่อถามต่อว่าพอใจต่อการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลชุดปัจจุบันมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 69.9 พอใจค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 30.1 พอใจค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

เมื่อถามว่า “หากการมีนโยบายประชานิยมของรัฐบาลต้องมาพร้อมกับการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ยังต้องการนโยบายดังกล่าวหรือไม่” คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 79.1 ระบุว่าไม่ต้องการ ขณะที่ร้อยละ 20.9 ระบุว่าต้องการ

สำหรับโครงการของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากที่สุดอันดับแรกคือ โครงการรับจำนำข้าว ร้อยละ 51.8 รองลงมาคือ โครงการฟื้นฟูภัยพิบัติและบริหารจัดการน้ำ ร้อยละ 19.3 และโครงการแท็บเล็ต ป.1 ร้อยละ 8.9

ถึงเวลาปฏิรูปใช้เงินรัฐ

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร รูปแบบของการคอร์รัปชันมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลังจากกรณีการทุจริตยาที่มีการสั่งซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ในราคาที่สูงเกินจริง รูปแบบการคอร์รัปชันได้ถูกปรับเปลี่ยนไป กลายเป็นลักษณะของการจัดการแบบอีเวนต์ เช่น เรื่องการออกกำลังกาย ขนคนมาร่วมงานเป็นหมื่นคน แจกเสื้อ 4 หมื่นตัว หลังจากนั้นทุกอย่างก็หายไปในพริบตา

ตรงนี้ไม่มีการเข้าไปดูว่าการจัดการงานนั้นเอื้อกับเครือข่ายของใครบ้าง รถที่เช่ามา ออร์แกไนเซอร์ที่จัดงาน คนผลิตเสื้อ หรืออื่นๆ ได้ไปเท่าไหร่ ราคาที่เสนอมาสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่ เรียกว่าโกงเนียน ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหลักฐาน

“แนวโน้มเรื่องการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชัน โดยส่วนตัวมองว่าไม่มีอะไรดีขึ้น ด้านหนึ่งเป็นเพราะนักการเมืองเก่งขึ้นในเรื่องนี้ หรืออีกทางหนึ่งคือมีการทุจริตกันมากจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบกันไม่ไหว ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือรัฐบาลไหน ถ้าไม่มีโปรเจกต์ก็ไม่มีคอมมิสชัน นโยบายสาธารณะที่อ้างเพื่อประชาชน แต่อิงประโยชน์ส่วนตัว ดังนั้นจึงมีการทำอีเวนต์กันทุกรัฐบาล”
รสนา โตสิตระกูล
ปัญหาอีกด้านหนึ่งคือกระบวนการใช้เงินงบประมาณของรัฐ ที่ไม่มีการวัดผลว่าเงินที่ใช้ไปนั้นคุ้มค่าหรือไม่ หลายนโยบายที่นักการเมืองคิดขึ้นมาไม่มีใครตามไปดูว่าเกิดประโยชน์จริงๆ กับประชาชนหรือไม่ แม้ว่าขั้นตอนเหล่านี้จะมีหน่วยงานรัฐอย่างเช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท.หรือ สตง.ตรวจ แต่จะเป็นการตรวจในเรื่องขั้นตอน วิธีการว่าถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่หรือไม่

ไม่มีการเข้าไปประเมินว่าโครงการดังกล่าวนั้นจำเป็นหรือคุ้มค่าหรือไม่ หรือบางกรณีที่รัฐให้สัมปทานกับเอกชนเพื่อหวังสร้างรายได้เข้ารัฐ แต่ไม่ได้มองถึงผลกระทบที่จะตามมากับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่อย่างไร หลายกรณีรัฐก็ต้องจ่ายเงินเพื่อเยียวยาหรือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนหลังจากที่ให้สัมปทานกับภาคเอกชนไปแล้ว เท่ากับรายได้ของรัฐที่ได้มาไม่คุ้มกับส่วนที่เสียไป

อย่างกรณีการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐนั้น ถือเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลซื้อแพงแล้วขายถูกได้ แต่ต้องไปดูว่ารัฐต่อรัฐนั้น ปลายทางเป็นรัฐจริงหรือไม่

นโยบายหรือโครงการในลักษณะนี้ระบาดไปทุกแห่ง มีเงินทอนให้นักการเมือง และตรวจสอบได้ยาก ถ้าเราไม่ปฏิรูปการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลก็จะกลายเป็นแหล่งผลประโยชน์ของนักการเมืองต่อไป

เรื่องเหล่านี้ต้องร่วมมือกันทั้ง ป.ป.ช.กับภาคเอกชนและประชาชน ต้องมีการสร้างกลไกให้เอกชนเข้ามาร่วมที่ง่ายขึ้น หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ประชาชนย่อมไม่ได้รับข้อมูลในเรื่องการทุจริต ท้ายที่สุดก็ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าเรื่องทุจริต คอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องปกติ

งบน้อย-จัดถี่

ที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานเปิดงานอยู่ตลอดเวลา เช่น เปิดงานรัฐบาลพบประชาชน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า งานเทศกาลไหม ประเพณีผูกเสี่ยวที่ขอนแก่น งาน OTOP Midyear 2012 งาน “มุ่งมั่นทำงานบริหารจัดการน้ำเพื่อประชาชน” งาน “รวมแรงไทย รักษาน้ำใสไหลทุกคูคลอง” ล่าสุดโครงการกองทุนตั้งตัวได้

ความซับซ้อนของแนวทางการทุจริต คอร์รัปชัน ถูกพัฒนาไปในรูปของการสร้างอีเวนต์ที่แยกได้ทั้งส่วนที่จัดงานเพื่อทำพิธีเปิด ในส่วนนี้จะต้องมีออร์แกไนเซอร์เป็นคนจัดงาน สถานที่ เวลา เชิญแขก ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หน่วยงานต้นเรื่องจะเป็นคนรับผิดชอบ

“อย่างบางงานที่เป็นแค่งานแถลงข่าวเล็กๆ งบจัดงาน 2 แสนบาท แต่มีการขอหัวคิว 5 หมื่นบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ทุกอย่างขึ้นอยู่กับขนาดของงาน งบประมาณและจำนวนผู้มาร่วมงาน หากเป็นงานระดับชาติที่เชิญคนมาเป็นหมื่นงบที่ใช้ต้องเยอะ ค่าหัวคิดก็จะผันแปรไปตามข้อตกลงที่เรียกกัน มีตั้งแต่ 25-50%

จากนั้นจึงเข้ามาสู่ขั้นตอนของการดำเนินกิจกรรม ตรงนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบกิจกรรม ความต่อเนื่องของโครงการ งบประมาณที่มี อย่างงานส่งเสริมให้บริโภคเกลือไอโอดีน ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานขาดแคลน แต่การส่งเสริมให้บริโภคเกลือไอโอดีนนี้มีการทำกันมานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะรัฐบาลนี้ ที่สำคัญคือควรจะมีการทำอย่างต่อเนื่อง เราเกรงว่าอย่างกรณีนี้เมื่อจบโครงการเรื่องนี้ก็เงียบหายไป

การจัดงานนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องจัดงบประมาณมาเพื่อจัดหาเกลือไอโอดีน และเครื่องผสมไอโอดีนเพื่อแจกจ่ายไปยังพื้นที่ขาดแคลน ตรงนี้ไม่มีใครทราบว่าผู้ผลิตเกลือไอโอดีนจะมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองเจ้าของโครงการหรือไม่ รวมไปถึงเครื่องผสมเกลือ ที่อาจจะมีการเสนอขายกันที่ราคาสูง หรืออาจได้เครื่องมือคุณภาพต่ำ

“ตรงนี้คงไม่มีใครเข้าไปตรวจสอบ เพราะถือว่าเป็นโครงการที่ใช้เงินไม่มากนัก แต่ถ้ามีโครงการขนาดเล็กหลายๆ โครงการ ในหลายกระทรวง เม็ดเงินที่หายไปก็มีไม่น้อย วิธีการนี้ถือเป็นการแจกจ่ายผลประโยชน์ไปยังเครือข่ายและพวกพ้อง ที่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับงานที่รัฐบาลจะจัด” แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

ไทย:ฝังลึกถึงความคิด

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวถึงสถานการณ์การคอร์รัปชันในประเทศไทยว่า แนวโน้มไม่ลดหย่อนผ่อนลง แต่กลับรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะสังคมไทยมีดินที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการทุจริตคอร์รัปชัน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป
ค่านิยมที่เอื้ออำนวยให้เกิดการคอร์รัปชันคือ สังคมไทยเป็นสังคมบริโภคนิยมสูงสุดโต่ง และยกย่องคนมีเงินมีอำนาจ สิ่งเหล่านี้คนไทยถูกปลูกฝังมานาน ปัญหานี้เข้าไปอยู่ในกระแสเจตคติของสังคมและวิถีชีวิตของคนแล้ว

คอร์รัปชันที่เราเห็นนั้นถือเป็นระดับผิวน้ำเท่านั้น แต่ลึกลงไปแล้วจะพบว่าการคอร์รัปชันมีการกระทำที่เป็นแบบแผน มีโครงสร้าง ทั้งจากระบบเศรษฐกิจ ข้าราชการ การทำมาหากิน อำนาจ การเมือง คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มองลึกลงไปถึงระดับโครงสร้าง ที่ลึกที่สุดของการคอร์รัปชันคือ ระบบความคิดและจิตใจ แต่ละคนมีสูตรความคิดแต่ละแบบ

ค่าดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก (Corruption Perception Index : CPI) ตามสายตาของต่างชาติที่มองมายังประเทศไทย ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2546-2555 จากจำนวน 185-186 ประเทศ พบว่าประเทศไทยสอบตกถาวรและอยู่ในระดับที่ลึกมาก

เรายังเชื่อว่าประเทศไทยสามารถที่จะแก้ปัญหาทุจริตและคอร์รัปชันได้ ดูได้จาก CPI ของเกาหลีใต้ ที่มีภาคประชาสังคมแข็งแรง ค่า CPI ปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ โดยในปี 2548 ขึ้นมาอยู่ที่ 5 คะแนนและปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจนถึง 6 หรืออย่างในประเทศอื่นที่ค่า CPI ปรับเพิ่มจากระดับ 2 กว่าขึ้นเป็นสูงกว่า 5 คะแนนใน 10 ปี อย่างประเทศรวันดาและจอร์เจีย และแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว

ผู้นำรัฐบาลต้องต้านโกง

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ สำคัญที่สุดคือผู้นำของรัฐบาลต้องทำหรือผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจัง

แม้ว่าประเทศไทยมีความพยายามจากทั้งในส่วนของ ป.ป.ช.ที่ทำให้เรื่องนี้เป็นแผนยุทธศาสตร์ของชาติ เริ่มในปี 2551-2555 ทำให้เรื่องการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันมีทิศทางที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ผลในทางปฏิบัติยังไม่คืบหน้า อีกส่วนหนึ่งคือการขับเคลื่อนของภาคเอกชนและประชาชน อย่างภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันและอีกหลายส่วนงาน จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

ทั้งหมดนี้ถ้ารัฐบาลไม่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน ซึ่งปัจจุบันก็ไม่ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง ก็จะกลายเป็นตัวแปรที่ถ่วงในเรื่องนี้ เรามีให้เห็นทั้งเรื่องจำนำข้าวและเรื่องงบประมาณในการบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

รูปแบบของการคอร์รัปชันแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศไทยปี 2544 ยุครัฐบาลไทยรักไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เรียกว่าคอร์รัปชันเชิงนโยบาย เราเป็นประเทศแรกที่สร้างขึ้นมา ซึ่งในต่างประเทศไม่มี มีแต่การทุจริตทั่วไป

ในรูปแบบนี้จะมีรัฐบาลกับรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดนโยบายออกมา ซึ่งสามารถทำได้เพราะมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ หากโครงการใดติดขัดในเรื่องกฎระเบียบก็มีการแก้ไขหรือออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายออกมารองรับเพื่อให้นโยบายดังกล่าวถูกต้อง

ส่อโกงแบบไม่แคร์

นโยบายประชาสังคมถือว่าเป็นประตูเข้าสำคัญของการทุจริต คอร์รัปชัน สามารถทำได้ตามอำนาจของรัฐบาลที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีวิธีการใช้เงินนอกงบประมาณเข้ามาสนับสนุนโครงการที่รัฐบาลสร้างขึ้น ซึ่งเงินเหล่านี้ไม่ต้องผ่านการตรวจสอบหรือพิจารณาของสภาผู้แทนหรือวุฒิสภา และโครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ก็เห็นชัดว่ามีการรั่วไหลมาก รวมไปถึงการทำข้อตกลงกับต่างประเทศที่เกี่ยวพันกับทรัพยากรของประเทศ มักจะมีการเชื่อมโยงไปยังผลประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองที่เตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว

เมื่อถามว่าประเทศอื่นเป็นอย่างไทยบ้างหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า ประเทศอื่นอย่างเกาหลีใต้หรือไต้หวันคนเป็นชนชั้นกลาง 70-80% คนเหล่านี้มีการศึกษาดี รู้เท่ากัน คนยากจนมีราว 8-10% ทั้งเกาหลีใต้และไต้หวันเขาได้ปรับเจตคติของคนในสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยพัฒนาประเทศมาพร้อมกับเกาหลีใต้ บ้านเรายังมีชนชั้นกลางแค่ 30%

เลขาธิการ สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา กล่าวต่อว่า “รัฐบาลชุดนี้ส่อแววโกงชนิดที่ไม่แคร์ผู้คน ท้าทาย เพราะเชื่อมั่นในพลังรากหญ้า แต่ก็ถือว่ามีความประมาท เพราะในอีก 2-3 ปีคนเหล่านี้ก็จะรู้สึกว่าคนไม่ไหวกับสิ่งที่เป็นอยู่ เราจะได้เห็นการลุกขึ้นมาของคนกลุ่มนี้ และจะเป็นแรงสะท้อนกลับไปยังนักการเมือง”

เชื่อว่าการตระหนักถึงพิษภัยของการทุจริต คอร์รัปชัน ในประเทศไทยนั้นทำให้ดีขึ้นได้ แต่อาจต้องใช้เวลา เราต้องหวังถึงคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปีลงไป เริ่มเห็นแล้วว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ที่แฝงไปด้วยการทุจริต คอร์รัปชัน คนกลุ่มนี้จะเป็นความหวังของประเทศ ส่วนกลุ่มรากหญ้าในวันหนึ่งเมื่อได้รับความเจ็บปวดจากนโยบายของรัฐบาลนี้ ท้ายที่สุดพวกเขาก็จะได้สติและคิดได้

กินงบรัฐปีหน้า 2.8 แสนล้าน

ดร.มานะ ตรียาภิวัฒน์ ผู้อำนวยการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยมีแนวโน้มมากขึ้น แนวโน้มมาจากข้าราชการและนักการเมือง องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติและหอการค้าไทย รวมถึงที่ประชุมเอเปคพบว่านักธุรกิจจ่ายเงินใต้โต๊ะในปริมาณสูงขึ้น ประเมินว่ามีการจ่ายใต้โต๊ะกัน 30% ถ้าเป็นในระดับตำบลจะอยู่ที่ 50-60%
มานะ ตรียาภิวัฒน์
ตัวเลขเดือนมิถุนายน 2555 ตัวเลขของหอการค้าไทย คำนวณที่ค่าเฉลี่ย 30% จะพบว่ามูลค่าของการทุจริต คอร์รัปชันที่รัฐจะต้องเสียไปเป็นวงเงินถึง 252,000 ล้านบาท และในปี 2556 งบลงทุนของรัฐและรัฐวิสาหกิจเฉลี่ยที่อัตราเดิม วงเงินของการคอร์รัปชันในส่วนนี้จะอยู่ที่ 282,000 ล้านบาท

สำหรับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวมตัวกันได้ปีกว่า ตรงกับรัฐบาลชุดนี้พอดี ไม่ได้หมายความว่าจะมุ่งต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันเฉพาะช่วงสั้นๆ แต่เราจะต่อสู้ในเรื่องนี้ในระยะยาว

กระบวนการทุจริตคอร์รัปชันขนาดใหญ่ จะประกอบด้วย 3 ขา คือ ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ ถ้าเป็นระดับรองลงมาก็อาจจะเหลือแค่ตัวข้าราชการกับนักธุรกิจ หรือในบางกรณีอาจจะมีขาที่ 4 อีกคือนักวิชาการ ที่ทำการศึกษาและวิจัยในโครงการต่างๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน

ที่ผ่านมามีการคอร์รัปชันตามแบบ คือเป็นไปตามระบบข้าราชการหรือหาช่องว่างจากกฎเกณฑ์เดิมที่มีอยู่ และคอร์รัปชันเชิงระบบ ใช้กฎหมายสร้างกฎระเบียบใหม่ขึ้นมา รูปแบบนี้ดูได้จากขนาดและอำนาจของผู้อนุมัติ เป็นกระบวนการที่กว้างกว่า ถูกกฎหมาย เสนอบอร์ดอนุมัติเป็นความชอบธรรมทางกฎหมาย

ที่สำคัญขั้นตอนของการคอร์รัปชัน ต้องมีการวางแผนในการสร้างกระบวนการคอร์รัปชัน และต้องมีกลไกในการปกปิดตัวเองเป็นเครื่องป้องกัน

สถานการณ์การทุจริตหรือคอร์รัปชันในภาคเอกชน คำนวณได้ยากเพราะมีหลากหลายปัจจัย แต่จากการที่ภาคเอกชนของไทยรวมตัวกันต่อต้านในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดี มีโครงการ “โตไปไม่โกง” เข้าไปอบรมตามโรงเรียน ทำให้ทิศทางข้างหน้าดีขึ้น เห็นได้จากเมื่อ 20 ปีที่แล้วนักวิชาการที่ทำวิจัยเรื่องนี้ มักจะไม่มีนักธุรกิจคุยด้วย แต่ตอนนี้ให้ความร่วมมือดี เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ทาง CG watch ที่ดูแลเรื่องธรรมาภิบาล ได้จัดอันดับบริษัทจดทะเบียน ประเทศไทยเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ชนะญี่ปุ่น มาเลเซีย ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี

ขณะที่ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่องปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในวงการธุรกิจเอกชนไทย เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่ารูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันในภาคธุรกิจเอกชน ประกอบไปด้วยการปกปิดข้อเท็จจริง สร้างข้อมูลเท็จ การหลีกเลี่ยงภาษีอากร การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน กฎระเบียบของกฎหมาย การติดสินบน การจัดซื้อจัดจ้าง การฮั้วประมูล การใช้ข้อมูลภายใน การสร้างราคา การยักยอกเงินบริษัทและการฟอกเงิน

กำลังโหลดความคิดเห็น