xs
xsm
sm
md
lg

‘นิด้า’ชี้งบน้ำ3.5แสนล้านไม่คุ้มค่าศก.-หวั่นโกงอื้อ แนะช่องทางหาเงินเข้ารัฐ-ดัดหลังกลุ่มทุนการเมือง! (ตอน2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจนิด้าฟันธง! การจัดสรรงบประมาณปี 56 ประกอบกับวิกฤตยุโรป-กรีก ทำให้ไทยสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เตือนรัฐใช้เงินต้องระวังวินัยทางการคลัง ชี้จากการศึกษาวิจัยงบป้องกันน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท โดยเฉพาะในส่วน “โครงการเขื่อนแม่วงก์” ซึ่งเป็นอภิมหาโปรเจกต์ลงทุน 1.3 หมื่นล้านบาท เห็นควรยกเลิกด่วนที่สุด เพราะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แถมช่วยน้ำท่วมได้แค่ 1% ติงรัฐไม่ควรคิดเพียงแค่ใช้เงิน แต่ควรวางแผนหารายได้เพิ่มด้วยการเก็บภาษีที่ดินแบบอัตรามูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะที่ดินรอบเมกะโปรเจกต์ที่มีแต่กลุ่มธุรกิจการเมืองเท่านั้นที่ได้ประโยชน์!

การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ของรัฐบาลจำนวนทั้งสิ้น 2.4 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่ตั้งไว้แบบขาดดุล กล่าวคือรัฐบาลตั้งงบรายจ่ายไว้ที่ 2.4 ล้านล้านบาท แต่คาดว่าจะมีรายได้เพียง 2.1 ล้านล้านบาท เท่ากับรัฐบาลตั้งใจที่จะขาดดุลงบประมาณ 3 แสนล้านบาท และมีแผนที่จะกู้เงินโดยออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ก่อหนี้ประมาณ 1.6-2.2 ล้านล้านบาท สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 7 ปี โดยจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) ขยับขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 50% จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 42.55% ของจีดีพี ซึ่งจะใกล้กรอบวินัยการคลังที่กำหนดเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของจีดีพีเข้าไปทุกขณะ!

อย่างไรก็ดี “ทีม Special Scoop หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน” ได้นำเสนอตอนที่ 1 ในเรื่อง “ทีดีอาร์ไอ” ตีแผ่ประชานิยม 2 พี่น้องชินวัตร! จี้ “6โครงการ” ต้องเลิกหวั่น ศก.พัง เสนอโมเดลรัฐสวัสดิการของแท้ (ตอนที่ 1) ไปแล้วนั้น

โดย ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การที่หนี้สาธารณะจะขึ้นไปถึง 50% นั้น ยังไม่ได้รวมเงินในก้อนส่วนที่ขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งวันนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ออกมารายงานผลการดำเนินโครงการรับจำนำพืชผลการเกษตรถึงวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมาแล้วว่า มีการใช้เงินรับจำนำไปแล้ว 3.01 แสนล้านบาท และประเมินว่าโครงการพืชผลทางการเกษตรทั้งหมดจะต้องใช้เงินถึง 3.33 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการรับจำนำข้าวดูจะน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะเป็นโครงการประชานิยมที่ประเมินแล้วว่าจะขาดทุนมหาศาล โดยที่ผ่านมานักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์หลายคน รวมถึงนักวิชาการจากสถาบันทีดีอาร์ไอที่เคยทำวิจัยเกี่ยวกับผลขาดทุนในเรื่องข้าวไปแล้วในการรับจำนำในสมัยทักษิณ 1-2 ก็ระบุชัดว่า อย่างน้อยจะมีการขาดทุนถึง 1 แสนล้านบาท ที่น่ากลัวคือจะทราบผลการขาดทุนที่แท้จริงเมื่อรัฐบาลขายข้าวทั้งหมดออกไป ดังนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่แท้จริงของประเทศไทยต้องมากกว่าที่ปรากฏ คืออาจจะแตะ 60% ของจีดีพีในไม่ช้านี้แล้ว

ที่น่าสนใจคืองบประมาณปี พ.ศ. 2556 นั้นมีงบลงทุนเพียง 18% ขณะที่งบมหาศาลของรัฐบาลจะทุ่มไปที่งบป้องกันน้ำท่วมในจำนวน 3.5 แสนล้าน ซึ่งในส่วนนี้เมื่อมีการศึกษาประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจะพบว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่ากับการลงทุนจนกลายเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลได้ในที่สุด!

หยุดเขื่อนแม่วงก์-กันน้ำท่วมได้แค่ 1%

“ตัวเลขที่ประกาศมาว่าปีนี้จะมีจีดีพีประมาณ 5% ยังถือว่าเป็นตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกว่าปกติเล็กน้อย แต่เมื่อดูลึกลงไปในรายละเอียด กลับพบเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากมาย โดยเฉพาะงบน้ำท่วมที่รัฐบาลตั้งไว้ในจำนวนสูงถึง 3.5 แสนล้าน ภาพที่น่าเสียใจคือเมื่อเอารายละเอียดในการประเมิน EIA ของโครงการเขื่อนแม่วงก์ที่รัฐบาลเตรียมสร้างในลำดับแรกๆ มาดูจะพบว่าไม่คุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจเลย แทนที่จะช่วยแก้ปัญหากลับเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนเสียมาก” รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าว

รศ.ดร.อดิศร์กล่าวต่อว่า โครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เมื่อเอาตัวเลขการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (ERR) โครงการเขื่อนแม่วงก์ มาดูและนำมาวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจอีกที พบว่า ไม่คุ้มค่าการลงทุน คือผลประโยชน์ที่จะช่วยน้ำท่วมได้มีแค่ 1% เท่านั้น! (ดูตาราง การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โครงการเขื่อนแม่วงก์ ประกอบ)



 
“โครงการขนาดใหญ่ซึ่งปกติเวลาเสนอโครงการแบบนี้ จะมีการพิจารณาอนุมัติหลายขั้นตอน แต่พอนำเสนอโดยอ้างเรื่องน้ำท่วม โครงการนี้ก็ผ่านได้ง่ายๆ แต่ปรากฏว่าเป็นเรื่องเซนซิทีฟมาก เพราะการที่มีความคุ้มค่าปริ่มๆ กับเงินลงทุน ถ้าหากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นแต่เพียงนิดเดียว เขื่อนก็ขาดทุนทันที”

นอกจากนี้ โครงการนี้ยังทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ 11,851 ไร่ คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียสูงถึง 649.17 ล้านบาทด้วย

ดังนั้นที่แท้จริงแล้วการแก้ปัญหาที่ถูกต้องจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้เพิ่มขึ้น เพื่อกักเก็บน้ำ หน้าแล้งก็มีน้ำใช้ แต่คำถามคือทำไมรัฐบาลถึงไม่เลือกปลูกป่า?

“ปลูกป่าเป็นงานยาก รัฐบาลไม่อยากทำ เพราะทุกวันนี้มีการพูดถึงกันมากว่ามีกลุ่มผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจเข้าไปเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่า โดยเฉพาะทุนขนาดใหญ่ด้านการเกษตรที่เข้าไปมีบทบาทและต้านการปลูกป่าเพื่อเอาพื้นที่ป่าไปทำประโยชน์ให้ธุรกิจตัวเอง”

แฉบริษัทยักษ์ใหญ่เมล็ดพันธุ์ขวางปลูกป่า
 

รศ.ดร.อดิศร์เปิดเผยว่า ผลประโยชน์เชิงธุรกิจที่สวนทางกับการปลูกป่านั้นมีมานานแล้ว โดยจะเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ทำอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์พืชทางด้านการเกษตร แต่พบปัญหาคือ คนที่ปลูกพืชมาขายเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยที่มีการบุกรุกป่าสงวนเพื่อปลูกพืชมาขายบริษัทยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะ “ข้าวโพด” ที่จะต้องเพิ่มยอดการผลิต เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ ได้เพิ่มเป้าผลผลิตการเลี้ยงสัตว์ขึ้น โดยเฉพาะการเลี้ยงหมู

นอกจากนี้ก็ยังมีการส่งเสริมให้เกษตกรปลูกยางพารา และมีการนำไปปลูกในพื้นที่สูงในจำนวนมากด้วย ข้อเสียคือต้นยางพารานั้นไม่เกาะดิน ถ้าเจอลมพายุฝนเข้าไป ต้นยางพาราก็จะหลุดออกมาได้โดยง่าย คือไม่เหมาะกับการปลูกป่าเพื่อชะลอการไหลของน้ำในภาคเหนือ

การแก้ปัญหาด้านการบุกรุกที่ทำกินบนภูเขา ที่ยากอยู่แล้วในการที่รัฐบาลจะย้ายคนออก เพราะเกี่ยวข้องกับการหาอาชีพรองรับให้คนกลุ่มใหญ่ รวมถึงต้องจัดหาที่ดินทั้งอยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้ ที่ผ่านมาจึงแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินทำกินในภูเขาสูงได้ยาก

เมื่อรวมกับปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจแล้วจะเป็นเรื่องยากมากขึ้นไปอีก เพราะกลายเป็นระบบการค้ำจุนกันของเกษตรกรกับบริษัทธุรกิจยักษ์ใหญ่ จึงมองว่าไม่ว่ารัฐบาลใดจะทำนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าได้ยากมาก

“เบื้องหลังที่ปลูกป่าไม่ได้เพราะนายทุนทำธุรกิจอาหารสัตว์ รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลเชิงธุรกิจ ธุรกิจการเมือง คงแก้ปัญหาการเพิ่มพื้นที่ป่าไม่ได้ง่ายๆ ถือเป็นงานท้าทายมาก”

คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ บอกด้วยว่า แม้จะเป็นเรื่องยากในการปลูกป่าของรัฐบาลก็ตาม แต่เรื่องนี้มีทางออกโดยจะต้องทำโครงการพื้นที่ป่าชุมชนขึ้นมา ที่สำคัญจะต้องมีโมเดลการบริหารจัดการที่ดี เช่น ต้องไม่ให้รัฐเป็นผู้ปลูกป่าโดยลำพัง เวลาปลูกป่าทดแทน ก็อย่าไปเอาคนออกจากป่า ให้รัฐเป็นผู้ปลูกป่าไม้เนื้อแข็งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจเล็กๆ แซม เช่น พริก หรือพืชผัก ที่มีอายุการปลูกสั้นๆ เป็นต้น เพื่อให้เขาสามารถเก็บพืชผลขายได้ มีรายได้หมุนเวียนตลอดไป ไม่ใช่รอจน 5 ปี 10 ปีที่ต้นไม้ใหญ่โตจึงจะมีรายได้

“ไม่เห็นด้วยจริงๆ กับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำสามารถทำได้หลายวิธี และก็มีคนพูดถึงกันมากว่าปัญหาน้ำท่วมในปีที่แล้วนั้น เกิดมาจากการบริหารน้ำในเขื่อนที่การเปิด-ปิดเน้นประโยชน์ทางเศรษฐกิจนำ คือเทคนิคการปล่อยน้ำมีปัญหา และปีนี้มีการแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว”

สำหรับเขื่อนแม่วงก์นั้น รัฐบาลโดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 เมษายน 2555 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,280 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 8 ปี โดยผูกพันงบประมาณถึงปีงบประมาณ 2562
ภาพจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
 
ทั้งนี้ ข้อมูลจากมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร รายงานด้วยว่า ป่าแม่วงก์ ถือเป็นป่าที่สำคัญมากในส่วนของผืนป่าตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 17 ผืน ต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าใหญ่ถึง 11.7 ล้านไร่ เป็นผืนป่าใหญ่ที่สุดของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น เสือโคร่ง ช้าง กระทิง วัวแดง สมเสร็จ ควายป่า ฯลฯ

รศ.ดร.อดิศร์กล่าวว่า ในจำนวนงบประมาณช่วยน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท แม้ตัวเลขความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้นอยู่ในระดับปริ่มๆ และมีปัจจัยที่ทำให้ไม่คุ้มทุนได้ง่ายมาก อีกทั้งยังจะเป็นโครงการที่มีช่องทางการทุจริตได้มาก จึงเห็นว่ารัฐบาลควรหยุดการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ปรับลดงบประมาณช่วยน้ำท่วมลง และควรพิจารณาใหม่ว่าทำอย่างไรถึงจะคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ โดยน่าจะเน้นการลงทุนที่อิงกับธรรมชาติมากที่สุด เช่น สร้างถนนเพื่อให้เป็นเขื่อนในตัวด้วยจะดีกว่า

“สถานภาพของไทยตอนนี้ เหมือนทุกคนอับจนปัญญา อำนาจเศรษฐกิจใหญ่มากสำหรับสังคมไทย หลายธุรกิจกุมบังเหียนใหญ่รัฐบาลด้วย เพราะทุกวันนี้บริษัทยักษ์ใหญ่คุมส่วนแบ่งการตลาดแบบเบ็ดเสร็จ การค้าขายไม่ได้คึกคักจริงเหมือนภาพที่ปรากฏ ซึ่งสร้างปัญหาให้กับสังคมไทย คือทำให้เม็ดเงินไปกระจุกตัวอยู่ในโครงสร้างด้านบน แต่เม็ดเงินลงไปหาคนจนน้อยมาก”

พื้นที่ป่าลด-หน้าดินเสียหายหนัก

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.อดิศร์บอกอีกว่า ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดินทั่วประเทศไม่คุ้มค่า ซึ่งขณะนี้ได้เข้าร่วมทำงานวิจัยกับทางทีดีอาร์ไอในเรื่อง “การศึกษาสัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เหมาะสม” โดยทางนิด้าจะเป็นผู้ศึกษาด้านผังเมือง ซึ่งเป็นส่วนของต้นทุนที่สำคัญตัวหนึ่งของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของ Land used หรือการใช้ประโยชน์จากที่ดิน

“ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดูแลการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กรมป่าไม้ ฯลฯ มีการประเมินพื้นที่ดินใช้ประโยชน์แบบต่างคนต่างทำ พอรวมกันแล้วกลายเป็นว่าพื้นที่ดินของประเทศไทยเกินจริง เพราะว่ายังไม่ได้มีการทำงานแบบเอาข้อมูลมารวมกัน ตอนนี้ทีดีอาร์ไอจึงมีการเข้ามาศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อศึกษาตั้งแต่วัฒนธรรมการปรับเปลี่ยนวิธีคิดเด็กรุ่นใหม่ ว่าทำไมไม่อยากเป็นเกษตรกร แล้วนำเสนอแนะเป็นนโยบายการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคต่อไป”

อย่างไรก็ดี จากการศึกษามาระยะหนึ่งพบภาพลบอย่างมาก คือประเทศไทยเวลานี้มีตัวเลขการสูญเสียพื้นที่ป่า 30% เหลือ 26% โดยพบปัญหาใหญ่จากพื้นที่ปลูกยางและปลูกข้าวโพด ซึ่งไม่ได้ช่วยด้านระบบนิเวศวิทยามากนัก ส่วนด้านการเกษตรอีกไม่นานประเทศไทยไม่อาจส่งเสริมภาคการเกษตรให้เป็นเศรษฐกิจหลักได้อีกต่อไปเพราะปัจจุบันหน้าดินเสียหายอย่างมาก และปัญหาที่ดินถูกครอบครองโดยคนต่างชาติก็เป็นปัญหาที่วิกฤตหนักขึ้นทุกวัน

เสนอรัฐเก็บภาษีที่ดินรอบเมกะโปรเจกต์
เอาคืนกลุ่มธุรกิจการเมืองไซฟ่อน

คณบดีคณะพัฒนาเศรษฐกิจ ย้ำอีกว่า การศึกษาเรื่องนี้ได้โยงไปถึงการคิดเรื่องภาษีที่ดินด้วย โดยมีความเห็นว่า ปกติในการคิดภาษีฐานมูลค่า จะมีการคิดภาษีที่ดินแบบภาษีบำรุงท้องที่ แต่ครั้งนี้จะมีการเสนอว่าควรมีการคิดภาษีแบบ capital gain หรือเก็บตามมูลค่าเพิ่มของที่ดิน

เนื่องเพราะทุกวันนี้พบว่าเมื่อรัฐบาลมีนโยบายอะไรที่ส่งผลกระทบกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่นการสร้างสนามบิน หรือทำเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เช่นสร้างรถไฟฟ้า ทำให้ถนนรอบรถไฟฟ้ามีมูลค่าสูงขึ้นทันที

“มันมีการไซฟ่อนนโยบายของรัฐเข้าเอกชน คือมักจะมีข่าวก่อนหน้าว่ารัฐบาลจะไปสร้างเมกะโปรเจกต์ที่ใด และมีทั้งนักการเมืองและนักธุรกิจที่ใกล้ชิดไปดักซื้อที่ดินในบริเวณนั้นไว้ก่อน เมื่อโครงการรัฐเข้าไปดำเนินการ ก็ทำให้มูลค่าทรัพย์สิน หรือที่ดินที่คนกลุ่มนี้ที่ไปกว้านซื้อไว้ก่อนหน้านั้นมีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งส่วนนี้ควรจะมีการประเมินมูลค่าและหมุนเงินกลับคืนเป็นรูปภาษีกลับให้รัฐด้วย ซึ่งไม่ได้ทำให้คนจนเดือดร้อน”

ขณะเดียวกันรัฐบาลอาจจะต้องใช้วิธีเลิกภาษีธุรกิจเฉพาะ เพื่อมาเก็บภาษีที่ดินแบบใหม่ ซึ่งจะสามารถเป็นไปได้ หากรัฐบาลเกรงว่าจะถูกต่อต้านจากบรรดากลุ่มทุนทางการเมือง

“กลุ่มได้ประโยชน์จากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ได้กำไรอยู่แล้ว การเอาภาษีกลับคืนให้รัฐอย่างไรก็ไม่ขาดทุน ทุกวันนี้คนกลุ่มนี้กลับเสียภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ซึ่งเป็นจำนวนเงินน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่ากำไรที่ได้รับ กำไร 100 บาทขอเก็บภาษีสัก 30% รายได้ก็กลับเข้ารัฐจำนวนมาก”

ทั้งนี้ เชื่อว่าการเก็บภาษีแบบมูลค่าเพิ่มของที่ดินนั้น จะทำได้ยากยิ่งกว่าการแก้ปัญหาพื้นที่ป่า เพราะคนเสียผลประโยชน์กลุ่มใหญ่คือกลุ่มนักการเมือง และกลุ่มทุนทางการเมืองนั่นเอง
ดังนั้นเรื่องนี้จึงอยู่ที่การตัดสินใจของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย จะเดินหน้าอย่างไร!

ต้องยกเลิก “จำนำข้าว-รถคันแรก”

นอกจากนี้ รศ.ดร.อดิศร์เห็นว่า ในระหว่างที่ตัวเลขด้านรายได้ของรัฐยังไม่ชัดเจน รวมทั้งยังไม่สามารถหารายได้มาเพิ่มได้ ควรยกเลิกประชานิยมที่เป็นปัญหากับเศรษฐกิจมากกว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจไปก่อน โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว และโครงการรถคันแรก

“เม็ดเงินที่ดูเหมือนลงไปหาคนจนนั้นคือโครงการประชานิยมด้วย แต่ทุกวันนี้ก็กลายเป็นประชานิยมที่ช่วยชนชั้นกลางมากกว่า แถมโครงการที่ดูเหมือนจะช่วยชาวนาก็สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจมาก คือโครงการประกันราคาข้าวที่ทำลายภาคการเกษตรไทยอย่างชัดเจน ราคารับจำนำก็เป็นเหมือนราคาหลอน ไม่ใช่ราคาที่เหมาะกับตลาด แถมยังมีข่าวการลักลอบเอาข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิรับจำนำกันอย่างมาก ส่วนโครงการรถยนต์คันแรก เท่าที่เห็น ก็พบว่ามีนักวิจัยที่เป็นคนชั้นกลางไปซื้อรถคันใหม่กันหลายคนมาก ก็ได้ลดราคาไปคันละ 1 แสน ซึ่งไม่จำเป็น และควรยกเลิก”

ที่สำคัญในเวลานี้คือ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะดูเป็นตัวเลขที่ดี แต่ต้องดูปัญหากรีก และยุโรปประกอบด้วย ซึ่งเวลานี้ประเมินแล้วว่าน่าจะมีปัญหาบานปลายทำให้เศรษฐกิจตกต่ำมากขึ้น และจะเป็นลูกโซ่กระทบไปที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา และจีน และจะกระทบกับไทยด้วย เนื่องจากเมืองไทยยังพึ่งพาการส่งออกเป็นสำคัญ


กำลังโหลดความคิดเห็น