ช่องสีฟ้ามาเหนือ เริ่มออนแอร์ “เกมส์เอาอยู่” เอาสถานการณ์น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์มาประยุกต์ ใครตกช่องรัฐบาลเจอสภาพน้ำท่วม จั๊ด ธีมะ จัดหนักทั้งแสบทั้งคัน “เถกิง” เผยผลตอบรับดี เตรียมทำเกมส์เอาอยู่แจก พร้อมเพิ่มคอนเสิร์ตในฟ้าบ้านทุ่ง
ช่องบลูสกาย แชนแนล เริ่มออกอากาศรายการ “เกมส์เอาอยู่ The Flood Way” ตอนแรกไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกมโชว์ดังกล่าวเป็นการนำเอาเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 เข้ามาทำเป็นเกมประยุกต์จากเกมงูตกบันได นำเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย(ศปภ.) นายกรัฐมนตรี รวมถึงหน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องทางการเมืองเข้ามาประยุกต์ใช้กับเกม โดยมี ดีเจจั๊ด-ธีมะ กาญจนไพริน มาเป็นพิธีกรนำ
นายเถกิง สมทรัพย์ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ บลูสกาย แชนแนล กล่าวว่า ทางบลูสกายของเราไม่ได้ทำรายการเพื่อไปเปรียบเทียบกับใคร เรามีเนื้อหาและแนวทางของเราเอง
รายการทั้งหมดของสถานีมีรายการแนวดิ่งสำหรับแฟนสีฟ้าประเภทฮาร์ดคอร์ ที่เนื้อหาในการนำเสนอเน้นไปในทางการเมือง เช่น รายการสายล่อฟ้า ฟ้าทะลายโจรหรือร้อยข่าวยามเย็น รายการประเภทนี้จะเรียกลูกค้าประจำได้
ส่วนรายการแนวขวาง ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นรายการที่คนทั่วไปชมได้ และเพื่อให้แฟนกลุ่มฮาร์ดคอร์ได้ผ่อนคลายและได้ความรู้เพิ่มขึ้น เช่น รายการเก่ง+เฮง ที่เป็นเรื่องฮวงจุ้ย ส.น.อาสา ซึ่งเป็นคนที่ลงพื้นที่เป็นอาสาสมัครมาก่อนที่จะเข้ามาทำงานการเมือง
นอกจากนี้ยังมีรายการทางประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราช ส่งเสริมท้องถิ่นไทย เจาะลึกเรื่องมีคุณค่าของท้องถิ่น เพื่อให้ผู้ชมมีความรักท้องถิ่น สนับสนุนความเป็นไทย และต่อไปจะมีรายการหนังสั้นหรือรายการอื่นๆ และกำลังจะเพิ่มเติมจากเดิมที่มีอยู่คือรายการฟ้าบ้านทุ่งที่ศิรินทรา นิยากร จัดอยู่ให้เป็นคอนเสิร์ต เตรียมการที่จะคัดเพลงในอดีต 30 เพลงมา
สำหรับ เกมส์เอาอยู่ The Flood Way นั้น จะออกอากาศทุกวันอาทิตย์เวลา 16.00 น. ครั้งต่อไปจะเป็นตอนที่ 2 โดยในตอนแรกที่ออกอากาศไปนั้น ผลตอบรับออกมาดี ซึ่งเป็นการพัฒนามาจากเกมงูตกบันไดที่ใช้เวลาพัฒนามาราว 3 เดือน เนื้อหาจะเป็นการจำลองสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปลายปี 2554 มาประยุกต์ ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าการเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยของภาครัฐนั้น หากล่าช้าแล้วจะทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน
"เดิมทีเราทำตารางของเกมไว้ 100 ช่อง แต่ปรับมาเหลือ 30 ช่อง เพื่อให้เหมาะสมกับเวลา ต่อไปเราจะทำเกมนี้ที่เป็นกระดาษแจกพร้อมลูกเต๋าให้กับผู้สนใจ แต่ถ้ามีงบประมาณมากขึ้นก็อาจพัฒนาเป็นเกมในคอมพิวเตอร์"
ต้องยอมรับว่าการทำรายการเกมประเภทนี้ต้องใช้เงินเยอะ แต่เราได้ลดต้นทุนลงมาเหลือเพียงไม่กี่หมื่นบาท เช่น สถานที่ถ่ายทำริมคลองพระโขนงเราใช้ฟรี คนที่มาเล่นเกมก็จะเป็นพิธีกรในรายการ และอาสาสมัครที่ประสบกับภัยน้ำท่วมจริงๆ โดยที่พวกเขาไม่รู้มาก่อนว่าเมื่อเดินไปแต่ละช่องจะต้องเจอกับอะไรบ้าง
“เราหาโฆษณาจากรายการนี้ได้พอสมควร เช่น พวกป้ายร้านอาหารต่างๆ ที่สนับสนุนเรา ดีเจจั๊ดดำเนินรายการได้ดีอยู่แล้วเพราะเจอเรื่อง ศปภ. มากับตัว”
เมื่อถามถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เกมนี้จะต้องถูกปรับเนื้อหาไปเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์หรือไม่ ผู้อำนวยการสถานีบลูสกายตอบว่า ตัวเกมอาจไม่ต้องเปลี่ยน แต่อาจปรับในเรื่องของคำถามของเกมเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องทางการเมืองก็ได้ รายการทางบลูสกายไม่ว่าจะเป็นเพื่อกลุ่มฮาร์ดคอร์หรือแนวบันเทิง แต่ทิศทางหลักจะเป็นไปในทางเดียวกัน เกี่ยวข้องกัน แม้จะเป็นภาคบันเทิงแต่ก็จะมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกัน