xs
xsm
sm
md
lg

บ่วงบาศพิฆาตเกษตรกร โศกนาฏกรรมเกษตรพันธสัญญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิชาการในเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรม ที่สะท้อนภาพระบบเกษตรพันธสัญญาผ่าน บ่วงบาศพิฆาตเกษตรกร ได้อย่างชัดเจน
จุดเริ่มต้นของโศกนาฏกรรมเกิดจากเกษตรกรหวังก้าวพ้นความยากจนสู่ความร่ำรวย ขณะที่บรรษัทต้องการแสวงหากำไรสูงสุด โดยรัฐฯ มีความสัมพันธ์กับบรรษัทในฐานะผู้ส่งเสริมหรืออุปถัมภ์ค้ำชูกันทั้งในระดับนโยบายที่ต้องการปรับตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เพิ่มสูงขึ้น นักการเมืองและข้าราชการประจำที่ต้องการผลงานและอิงแอบมีผลประโยชน์ ส่วนผู้บริโภคอยากได้ของดีราคาถูก

จากจุดเริ่มต้นสู่ฉากสุดท้าย เกษตรกรตกอยู่ในบ่วงบาศพิฆาต ยิ่งดิ้นรน ยิ่งผูกมัดแน่น ส่วนผู้บริโภคจำต้องแบกรับค่าอาหารที่แพงขึ้นภายใต้ทางเลือกที่น้อยลง จะมีก็แต่เพียงบรรษัทเท่านั้นที่ร่ำรวยจากผลกำไรที่งดงาม สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้ประเทศเพื่อนักการเมืองผู้อุปถัมภ์สามารถนำไปอ้างสร้างคะแนนนิยม

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะวิจัยโครงการพัฒนาเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรมด้านการผลิตและรายได้ สะท้อนภาพโดยรวมของระบบเกษตรพันธสัญญาที่มีจุดเริ่มมาจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่รัฐมุ่งส่งเสริมในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมหน้าภาคเกษตรกรรมของไทยไปอย่างสิ้นเชิงทั้งระบบการผลิต และการตลาด

เกษตรกรรมสมัยใหม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการผลิตเพื่อขายออกสู่ตลาด ผลิตผลทางการเกษตรจะมีตัวกลางในการควบคุมการซื้อขาย รวมถึงขยับขยายมาควบคุมปัจจัยการผลิตทางการเกษตรมากขึ้น โดยปัจจุบันตัวกลางที่ว่าอยู่ในรูปแบบของ “บรรษัทธุรกิจการเกษตร” ที่มีอยู่ไม่กี่บริษัทและเป็นที่รู้จักดีทั้งในระดับรัฐ และระดับโลก

บรรษัทธุรกิจการเกษตรเหล่านี้ได้ร่วมมือกับภาครัฐสร้างข้อมูล โฆษณาประชาสัมพันธ์ บทบาทของตนในการหยิบยื่นสิ่งที่เรียกว่า “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือ “Contract Farming” ให้เกษตรกรทั้งหลายเพื่อสร้างหลักประกันที่มั่นคงว่า เมื่อเกษตรกรเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจกับทางบริษัทแล้วจะมีการนำปัจจัยการผลิตมาให้ รวมถึงมีการรับซื้อผลผลิตคืน เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการผลิต โดยข้อตกลงที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบสัญญา “ลายลักษณ์อักษร” และ “สัญญาใจ” ไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ความคาดหวังของเกษตรกรจะเป็นจริงอย่างที่บริษัทโฆษณาจริงกระนั้นหรือ

งานวิจัยที่ได้ลงพื้นที่คลุกคลีกับเกษตรกรในหลายกลุ่ม เช่น ผู้เลี้ยงไก่เนื้อ ผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ชาวไร่อ้อย ชาวไร่ข้าวโพด ฯลฯ พบข้อสรุปซ้ำซากที่เกิดคล้ายๆ กันระหว่างกลุ่มเกษตรกรในระบบพันธสัญญา คือ เกษตรกรตกอยู่ในภาวะมีหนี้สินล้นพ้นตัว เครียดวิตกจริต อยากจะเลิกแต่เลิกไม่ได้ และตกอยู่ในสภาพสิ้นหวัง และไร้อำนาจในการต่อรองเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพที่เป็นอยู่ เนื่องจากเมื่อเข้าร่วมระบบพันธสัญญานั้น ตนได้ตกอยู่ในภาวะ “ไร้ญาติ” ขาดความสัมพันธ์กับญาติสนิทมิตรสหายที่เคยติดต่อไปมาหาสู่กันเมื่อครั้งทำการเกษตรแบบเดิม เมื่อเกิดปัญหาก็เหลือเพียง “ตัวเอง” กับ “บรรษัท” เท่ากับว่าตนต้องมีความสัมพันธ์กับบรรษัทบนพื้นฐานของอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน และไม่มีแนวร่วม

บ่วงบาศผูกขาดชีวิตเกษตรกร

สาเหตุที่เกษตรกรเข้าไปติดกับและออกจากวงจรไม่ได้นั้น คณะผู้วิจัยสรุปว่าเกิดจากขบวนการที่มีการวางแผนและสมคบกันอย่างเป็นระบบระหว่างรัฐกับทุน โดยในบางกรณีรัฐก็มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกษตรกรเข้าไปอยู่ในระบบ หรือบางกรณีรัฐก็ไม่ทำหน้าที่คนกลางหรือผู้ปกป้องสิทธิของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความไม่เป็นธรรมโดยลำพัง ขบวนการดังกล่าวสามารถอธิบายด้วยผลการศึกษาเรื่อง “บ่วงบาศผูกขาดชีวิตเกษตรกร” ที่ปรากฏในรูป ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ่วงบาศที่เกี่ยวรัดกระหวัดให้เกษตรกรดิ้นไม่รอดและล้มหายตายไปในอ้อมกอดอำมหิตดังกล่าว

ณ จุดเริ่มต้นของเรื่อง บรรษัทมีเป้าหมายอยู่ที่การแสวงหากำไรเข้าตัวให้มากที่สุด โดยที่รัฐก็มีความสัมพันธ์กับบรรษัทในฐานะผู้มีหน้าที่ส่งเสริมการประกอบการหรือมีการอุปถัมภ์ค้ำชูกันทั้งในระดับนักการเมืองและข้าราชการประจำ ส่วนเกษตรกรก็กำลังแสวงหาวิธีการพาตัวเองออกจากความยากจนที่ต้องเผชิญอยู่

บรรษัทเล็งเห็นว่า หากตนจะสร้างผลกำไรได้มากที่สุดจะต้องมีการผูกขาดความสามารถในการผลิตมาอยู่ที่ตัวเอง จึงได้พยายามอย่างมากในการครอบครองปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรมพืชและสัตว์ ในรูปตัวอ่อนสัตว์และเมล็ดพันธุ์พืช หรือแม้กระทั่งการถือครองที่ดิน โดยที่ภาครัฐก็มิได้มีการสงวนอนุรักษ์ปัจจัยการผลิตเหล่านั้นให้เกษตรกร และเกษตรกรเองก็อยู่ในภาวะยากจน มีหนี้สิน ไม่มีปัจจัยการผลิตเป็นของตัวเอง ทั้งที่ดิน พันธุ์พืช และสัตว์ ปุ๋ย ยา ฯลฯ หากเกษตรกรต้องการจะผลิตก็ต้องเข้ามาหาทุนที่ถือครองปัจจัยการผลิตเหล่านี้

เมื่อดูถึงเหตุผลในการตัดสินใจเลือกเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญา ก็จะเห็นปริมาณข้อมูลสนับสนุนด้านดีของเกษตรพันธสัญญาที่บรรษัทโหมประชาสัมพันธ์ และจัดจ้างให้มีการทำวิจัยสนับสนุนอย่างมากมายมหาศาล และรัฐเองก็มีเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำด้วยข้อมูลเหล่านั้น หรือบางกรณีรัฐเองก็เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบพันธสัญญา โดยที่เกษตรกรมีข้อมูลเท่าทันสถานการณ์น้อยมากเนื่องจากในสื่อต่างๆ รวมถึงข้อมูลจากรัฐ มีแต่ด้านดีไม่มีด้านลบของเกษตรพันธสัญญา

เกษตรกรจึงเลือกเข้าสู่ระบบพันธสัญญาบนพื้นฐานของคนเข้าไปขอร่วมระบบ โดยมองว่าบรรษัทที่หยิบยื่นปัจจัยการผลิตมาให้ในระบบสินเชื่อเป็นผู้มีพระคุณกับตัวเอง หากบรรษัทจะกำหนดข้อสัญญาอย่างไรก็ให้เป็นตามที่บรรษัทเห็นควร หรือบางกรณีถึงขนาดไม่มีหนังสือสัญญาให้เกษตรกรถือไว้ โดยภาครัฐไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบข้อสัญญาที่เกิดขึ้นว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม

เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบแล้วเกษตรกรก็จะเหลือตัวเองคนเดียวที่ผูกพันอยู่กับบรรษัท เนื่องจากลักษณะของสัญญาออกแบบโดยบรรษัทกีดกันมิให้มีการทำสัญญากับเกษตรทั้งกลุ่ม เพื่อให้อำนาจในการต่อรองของเกษตรกรน้อยลงไม่แข็งข้อ และรัฐก็มิได้เข้ามามีบทบาทเสริมอำนาจต่อรองให้เกษตรกร หรือแก้ไขข้อสัญญา หรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมให้เกษตรกร

การผลิตของเกษตรกรจึงอยู่ในรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวต้องพยายามผลิตเพียงอย่างเดียวให้ได้ปริมาณมากที่สุดเพื่อให้ได้เงินมากที่สุดพอที่จะมาหักหนี้แล้วเหลือกำไรบ้าง โดยบรรษัทเป็นผู้กำหนดปริมาณ รูปแบบ และมาตรฐานการผลิต ซึ่งภาระในการทำตามมาตรฐานตกอยู่กับเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรือน เล้า กระชัง การใส่ยา ใส่ปุ๋ย การให้อาหาร ฯลฯ โดยมาตรฐานทั้งหลายไม่ได้มีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐว่าเป็นการสร้างภาระให้เกษตรกรมากเกินไปหรือไม่ กลับกัน มีหลายกรณีที่รัฐกลายเป็นส่วนหนึ่งในการบีบบังคับเกษตรกรให้ทำตามที่บรรษัทกำหนดทั้งที่มาตรฐานบางอย่างไม่จำเป็น เช่น การปรับโรงเรือน การให้ยา อาหารที่มากเกิน แต่เป็นผลดีต่อบรรษัทเพราะบรรษัทเป็นผู้ขายของให้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ทำลายสิ่งแวดล้อม ฐานทรัพยากรเสื่อมโทรม

การทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวยังสร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากรเนื่องจากเกิดมลพิษและทำให้ความอุดมสมบูรณ์เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ในหลายกรณีพบว่ากลุ่มทุนอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้เกษตรกรรุกเข้าไปทำเกษตรพันธสัญญาในพื้นที่สงวน หรือทรัพยากรสาธารณะ
 
เช่น การรุกเขาปลูกข้าวโพดและอ้อย การยึดลำน้ำเพื่อเลี้ยงปลาในกระชัง การสร้างมลภาวะจากโรงเรือนเลี้ยงหมูหรือไก่ ทั้งนี้จะเห็นว่ารัฐจะดำเนินการแข็งขันกับกรณีคนชายขอบที่ผลิตเพื่อยังชีพ แต่กับกรณีการผลิตในเชิงพาณิชย์เหล่านี้รัฐกลับทำเหมือนเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยไม่ลงโทษหรือปรับผู้ก่อมลพิษ เพื่อให้มีการปรับการผลิตให้อยู่บนหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การผลิตทางการเกษตรนั้นอยู่ในภาวะความเสี่ยงของสภาพดินฟ้าอากาศและภาวะธรรมชาติอีกหลายเรื่อง ซึ่งบรรษัทผลักให้เกษตรกรต้องเผชิญภาระเอาเอง หากเกิดความเสียหาย ขาดทุน เป็นเรื่องที่เกษตรกรรับไป บรรษัทไม่ร่วมแบกรับด้วย เมื่อเกิดปัญหาเช่น น้ำท่วม พืชเน่า สัตว์ตาย กลายเป็นรัฐต้องยื่นมือเข้ามาช่วย หรือประกันราคาความเสี่ยงทั้งหลาย แต่งบประมาณที่ใช้นั้นเป็นของประชาชน

บรรษัทผูกขาดตลาด เกษตรกรไร้อำนาจต่อรอง

เมื่อเสร็จสิ้นการผลิตได้ผลผลิตเป็นพืช หรือสัตว์ ที่พร้อมจะขาย บรรษัทก็มีอำนาจในการรับซื้อและห้ามเกษตรกรขายให้แก่ผู้อื่น หรือเอาออกไปขายเอง หากเกษตรกรฝ่าฝืนจะมีการหยิบเอาข้อสัญญามาบีบบังคับฟ้องร้อง ทำให้ทางเลือกในด้านการตลาดของเกษตรน้อยมาก ต้องตกอยู่ในการบังคับของบรรษัท เช่น จะมาจับสัตว์เมื่อไหร่ (จับช้าเกษตรกรก็จะขาดทุนไปเรื่อยเพราะต้องให้อาหารแต่สัตว์หรือพืชไม่โตขึ้น) หากสินค้าล้นตลาดบรรษัทก็ไม่มารับซื้อ ให้เกษตรกรไปดิ้นรนหาตลาดเอาเอง ทำให้เกษตรกรต้องยอมขายขาดทุนเพื่อไม่ให้เจ๊งมากไปกว่านี้ โดยรัฐมองอยู่ห่างๆ แต่ไม่เข้ามาช่วยแต่อย่างใด

บรรษัทมีอำนาจในการบังคับซื้อขายใน “ราคา” และ “มาตรฐาน” ที่บรรษัทตั้งเอาไว้เนื่องจากมีช่องทางตลาด และผูกขาดอำนาจ “ความรู้” ในมาตรฐานเชิงเทคนิคเอาไว้กับตัวเอง และบางกรณีหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ชี้แจงข้อมูลความรู้เชิงเทคนิคให้เกษตรกรทราบ ทำให้ถูกกดราคาผลผลิตอย่างไม่เป็นธรรม เช่น อัตราเนื้อแดงในหมู อัตราการปนเปื้อนในข้าวโพด หรือค่าความหวานในน้ำตาลอ้อย ฯลฯ

สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องจำยอมรับค่าตอบแทนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ หรือบางกรณีก็ได้น้อยมาก จนมาคิดเป็นวันแล้วน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่มากมาย เช่น เลี้ยงหมูมาสี่เดือน ได้มา 40,000 บาท แต่ทำกัน 2 คนผัวเมีย ตกแล้วได้ไม่ถึง 170 บาท หากเอาที่ดินไปให้คนอื่นเช่า หรือเข้าไปรับจ้างทำงานอื่นก็อาจจะได้มากกว่าด้วยซ้ำ
 
ผลประโยชน์เหล่านั้นกลายเป็นผลกำไรสะสมของบรรษัทและผู้ถือหุ้นทั้งหลาย โดยที่รัฐก็ยินดีที่บริษัทมีผลกำไรเพราะจะได้เก็บภาษีมาเป็นงบประมาณประจำปีเพื่อนำไปทำนโยบายประชานิยมเพื่อเรียกคะแนนเสียงเข้าพรรคต่อไป ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในวงเวียนแห่งหนี้สินซ้ำซากจำเจไม่มีทางออก

จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นว่า เกษตรกรต้องแบกรับ “ความเสี่ยง” อยู่ฝ่ายเดียว และบรรษัทยังได้ “ขูดรีด” ผลประโยชน์ไปด้วยการอาศัยระบบความสัมพันธ์ที่อยู่บนพื้นฐานของความ “ไม่เป็นธรรม” เนื่องจากบรรษัทอยู่ในสถานะเหนือกว่าทั้งทุน ความรู้ และความสัมพันธ์ที่มีร่วมกับรัฐ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถต่อรองได้ เนื่องจากอยู่ในภาวะโดดเดี่ยว และรัฐก็มิได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมใด
โชคสกุล มหาค้ารุ่ง อดีตเกษตรกรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาที่เลือกเดินออกจากระบบ
ปรับเข็มทิศชีวิตใหม่ ดึงบรรษัทร่วมรับความเสี่ยง

หากจะทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากบ่วงบาศดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับทิศทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรเสียใหม่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ “เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้” ขั้นแรกจะต้องมีการประกันการเข้าถึงปัจจัยการผลิตอย่างเพียงพอ สร้างสมดุลของข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้เกษตรกรรู้ทันสถานการณ์ สร้างการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การต่อรอง หรือรัฐอาจจะเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเกษตรกรรมอย่างหลากหลาย อันจะเป็นผลดีต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตที่มีความเสี่ยงนั้นจะต้องดึงบรรษัทเข้ามาแบกรับความเสี่ยงร่วมกับเกษตรกรในทุกขั้นตอน เมื่อถึงปลายฤดูกาลผลิตจะต้องมีการสร้างตลาดและช่องทางการขายสินค้าให้เกษตรกรเลือกได้มากขึ้น หรือรัฐอาจเข้ามาควบคุมเรื่องมาตรฐานของสินค้าอาหาร และราคา ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อตัวเกษตรกร และคุ้มครองผู้บริโภคไปด้วย เนื่องจากเกษตรกรรมเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหารที่เป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ

ชีวิตจริงเกษตรกร โศกนาฏกรรมเกษตรพันธสัญญา

โชคสกุล มหาค้ารุ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ซึ่งเดินเข้าสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาและสุดท้ายตัดสินใจเลือกเดินออกมาจากเส้นทางดังกล่าวพร้อมกับภาระหนี้สินที่ยังใช้ไม่หมด สะท้อนชีวิตเกษตรกรที่เข้ามาสู่ระบบเกษตรพันธสัญญาว่า สาเหตุที่ตนเองเข้าสู่ระบบนี้ หนึ่ง เพราะนโยบายของรัฐและยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาล สอง คือ เห็นภาพลักษณ์ที่น่าเชื่อถือของบริษัทตามโฆษณาที่เห็นว่ามีคุณธรรม มีการสร้างความเชื่อมั่น สาม รายได้ที่บริษัทแนะนำน่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ใช้หนี้ได้ ทำให้หลงเข้าไปและค้นพบว่าสัญญาไม่เป็นธรรม

“ผมหลงเข้าไปเลี้ยงหมูกับบริษัท โดนหลอกให้เป็นหนี้แบงก์ เพราะบริษัทมีการสร้างความเชื่อมั่น พาไปกินข้าวร้านหรู ดูเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จตอนนั้น คือ ฟาร์มลุงพร เป็นเกษตรกรมีรายได้เดือนละ 6-7 หมื่นบาท แต่ตอนนี้ถูกยกเลิกจากบริษัท บ้านถูกยึด ขายทอดตลาด ตอนนี้ลุงพรไม่มีที่อยู่ทั้งที่เป็นเกษตรกรตัวอย่างเป็นต้นแบบเลี้ยงหมูรายแรกๆ ของเชียงใหม่

“ผมเริ่มลงทุนจากหมู 250 แม่ แต่บริษัทให้ข้อมูลไม่ครบ อันดับแรกบอกว่าคลอดในโรงเรือนเดียวได้ แต่พอเข้าไปจริงๆ บอกว่าต้องมีอีกหนึ่งโรงเรือน ผมก็ต้องทำและกู้นอกระบบ แต่จุดแตกหักกับบริษัทจริงๆ อยู่ที่การให้สร้างที่นอนคลอดหมูเพิ่ม จากแต่เดิมใช้ลวดถักจากเหล็กเส้นก็ใช้ได้แต่บริษัทมาอ้างต้องลงทุนทำไตรบา ที่เหมือนท้องช้างสำหรับให้หมูคลอด ผมทำโรงเรือนเสร็จแต่ไม่มีเงินลงทุนอุปกรณ์ที่คลอดหมูตามที่บริษัทกำหนด เพราะกู้จนเกินเพดาน รายได้ยังไม่มี แบงก์ไม่ให้กู้เพิ่มบอกว่าต้องชำระหนี้ก่อน ตัวแทนบริษัทก็ข่มขู่คุกคามถ้าไม่มีอุปกรณ์เขาจะปิดโรงเรือน พอหมูผมถึงเวลาคลอดล็อตแรก 40 แม่ เขาก็เอาไปคลอดที่เล้าอื่น และใช้เป็นแม่แบบกับที่อื่นๆ คือสามารถเอาหมูไปคลอดที่อื่นได้

โชคสกุลยังเล่าถึงวิธีการผูกมัดเกษตรกรให้อยู่ในระบบว่า การกู้หนี้แบงก์ถือเป็นเครื่องมือกดหัวเกษตรกรเอาไว้ เกษตรกรที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขบริษัทจะถูกเด็ดหัว เกษตรกรที่หือหรือให้ข้อมูลผู้ล้มเหลวบริษัทจะบีบโดยไม่ส่งหมู ไม่ส่งยา ตอนนี้เกษตรกรที่ตนเองติดต่อพูดคุยจะถูกกำจัด ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกษตรกรก็ไม่กล้าลุกขึ้นมาเรียกร้อง

“ผมว่าระบบระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นระบบที่บริษัทใช้จำหน่ายสินค้า ขายในทุกห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่พันธุ์ อาหาร ยา ทุกขั้นตอนจะมีการจำหน่ายอุปกรณ์ภายใต้ระบบสินเชื่อ ถ้าไม่ทำถือว่าผิดเงื่อนไขของบริษัท ปัจจุบันผมหยุดฟาร์มหมูแล้วโดยมีหนี้ที่ยังใช้แบงก์ไม่หมดเป็นล้าน”

………………

หมายเหตุ : โชคสกุล มหาค้ารุ่ง ตัวอย่างชีวิตจริงเกษตรกรระบบเกษตรพันธสัญญา เก็บข้อมูลจากเวทีสัมมนาวิชาการ “เกษตรพันธสัญญา : ใครอิ่ม ใครอด” เมื่อวันที่ 26-27 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเครือข่ายเกษตรกรกว่า 200 คนที่อยู่ในระบบเกษตรพันธสัญญา ร่วมจัดงาน
: โครงการวิจัยพัฒนาเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาเพื่อความเป็นธรรมด้านการผลิตและรายได้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ข้อมูลเพิ่มเติมค้นหาผ่าน google โดยพิมพ์คำว่า “ปลดแอกเกษตรกรจากพันธนาการ” หรือ FAIR Contract FREE Farming
กำลังโหลดความคิดเห็น