xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลุดจากบ่วงเกษตรพันธสัญญา ต้องรู้ทัน ‘รัฐทุนใต้ระบอบทุนสามานย์’!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 รศ.ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บรรยากาศเวทีสัมมนาวิชาการ เกษตรพันธสัญญา ปี 2555 ในวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชำแหละรากเหง้าเกษตรพันธสัญญา โดยย้ำว่าหากหวังให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐก็ตกอยู่ใต้อำนาจของระบอบทุน ดังนั้น หนทางแก้ไขและทางออกจากปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือ เกษตรกรไทยต้องรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมทุนสามานย์ 


โดยทัศนะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเวทีสัมมนาวิชาการ เกษตรพันธสัญญา ปี 2555 ในวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมจุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีตัวแทนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบต่างร่วมเรียกร้องและขอความช่วยเหลือถึงหนทางการแก้ปัญหา ร่วมด้วยตัวแทนจากประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ, ตัวแทนจากสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล, ตัวแทนจากเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, ตัวแทนจากที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนักวิชาการที่ติดตามผลกระทบและความไม่เป็นธรรมที่เกษตรกรได้รับ  โดยเนื้อหาของวงเสวนาได้มุ่งเน้นไปที่การแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกให้เกษตรกรไทยที่ตกเป็นผู้เสียเปรียบจากสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม


ถามหาทางรอดเกษตรกรไทย 



 ในตอนหนึ่งของวงสัมมนานั้น โชคสกุล มหาค้ารุ่ง เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้ร้องเรียนและตั้งคำถามถึงช่องทางการช่วยเหลือจากตัวแทนภาครัฐว่าในฐานะที่เขาเป็นเกษตรกรที่ศาลกำลังจะสั่งให้เป็นผู้ล้มละลาย ด้วยหนี้สินที่พอกพูนถึง 20 ล้านบาทนั้น จะมีหนทางใดช่วยเหลือเยียวยาได้หรือไม่?

ขณะที่เกษตรกรคนอื่นๆ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากเกษตรพันธสัญญาก็เผยในวงเสวนาว่า เมื่อครั้งเซ็นสัญญานั้น พวกเขาเพียงแต่เซ็นชื่อของตนแต่ไม่ได้รับอนุญาตให้อ่านรายละเอียดของสัญญา ด้วยข้ออ้างที่บริษัทซึ่งเป็นคู่สัญญาอ้างว่าเป็นความลับที่ไม่อาจเปิดเผยได้ จึงไม่ได้รับรู้ว่าสัญญาดังกล่าวทำให้ตนเสียเปรียบมากน้อยเพียงไร ทั้งยังมีกรณีที่เกษตรกรรับมรดกหนี้มาจากมารดา ครั้นเมื่อใช้หนี้จนหมดสิ้นแล้วก็ยังไม่มีโอกาสได้เห็นสัญญาฉบับดังกล่าวที่บริษัทเก็บไว้

ซึ่งเมื่อได้รับฟังข้อร้องเรียนดังกล่าว นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติได้แนะให้โชคสกุลไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อกระทรวงเกษตรฯ เพราะมีกองทุนสำหรับฟื้นฟูในกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นกองทุนที่มีดอกเบี้ยเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังมีกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่อาจให้ความช่วยเหลือได้ นอกจากนั้น นายประพัฒน์ได้เสนอความเห็นด้วยว่า ในระบอบการค้าเสรีนั้นย่อมมีทั้งผู้ได้เปรียบและเสียเปรียบ มีปลาใหญ่กินปลาเล็ก คนมีความรู้ความสามารถย่อมได้เปรียบ ขณะที่เกษตรกรหรือชาวนาไม่รู้จะไปพึ่งใคร ดังนั้น เป็นไปได้ไหมที่รัฐควรจะเข้ามาเป็นคนกลางช่วยสร้างความเป็นธรรม อัยการ สภาทนายความ คอยทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ความช่วยเหลือเกษตรกรในข้อกฎหมายต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีคนคิดเอาเปรียบเกษตรกร

ขณะที่นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า สัดส่วนหรือช่องว่างของสังคมไทยมีความลักลั่นอยู่ที่การบริหารประเทศซึ่งเอื้อให้ทุนเติบโต แต่เกษตรกรหรือผู้ประกอบการตัวเล็กตัวน้อยกลับต้องตาย

ส่วนนายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกได้ตั้งข้อสังเกตถึงการเอารัดเอาเปรียบโดยบริษัทอุตสาหกรรมค้าสัตว์และผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ที่รู้เห็นเป็นใจกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ดังเช่นการขนย้ายสัตว์ที่ทำได้คราวละมากๆ ไม่ว่าสุกรหรือไก่ โดยมีเอกสารที่มีลายเซ็นของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์รับรอง นอกจากนั้น บริษัทดังกล่าวยังหลอกลวงเกษตรกรให้หลงเชื่อและร่วมทำสัญญา โดยอ้างว่าจะให้พันธุ์ไก่ ให้พันธุ์สุกรที่มีคุณภาพ แต่แท้จริงแล้วสุกรที่มอบให้เกษตรกรกลับเป็นสุกรตัวเล็กๆ ขณะที่สุกรตัวโตๆ นั้นกลับตกเป็นของพนักงานบริษัทเสียเอง หรือแม้แต่ไก่ที่มอบให้เกษตรกรก็เป็นเพียง ‘ไก่ขยุ้ม’ หรือไก่ที่ไม่ได้ผ่านการคัดสรรแต่กวาดจับมาแบบขอไปที ไม่ต่างจากการ ‘ขยุ้มๆ’ มาคราวละหลายๆ ตัว
 

นอกจากประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ผศ.ภส.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา ก็ได้ร่วมตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมาถึงตัวแทนรัฐคือประพัฒน์และที่ปรึกษากระทรวงเกษตรฯ ซึ่งมาร่วมเสวนาในครั้งนี้ โดยย้ำว่าข้อเรียกร้องที่เกษตรกรร้องขอนั้น ตัวแทนรัฐซึ่งนั่งอยู่ในที่นี้ควรต้องพูดออกมาเลยว่าช่วยเหลือได้ โดยไม่จำเป็นต้องกลัวบริษัทที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งถามว่าทำไมสังคมไทยต้องหวาดกลัวคนที่โกง ตอนนี้เรานั่งอยู่ด้วยความกลัวว่าบริษัทจะมาฟ้อง เราจะก้าวผ่านความกลัวนี้ได้อย่างไร บริษัทอะไรโกงประชาชนแบบนี้ ทั้งฝากถึงตัวแทนรัฐให้เร่งรัดในเรื่องการก้าวเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่กำลังได้รับความเดือดร้อน

แต่นอกจากการที่ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างนำเสนอแนวคิดและหาทางออกแล้ว ความเห็นของ รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่ามีความน่าสนใจยิ่ง ด้วยวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหา และหาหนทางแก้ไข โดยเน้นย้ำว่าการรอคอยให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วยนั้นไม่ช่วยแก้ไขอะไรได้ เพราะรัฐก็อยู่ภายใต้อุ้งมือของระบอบทุนสามานย์ และย่อมรู้เห็นกับบริษัทหรือกลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของเกษตรพันธสัญญา ดังนั้น หนทางแก้ไขและทางออกจากปัญหาที่เหมาะสมที่สุดคือ เกษตรกรไทยต้องรู้ทันอำนาจทุนสามานย์ และไม่ทำเกษตรพันธสัญญาอีก ก่อนที่เกษตรกรจะหมดสิ้นไปจากประเทศไทย เพราะเกษตรพันธสัญญาที่รัฐบาลเปิดช่องให้ธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารยักษ์ใหญ่และบรรษัทข้ามชาติเข้ามากอบโกยกำไรจากแรงงานของเกษตรกร ดังทัศนะที่ รศ.ดร. ณรงค์ เพชรประเสริฐ เสนอไว้ในวงสัมมนา ซึ่งมีเนื้อหาต่อไปนี้

รัฐทุน ใต้อุ้งมือระบอบทุนสามานย์

“เป็นระยะเวลา 30 ปีที่ผมเฝ้าสังเกตเรื่องพวกนี้ ผมสรุปว่าผ่านไป 30 ปี ไม่มีอะไรเปลี่ยนครับ ตั้งแต่ยุคที่เราพยายามไปล้วงความลับสัญญาต่างๆ ทั้งลูกไร่สับปะรด ลูกไร่อ้อย เพื่อมาเผยแพร่ต่อสังคม จนมาถึงวันนี้ไม่มีอะไรเปลี่ยนครับ โดยเฉพาะลูกไร่อ้อย ผมว่าเลวร้ายกว่าลูกไร่อื่นๆ เพราะเป็นลูกไร่ของคนสองชั้น คือลูกไร่ของหัวหน้าโควตา และเป็นลูกไร่ของโรงงาน

และผมอยากจะบอกว่า ระบบลูกร้าวหรือ ‘คอนแทรกต์ฟาร์มมิ่ง’ ของเกษตรกรนั้น เติบโตขึ้นมาได้ด้วยระบบราชการ ยืนยันนะครับ โดยอุตสาหกรรมสัตว์แห่งหนึ่ง ผมไม่อยากเอ่ยชื่อ ใช้ข้าราชการทั้งหมดไปทำงานและเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านเป็นลูกไร่ของบริษัทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 พวกท่าน (เกษตรกร) คือผลตกทอดของระบบรัฐไทยภายใต้อุ้งมือของทุนนิยม

เราเข้าสู่ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แต่เป็นที่น่าเสียดาย ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชน ข้าราชการ หรือภาคประชาสังคมทั่วไป ไม่มีความเข้าใจเรื่องระบบอุตสาหกรรม และระบบทุนนิยม เราถูกหล่อหลอมความคิดให้ยอมรับระบบนี้ โดยเฉพาะชาวไร่ชาวนาและกรรมกร เมื่อเขายอมรับระบบนี้ รับอย่างยอมจำนน ความคิดเป็นตัวกำหนดการกระทำ เมื่อระบบหล่อหลอมให้ความคิดของชาวบ้านจำนนเสียแล้ว เราจึงไม่ค่อยเห็นมิติของการต่อสู้ดิ้นรน

ดังนั้นจึงพบว่า เมื่อเราจะแก้ปัญหา เราจึงมักจะมองหาคนที่จะมาช่วย ตัวช่วยตัวแรกก็มองไปที่รัฐ ลืมคิดไปว่ายิ่งในปัจจุบันรัฐอยู่ในมือทุนธุรกิจแทบทั้งหมด รัฐเป็นผู้ออกสถาบัน คำว่า ‘สถาบัน’ คือกฎเกณฑ์ กติกา นโยบาย เมื่อรัฐเป็นผู้กำหนดสถาบัน รัฐภายใต้ทุน มันก็ต้องออกกฎเกณฑ์ กติกา สถาบัน ที่มันไม่ขัดประโยชน์ต่อทุน แม้แต่ระบบการศึกษาในมหาวิทยาลัย ในโรงเรียนก็ถูกหล่อหลอมให้ยอมรับตรงจุดนี้ คนที่พูดในเชิงต่อต้านทุนก็จะกลายเป็นพวกหัวรุนแรง เป็นอย่างนั้นไป ทั้งที่ทุนนั้นมีสองด้านเสมอ ด้านที่เลวร้ายเราเรียกว่าทุนสามานย์ ด้านที่ดีเราเรียกทุนที่มีคุณค่า แต่ทุนจะมีคุณค่าได้ต่อเมื่อภาคสังคมเข้าใจมันและกดดันมันให้มีคุณค่า เพราะธรรมดาแล้วการแสวงหากำไรของทุนนั้น ช่องทางไหนง่าย มันเอาช่องทางนั้น ตามหลักการของเศรษฐกิจที่ว่าต้องลดต้นทุนแล้วมีกำไรเร็ว”

“ความสามานย์นั้นคือหากำไรได้ง่าย และเมื่อความสามานย์นั้นถูกยอมรับ ทั้งยอมรับโดยรู้และไม่รู้ ซึ่งกล้าฟันธงว่าแม้แต่ระบบราชการก็ยอมรับระบบสามานย์โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น ถ้ากลับมาดูระบบคิดทั้งหมดของคนในสังคมนี้ที่มันถูกหล่อหลอมออกมา เมื่อเราถูกทำให้ยอมรับและยอมจำนน การต่อสู้มันจึงไม่เกิด”

เกษตรกรไทย ต้นทุนคือ ‘ชีวิต’

รศ.ดร.ณรงค์อธิบายว่า การผลิตระบบทุนนิยมนั้นมีปัจจัยการผลิตอยู่ 3 ประการ คือ ที่ดิน ทุน และแรงงาน ทฤษฎีของทุนนิยมนั้นบอกว่า ปัจจัยการผลิตทุกตัวจะต้องมีการกำหนดค่าตอบแทน ไม่มีอะไรได้มาฟรี

ในทฤษฎีแบบนี้ ฝ่ายทุนจึงอ้างความชอบธรรมว่าเขาต้องได้มากกว่าเสมอ กับผลผลิตที่ถูกสร้างขึ้นมา เหตุผลก็เพราะที่ดินและทุนเป็นของเขา ส่วนคนทำงานคือแรงงานนั้นเป็นเพียงเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างเดียวคือแรงงาน

เมื่อระบบการคิดต้นทุนปักเสาเข็มต้นแรกว่าต้องมีต้นทุนแล้ว ทุกบาททุกสตางค์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าขนส่ง มีต้นทุนหมด แต่ไม่มีปัญญาชนคนไหน นักเศรษฐศาสตร์คนไหน และสังคมที่ไหนเข้าใจว่า
คำว่า’แรงงาน’นั้นก็มีต้นทุน ไม่ว่าแรงงานเกษตรกร แรงงานกรรมกร ต้นทุนอันนั้นคือต้นทุนในการสร้างพลังแรงงานออกมา เราเรียกมันว่า ‘ทุนชีวิต’ การขาดทุนของทุนมันยังนั่งรถเก๋งได้สบายๆ แต่การขาดทุนของแรงงานและเกษตรกรคือทุนชีวิตนั้นมันตาย ความคิดเช่นนี้ไม่มีอยู่ในหัวของราชการและหัวของนักเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาจากเศรษฐศาสตร์ทุนนิยม

“หากเรามาดูที่เกษตรพันธสัญญา ถ้ายึดตามทฤษฎีแบบแรกซึ่งหมายถึงทุนเป็นเจ้าของที่ดินและทุนนั้น เกษตรพันธสัญญาจะหมายถึงเกษตรกรเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตสองอย่าง คือ ที่ดิน และแรงงาน
ฝ่ายทุนนั้นเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตอย่างเดียวคือ ทุน แต่แล้วทำไมส่วนแบ่งกลับกลายเป็นว่าทุนยังได้มากกว่าเหมือนเดิม สองมาตรฐานหรือเปล่า? แล้วทุนก็อ้างเหตุผลตอบว่า จริงอยู่ เราเป็นเจ้าของทุนอย่างเดียว แต่เราได้ใช้แรงงานสมองเข้าไปจัดการ ซึ่งแรงงานสมองของทุนและทุนย่อมมีค่ามากกว่าแรงงานและที่ดินของเกษตรกร แล้วสังคมก็ยอมรับอีก และเมื่อทุนเหล่านี้นั่งอยู่ในอำนาจรัฐ ก็ได้สร้างระบบการศึกษา ระบบความคิด ระบบข่าวสารข้อมูลว่า เหตุผลที่ทุนอ้างมานั้นถูกต้อง

เพราะอะไรครับ? เพราะรัฐปัจจุบันก็คือรัฐทุน ยืนยัน! ไม่ใช่รัฐอำมาตย์ เพราะฉะนั้น เขาจึงต้องออกกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ รองรับปรากฏการณ์เหล่านี้ ให้เห็นว่าทุนมีค่ามากกว่าที่ดินและแรงงาน กฎหมายคิดอย่างนี้หมด เมื่อสังคมหล่อหลอมมาเช่นนี้ วิธีคิดของนักเศรษฐศาสตร์ วิธีคิดของคนที่นั่งอยู่เป็นเจ้ากระทรวง รวมถึงวิธีคิดของสังคมทั่วไป จึงคิดว่าทุนมีความสำคัญที่สุด และเมื่อยอมรับเสียแล้วจะไปแก้อะไรได้ครับ เพราะการแก้ไขนั้นต้องเริ่มจากการเข้าใจ และปฏิเสธความเป็นจริงบางประการที่เขาสร้างมันขึ้นมา ต้องหาวิธีการที่จะให้สังคมยอมรับว่าแรงงานทุกประเภทคือทุนอันยิ่งใหญ่ นั่นคือ ทุนชีวิต ที่มันมีค่ากว่าค่าของเงิน มีค่ากว่าสิ่งของ ใครจะขายชีวิตของตนเองบ้าง?

ทำไมสิ่งเหล่านี้จึงไม่มีใครคิดถึงมูลค่า แต่เสาเข็มเพียงต้นเดียวของทุนกลับคิดว่าเป็นต้นทุนไปได้
ต้องคิดใหม่นะครับ เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม ในปรัชญาเบื้องต้นของมัน มันได้สอนได้เตือนเราอยู่ตลอดเวลา คนเขียนตำราเศรษฐศาสตร์คนแรกคือ 'อดัม สมิธ' เขาพูดความจริง แต่เป็นความจริงที่เราไม่พิจารณา ความจริงนั้นก็คือ คนเราในโลกทุนนิยมจะรวยหรือจนย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้แรงงานตนเองและแรงงานผู้อื่น แต่การใช้แรงงานตนเองนั้นจะบรรลุความต้องการตนเองได้น้อยมาก ความต้องการส่วนใหญ่ของมนุษย์บรรลุได้ด้วยการใช้แรงงานผู้อื่น เมื่อเราอยากจะรวยเราจึงต้องใช้ประโยชน์จากแรงงานผู้อื่น ซึ่งปัจจุบันก็คือ ‘ทุน’

ดังนั้น ถ้าเราเข้าใจอย่างนี้ โจทย์ก็คือ เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าความมั่งคั่งเกิดจากแรงงานมนุษย์ คนแรกที่พูดแบบนี้คืออดัม สมิธนะครับ ไม่ใช่คาร์ล มาร์กซ์ นะครับ ดังนั้น เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว ทำไม? เราจึงเอาปัจจัยที่จะสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองไปให้ผู้อื่น เพราะอะไร? นี่เป็นโจทย์ที่เราต้องคิดนะครับ”

แล้วเหตุใดทุนจึงเอาประโยชน์จากที่ดินและแรงงานของเกษตรกรได้มากเพราะเกษตรพันธสัญญา รศ.ดร.ณรงค์อธิบายว่าเป็นเพราะเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย ดังต่อไปนี้

-ทุนไม่ต้องเป็นเจ้าของที่ดิน เป็นการประหยัดค่าที่ดิน

-ทุนไม่ต้องจ้างแรงงาน

-ทุนเป็นฝ่ายควบคุมการวางแผนและการใช้ทรัพยากรทุกอย่าง แม้แรงงานของเกษตรกรเองก็ถูกควบคุมและใช้ไปตามความต้องการของทุนตามที่ทำสัญญานั้น

-ทุนเป็นผู้ขายปัจจัยการผลิตให้เกษตรกร ตามราคาที่ทุนกำหนด

-ผลผลิตทั้งหมดตกเป็นของทุน โดยที่ทุนกำหนดราคาผลผลิต

-ทุนมีวิธีการที่จะทำให้เกษตรกรรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ ไม่ใช่ลูกจ้าง เมื่อรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าของ ก็จะดูแลอย่างเต็มที่ เพราะกลัวว่าสิ่งที่เราเป็นเจ้าของจะเสียหาย เขาใช้วิธีการทางจิตวิทยาหลอกล่อให้เกษตรกรพันธสัญญารู้สึกว่า ‘เฮ้ย! ของกูนะ ไม่ใช่ของนายจ้าง ไม่ใช่ของทุน ดังนั้น กูต้องใช้ชีวิตดูแลมัน’ กลยุทธ์แบบนี้เราเรียกว่า เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจในการขูดรีดแรงงาน ผ่านระบบของการทำให้รู้สึกว่าเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเจ้าของ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน จึงไม่มีสิทธิทวงประกันต่างๆ ไม่มีสิทธิทวงค่าล่วงเวลา ไม่มีสิทธิทวงอะไรทั้งสิ้น เพราะคุณเป็นเจ้าของ นี่คือกลยุทธ์ทางธุรกิจ

-ทุนเป็นผู้กำหนดว่าเมื่อไหร่จะเลิกสัญญา เมื่อไหร่จะได้จ้างต่อ ซึ่งตามกฎหมายแรงงานนั้น คนที่เป็นลูกจ้าง ถ้าถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยที่ไม่มีความผิด กฎหมายกำหนดว่าต้องจ่ายค่าชดเชยเพราะทำให้ชีวิตเขาไม่มีความแน่น่อน แต่สัญญาของเกษตรกรเลิกเมื่อไหร่ก็ได้นะครับ คนบอกเลิกไม่ใช่เกษตรกร แต่ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจจะบอกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าจากนั้นไปเกษตรกรจะเจอกับภาวะความไม่แน่นอนทางอาชีพอย่างไร

“และข้อสุดท้าย ตอนที่ผมศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2515 ร้อยละร้อยเกษตรกรไม่เคยอ่านสัญญาเลย”


รู้ทันสัญญาทาส รู้ทัน ‘ทุนสามานย์’ ที่ครอบงำรัฐไทย


“วันนี้ก็เหมือนเดิม 30 ปีผ่านไป รัฐบาล, ธุรกิจ ก็สร้างวาทกรรม สร้างเหตุผลหล่อหลอมว่าเกษตรพันธสัญญานี้มีประสิทธิภาพ

แต่ถ้าดูทั่วโลก ระบบเกษตรพันธสัญญาจะไม่มีในประเทศที่เจริญดีแล้ว เพราะเมื่อเจริญดีแล้วคนเข้าใจทั่วกัน มีความรู้เท่ากัน ในญี่ปุ่นคุณแทบจะหาเกษตรกรที่มีเกษตรพันธสัญญาไม่ได้เลย ในเดนมาร์ก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ก็ไม่มี มันหมายถึงอะไรครับ? มันหมายถึงว่าระบบนี้มีอยู่ในประเทศลูกผีลูกคน เกิดขึ้นในประเทศที่เกษตรกรอ่อนแอในด้านข้อมูลข่าวสารและการวิเคราะห์ เกิดขึ้นในประเทศที่เกษตรกรอ่อนแอในเรื่องเทคโนโลยีการจัดการและการตลาด มันจึงเปิดโอกาศให้มีคนเข้ามาช่องทางนี้

เกษตรกรไทยเป็นแค่ทาสของนายทุน เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองตรงนี้ ประวัติศาสตร์บอกให้เรารู้ว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาอย่างถาวรมันไม่ได้เริ่มที่รัฐบาล มันไม่ได้เริ่มจากทุน และผมไม่เชื่อว่ารัฐบาลจะแก้ได้ เพราะถ้าแก้ได้มันแก้ไปแล้วครับ ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มที่บริษัท ‘ค้าสัตว์ค้าไข่ บริษัทหนึ่ง’ ใช้
พ.ร.บ.กลางเป็นเครื่องมือในการสร้างลูกร้าว ใช้รถของราชการ ใช้เจ้าหน้าที่ราชการ ใช้เครื่องมือทุกชนิดของราชการ มันลดต้นทุนไปเท่าไหร่ โดยบอกว่ามันเป็นเครื่องมือต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ เพราะทำให้คนมีอาชีพ ผมไม่อยากพูดว่ากระทรวงไหนเป็นกระทรวงหลักต่อมาจากนั้น

ถ้าเราจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตรงนี้ เกษตรกรต้องรู้เรื่องเทคโนโลยี รู้เรื่องการจัดการ รู้เรื่องการตลาด และไม่ทำสัญญากับมันอีกเลย เหมือนเกษตรกรในเดนมาร์ก ในนิวซีแลนด์ ในเนเธอร์แลนด์ เกษตรกรในเนเธอร์แลนด์ไม่เพียงรู้เท่าทัน แต่เขายังมีธนาคารเป็นของตัวเอง และเป็นธนาคารอันดับที่ 100 ของโลก ชื่อว่า ราโบ แบงก์ เกษตรกรเป็นเจ้าของทุน ควบคุมการตลาด ความคุมผลผลิต ไม่ว่าดอกทิวลิป เนื้อ นม ไข่ ทั้งหลายนั้นเป็นการแก้แบบถาวร

แต่ในปัจจุบันซึ่งเกษตรกรเราอ่อนด้อยมาก สิ่งจำเป็นคือระบบสัญญามาตรฐาน
คนที่เกี่ยวข้องและคิดว่าตัวเองเกี่ยวข้องควรจะต้องมีฟอร์ม หรือรูปแบบสัญญามาตรฐานว่า สัญญาพวกนี้ต้องมีอะไรบ้าง และต้องให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายใช้แบบนี้ ไม่ใช่บริษัทหนึ่งก็ใช้แบบหนึ่ง อีกบริษัทก็ใช้แบบหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าใครได้เปรียบ-เสียเปรียบ และนอกจากเรื่องเกษตรพันธสัญญาแล้ว เมื่อปี 2009 ได้มีการประชุมที่เรียกว่า ‘เวิลด์ฟูด ซัมมิต’ เพื่อรองรับปัญหาประชากรโลกที่เข้าสู่หลัก 7 พันล้านคน และเพื่อรองรับปัญหาราคาอาหารที่แพงขึ้น 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ตกลงของที่ประชุมนี้ก็คือจะต้องให้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมาจัดการปริมาณอาหารในโลก โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย เพื่อให้ปริมาณอาหารเพียงพอต่อความต้องการของทั้งโลก แล้วเราก็เซ็นข้อตกลงเวิลด์ฟูดซัมมิต ไปเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่า จากนี้ไปบริษัทเกี่ยวกับอาหารทั้งหลายจะเข้ามาทำเกษตรพันธสัญญามากขึ้น”

“รัฐบาลนี้ทำข้อตกลง 'เวิลด์ฟูดซัมมิต' ไปเรียบร้อยแล้วครับ ดังนั้นรัฐเองนั่นแหละที่เป็นตัวขยายเกษตรพันธสัญญา แล้วต่อไปนี้ที่ดินการเกษตรจะอยู่ในมือใคร?

ถ้ารัฐยังละเมอเพ้อพกอยู่กับเกษตรพันธสัญญา ผมรับรองได้ ภายใน 10 ปีเราจะไม่มีชาวนา เพราะลูกหลานชาวนาจะไปอยู่โรงงานหมด”

............... 


นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรัตน์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
ผศ.ภส. สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา
นายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
หมูในฟาร์มระบบเกษตรพันธสัญญา
กำลังโหลดความคิดเห็น