xs
xsm
sm
md
lg

มะกันขึ้นบัญชีไทยค้ามนุษย์ตัวเอ้ต่อรองแลกใช้อู่ตะเภา?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ความเคลือบแคลงกรณีอู่ตะเภายังไม่สิ้นสงสัย ช่างบังเอิญอย่างประจวบเหมาะที่พี่เบิ้มมะกันได้ออกรายงานการค้ามนุษย์ โดยคงบัญชีรายชื่อไทยเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเพราะรัฐบาลไทยไม่สนใจขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่ นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตการขึ้นบัญชีประเทศไทยอาจถูกนำมาใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อบรรลุเป้าหมายขอใช้อู่ตะเภา ขณะที่ “สุรพงษ์” ปัดไม่มีผลประโยชน์แฝง 

“........ รัฐบาลไม่ได้แสดงหลักฐานอย่างเพียงพอว่าได้ดำเนินความพยายามเพิ่มเติมในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษนักค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและบังคับใช้แรงงาน การปราบปรามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สมรู้ร่วมคิดกับนักค้ามนุษย์ และการคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ 

“ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องถูกจับตามอง (Tier 2 Watch List) เป็นปีที่สอง เมื่อพิจารณาขอบเขตและความร้ายแรงของการค้ามนุษย์ในไทยแล้ว การพิพากษาลงโทษคดีค้ามนุษย์เพื่อการค้าประเวณีและการบังคับใช้แรงงาน ตลอดจนการคัดแยกเหยื่อค้ามนุษย์ในประชากรกลุ่มเสี่ยงถือว่ายังมีจำนวนน้อย 

“มีรายงานว่า การที่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีส่วนร่วมโดยตรงหรืออำนวยความสะดวกแก่การค้ามนุษย์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในไทย” รายงานการค้ามนุษย์ประจำปี พ.ศ. 2554 ที่สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2555 ระบุ

สหรัฐอเมริกาจะออกรายงานการค้ามนุษย์ในรายประเทศเป็นประจำทุกปี เพื่อประเมินหลักปฏิบัติในการค้ามนุษย์ของแต่ละประเทศ เพื่อยกระดับการป้องกันและปราบปรามปัญหาดังกล่าว 

แต่ในขณะเดียวกัน รายงานนี้ยังถือได้ว่าเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับรายงานสิทธิมนุษยชน รายงานยาเสพติด หากประเทศนั้นๆ ไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำของสหรัฐฯ อาจถูกตัดความช่วยเหลือ และมีมาตรการแซงก์ชันหรือคว่ำบาตรทางด้านเศรษฐกิจ ดังเช่นกรณีพม่า ที่สหรัฐฯ ดำเนินการแซงก์ชันทางด้านเศรษฐกิจมาหลายปีก่อนที่จะค่อยๆ ผ่อนคลายลงในปีนี้

นักสังเกตการณ์ด้านต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า ถึงแม้การออกรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ มักจะออกเผยแพร่ในช่วงนี้ แต่น่าสนใจก็คือ การเผยแพร่รายงานคราวนี้เกิดขึ้นในช่วงจังหวะเวลาเดียวกันกับที่หน่วยงานความมั่นคงสหรัฐอเมริกา หรือเพนตากอน เจรจากับฝ่ายไทยเพื่อขอใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ช่วยเหลือภัยพิบัติทางธรรมชาติและมนุษยธรรม รวมถึงองค์การการบินอวกาศของสหรัฐอเมริกา (NASA) ก็ขอร่วมศึกษา วิจัย สำรวจสภาพภูมิอากาศในเชิงอุตุนิยมวิทยา และฝ่ายรัฐบาลไทยยังอิดเอื้อนอยู่ ด้วยเหตุว่ามีปัญหาเกิดขึ้นจากกระแสสังคมที่ตั้งข้อสงสัย

นอกจากนั้น ฝ่ายค้านยังนำเรื่องนี้ไปขยายผลเป็นประเด็นทางการเมือง อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภา ต้องการให้นำเรื่องนี้เข้าสู่สภาเพื่อแสดงถึงความโปร่งใสและรอบคอบในการตัดสินใจ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจโลกตะวันออกคือ จีน ซึ่งแผ่อิทธิพลคุมเอเชียจนสหรัฐฯ ต้องหวนกลับมาให้ความสำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกครั้ง หลังทิ้งไปทำศึกสงครามในตะวันออกกลางมานานหลายปี

ไม่เป็นที่ชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะใช้รายงานนี้เป็นเครื่องมือต่อรองในการเจรจาขอใช้อู่ตะเภาหรือไม่ และหากสหรัฐฯ ไม่บรรลุเป้าประสงค์ รายงานการค้ามนุษย์ในปีถัดไป สหรัฐฯ อาจจัดประเทศไทยไว้ในบัญชีระดับ 3 ซึ่งเป็นการลดระดับต่ำลงไป หรือไม่ 

แต่มีรายงานว่า ประเทศไทยจะตกชั้นมาอยู่ในบัญชี 3 ตั้งแต่ปีนี้แล้ว รัฐบาลจึงได้เสนอรายงานถึงความพยายามแก้ไขปัญหานี้ กระทั่งทำให้สหรัฐฯ คงรายชื่อไว้ในบัญชี 2 หลังจาก รมว.กระทรวงการต่างประเทศของไทยกลับจากประชุมยุทธศาสตร์ร่วมกับสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา และเป็นจังหวะเวลาช่วงเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีเตรียมจะพิจารณาเรื่องสหรัฐฯ ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาในการประชุมเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. แต่เกิดปัญหาจนต้องเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์หน้า

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันถึงการล็อบบี้เพื่อให้สหรัฐอเมริกาคงสถานะของประเทศไทยไว้ในบัญชี 2 อย่างชัดเจน แต่ปฏิเสธการพยายามแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ใดๆ ของประเทศ 

นายสุรพงษ์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประจำกระทรวงการต่างประเทศ วันนี้ (21 มิ.ย.) โดยกล่าวถึงการเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีการกล่าวหาว่าเป็นความพยายามไปแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของประเทศ เพื่อให้สหรัฐฯ ได้ใช้สนามบินอู่ตะเภา และอนุมัติให้วีซ่าแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่าไม่เป็นความจริง ครั้งนี้ทางสหรัฐฯ ได้เชิญไปเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-สหรัฐฯ ซึ่งได้หารือกับนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ถึงกรอบความร่วมมือต่างๆ 

เช่น การก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์เป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากไทยถูกจัดอยู่ในระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไทยอยู่ในระดับดังกล่าวมา 2 ปีแล้ว แต่กระทรวงได้ทำหนังสือชี้แจงการดำเนินการของไทยว่าได้จัดทำแผนปราบปรามการค้ามนุษย์ให้เป็นรูปธรรมอย่างไรเพื่อประกอบการพิจารณา จึงทำให้ผลการจัดระดับล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมาไทยยังคงอยู่ในระดับเดิม โดยปกติแล้ว หากอยู่ในระดับ 2 ที่ต้องจับตามองเป็นระยะเวลา 2 ปี จะถูกปรับให้อยู่ในระดับ 3 ที่จะเป็นผลถูกตัดความช่วยเหลือในด้านต่างๆ นำไปสู่ผลกระทบในหลายด้าน

       นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า ประเทศในอาเซียนที่ถูกจัดให้อยู่ในระดับ 2 ต้องจับตามอง ได้แก่ พม่า และมาเลเซีย ซึ่งเราต้องเดินหน้าชี้แจงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อประชุมเวทีระหว่างประเทศจะหยิบยกว่าประเทศไทยตั้งใจทำและปฏิบัติให้สอดคล้องกับแผนการปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยหวังว่าในปีหน้าไทยจะไม่อยู่ในระดับ 2 ที่ต้องจับตามอง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการออกรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาจะเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันหรือไม่ ในทางความเป็นจริงแล้วรัฐบาลไทยไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ไม่มีการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐานต่อแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อความรุ่งโรจน์ของประเทศไทย ดังที่รายงานดังกล่าวระบุไว้ 
 
(อ่าน .... รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี 2554 ฉบับเต็มในข่าวประกอบ) 
กำลังโหลดความคิดเห็น