xs
xsm
sm
md
lg

มติสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ฟอกเงิน และก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฟอกเงิน-ก่อการร้าย “ประชา“ อ้างต้องแก้กฎหมายให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อการปราบปรามมีประสิทธิภาพ เพิ่มความผิดอีก 12 มูลฐาน ด้านประชาธิปัตย์ไม่ค้านทุกเรื่อง ยันหนุนร่างให้ครอบคลุมสถานการณ์ปัจจุบัน แนะนิยามก่อการร้ายให้ชัด ซักร่วม 7 ชั่วโมง ก่อนมีมติผ่านร่างทั้งคู่

วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 11.00 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฏร โดยมีนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เป็นการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งประธานได้แจ้งต่อที่ประชุม โดยเห็นว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกัน จึงให้พิจารณาอภิปรายรวมกัน

โดย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เสนอหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับว่า สืบเนื่องจากคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force on Money Laundering : FATF) กำหนดรายชื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เนื่องจากประเทศไทยยังขาดกฎหมายที่เป็นมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ซึ่งกำหนดรายชื่อประเทศไทยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ และอาจเกิดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยพิจารณาจากข้อสังเกตของผู้ประเมินหรือ FATF ซึ่งได้ประเมินไว้ในปี 2550 เป็นหลัก นอกจากนี้ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่....) พ.ศ....ได้มีการเพิ่มความผิดมูลฐานขึ้นมาอีก 12 มูลฐานความผิด จากเดิมที่กฎหมายพ.ร.บ.การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของไทยมีอยู่เพียง 11 มูลฐาน ไม่ครอบคลุมตามที่ FATF กำหนดไว้ครอบคลุมความผิดทั้งสิ้น 20 ประเภท ได้แก่ 1. ความผิดเกี่ยวกับการเข้าร่วมองค์กรอาชญากรรม 2. ความผิดฐานก่อการร้าย รวมทั้งความผิดฐานการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้าย การค้ามนุษย์และการลักลอบเข้าเมือง 3. ความผิดเกี่ยวกับการค้าประเวณีหญิงและเด็ก 4. ความผิดเกี่ยวกับการค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 5. ความผิดเกี่ยวกับการค้าอาวุธ 6. ความผิดเกี่ยวกับการค้าของโจรและสินค้าอื่น

7. ความผิดเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นและการรับสินบน 8. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง 9. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเงินตรา 10. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและละเมิกทรัพย์สินทางปัญญาของสินค้า 11. ความผิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม 12. ความผิดเกี่ยวกับการฆาตกรรมและการทำร้ายร่างกายจนทำให้เกิดอันตรายสาหัส 13. ความผิดเกี่ยวกับการลักพาตัว การกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และการจับตัวประกัน 14. ความผิดเกี่ยวกับการลักทรัพย์ 15. ความผิดเกี่ยวกับการลักลอบนำเข้าสินค้า 16. ความผิดเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์ 17. ความผิดเกี่ยวกับการปลอมแปลงเอกสาร 18. ความผิดเกี่ยวกับโจรสลัด 19. ความผิดฐานลักลอบค้าอาวุธสงคราม และ 20. ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์

ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.... ที่ได้มีการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาใหม่ เพราะทาง FATF เห็นว่าความผิดฐานสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายในปัจจุบันตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย พบว่า การจัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สินเพื่อการก่อการร้าย ซึ่งมุ่งเน้นที่ทรัพย์สินที่จัดหาหรือรวบรวมนั้น ต้องเป็นไปเพื่อการก่อการร้ายเท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมตามที่มาตรฐานสากลกำหนด ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงได้กำหนดความผิดฐานการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายขึ้นใหม่ โดยกำหนดให้การจ่ายเงิน หรือโอนทรัพย์สิน หรือดำเนินการทางการเงินหรือทรัพย์สินด้วยประการใดๆ โดยรู้อยู่แล้วว่าผู้ได้รับประโยชน์ทางการเงินหรือทรัพย์สินตามนั้นเป็นผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ก่อการร้าย เป็นความผิดฐานการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย นอกจากนี้ยังกำหนดให้ความผิดสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

จากนั้นที่ประชุมได้มีอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ต่างเห็นด้วยที่มีการเสนอกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภา และเห็นว่าควรร่างกฎหมายให้ครอบคลุมมูลฐานความผิด เพื่อสอดคล้องต่อสถานการณ์ของโลกในยุคปัจจุบัน

โดย นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่เราเพิ่มฐานความผิดเข้ามาจำนวนมาก ด้านหนึ่งก็ง่ายต่อเจ้าหน้าที่ที่จะดำเนินการต่อผู้กระทำความผิด รวมทั้งเป็นการเพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่ ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทั้งนี้ การมีอำนาจที่เพิ่มขึ้นก็ต้องยอมรับว่าจะเป็นช่องทางให้อำนาจมิชอบเพิ่มเติมเข้ามาได้ เพราะหลายกรณีในอดีตก็มีข้อสงสัย วิตกกังวลว่าเมื่ออำนาจทางการเมืองเข้าไปมีบทบาทเหนือ ปปง. และดีเอสไอ วันข้างหน้าจะมีหลักประกันอะไรที่จะไม่ให้ผู้บริสุทธิ์ถูกยัดข้อหา 12 ฐานความผิดที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ ปปง.ต้องปรับปรุงครั้งใหญ่ด้วย ลำพังแค่ 11 ฐานความผิดเดิมก็ทำงานหัวหมุน เจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ต้องทำงานหนักมากขึ้น

นายอภิชาตกล่าวต่อว่า ฐานความผิดในกฎหมายการฟอกเงินถือว่ายังไม่ครอบคลุม เพราะถ้าเราเข้าไปดูในประมวลกฎหมายอาญามีความผิดเกี่ยวข้องกับความมั่นคงต่อราชอาณาจักรหลายเรื่องน่าจะนำมาเป็นฐานความผิดในการฟอกเงินด้วย ได้แก่ 1. ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท มีผู้กระทำความผิดเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งจงใจไม่จงใจ ทั้งทำเป็นขบวนการ ในประเทศและต่างประเทศมีการใช้เงินสนับสนุนอย่างเป็นขบวนการ แต่ความผิดแหล่านี้ ปปง.ให้ความสำคัญติดตามเอาผิดในคดีการฟอกเงินหรือไม่ 2. ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร กระทำทั้งคนไทย คนต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมเป็นปัญหากับความมั่นคงกับราชอาณาจักรไทยอยู่เสมอ ความผิดเหล่านี้มีการเตรียมการ มีการใช้เงินจำนวนมหาศาล มีผลกระทบกับความสงบสันติของสังคมไทย เรื่องนี้จะต้องให้ ปปง.ได้เข้าไปดูแลและอาจเพิ่มมูลฐานความผิดเรื่องนี้เพิ่ม และ 3. พวกเตรียมการก่อกบฏ ใช้สิทธิเสรีภาพเกินกว่าขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด ส่องซุมกองกำลังอาวุธ ล่วงละเมิดและจาบจ้วงสถาบัน ยุยงต่อท่อน้ำเลี้ยงเข้ามาปฏิบัติการต่อต้านรัฐ ซึ่งมีรูปธรรมที่เห็นชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงอยากตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ หวังว่าในชั้นกมธ.จะดูในรายละเอียดของเรื่องเหล่านี้มากขึ้น

นายอภิชาตกล่าวต่อว่า ส่วนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.... ภาพรวมแล้วมุ่งเน้นการจัดการ การหามาตรการป้องกัน ปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินผู้ก่อการร้ายเป็นหลัก แต่ไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่สอบสวนจะตั้งข้อหา ความผิดก่อการร้ายอาจถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือตอบโต้ทางการเมือง เราหามาตรฐานในเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน พวกซ่องสุมกำลัง ชุมนุมขัดรัฐธรรมนูญ ไปฆ่าเจ้าหน้าที่รัฐ ยิงคนบริสุทธิ์ พวกวางระเบิดคาร์บอมบ์ เผาโรงเรียนในจังหวัดชายแดนใต้ ในความรู้สึกของประชาชนพวกนี้ถูกจัดให้เป็นผู้ก่อการร้ายเสมอกัน เราจึงควรนิยามให้ชัดเจนเพื่อสร้างบรรทัดฐานในเรื่องนี้

ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องการทำบัญชีรายชื่อผู้ก่อการร้าย ไม่ทราบว่าเป็นดุลพินิจของ ปปง.จะเสนอชื่อใครต่อ ครม.ว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ก่อการร้าย การจะหยิบชื่อใครตีตราว่าเป็นผู้ก่อการร้ายนั้น มีกระบวนการตัดสินใจอย่าวไร ข้อมูลที่ป.ป.ง.มีในมือยืนยันได้หรือไม่ว่ารายชื่อเหล่านั้นถูกต้องชัดเจน ไม่ใช่ไปใส่ร้าย ซ้ำเติม เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกล่าวหาใครก็ได้แล้วขึ้นบัญชีผู้ก่อการร้าย เพราะอนาคตไม่แน่ว่า ปปง.จะถูกแทรกแซงจากอำนาจทางการเมืองบ่อยครั้ง ยืนยันได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกใช้งานเพื่อประโยชน์ทางการเมืองในวันข้างหน้า

ส่วนการเสนอชื่อผู้ก่อการร้ายจากต่างประเทศหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ จะวางเงื่อนไขรับรายชื่อเหล่านั้นอย่างไร ที่จะไม่ถูกกล่าวหาในภายหลังว่าเดินตามก้นมหาอำนาจที่ชักจูงให้เราคล้อยตาม เงื่อนไขเหล่านี้ต้องเป็นอิสระ เปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ใครไปทำอะไรตรงข้างทางการเมืองกับผู้มีอำนาจรัฐก็จะถูกยัดข้อหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สส.พัทลุง พรรคประชาปัตย์ อภิปรายว่า ความผิดฐานก่อการร้ายเป็นหนึ่งในฐานความผิดตาม ร่าง พ.ร.บ.ฟอกเงินฯ ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งอยากถามเลขาธิการ ปปง.ว่าขณะนี้มีการขึ้นบัญชีผู้ก่อการร้ายอยู่เท่าไหร่ และหากมีการออกฎหมายนิรโทษกรรม กลุ่มคนที่ก่อการร้ายจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็ไม่จำเป็นต้องออกร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้ ดังนั้นจึงอยากถามไปยัง รมว.ยุติธรรม ว่าจะแสดงความมั่นใจในการปฏิบัติกตามกฎหมายนี้ได้หรือไม่ แม้กฎหมายนี้จะดีแต่ถ้าไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้จริงตนเองก็ไม่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้

นอกจากนี้ ในส่วนของฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ควรจะต้องรวมไปถึงการทุจริตการเลือกตั้ง ที่มีการใช้เงินซื้อเสียง ซึ่งเป็นเงินสีเทา เงินนอกระบบ เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้ใช้ได้ และหากสามารถกำหนดเรื่องการซื้อเสียงลงไปในฐานความผิดการฟอกเงิน ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องมีการยุบพรรค แต่สามารถเอาผิดการทุจริตทางกฎหมายฟอกเงินเป็นรายบุคคลได้

ด้าน พล.ต.อ.ประชา ชี้แจงเบื้องต้นว่า คณะของ FATF ได้เข้ามาสังเกตการณ์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 50 และบอกว่าไทยบกพร่องทางยุทธศาสตร์เรื่องการฟอกเงิน และการก่อการร้าย ตนจึงได้หารือกับเลขาธิการ ปปง. และคณะกรรมการฟอกเงิน พร้อมกับหารือกับคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินให้ไปชี้แจงต่อที่ประชุมที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อเดือน ก.พ.แต่ในขณะนั้น เราออกกฎหมายไม่ทัน เขาจึงขึ้นบัญชีประเทศไทย เขาก็ต้องการให้เราแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.ฟอกเงินและออกกฎหมายก่อการร้าย เพื่อให้สามารถปฏิบัติการในเชิงยุทธสาสตร์เพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินได้ ซึ่งยืนยันว่าเราไม่ได้นิ่งนอนใจ ตนจึงได้ให้เลขาฯ ปปง.ยกร่างกฎหมายเสนอต่อ ครม.

พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.กล่าวว่า สำหรับ 12 มูลฐานที่เพิ่มขึ้นในร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนข้อเสนอให้บัญญัติเรื่องการค้ามนุษย์ และเรื่องการซื้อเสียงของนักการเมือง เรื่องการเปิดเผยความลับ มีกฎหมายเฉพาะที่บังคับใช้อยู่แล้ว ส่วนกรณีที่กังวลว่ากฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมืองของฝ่ายบริหารยืนยันว่ามีบทลงโทษเอาไว้ที่รุนแรงคือจำคุก 3 ถึง 30 ปี ปรับ 6 หมื่นบาท ถึง 6 แสนบาท ขณะที่ตัวเจ้าหน้าที่ ปปง. หากกระทำความผิดต้องรับผิดเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า จึงขอให้ทุกคนเชื่อมั่นว่ากฎหมายดังกล่าวนี้จะปลอดจาการแทรกแซงทางการเมือง

ภายหลังการอภิปรายประมาณ 7 ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติรับหลักการในวาระแรก โดยร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 368 เสียง ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 363 เสียง
กำลังโหลดความคิดเห็น