เชียงราย - กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงฯ ดึงสื่อเข้าโครงการ “ร่วมแรงร่วมใจ ยับยั้งขบวนการค้ามนุษย์” ก่อนยกคณะดูงานชายแดนเชียงราย-ท่าขี้เหล็ก
วันนี้ (18 พ.ค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมตามโครงการ "ร่วมแรงร่วมใจ ยับยั้งขบวนการค้ามนุษย์” ณ โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์รีสอร์ท อ.เมืองเชียงราย โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และเชียงราย เข้าร่วมประมาณ 50 คน เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหา ข้อกฎหมาย แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกิจกรรมมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ในด้านต่างๆ ให้ความรู้แก่สื่อมวลชนที่เข้าร่วมหลายคน
นายสมพงศ์ เย็นแก้ว อัยการศาลสูงจังหวัดเชียงราย ที่ร่วมเป็นวิทยากร กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ โดยแม้แต่สื่อมวลชนบางครั้งก็มีการนำเสนอข่าวที่น่าตั้งข้อสังเกต เช่น เมื่อมีการตั้งด่านตรวจและจับกุมคนต่างด้าวประมาณ 100 คนที่ลักลอบเข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทย ก็มีการระบุว่าเป็นการทลายขบวนการค้ามนุษย์รายใหญ่ เป็นต้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วน่าวิเคราะห์ว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์หรือไม่ ดังนั้นจึงต้องไปดูที่มาของเรื่องการค้ามนุษย์กันก่อน
ซึ่งพบว่าเรื่องนี้มีที่มาจากพิธีสารในองค์การสหประชาชาติที่มีการกำหนดเรื่องนี้เอาไว้อย่างละเอียด และประเทศไทยรวมทั้งนานาชาติก็นำมาปรับใช้เป็นกฎหมาย โดยประเทศไทยเป็น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี 2551
นายสมพงศ์กล่าวอีกว่า กฎหมายระบุว่าการจะวิเคราะห์ว่าการกระทำนั้นๆ เป็นการค้ามนุษย์หรือไม่มองจาก 1. เป็นรูปแบบการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยแสวงหาประโยชน์จากเรื่องที่กฎหมายไม่เปิดให้กระทำได้ คือ การค้าประเวณี การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่นโดยไม่จำเป็นต้องถึงขั้นมีการร่วมเพศ เช่น การเต้นยั่วยวนเพื่อแลกกับผลประโยชน์ ฯลฯ การผลิตและเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก เช่น วีซีดีหรือดีวีดีลามก ฯลฯ เพราะมีการใช้มนุษย์มาแสดงเพื่อแสวงหาประโยชน์เช่นกัน การเอาคนมาเป็นทาส การเอาคนมาเป็นขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ใช้กำลัง ยึดหนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ต จำกัดการอยู่อาศัย ฯลฯ
กรณีนี้เคยวินิจฉัยต่างกันระหว่างศาลสหรัฐอเมริกา ซึ่งระบุว่ ผู้ที่หลอกลวงคนไปทำงานต่างประเทศเป็นผู้ค้ามนุษย์ เพราะได้ยึดพาสปอร์ตของเหยื่อไว้ แต่ในอดีตประเทศไทยไม่ได้ระบุเช่นนั้น กระทั่งมีการใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ปี 2551 ดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า และสุดท้ายคือการกระทำอื่นใดที่คล้ายคลึงกับการขูดรีดไม่ว่าเหยื่อจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ มีการแยกในกรณีการค้ามนุษย์ประกอบด้วย ผู้กระทำ การกระทำ และผู้ถูกกระทำ ซึ่งต้องแยกแยะให้ถูกต้อง โดยอาศัยพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ นอกจากนี้ ผู้กระทำผิดยังเข้าข่ายถูกดำเนินการด้วย พ.ร.บ.เกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้ก่อนเพื่อตรวจสอบด้วย
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นอกจากนี้ยังมีผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายคนผลัดเปลี่ยนกันให้ความรู้ และในวันที่ 19 พฤษภาคม 55 จะมีการพาคณะไปศึกษาดูงานที่ชายแดนด้าน อ.เชียงแสน และ อ.แม่สาย โดยกรณีของ อ.แม่สายจะศึกษาดูงานศูนย์ประสานชายแดนเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ไทย-พม่า ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.เชียงราย และเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ด้วย