xs
xsm
sm
md
lg

สุวัจน์ตีแผ่ 2 ประเด็นร้อน‘ยิ่งลักษณ์’แก้ไม่ได้รัฐบาลพังแน่!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุวัจน์ ลิปพัลลภ
     วันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเผชิญหน้ากับ 2 ปัญหาใหญ่ คือเรื่องการเมืองที่ร้อนแรงขึ้นมาจากการผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ ที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เพราะแม้รัฐบาลจะมีข้ออ้างว่าการทำรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 นั้นไม่เป็นประชาธิปไตยและต้องล้มเลิกผลทางกฎหมายหลังรัฐประหารนั้นทั้งหมด แต่กลับถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มแนวร่วมที่เห็นว่า การช่วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้กลับประเทศไทยได้อย่างไร้มลทิน โดยทำลายระบอบยุติธรรมของประเทศลงไปนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างแรง
     ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจ ขณะนี้รัฐบาลก็ถูกบีบด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลกตกต่ำ ที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในเรื่องภาวะค่าครองชีพสูงลิบลิ่วที่ประชาชนก็ออกมาสะท้อนผ่านโพลสำนักต่างๆ ว่า หยุดเรื่องการเมืองแล้วมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประเทศก่อนดีหรือไม่?
     ทำให้ทั้งสองปัญหานี้กำลังนำรัฐบาลไปสู่คะแนนนิยมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากคนเสื้อแดงที่เป็นฐานสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเองที่นับวันก็ออกอาการไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล สะท้อนผ่านการเลือกตั้งเล็กหลายๆ ครั้ง ที่พื้นที่สีแดงแปร๊ดแต่ประชาธิปัตย์กลับเข้าวิน
     อะไรๆ ก็เริ่มไม่แน่นอนสำหรับรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จนหลายฝ่ายมองว่าถึงเวลา พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง เพื่อแก้ปัญหาทั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเป็นการใหญ่
     “ASTV ผู้จัดการรายวัน” จึงได้สัมภาษณ์ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” นักการเมืองอาวุโส ที่มีบารมี และฝีมือทางการเมืองในระดับ “เขี้ยวลากดิน” คนหนึ่ง ทั้งในฐานะบ้านเลขที่ 111 ที่ยังทรงอิทธิพลอยู่เบื้องหลังทางการเมืองหลายๆ เหตุการณ์ อย่างที่ทราบกันว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่อยู่หลังการจัดโรดโชว์พานายกฯ ไปพบนักธุรกิจญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาเพื่อเคลียร์ใจปัญหาน้ำท่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่น และดึงนักธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น ที่สำคัญ เขายังเป็นนักการเมืองหนึ่งในไม่กี่คนที่ติดต่อสื่อสารกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างไม่ขาดช่วง
     วันนี้ สุวัจน์ ได้สะท้อนให้เห็นปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่จะทำให้รัฐบาลอยู่ครบเทอม หรือ จะพังก่อนเวลา พร้อมแนวทางในการขับเคลื่อนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และคำถามสำคัญที่ว่า ตัว สุวัจน์ จะกลับเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ในการปรับ ครม.รอบนี้!

ประเทศไทยวันนี้มีแค่ 2 ปัญหาใหญ่
     ปัญหาของประเทศไทยเวลานี้มีแค่ 2 อย่าง ที่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือปัญหาทางการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจุดแข็งของรัฐบาลชุดนี้อยู่ที่เสถียรภาพ มีความเป็นเอกภาพ สามารถกำหนดนโยบายได้โดยพรรคแกนนำชัดเจน และนายกฯ มีภาพประนีประนอมจากความเป็นผู้หญิง เพราะสังคมไทยให้เกียรติสุภาพสตรีอยู่แล้ว
     แต่ปัญหาสำคัญคือเรื่องเศรษฐกิจ ที่เป็นปัญหาที่กระทบจากเศรษฐกิจโลก ทั้งอเมริกาและยุโรป มารวมกับอุทกภัย ก็เลย 2-3 เด้ง และ 4-5 ปีที่ผ่านมามีความขัดแย้งในบ้านเมืองสูงก็เลยเป็นเรื่องของภาวะการลงทุน ที่มองว่ากำลังเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่รออยู่ข้างหน้า
ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพียงแต่ต้องให้การเมืองเบาหน่อย จะได้มีสมาธิไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น
     โดยปัญหาการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่หากแก้ได้จะทำให้การแก้ปัญหาอื่นๆ สำเร็จได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นการเมืองต้องแก้ก่อน
     ส่วนวิธีการแก้เรื่องการเมืองจะต้องค่อยๆ พูดค่อยๆ จากัน โดยเฉพาะบรรยากาศการเผชิญหน้าทางการเมือง ซึ่งเป็นเรื่องที่นักการเมืองต้องช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศชาติ
ปัญหาการเมืองทางออกมีอยู่ คือต้องพยายามพูดคุย รอมชอมกัน เพราะปัญหาการเมืองไม่ใช่ปัญหาของคนอื่น แต่เป็นปัญหาจากภายใน ไม่เหมือนปัญหาเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบจากภายนอก คือเศรษฐกิจโลก เราควบคุมเขาไม่ได้ แต่อะไรที่เราสามารถควบคุมได้เอง น่าจะเบาได้ง่ายกว่า
     “วันนี้ผมอยากเห็นนักการเมืองระดับผู้ใหญ่ หรือนักการเมืองอาวุโส หรือนักการเมืองที่มีประสบการณ์ โดยเฉพาะคนบ้านเลขที่ 111 ถ้าไม่คิดจะเข้า ครม.ก็น่าจะมาทำบรรยากาศปรองดองให้เป็นบรรยากาศของการเมืองยุคน้าชาติ (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) การเมืองรุ่นเก่าๆ ที่มีการประนีประนอมกันทางการเมือง ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ดี คนไทยทานข้าวกันสักมื้อ คุยกันสักทีหนึ่งก็ดีขึ้นแล้ว”
     ช่วงเวลา 4-5 ปีมานี้ไม่มีบรรยากาศการหันหน้าเข้าหากันเลย ไม่ค่อยมีการมาพูดคุยกันเรื่องความขัดแย้งกันจริงๆ ส่วนใหญ่ก็ไปคุยกันในเวทีที่เป็นทางการ เรื่องกฎหมาย ญัตติ เวทีในสภา แต่บรรยากาศพี่น้อง พรรคพวกเพื่อนฝูงที่เข้าร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความขัดแย้งยังไม่เกิดขึ้น
ต้องยอมรับว่าความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในวันนี้เป็นปัญหามาจากการแข่งขันกันทางการเมือง และปัญหามาจากนักการเมือง ดังนั้น คนแวดวงการเมืองต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศดีๆ ขึ้นมาใหม่ เป็นฝ่ายค้านเป็นรัฐบาลก็ยังเป็นเพื่อนกัน ความร่วมไม้ร่วมมือในการทำงานทางการเมืองของแต่ละฝ่าย รัฐบาลทำดี ฝ่ายค้านก็ชม อะไรที่ฝ่ายค้านเสนอมาแล้วดี รัฐบาลก็เอาไปทำได้
จริงๆ วันนี้อยากเห็นบรรยากาศการหันหน้าเข้าหากัน และนักการเมืองเข้ามานั่งคุยกันจริงๆ
     “จะเอายังไง จะให้การเมืองคงสภาพอย่างนี้เหรอ จะให้ภาพพจน์ของนักการเมืองในสภาเป็นอย่างนี้เหรอ อยากให้ภาพพจน์ของนักการเมืองในสายตาประชาชนเป็นอย่างนี้เหรอ อย่างนี้มันเป็นความรับผิดชอบของพวกเรานะ”

การเมืองไทยขาดผู้มีบารมีทำหน้าที่กาวใจ
     ในอดีตเวลามีปัญหาทางเมืองเรามีผู้ใหญ่ทางการเมือง เรามี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ช่วย แต่วันนี้ เรายังไม่เห็นเหมือนอดีต
อยากเห็นผู้ใหญ่ทางการเมืองที่จะเข้ามาประสานความขัดแย้ง เข้ามาแก้ไข ไม่ต้องพูดคุยกันในเรื่องของพรรค ไม่ต้องมองว่าใครได้เปรียบเสียเปรียบ เอาปัญหาประชาชนเป็นที่ตั้ง เอาทุกข์ประชาชนเป็นที่ตั้ง
     วันนี้ถ้าถามว่าใครจะเป็นผู้ใหญ่ทางการเมืองได้ ก็ต้องบอกว่าต้องเริ่มต้นที่ทุกคนต้องช่วยกัน เท่าที่พูดคุยกับคนบ้านเลขที่ 111 มา หลายคนมีความคิดเรื่องนี้ บางคนก็บอกว่าอยากอยู่กับลูกกับเมีย อยากกลับไปทำธุรกิจ บางคนก็อยากทำการเมือง บางคนก็บอกว่าอยากเป็นตัวกลางประสานเรื่องปรองดอง เพราะเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ
     “ส่วนผมเอง ถ้าเห็นว่าผมเป็นประโยชน์ก็ยินดี ไปช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างนักการเมืองด้วยกัน เราอยู่การเมืองมาก็ 24-25 ปีแล้ว ซึ่ง 4-5 ปีที่ผ่านมา บรรยากาศทางการเมืองแย่มาก หากเป็นอย่างนี้ต่อไป บอกได้เลยว่าอนาคตประเทศชาติจะแย่
     แต่ถ้ามองอนาคตไกลออกไปอีก จะไม่มีเลือดใหม่ทางการเมือง เพราะไม่มีใครอยากเข้าสู่การเมืองเลย จะไม่มีคนเรียนหนังสือสูงๆ ไม่มีคนเก่งๆ ไม่มีคนเรียนต่างประเทศ จบจากสถาบันดีๆ ชาติตระกูลดีๆ เข้าสู่ภาคการเมือง เพราะทุกคนจะคิดว่า เข้าสู่ภาคการเมืองเมื่อไรแค่เริ่มต้นก็ขาดทุนแล้ว
     ต่างกับเมื่อก่อน ไปชวนใครเข้าสู่การเมือง ใครก็ดีใจมาเลี้ยงข้าวตอบแทน ขอบคุณที่ให้เกียรติ แต่วันนี้ไปชวนใครเขาบอกว่า คุณทำอะไรที่ทำให้ผมโกรธเหรอ อย่าไปยุ่ง เดี๋ยวจะถูกตรวจสอบ ภาพพจน์ต่างๆ เหล่านี้มันทำลายความรู้สึกดีๆ ของคนที่จะเข้าสู่การเมือง”
     แต่ในที่สุดเราก็ต้องยอมรับว่า การเมืองคือการได้อำนาจจากประชาชนเข้าไปบริหารประเทศ กำหนดนโยบาย ถ้าไม่มีคนดีๆ ไม่มีคนเก่งๆ เรียนหนังสือสูงๆ เข้ามา แล้วใครจะไปเป็นรัฐมนตรี แล้วใครจะเป็นคนเขียนนโยบาย และจะมีนโยบายดีๆ ออกมาบริหารประเทศได้อย่างไร ตรงนี้เองจะบอกได้ว่าประเทศจะอยู่ได้อย่างไร

ปรองดองเริ่มจาก พ.ต.ท.ทักษิณได้หรือไม่?
     การปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงต้องเริ่มจากทุกฝ่าย อย่ามองว่าเป็นเรื่องของคนหนึ่งคนใด หรือคุณทักษิณ คนเดียว เราต้องนึกถึงประเทศชาติด้วยเจตนาที่ดี นึกถึงคำพูดของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ว่าอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรกับใคร แต่ต้องถามว่าเราจะให้อะไรกับประเทศชาติได้บ้าง
     “ถ้าเราขาดทุน แต่ประเทศชาติได้ดี ก็ต้องทำ ไม่ได้ดั่งใจเรา ถอยกันคนละก้าว เราขาดทุน คู่แข่งขาดทุน แต่ประเทศชาติได้กำไร นักการเมืองต้องตระหนักในสิ่งนี้ ต้องมาร่วมกันสร้างสังคมการเมืองกันใหม่ ช่วยลดความขัดแย้ง สร้างสังคมการเมืองให้ทำงานการเมืองเป็นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันเหมือนเดิม ประคับประคองบ้านเมืองในช่วงนี้ไปกันให้ได้ ถ้าไม่ร่วมมือกัน ปล่อยให้การเมืองเป็นแบบนี้ต่อไป ก็จะเป็นการเมืองแบบเผชิญหน้า”
     อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าที่การเมืองไทยเป็นแบบปัจจุบันนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดจากการพัฒนาทางการเมือง เดิมการเมืองเผชิญหน้ากันไม่แรงเท่านี้ ตอนนั้นไม่มีการเมือง 2 ขั้ว ไม่มีพรรคไหนได้เสียงข้างมาก ทุกคนต้องอาศัยซึ่งกันและกันหมด มีความหมายเหมือนกันหมด พรรคการเมืองจะเป็นพรรคขนาดกลางหมด จะทำอะไร ทุกคนก็ยังต้องอาศัยซึ่งกันและกันในการเป็นรัฐบาล เป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่มีความขัดแย้งเพราะต้องอาศัยกัน
     แต่ทุกวันนี้การเมืองเป็นแบบ 2 ขั้ว พรรคการเมืองขนาดกลางก็เริ่มกลายเป็นพรรคขนาดเล็กลงทุกวัน หรือเรียกว่าพรรคจิ๋ว ซึ่งต่อไปก็จะพัฒนาต่อไปเป็นพรรคจังหวัด
เพราะการเมืองมีการพัฒนาไปสู่การเมืองในระบบพรรค การเมืองในระดับนโยบาย รัฐธรรมนูญในระบบที่เกี่ยวข้องกับปาร์ตี้ลิสต์ต่างๆ พรรคเล็กอยู่ยาก พรรคจิ๋วก็อยู่ยาก
     เพราะฉะนั้นจึงเป็นการเมือง 2 มุม มุมแดง มุมน้ำเงิน มุมแดงเป็นรัฐบาล มุมน้ำเงินก็เป็นฝ่ายค้าน ถ้าวันใดน้ำเงินเป็นรัฐบาล แดงก็เป็นฝ่ายค้าน จึงเป็นบรรยากาศของการเผชิญหน้ากันอย่างชัดเจน
     “จริงๆ แล้วการเมือง 2 ขั้วเป็นเรื่องที่ดี ที่การเมืองมีเสถียรภาพ เพราะรัฐบาลมีเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรไม่ให้การเมือง 2 ขั้วนี้ไม่เผชิญหน้ากัน ไม่ปะทะกันรุนแรงเกินไป ก็ต้องมีวิธีปรับ เหมือนที่ต่างประเทศเขาเป็นกัน เป็นช่วงที่เปลี่ยนผ่านวัฒนธรรมการเมือง จากการเมืองหลายพรรค เป็นการเมือง 2 พรรค”
     อยากให้บรรยากาศทางการเมืองมีการพูดคุยกันมากขึ้น ให้หาทางออกร่วมกัน ช่วยกันสร้างบรรยากาศดีๆ โดยเฉพาะคนบ้านเลขที่ 111 อยากให้ทุกพรรคมีการนั่งคุยกัน ไม่ต้องพูดถึงปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ต้องพูดเรื่องรัฐบาล ฝ่ายค้าน แต่มาคุยกันในฐานะนักการเมือง ให้การเมืองนิ่งๆ เพราะถ้าการเมืองนิ่ง ปัญหาอย่างอื่นก็จะแก้ไขได้เอง ประชาชนก็มีความสุขขึ้น อย่าง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีการทำโพล เห็นชัดเลยว่าเมื่อการเมืองไม่นิ่ง ประชาชนก็เป็นทุกข์
     เช่นเดียวกับปัญหาของประชาชนที่แบ่งแยกเป็นฝ่ายเป็นสีเสื้อ ถ้าการเมืองนิ่งขึ้น บรรยากาศความขัดแย้งจะค่อยๆ ลดลง เพราะการเมืองเป็นหลักของความขัดแย้งทั้งสิ้น ถ้าการเมืองไม่ขัดแย้ง ปัญหาอย่างอื่นจะง่ายขึ้นในการทำความเข้าใจ
     ดังนั้นเพียงแค่นักการเมืองทุกพรรค ทุกฝ่าย มานั่งคุยกัน ก็สร้างบรรยากาศดีๆ ได้ ประชาชนจะรู้สึกได้ทันทีว่าอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงอยู่จะลดลงทันทีเช่นกัน

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยรองรับวิกฤตโลกได้
      เมื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองให้เบาลงได้ คณะรัฐมนตรีได้คนมีความรู้ความสามารถเข้ามาทุ่มเทแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าได้ เพราะขณะนี้มีวิกฤตเศรษฐกิจที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป ในอเมริกาก็ยังไม่ฟื้นตัว การลงทุนทั่วโลกตกต่ำ ปัญหาราคาพลังงาน ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ
     ที่ผ่านมา รัฐบาลมีภาระในเรื่องการดำเนินนโยบายประชานิยมเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อเจอปัญหาน้ำท่วม ก็ทำให้กระทบการลงทุน กระทบความเชื่อมั่น
เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดี ก็กระทบต่อการท่องเที่ยวด้วย ตัวเลขนักท่องเที่ยวไม่เป็นไปตามเป้า และตอนนี้ก็เริ่มมีปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำขึ้นอีก
     จากนี้ไปถ้าลดปัญหาทางการเมืองได้ แล้วมาทุ่มเทแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ก็น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะรัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
     ที่ผ่านมารัฐบาลมัวแต่ต้องรับศึก 2 หน้า เจอทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เจอทั้งเรื่องการเมืองด้วย อย่างปัญหาในปัจจุบันนี้ก็ยังเจออยู่ คือปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาปรองดองแตกแยกก็คือเรื่องการเมืองนั่นแหละ
     จนถึงวันนี้ รัฐบาลต้องแยกบทบาทให้ชัดเจน อย่าทำทั้งสองเรื่อง ต้องทำทีละเรื่องเหมือนที่ พล.อ.ชาติชาย กล่าวไว้ ถ้าจะปั้นยักษ์ต้องปั้นทีละตัว จึงควรหยิบมาดูทีละเรื่อง
ก็ไม่ทราบว่าจะปรับ ครม.เมื่อไร แต่ก็คิดว่า เมื่อมีการปรับ ครม.แล้ว ก็ต้องมีมืออาชีพ หรือมีคนที่มีประสบการณ์อย่างคนบ้านเลขที่ 111 มาเสริมทีมให้รัฐบาลมีความแข็งแกร่งมากขึ้นโดยเร็ว เพราะในขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจมีภาวะที่จะต้องตั้งรับมากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น
     โดยหากต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล ในการเข้ามาทำงาน ซึ่ง ครม.จำเป็นจะต้องได้คนที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารงาน ทำงานกันอย่างเต็มที่ เพราะโดยระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย มีจุดแข็งที่สำคัญ อยู่คือ
     1. ไทยเป็นเมืองอาหารโลก เพราะภาคเกษตรของไทยเข้มแข็งในฐานะเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ไทยมีโครงสร้างที่เข้มแข็งในภาคสินค้าเกษตร อีกทั้งสินค้าเกษตรก็กำลังเป็นสินค้าที่ปัจจุบันยังมีการนำมาใช้ในการผลิตพลังงานทดแทนด้วย
     2. ไทยเป็นเมืองท่องเที่ยว ถ้าเศรษฐกิจดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรป คนก็จะมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น เพราะไทยมีจุดเด่นของความเป็นเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะเป็น culturist มีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่หลากหลาย และมีจุดเด่นของตัวเอง ซึ่งนักท่องเที่ยวชอบอยู่แล้ว
“เศรษฐกิจโลกดีเมื่อไร ประเทศไทยก็ออโตเมติก เศรษฐกิจไทยก็เดินหน้าได้ ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเหนื่อยมาก เพียงแต่ว่าต้องหาคนที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารงาน สร้างบรรยากาศในประเทศให้เป็นที่น่าเชื่อถือและต้องรีบสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกโครงการต่างๆ ของรัฐ”

‘ยิ่งลักษณ์’ต้องสร้าง good news เรียกความเชื่อมั่น
     ส่วนปัญหาของรัฐบาลที่สำคัญและต้องแก้ไขคือปัญหาการสื่อสาร อย่างเรื่องน้ำท่วม บอกแค่ว่า น้ำไม่ท่วม มันไม่ได้ ต้องบอกว่าน้ำไม่ท่วม คืออะไร คือรัฐบาลเตรียมเงินไว้รองรับแล้ว 3 แสนล้านบาท เตรียมแผนการป้องกันน้ำ ทำเขื่อน ขุดลอกคูคลอง ทำฟลัดเวย์อย่างนี้ เตรียมระบบข้อมูลน้ำไว้อย่างไรบ้าง
     หรืออย่างเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ ก็ต้องบอกว่า อาคารผู้โดยสารต้องขยาย จะขยายรันเวย์ พอขยายแล้วจะได้เงินเข้าประเทศเท่าไร
     หรือจะเร่งดำเนินการ 3G 4G การสร้างรถไฟฟ้าก็ต้องบอกว่า จะต้องเร่งสร้าง พอสร้างเสร็จต่อไปเมืองไทยรถจะไม่ติดแล้ว เป็นต้น
     สิ่งเหล่านี้เป็นข่าวดี หรือ good news ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจากการลดปัญหาความขัดแย้ง
     นายกฯ ยิ่งลักษณ์ เองก็เดินสายไปพบนักลงทุน จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าทำถูกต้อง ที่จะทำความเข้าใจและเชิญนักธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุน เพียงแต่ต้องเพิ่มเรื่องสมาธิในการทำงาน และอธิบายให้สังคมรับรู้ได้ว่าเราทำอะไร
     ส่วนเรื่องประชานิยม ก็ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องนโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องการให้ถูกใจประชาชน ทั้งการตรึงราคาสินค้า ดูแลพื้นฐานของชีวิต การรักษาพยาบาล ฯลฯ แต่รัฐบาลก็ต้องมองภาระ ไม่ให้กระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว นโยบายประชานิยมจึงต้องบริหารให้เกิดความสมดุลระหว่างประชานิยมกับกำลังทางเศรษฐกิจ ถึงจะเป็นภูมิต้านทานให้ระบบเศรษฐกิจได้
     ตรงนี้อาจจะต้องทบทวนให้ดี!

ก.อุตสาหกรรมต้องปั้นธุรกิจไทยให้เข้มแข็ง
     ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของพรรคชาติพัฒนานั้น ก็มีปัญหาใหญ่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องเดินหน้าคือการเปิดประชาคมอาเซียน หรือ AEC ใครเข้มแข็งกว่าจะชนะและจะได้เปรียบ เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่เปิดเสรี มีการแข่งขันกันอย่างมาก
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้นักธุรกิจทั้งด้านการสนับสนุนเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทยผลิตสินค้าให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ซึ่งตรงนี้เป็นงานใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องเตรียมพร้อมรองรับ
     หรือการลงทุนของประเทศ ก็ต้องเร่งสร้างความเข้าใจ มีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะรักษาบรรยากาศของการลงทุนเอาไว้ได้ อีกทั้งเขตการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของไทย ที่จะเป็นแหล่งลงทุนหรือเขตเศรษฐกิจใหม่ ไม่มีเลยตั้งแต่สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ก็มีเพียง อีสเทิร์น ซีบอร์ด
     ดังนั้นงานด้านอุตสาหกรรมก็ต้องให้ความสำคัญ
     “ในส่วนของปัญหาอุตสาหกรรมต่อเศรษฐกิจขณะนี้ นักลงทุนก็จะไปประเทศอื่น อย่างเวียดนาม ตอนนี้เขานิ่ง โครงสร้างพื้นฐานก็ไปไกล ไม่มีความขัดแย้งในประเทศ มีความได้เปรียบด้านแรงงาน เขามีความได้เปรียบเหมือนที่ไทยเคยได้เปรียบ แต่วันนี้ความได้เปรียบของไทยมันหายไปแล้ว ความนิ่งของประเทศไทย ความเป็นประชาธิปไตยก็ไม่ได้เปรียบเขาแล้ว วันนี้บรรยากาศการลงทุนจึงข้ามเราไป บินข้ามหัวเราไป”
     ถึงบอกว่าปัญหาการเมืองถ้านิ่ง ปัญหาอย่างอื่นก็จะเบา
แต่ถ้าอยากสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน รัฐบาลควรชี้แจงให้ชัดโดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมในปีนี้ว่าได้เตรียมป้องกันอะไรไว้บ้าง
     “ต้องเร่งสร้างมาตรการว่าจะป้องกันน้ำท่วม ซึ่ง ครม.ก็มีมติออกมาอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนก็กลัว ใครก็ต้องกลัว ถ้าน้ำท่วมมาอีกที ถ้าเขาไม่ไป เราก็ต้องไป (รัฐบาลอยู่ไม่ได้) เศรษฐกิจเราก็ไปเหมือนกัน ผลกระทบความเสียหายมีมาก จึงปล่อยให้เกิดน้ำท่วมไม่ได้ ซึ่งรัฐมนตรีปลอดประสพ ก็ออกมายืนยันแล้วว่าปีนี้ไม่เหมือนปีที่แล้ว และบทเรียนจากปีที่แล้วมา ปีนี้คิดว่าจะตั้งหลักได้แล้วนะ สำคัญที่ต้องมีการบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำ ถ้าบริหารได้ก็เบาไปครึ่งหนึ่งแล้ว และมีมาตรการเสริมเรื่องการป้องกันน้ำท่วมพร้อม ปีนี้ไม่น่ามีอะไร”
     สำหรับการส่งออกนั้น จริงๆ ประเทศไทยมีจุดแข็งอยู่ คือถ้าเศรษฐกิจไม่ดี คนทั่วโลกก็จะประหยัด แต่สิ่งหนึ่งที่คนไม่ประหยัดคือของกิน ก็ควรจะรู้ว่าจุดแข็งของไทยคือเกษตร ประเทศไทยเป็นประเทศผลิตอาหารป้อนโลก ก็ต้องคงความเป็นจุดแข็งไว้ให้ได้ ส่งออกจึงต้องเน้นเรื่องอาหาร ข้าว เกษตร สินค้าธัญพืช ส่วนสินค้าทางเลือกไม่ใช่จุดแข็งของไทย
     “กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องประสานงานกัน พยายามสร้างทีมเวิร์กให้เกิดให้ได้ ไทยนี่จากประวัติกีฬาเราได้เหรียญทองจากกีฬาที่เล่นคนเดียว ยกน้ำหนัก เทนนิส มันสะท้อนออกมา ว่าเราต้องเป็นทีมเวิร์ก ต้องลดความขัดแย้งให้ได้ก่อน”
ส่วนกรณีพลังงาน เชื่อว่าในเรื่องความไม่เพียงพอของพลังงาน ไม่มีน้ำมันใช้ ไม่ใช่ปัญหา เพราะไทยยังมีก๊าซธรรมชาติ หรือไม่พม่าก็กำลังจะมาอีกแหล่งหนึ่ง และไทยยังมีความร่วมมือกับลาวเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ
     ดังนั้น ไทยมีปัญหาเรื่องของราคามากกว่าไม่เพียงพอ ซึ่งราคาก็เป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ เพราะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกอีกที และต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ
น้ำมันแพงก็มีปัญหา เพราะน้ำมันเป็นต้นทุนของสังคม ต้องจัดระบบการบริหารจัดการด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาน้ำมัน และไปใช้อย่างอื่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่นไฟฟ้า ก็ไปใช้จากพลังงานน้ำ น้ำบ้านเราน้อยก็ไปใช้จากประเทศเพื่อนบ้าน คือคนไทยไปลงทุน นอกจากจะได้พลังงานแล้ว ยังถือว่าเป็นการร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์ด้วย ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศก็ดี นอกจากนี้ต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนประหยัด คิดว่าถ้าทำได้คนละ 20% จะดีมาก
     สำหรับกองทุนน้ำมัน เนื่องจากมีการเก็งกันว่า น้ำมันแพง เป็นต้นเหตุทำให้ราคาสินค้าอย่างอื่นแพง แล้วเศรษฐกิจโลกก็ไม่ดีอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลจึงคิดว่าต้องดูแลราคาน้ำมันให้ดีที่สุด ต้องมีการนำเงินกองทุนน้ำมันมาดูแลในช่วงน้ำมันแพง แต่ถ้าโชคดีต่อไปน้ำมันลด กองทุนน้ำมันก็ขอคืนบ้าง ประชาชนก็ต้องเข้าใจ ต้องยอมจ่ายแพงในช่วงนั้นๆ ด้วย เหมือนกับยามทุกข์เราดูแล ยามสุขผลัดกันดูแลกันบ้าง อยู่กันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยบ้านเมืองก็ไปได้

มั่นใจกีฬาสร้างชาติ-กระตุ้นเศรษฐกิจได้
     5 ปีที่ผ่านมา ได้ทุ่มเทให้กับวงการกีฬา เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้เล่นการเมือง แต่ไม่ได้ห้ามเรื่องกีฬา ก็เลยมีโอกาสไปทำกีฬา ซึ่งกีฬาสร้างคน เป็นพื้นฐานการพัฒนาประเทศ ขณะที่ประเทศชาติมีความขัดแย้ง กีฬาเป็นส่วนสำคัญช่วยในเรื่องความรักชาติ ความภาคภูมิใจ เป็นการสร้างบรรยากาศความสมานฉันท์ที่ดีมาก
อีกทั้งกีฬายังเป็นสื่อให้สังคมโลกมองประเทศไทย เวลาเราเอากีฬาใหญ่ๆ มา เช่น เทนนิส หรือดนตรี เลดี้ กาก้า คนทั้งโลกก็เห็นประเทศไทย สีสันของคนดังๆ ระดับโลกนี้ ทำให้ประเทศไทยอยู่ในแผนที่โลกด้วย
     กีฬาจึงมากับความสามัคคี ความรักชาติ กีฬามากับสถานการณ์ ตอนนี้มากับเรื่องเศรษฐกิจ สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าอยากเป็นรัฐมนตรีคุมกระทรวงกีฬา แต่นี่เป็นวิสัยทัศน์ของคนที่มีประสบการณ์ผ่านมา

เลือกนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีหรือเป็นกาวใจ
     ส่วนจะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่นั้น ยังขออุบไว้ก่อน เพราะด้วยประสบการณ์ทางการเมือง เป็นรองนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 2 สมัย เป็นรัฐมนตรีว่าการมาแล้ว 7 กระทรวง เป็นรัฐมนตรีช่วยมาแล้ว 3 ครั้ง จึงถือว่าอยู่ในระดับอาวุโส
     “ถามว่าอยากเป็นรัฐมนตรีไหม ตอนนี้ผมเฉยๆ นะ เพราะมองว่าเรื่องของประเทศชาติต้องมาก่อน เพราะตอนนี้ประเทศมีปัญหาแค่ 2 ส่วนที่บอก คือปัญหาเศรษฐกิจ และการปรองดองทางการเมือง การสร้างความรักความสามัคคี ดึงคนไทยกลับมารักกัน ดึงบรรยากาศไทยให้กลับมาเป็น land of smile ได้ ก็เป็นระยะที่อยู่ในระหว่างกำลังคิดว่าจะอยู่จุดไหน ให้เป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด กำลังคิด กำลังตัดสินใจอยู่”
     ยืนยันว่าจะยืนทั้งสองจุดไม่ได้ เนื่องจากงานบริหารเศรษฐกิจมีความยาก งานปรองดองก็มีความยาก ตอนนี้จึงต้องตัดสินใจว่าจะเลือกแก้ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน เพราะเป็นปัญหาหนักทั้งคู่
เห็นได้ชัดเจนว่าบรรยากาศทางการเมือง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา จากผลสำรวจคนไทยเครียด เครียดเพราะว่าหลังเลือกตั้งมา 1 ปี บรรยากาศเริ่มนิ่งมา 1 ปี พอมีบรรยากาศนอกสภาฯ ทุกคนเครียด ทุกคนตื่นตระหนก แสดงให้เห็นถึงจุดอ่อนในสังคมไทยว่าทุกคนเข็ดขยาด ไม่อยากเห็นความขัดแย้ง มีผลกระทบต่อตนเอง มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องใหญ่ แล้วแต่มุมมอง มุมไหนก็ได้ที่เราคิดว่าเราเข้าไปแล้วได้ใช้ประสบการณ์ที่จะไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ดี
     “ยังไงผมก็จะเลือกแน่ เมื่อตัดสินใจแล้ว ก็เอาเป็นว่าจะเลือกอันนั้นแล้วกัน ตอนนี้เจอใคร เจอบ้านเลขที่ 111 ก็บอกไปว่าเราจะเบื่อการเมืองไม่ได้นะ คนอื่นเบื่อได้ แต่พวกเรามันเหมือน old soldier ทหารเก่าย่อมไม่เคยตาย ผ่านศึกสงครามมาเยอะ ผ่านอะไรมาเยอะแยะแล้ว ต้องพร้อมที่จะมารับใช้ประเทศชาติ”

รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ-เชื่ออยู่ครบ 4 ปี
     วันนี้หากถามว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่นั้น เชื่อว่าด้วยความที่รัฐบาลยังมีเสถียรภาพ และมีโอกาสที่จะอยู่ครบเทอมสูงมาก เพราะมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา นอกจากนี้องค์ประกอบของพรรคร่วมรัฐบาลยังเป็นพรรคขนาดเล็ก ดังนั้นความไม่เป็นเอกภาพในรัฐบาลไม่ค่อยจะมี รัฐบาลจึงมีเสถียรภาพสูง และสามารถกำหนดบทบาท นโยบายจากพรรคแกนนำได้อย่างแท้จริง ต่างกับรัฐบาลที่แล้วที่เป็นรัฐบาลผสม ที่ไม่ได้มีเสียงข้างมาก เวลาทำอะไรก็ไม่สามารถทำได้อย่างใจนึก ยังต้องอาศัยเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลในความมีเสถียรภาพของรัฐบาล รัฐบาลชุดปัจจุบันจึงมีความได้เปรียบในเรื่องของเสถียรภาพ
     ขณะเดียวกัน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้หญิง จึงมีภาพของการประนีประนอมทางการเมือง ซึ่งลักษณะของสังคมไทยมีความชอบความประนีประนอมและเป็นสังคมที่ให้เกียรติสุภาพสตรี ดังนั้น ทำให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์เรียกว่าอยู่ในที่ปลอดภัย รวมถึงความมีเสถียรภาพของรัฐบาล
     “ถ้าเราจัดการปัญหาการเมือง แก้เศรษฐกิจได้ และต่อจากนี้ไม่มีเรื่องอื่นที่เป็นเรื่องร้ายแรง หรือเป็นเรื่องร้อนที่ขัดความรู้สึกของสังคมไทยมากๆ คิดว่ารัฐบาลนี้มีโอกาสสูงที่จะอยู่ครบเทอม”
แต่ถ้ารัฐบาลชี้แจงหรือแก้ปัญหาไม่ได้ โดยเฉพาะปล่อยให้น้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว ทุกอย่างเสียหายอีกครั้ง ไม่ใช่นักธุรกิจต่างชาติเท่านั้นที่ย้ายฐาน แต่หมายถึงรัฐบาลนี้ก็มีสิทธิไปได้เหมือนกัน
การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
อุทกภัยครั้งใหญ่ปี 2554 ทำความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก
การชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงที่ผ่านมา

กำลังโหลดความคิดเห็น