ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นศาลปกครองขอให้มีคำสั่งใหม่ระงับการประกอบกิจการ 2 โรงงานที่เกิดเหตุระเบิดและปล่อยมลพิษ พร้อมเพิกถอนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยุติการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการสำหรับโครงการใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ทั้งหมดอีกต่อไป
อุบัติภัยและการปล่อยสารเคมีในพื้นที่อุตสาหกรรมมาบตาพุดยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้พื้นที่ดังกล่าวจะได้รับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วก็ตาม ล่าสุดการเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้ในโรงงานบีเอสที และการปล่อยสารพิษของโรงงานอดิตยา เบอร์ล่าฯ ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีขอให้ระงับกิจการ 76 โรงงานในมาบตาพุด ทำให้สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และพวก ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดใหม่อีกครั้ง
วันนี้ (10 พ.ค.) นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมพวกรวม 43 คน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งชี้ขาดใหม่ ในคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวก รวม 8 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ละเว้นเพิกเฉยต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวในมาตรา 66 และ 67 วรรคสอง และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชน ตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ ทำให้หลายโครงการที่ไม่อยู่ในประกาศดังกล่าวสามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่าขัดต่อข้อเท็จจริง จึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล
คำร้องของสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวกเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดใหม่ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์อันเป็นการละเมิดกฎ ระเบียบ หรือกฎหมายของผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ภาคตะวันออก (ผู้ร้องสอดในคดี) อันเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านในพื้นที่มาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง 2 เหตุการณ์สำคัญ คือ
1. เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ทำให้สารพิษถูกปล่อยสู่บรรยากาศแพร่กระจายไปในวงกว้าง มีคนงานเสียชีวิต 11 ราย และบาดเจ็บกว่า 142 ราย โดยก่อนหน้านี้โรงงงานดังกล่าวเคยเกิดสารเคมีรั่วไหลขณะขนถ่ายสารเคมีขึ้นมาจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดมาแล้ว
2. เกิดเหตุฉุกเฉินจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ของบริษัทในการปิดวาล์วสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารฟอกขาว จากโรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) ที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ตะวันออก (มาบตาพุด) เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2555
ในการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งใหม่ครั้งนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและพวก ขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดใหม่ในส่วนของ 2 โรงงานที่ก่อเหตุ โดยสั่งให้โรงงานทั้งสองยุติการประกอบกิจการชั่วคราวหรือถาวรต่อไป และขอให้เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการทั้งสอง ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดยุติการให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการสำหรับโครงการหรือกิจกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ทั้งหมดอีกต่อไปนับแต่ศาลมีคำสั่ง
นอกจากนั้น ยังขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกันจัดทำหรือปรับปรุงแผนสื่อสารความเสี่ยงภัย แผนรายงานเหตุฉุกเฉิน แผนอพยพหนีภัย และแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยทุกแผนจะต้องเชื่อมโยงกันกับทุกโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, นิคมอุตสาหกรรมผาแดง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก(ระยอง), นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล, ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ฯลฯ)
พร้อมจัดตั้งศูนย์รองรับผู้อพยพถาวรขึ้นพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งของเพื่อการยังชีพของผู้อพยพในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากมลพิษ ให้แก่ประชาชน คนงาน หรือผู้เสี่ยงภัยนอกพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ภายใน 30 วัน นับแต่ศาลมีคำสั่ง พร้อมกับให้มีการซักซ้อมแผนร่วมกับชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางทุกๆ 3 เดือน โดยการให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ฟ้องคดี เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนทุกครั้ง
สำหรับรายละเอียดคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเพื่อมีคำสั่งใหม่ มีดังนี้
O คำขอให้ศาลพิจารณาเพื่อมีคำสั่งชี้ขาดใหม่ คำร้องที่ ๕๘๖/๒๕๕๒
(วิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา) คำสั่งที่ ๕๙๒ / ๒๕๕๒
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่ ๑๐ เดือน พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๓ คน ผู้ฟ้องคดี
คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กับพวกรวม ๘ คน ผู้ถูกฟ้องคดี
ข้าพเจ้า สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ และผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี ซึ่งประกอบด้วย
นายวีระ ชมพันธุ์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓
นายเกียรติภูมิ นิลสุข ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงที่ ๑๐
น.ส.อมรรัตน์ โรจนบุรานนท์ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงที่ ๒๐
นายสำนวน ประพิณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๒๑ ถึงที่ ๓๐
นายธนวัฒน์ ตาสัก ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๓๑ ถึงที่ ๓๕
นายโชคชัย แสงอรุณ ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๓๖ ถึงที่ ๔๐
นางวนิดา แซ่ก๊วย ผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีปกครองแทนผู้ฟ้องคดีที่ ๔๑ ถึงที่ ๔๓
ที่อยู่ ๕๑/๑๑๙ หมู่ที่ ๙ หมู่บ้านพฤกษา ๑๗ ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รหัสไปรษณีย์ ๑๒๑๕๐ โทรสาร ๐-๒๑๕๒-๘๕๖๙
ข้อ ๑ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๔๓ คนได้ยื่นฟ้องเป็นประเด็นพิพาทต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ หลังจากที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นมา เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีละเว้นเพิกเฉยต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวในมาตรา ๖๖ และ ๖๗ วรรคสอง และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ด้วยเช่นกัน ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีเมตตามีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราว ตามคำขอของผู้ฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ โดยสั่งให้โครงการต่างๆ จำนวน ๗๖ โครงการ ตามเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ ระงับการดำเนินโครงการไว้เป็นการชั่วคราวก่อน
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีอุทธรณ์ และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งตามคำร้องที่ ๕๘๖/๒๕๕๒ คำสั่งที่ ๕๙๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ยืนยันตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง แต่ให้มีการยกเว้น ๑๑ ประเภทโครงการที่ศาลเห็นว่าไม่น่าที่จะเข้าข่ายโครงการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ต่อมา ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ ๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓ สั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๗ ที่เป็นโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ โดยยึดหลักประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภท ขนาด และวิธีปฏิบัติสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนจะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๕๓ ฉบับลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เป็นเกณฑ์
ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่ามิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อข้อเท็จจริงหลายประการ จึงได้ยื่นคำอุทธรณ์มายังศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ความดังทราบแล้วนั้น
ซึ่งคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีได้มีคำขอท้ายฟ้อง ดังนี้
๑. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารท้ายฟ้องที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้ว นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษา โดยให้นำกลับมาดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
๒. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และ/หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และ/หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ เพิกถอนใบอนุญาตหรือระงับใช้ใบอนุญาตชั่วคราว รวมทั้งการระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ สำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และ/หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และ/หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ แล้วแต่กรณีได้อนุญาตไปแล้ว นับตั้งแต่วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษา เพื่อให้นำกลับมาดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสอง และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
๓. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกประกาศ หรือระเบียบ หรือหลักเกณฑ์ หรือการอื่นใดตามขั้นตอนทางกฎหมายภายใน ๓๐ วันนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาเพื่อรองรับให้ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของโครงการหรือกิจกรรม หรือบริษัทที่ปรึกษาที่รับทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยถูกต้อง ดังนี้
๓.๑ ให้ศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชน ที่โครงการหรือกิจกรรมนั้นไปก่อตั้งหรือดำเนินการในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรอบด้าน
๓.๒ จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน อย่างทั่วถึงและรอบด้าน
๓.๓ ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ
ข้อ ๒ บัดนี้ได้เกิดเหตุการณ์อันเป็นการละเมิดกฏ ระเบียบ และหรือกฎหมายของผู้ประกอบการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชภาคตะวันออก อันเป็นการบกพร่องในหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๘ หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและชาวบ้านในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ถึง ๒ เหตุการณ์ด้วยกัน ดังนี้
กรณีที่ ๑ เกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส ของบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง (เป็นผู้ร้องสอดตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ คดีดำหมายเลขที่ ๙๐๘/๒๕๕๒ ประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ ๓๙) ทำให้มีการรั่วไหลของสารพิษและควันดำสู่บรรยากาศแพร่กระจายไปในวงกว้าง จนทำให้มีคนงานเสียชีวิตไปกว่า ๑๑ คน และบาดเจ็บไปกว่า ๑๔๒ คน เมื่อเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น.บ่ายวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา (ปรากฏตามสำเนาเอกสารการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เอกสารแนบ ๑) และกว่าเจ้าพนักงานดับเพลิงจะสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้จนดับลงได้ก็ใช้เวลาล่วงเลยมาจนถึง ๐๓.๐๐ น.ของวันใหม่ ซึ่งเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการที่มีการจ้างเหมาบริษัทรับจ้างซ่อมบำรุงจากภายนอกที่ขาดมาตรฐานความปลอดภัยเข้ามาปฏิบัติงาน จนก่อให้เกิดเหตุแห่งความเสียหายดังกล่าวขึ้น
ซึ่งเหตุในลักษณะดังกล่าวมิใช่เป็นเหตุครั้งแรกของการประกอบการของบริษัทดังกล่าว เพราะเมื่อวันที่ ๕ ถึง ๖ มีนาคม ๒๕๕๒ โรงงานหรือกิจการดังกล่าวก็เคยเกิดสารเคมีรั่วไหลขณะขนถ่ายสารเคมีขึ้นมาจากท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดแล้วครั้งหนึ่งเช่นกัน
เมื่อโรงงานดังกล่าวเกิดการระเบิดและไฟไหม้สารทูโลอีน (Toluene) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหรือสารตั้งต้นของกิจการในโรงงาน จนก่อและแพร่กระจายมลพิษและสารพิษออกมามากมาย ประกอบไปด้วย ๑) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ๒) ฝุ่นละอองรวม (TSP) ๓) สาร Non Methane Hydrocarbon (NMHC) ๔) สาร Methyl Tertiary Butyl Ether (MTBE)
๕) สาร Total Hydrocarbon (THC) และ ๖) สาร 1, 3 บิวทาไดอีน ซึ่งสารมลพิษเหล่านี้ล้วนเป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นอินทรียสารระเหยง่าย (VOCs) ในกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง ๑๙ ชนิดตามประกาศของกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้ง ๖) สาร PAHs (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งอีกชนิดหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ บริษัทดังกล่าวได้จัดทำโครงการขยายโรงงานและติดตั้งเครื่องจักรเพื่อการผลิตเพิ่มเติมโดยได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยก็ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมานี้เอง
จากเอกสารรายงาน EHIA ดังกล่าวถูกคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ได้ท้วงติงความไม่สมบูรณ์หลายประการ และรูปธรรมที่เกิดขึ้นจากการระเบิดและไฟไหม้จนทำให้คนงานต้องมาเสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนี้ ชี้ให้เห็นว่าโรงงานดังกล่าวไม่มีความเหมาะสมที่จะก่อสร้างหรือขยายกิจการในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดได้อีกต่อไป
กรณีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เวลาประมาณ ๑๘.๓๐ น. ได้เกิดกรณีฉุกเฉินอันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของผู้ประกอบการในการปิดวาล์วสารโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (Sodium hypochlorite NaOCl) (สารฟอกขาว) จากโรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช ตะวันออก (มาบตาพุด) จ.ระยอง (เป็นผู้ร้องสอดตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ คดีดำหมายเลขที่ ๙๐๘/๒๕๕๒ ประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ ๒๔ และลำดับที่ ๕๔ )
ทำให้เกิดก๊าซคลอรีนดังกล่าวรั่วไหลออกสู่สิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใต้ลมในแคมป์คนงานและชุมชนบริเวณใกล้เคียงกว่า ๑๔๐ รายที่สูดดมมีอาการแสบตาแสบจมูกและอ่อนเพลีย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลใกล้พื้นที่บางรายหมอต้องสั่งให้นอนสังเกตอาการผิดปกติของร่างกายในโรงพยาบาลกว่า ๑๒ ราย (ปรากฏตามสำเนาเอกสารการรายงานข่าวของสื่อมวลชน เอกสารแนบ ๒ )
ซึ่งโรงงานดังกล่าวได้เคยเกิดเหตุทำนองนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งครั้งล่าสุดคือเมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๓ ก็เกิดเหตุถังบรรจุสารเคมีล้มและระเบิดจากความประมาทเลินเล่อจนก่อให้เกิดการรั่วไหลแพร่กระจายของสารเคมีไปกระทบต่อคนงาน ชุมชนโดยรอบ และสิ่งแวดล้อม จนต้องนำคนงานและชาวบ้านส่งโรงพยาบาลกันกว่า ๒๐๐ รายมาแล้ว
แต่เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้เคยมีคำสั่งที่ ๕๙๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ อนุญาตให้โครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ ในคดีหมายเลขดำที่ ๙๐๘/๒๕๕๒ ลำดับที่ ๕๔ ของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ก่อเหตุในกรณีนี้ ให้สามารถประกอบกิจการได้ มิได้สั่งให้หยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวพร้อมๆ กับอีก ๕๖ โครงการตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ เพื่อให้ไปดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ วรรคสองเสียก่อนตามคำขอท้ายฟ้อง
ทั้ง ๆ ที่โครงการดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๗ จริง จึงต้องห้ามตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่บทดังกล่าว
รวมทั้งโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ คดีดำหมายเลขที่ ๙๐๘/๒๕๕๒ ประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ ๓๙ ของบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด และโครงการหรือกิจกรรมตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ คดีดำหมายเลขที่ ๙๐๘/๒๕๕๒ ประเภทอุตสาหกรรม ลำดับที่ ๒๔ แม้จะเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้ดำเนินการศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) ไปแล้ว ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตราดังกล่าว
แต่ทว่าการกระทำที่นำไปสู่ความเดือดร้อนและเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อคนงานและประชาชนในชุมชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ใดๆ ด้วย จากความประมาทเลินเล่อของผู้ประกอบการดังกล่าว จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกันโดยสิ้นเชิงต่อเนื้อหาสาระที่ได้เขียนไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพฉบับดังกล่าว อันสะท้อนให้เห็นการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ก็เพียงเพื่อใช้เป็นใบเบิกทางให้สามารถใช้เป็นข้ออ้างในการดำเนินกิจการหรือประกอบกิจการต่อไปได้ตามนัยที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไว้เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เท่านั้น
แต่ในทางปฏิบัติจริง ผู้ประกอบการบริษัทเจ้าของโครงการกลับมิได้นำเนื้อหาสาระที่เขียนไว้ในรายงานฯ มาปฏิบัติให้เป็นจริงได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด จึงถือได้ว่ากระบวนการจัดทำและการปฏิบัติตาม E/HIA ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องสั่งยกเลิกเสียตามกฎหมาย
ข้อ ๓ อาศัยเหตุดังกล่าว ตามข้อ ๒ ข้างต้นของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมด โดยเฉพาะที่ ๓ ที่ ๘ รวมทั้งผู้ประกอบการที่กล่าวแล้ว ผู้ฟ้องคดีจึงใคร่ขอกราบเรียนมายังศาลเพื่อพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งใหม่ เนื่องจากคำสั่งเดิมเมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการทั้งสองตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๗ ที่ศาลมีคำสั่งไปนั้น มีข้อเท็จจริงใหม่ในสาระสำคัญเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงใคร่ประทานกราบเรียนมายังศาลเพื่อโปรดเมตตาไต่สวน พร้อมมีคำสั่งใหม่ตามคำขอ ดังนี้
๑) ขอศาลได้โปรดพิจารณาไต่สวน เพื่อมีคำสั่งชี้ขาดใหม่ ในส่วนของบริษัทหรือโรงงานทั้งสองที่ก่อเหตุดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ (๑) เพื่อให้เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องเกี่ยวกับการคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา
๒) ขอให้มีคำสั่งตามคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดี ตามคดีหมายเลขดำที่ ๙๐๘/๒๕๕๒ และหรือให้มีคำสั่งให้การคุ้มครองชั่วคราวผู้ฟ้องคดี โดยสั่งให้ผู้ก่อเหตุทั้งสองบริษัทหรือทั้งสองโครงการทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าวหยุดประกอบกิจการเป็นการชั่วคราวหรือถาวรต่อไป
๓) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) ของโครงการหรือกิจกรรมที่พิพาทของบริษัททั้งสอง
๔) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๘ ร่วมกันจัดทำหรือปรับปรุงแผนสื่อสารความเสี่ยงภัย แผนรายงานเหตุฉุกเฉิน แผนอพยพหนีภัย และแผนฟื้นฟูเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยทุกแผนจะต้องเชื่อมโยงกันกับทุกโรงงานในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ (นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย, นิคมอุตสาหกรรมผาแดง, นิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (ระยอง), นิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล, ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ฯลฯ)
พร้อมจัดตั้งศูนย์รองรับผู้อพยพถาวรขึ้นพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งของเพื่อการยังชีพของผู้อพยพในพื้นที่ที่ปลอดภัยจากมลพิษ ให้แก่ประชาชน คนงาน หรือผู้เสี่ยงภัยนอกพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ภายใน ๓๐ วัน นับแต่ศาลมีคำสั่ง พร้อมกับให้มีการซักซ้อมแผนร่วมกับชุมชนในพื้นที่มาบตาพุดและบ้านฉางทุกๆ ๓ เดือน โดยการให้ผู้มีส่วนได้เสียและผู้ฟ้องคดี เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทุกครั้ง
๕) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหมดยุติการให้ใบอนุญาตการประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการสำหรับโครงการหรือกิจกรรมใหม่ในพื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ทั้งหมดอีกต่อไปนับแต่ศาลมีคำสั่ง
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
(นายศรีสุวรรณ จรรยา)
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
ผู้ฟ้องคดีที่ ๑
(นายวีระ ชมพันธุ์)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓
(นายเกียรติภูมิ นิลสุข)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงที่ ๑๐
(น.ส.อมรรัตน์ โรจนบุรานนท์)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๑๑ ถึงที่ ๒๐
(นายสำนวน ประพิณ)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๒๑ ถึงที่ ๓๐
(นายธนวัฒน์ ตาสัก)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๓๑ ถึงที่ ๓๕
(นายโชคชัย แสงอรุณ)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๓๖ ถึงที่ ๔๐
(นางวนิดา แซ่ก๊วย)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๔๑ ถึงที่ ๔๓
(น.ส.รัตนา ผาแก้ว)
ผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีที่ ๔ ถึงที่ ๔๓