xs
xsm
sm
md
lg

สพฉ.ลงพื้นที่มาบตาพุด จี้ พท.เสี่ยงวางมาตรการดูแลเข้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพบน : เยี่ยมอาการผู้ป่วย และ ภาพล่าง : ตรวจเยี่ยมโรงงาน นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
สพฉ.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหลังเกิดเหตุสารเคมีรั่วไหล จี้ พท.เสี่ยงเร่งซ้อมแผนรับมือก่อนเกิดเหตุไม่คาดคิด พร้อมเตรียม 3 มาตรการ รับมือ พัฒนา คน-อุปกรณ์-แผน/ดันอบรมทีมเฉพาะรับมือด้านสารเคมี โรคระบาด และเหตุวินาศกรรม

นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย ผู้ช่วยเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเหตุสารเคมีโทลูอีนรั่วไหลโรงงานบริษัทจำกัด ในเครือบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ส่งผลให้คนงานเสียชีวิตถึง 12 คน บาดเจ็บ 142 คน และสารเคมีรั่วไหลจากโรงงานของบริษัท อดิตยาลาม เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก ส่งผลให้คนงานและชาวบ้านนับร้อยที่สูดดมก๊าซเข้าไปจนเกิดอาการอ่อนเพลียวิงเวียนศีรษะ จนต้องเร่งนำส่งโรงพยาบาล ว่า จากการลงพื้นที่เห็นว่าหน่วยงานต่างๆ ควรมีมาตรการเรื่องการป้องกันที่เข้มงวดโดยเฉพาะขณะทำงาน อาทิ ควรมีระบบการแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุ มีการจัดเตรียมแผนดับเพลิง

ทั้งนี้ ที่สำคัญคือ ควรมีการจัดซ้อมแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของอาสากู้ชีพ-กู้ภัยในพื้นที่ เป็นประจำ เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการทำงานเป็นทีม และเพื่อให้บุคลากรทั้งในส่วนที่จะเข้าช่วยเหลือ และประชาชนผู้รับการช่วยเหลือตื่นตัว และรู้วิธีการปฏิบัติการตัวที่จำเป็นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งการเตรียมพร้อมและซักซ้อมบ่อยๆ นี้จะช่วยลดความรุนแรง หรือลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตที่ไม่จำเป็นได้ นอกจากนี้ ควรมีมาตรการป้องกันอันตรายขณะปฏิบัติหน้าที่ของทุกหน่วยทั้งหน่วยกู้ชีพ กู้ภัย และหน่วยดับเพลิง เพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของ สพฉ.นั้น ได้ประชุมหารือและเตรียมผลักดัน 3 เรื่อง คือ 1.การเตรียมพร้อมด้านบุคลากร โดยเตรียมเปิดหลักสูตรอบรมชุดเคลื่อนที่เร็วที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน (Specific Disaster Response Team : SDRT)  ซึ่งจะเริ่มต้นในเรื่องของสารเคมี เรื่องโรคระบาด และเรื่องเหตุวินาศกรรม เพราะแต่ละเหตุการณ์จะมีมาตรการรับมือและช่วยเหลือที่แตกต่างกัน โดยจะอบรมทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่เสี่ยง เช่น จ.ระยอง จ.ชลบุรี เป็นต้น  2 การเตรียมพร้อมเรื่องอุปกรณ์ ให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา และมีเพียงพอ ทั้งในส่วนของเครื่องมือป้องกันตัว และเครื่องมือช่วยชีวิต เพราะเครื่องมือถือเป็นหัวใจสำคัญในการช่วยเหลือ เช่น ชุดผจญเพลิง ชุดป้องกันโรคระบาด ชุดป้องกันสารเคมี เสื้อเกราะ เป็นต้น และ 3.การจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือมีประสิทธิภาพมากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น