xs
xsm
sm
md
lg

“นักการเมืองวัวสันหลังหวะ” ดิ้นพล่านปิดปากขบวนการต้านโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การปลุกกระแสต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังของภาคเอกชนและการออกกฎระเบียบเพื่อแก้กลโกงในระบบราชการของป.ป.ช. ส่งผลให้นักการเมืองสันหลังหวะที่มักใช้อำนาจฉ้อฉลปล้นเงินภาษีประชาชนโดยรวมหัวกับพ่อค้าและข้าราชการกังฉินดิ้นพล่าน วัดพลังสังคมจะสามารถเขยื้อนสามเหลี่ยมคอร์รัปชั่นให้พ้นวงจรอุบาทว์ได้หรือไม่

ความตกต่ำสุดขีดของภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี 2554 ที่ไทยหล่นมาอยู่ในอันดับที่ 80 จากการจัดอันดับทั้งหมด 183 ประเทศทั่วโลก และอยู่ในอันดับ 10 จาก 26 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งหล่นจากปีที่แล้วที่ไทยอยู่ในอันดับ 63 ของโลก ทำให้ประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่นที่เป็นปัญหาอยู่คู่สังคมไทยมานาน ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงเพื่อหาทางลดทอนพลังคอร์รัปชั่นให้ลดน้อยลง โดยเฉพาะในภาคส่วนเอกชนและหน่วยราชการ ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนให้การใช้อำนาจทางการเมืองกระทำการทุจริตคอร์รัปชั่นประสบผลสำเร็จ

ในส่วนของภาคเอกชนนั้น ได้ลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกรณรงค์และสร้างภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น มาตั้งแต่ปีที่แล้ว และยังคงมีความต่อเนื่องมาถึงขณะนี้ โดยล่าสุด ภาคีเครือข่ายต้านคอร์รัปชั่น (ภคต.) ที่มีหอกาค้าไทยเป็นหัวหอกพร้อมด้วยภาคี 32 องค์กร ได้จัดทำสมุดปกขาวเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชั่นและแสดงเจตนารมย์ไม่ทุจริตเสนอต่อรัฐบาลในการประชุมหอการค้าประจำปี 2554 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยโครงการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เม็ดเงินกว่า 8 แสนล้านคือเป้าหมายแรกที่ ภคต.จะเข้าไปติดตามอย่างใกล้ชิด และเปิดเผยความไม่ชอบมาพากลต่อสังคม เนื่องจากความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ที่มากมายมหาศาลนั้นมีปัญหามาจากการทุจริต โดยเฉพาะความเสียหายจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

นอกจากการตื่นตัวของภาคเอกชนที่กล้าออกมาท้าชน และประกาศหยุดจ่ายเพื่อหยุดกลไกการโกงที่ประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ และพ่อค้า แล้ว ในส่วนของระบบราชการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการทุจริตของนักการเมืองและการทุจริตที่เกิดขึ้นภายในระบบราชการเองนั้น หน่วยงานปราบคอร์รัปชั่นโดยตรง คือ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกกฎระเบียบให้มีการเปิดเผยราคากลางและคำนวณราคากลางไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ทางอิเลคทรอนิกส์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกำหนดราคากลางที่เกินจริง และทำให้การแบ่งเปอร์เซนต์ทำได้ยากขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนนำโดยสมาคมวิศวกรรมสถานฯ เตรียมจัดตั้งสถาบันคิดราคากลาง เพื่อใช้อ้างอิง

ป.ป.ช. กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการโดยบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานรัฐต้องยื่นแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไปต่อกรมสรรพากร หากคู่สัญญาเอกชนรายใดไม่ยื่นแสดงบัญชีหรือยื่นไม่สมบูรณ์ก็ไม่มีสิทธิ์เป็นคู่สัญญากับรัฐได้อีก ซึ่งประกาศหลักเกณฑ์นี้ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2555 เป็นต้นไป

นับจากมีการปลุกกระแสต่อต้านการทุจริตมาอย่างต่อเนื่อง ตามติดด้วยการออกหลักเกณฑ์ปิดช่องทางแสวงหาประโยชน์ของหน่วยงานปราบโกงอย่าง ป.ป.ช. ทำให้นักการเมืองซึ่งเป็นตัวการใหญ่ในขบวนการทุจริตออกอาการดิ้นพล่าน ขัดขวางการออกหลักเกณฑ์ที่สร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการตรวจสอบทุจริตเพราะหากมองย้อนกลับไปจะพบว่า การเสนอกฎหมาย หรือระเบียบใดๆ ต่างๆ ที่จะช่วยทำให้การปราบทุจริตคอร์รัปชั่นมีความเข้มแข็ง มักถูกตีตก หรือเลื่อนการพิจารณาให้ล่าช้าออกไป ดังเช่น ล่าสุดการออกระเบียบหลักเกณฑ์เรื่องราคากลางของป.ป.ช.ที่ล่าช้ามาตั้งแต่เดือนสิงหาคมลากยาวเดือนธันวาคมนี้

อาการที่รัฐมนตรีอภิปรายข้อเสนอหลักเกณฑ์กำหนดราคากลางและแนวปฏิบัติของป.ป.ช.ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา อย่างดุเดือด ส่อแสดงให้เห็นถึงการปกป้องหม้อข้าวใบใหญ่ไม่อยากให้มีใครเข้ามาตรวจสอบเงินภาษีประชาชนทุกบาททุกสตางค์ โดยอ้างว่าการออกระเบียบนี้ของป.ป.ช.เป็นการออกระเบียบให้ตนเองมีอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเป็นผู้วินิจฉัยกรณีเกิดปัญหาในทางปฏิบัติโดยไม่ต้องนำเรื่องเข้าครม.อีก

การต่อสู้ระหว่างพลังสังคมต้านการโกง หน่วยงานปราบโกง กับนักการเมืองอาชีพที่ถูกสังคมมองว่าเป็นหัวขบวนการโกง จะลงเอยเหมือนอย่างที่ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่ลั่นวาจาว่าพร้อมเป็นโจทก์กับป.ป.ช. และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่ออกมาตั้งธงรื้อกฎหมาย ป.ป.ช. ตอนเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนิติบัญญัติ ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ หรือไม่ ต้องรอดูฉากต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น