ASTVผู้จัดการออนไลน์ - คณะผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนที่เข้ามาให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมใหญ่สรุปมาตรการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาต้องผสานด้านวิศวกรรมภายใต้รูปแบบกักเก็บตอนบน แบ่งแยกตอนกลาง ระบายตอนล่าง เข้ากับการจัดตั้งองค์กรจัดการลุ่มน้ำแบบครอบคลุม
ความสูญเสียมูลค่าหลายแสนล้านจากมหาอุทกภัยครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่เพียงแต่ข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศเท่านั้น ก่อนหน้านี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังขอความช่วยเหลือไปยังประเทศจีน ซึ่งทางการจีนได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะตามคำขอของรัฐบาลไทย
รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญจากจีนที่เสนอแนะต่อรัฐบาลไทย ซึ่งเสนอโดยนายหลิวหนิง (Liu Ning) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงชลประทาน (vice minister of irrigation ministry เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา สรุปความได้ว่า ในระหว่างที่ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ควรมีมาตรการด้านวิศวกรรมและมาตรการที่ไม่ใช่เชิงวิศวกรรมผสานเข้าด้วยกัน ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การจัดหาน้ำ การชลประทาน และการเดินเรือไปพร้อมกันด้วย
มาตรการด้านวิศวกรรม คณะผู้เชี่ยวชาญจากจีนให้คำแนะนำที่สำคัญโดยยึดหลักการตามรูปแบบ “กักเก็บตอนบน แยกแบ่งตอนกลาง ระบายตอนล่าง ควบคุมทะเลหนุน” รวมทั้งการก่อสร้างเขื่อนในลักษณะที่สามารถควบคุมได้ในช่วงตอนกลางบนสายน้ำที่มีคันกั้นน้ำที่สมบูรณ์แบบ
สำหรับบริเวณที่ราบตอนกลางและล่างสายน้ำ ควรสร้างประตูที่บังคับได้ ประตูระบายนํ้าหลาก สถานีสูบน้ำ ระบบผันน้ำคูคลอง จัดตั้งเขตกักเก็บนํ้าท่วมขัง ส่วนในบริเวณปากทางแม่น้ำควรจัดระบบเครือข่ายแม่น้ำ ขุดลอกลำคลอง สร้างประตูสกัดคลื่นน้ำ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการใช้น้ำในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในเวลาเดียวกันด้วย
ในด้านมาตรการที่มิใช่เชิงวิศวกรรมนั้น ควรจัดตั้งองค์กรจัดการลุ่มน้ำแบบครอบคลุม ประสานผลประโยชน์ทรัพยากรทางน้ำกับฝ่ายเกี่ยวข้อง กำหนดแผนการป้องกันน้ำท่วมและขั้นตอนปรับเปลี่ยนบริเวณลุ่มน้ำในภาวการณ์ฉุกเฉินให้มอบอำนาจให้ศูนย์อำนวยการดำเนินการป้องการน้ำท่วมอย่างเป็นเอกเทศ มีการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์ตรวจจับทางอุทกวิทยาเขตลุ่มน้ำ ดำเนินการตรวจจับฝนตก น้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำ ณ. เวลาจริง โดยมีการพยากรณ์แต่เนิ่นๆ
การสนับสนุนทางเทคนิคเพื่อกำหนดนโยบายในการบัญชาการป้องกันภัยน้ำท่วม มีดังนี้
ประการที่หนึ่ง เกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมในตัวเมืองกรุงเทพฯ ในหลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงแล้ว อาจต้องคำนึงถึงการป้องกันน้ำท่วมเมืองชั้นในขนานใหญ่ โดยอาศัยถนน ลำคลองที่มีอยู่แบ่งส่วนเป็นเขตป้องกันน้ำท่วมต่างๆ อีกทั้งดำเนินมาตรการหนึ่งอย่างหรือหลายอย่างเพื่อป้องกันมิให้เกิดรูรั่วของแต่ละเขตซึ่งจะกระทบถึงส่วนรวม
ประการที่สอง การจัดระบบและขุดลอกคูคลอง ขยายความสามารถในการผลักดันน้ำท่วมตามลำน้ำ เนื่องจากทางลาดน้ำไหลน้อย การไหลต่ำ ฉะนั้นควรขุดลอกเส้นทางน้ำไหล ขจัดสิ่งก่อสร้างและสิ่งกีดขวางน้ำหลาก
ประการที่สาม ควรกำหนดให้เขตเมืองหลักของเมืองหลวงกรุงเทพฯ เป็นเขตอนุรักษ์สำคัญ ควรจัดตั้งสถานที่เก็บกักน้ำท่วมขังชั่วคราวบริเวณที่ราบต่ำบริเวณตอนกลางค่อนเหนือของแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อน้ำท่วมใหญ่มาถึงก็จะแบ่งเก็บกักส่วนน้ำที่เหลือ เพื่อรับประกันความปลอดภัยของตัวเมืองกรุงเทพฯและบริเวณกว้างที่อื่นด้วย
ประการที่สี่ การมีระบบระบายคูคลองสมบูรณ์แบบด้วยการคำนึงที่สมเหตุสมผลโดยการจัดสร้างสถานีปั๊มสูบน้ำ ท่อระบายน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพในการสูบน้ำและระบายน้ำ กรณีที่มีความจำเป็นควรจัดตั้งองค์กรระบายน้ำเร่งด่วนแบบเคลื่อนที่
ประการที่ห้า รวบรวมส่วนก่อสร้างที่เป็นแหล่งน้ำของเมือง ควรมีมาตรการเข้มงวดของการขุดเจาะน้ำใต้ดิน เพื่อลดการจมทรุดบนดิน
ข้อเสนอคำปรึกษาขั้นต่อไป ซึ่งคำนึงถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยที่รุนแรง สภาพการป้องกันน้ำท่วมยังน่าเป็นห่วง
ภายหลังการสังเกตการณ์และการชี้แจงของผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยบวกกับประสบการณ์การช่วยเหลือและป้องกันน้ำท่วมของประเทศจีน คณะผู้เชี่ยวชาญจากจีน มีข้อเสนอการจัดการเร่งด่วนในปัจจุบันและอนาคตดังต่อไปนี้
1.เพิ่มการประสานงานองค์กรอย่างต่อเนื่อง
2.รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการป้องกันภัยน้ำท่วมขึ้นเพื่อแก้ไขภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล อีกทั้งกองทัพ ตำรวจ และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ทำงานแบบรวมศูนย์ ลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมาก จึงขอเสนอว่า เมื่อถึงช่วงน้ำลดลงก็ควรมีองค์กรที่เป็นเอกภาพในการบัญชาการฟื้นฟูและลดอุบัติภัยต่อไป
3.มีความชัดเจนในการประสานงานครบวงจร ตรวจจับพยากรณ์ปรับความเหมาะด้านวิศวกรรม เร่งให้การช่วยเหลือ การอพยพผู้คน การป้องกันโรค การออกข่าวประชาสัมพันธ์ การฟื้นฟูสาธารณูปโภค การป้องกันความสงบของสังคม การช่วยเหลือหลังพ้นภัยต่างๆ ควรแบ่งงานและร่วมมือกันอย่างชัดเจน ดำเนินการทำงานขจัดภัยน้ำท่วมต่อเนื่อง
แม้ว่าการป้องกันน้ำท่วมของเมืองกรุงเทพฯ ผ่านพ้นช่วงสำคัญ แต่ระดับน้ำยังคงสูงต่อเนื่องอีกระยะยาว ดังนั้นภารกิจการป้องกันน้ำท่วมยังหนักหน่วงอยู่ ยังคงมีจุดที่เปราะบางที่ต้องตรวจจับโดยเฉพาะที่คันกั้นน้ำฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ ปทุมธานี คลองรังสิต และด้านตะวันออกเฉียงเหนือที่เป็นลำคลอง ทางหลวงรวมกันเป็นแนวต้านน้ำท่วมให้กับตัวเมืองกรุงเทพฯโดยเฉพาะส่วนที่เป็นประตูระบายน้ำ ควรมีคนเฝ้าดูแล ไม่ควรเฉื่อยชาเฉยเมย
4.การป้องกันเขื่อน คันกั้นน้ำ ประตูนํ้าและคันกั้นชั่งคราวนั้น ควรมีการดูแลตลอด24 ชั่วโมง หากพบเห็นที่ใดหรือส่วนสำคัญที่มีความเสี่ยงก็ควรจัดหน่วยป้องกันเตรียมไว้ล่วงหน้า เตรียมสิ่งของกู้ภัยไว้ให้พร้อมออกปฎิบัติการได้ทุกเมื่อ สำหรับการบริการน้ำ ไฟและคมนาคมที่เป็นสิ่งปัจจัยสำคัญ สิ่งอำนวยด้านการทหารที่สำคัญซึ่งควรได้รับประกันมีการปฎิบัติงานตามปกติ
นอกจากนี้ โรงงานหรือโกดังอุตสาหกรรมเคมีหรือการผลิตสารพิษอันตรายที่ตั้งอยู่ในเขตป้องกันหรือถูกน้ำท่วมนั้นเป็นจุดที่ต้องให้การป้องกันที่สำคัญหรือหาทางแก้ไขทันด่วน ป้องกันไม่ให้มีภัยระลอกใหม่ตามมา