ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ได้เกิดข่าวเล่าลือกระฉ่อนเมืองหลวงของลาว เมื่อเร็วๆ นี้ เกี่ยวกับหญิงสาวนุ่งสั้นคนหนึ่ง ถูกคนงานก่อสร้างกว่า 20 คนรุมโทรมจนสิ้นสติ และไปเสียชีวิตในโรงพยาบาล ในขณะที่ “คนงานชาวต่างชาติ” เพียงแต่ถูกปรับและถูกส่งกลับประเทศเท่านั้น และเมื่อข่าวเล่าลือทำท่าจะเป็นจริงเป็นจัง ทางการต้องออกปฏิเสธเรื่องนี้
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ “เวียงจันทน์ใหม่” กองกำลังป้องกันความสงบเมืองสีโคดตะบองซึ่งเป็นเขต (หรืออำเภอ) หนึ่งของนครเวียงจันทน์ ที่ถูกระบุเป็นที่เกิดเหตุได้ออกแถลงปฏิเสธข่าวดังกล่าว
“ด้วยความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ทุกแขนงการโดยเฉพาะ คือ กองบัญชาการ ปกส.เมืองสีโคดตะบอง ซึ่งเป็นที่ที่ถูกอ้างถึงได้ลงชันสูตรข่าว ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึงวันที่ 26 มิถุนายน 2554 เพื่อค้นหาแหล่งข้อมูลที่กล่าวนั้น แต่ไม่พบ และมีข้อสรุปว่า เป็นข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง” สื่อของทางการรายงาน
ข่าวลือไม่ได้ระบุชัดเกี่ยวกับวันที่เกิดเหตุ แต่เล่ากันต่อๆ ไป ว่า เกิดเวลาประมาณเที่ยงคืน ในช่วงต้นเดือน มิ.ย.หญิงสาวที่สวมกระโปรง (สะเกิ๊ต) สั้นๆ คนหนึ่ง ขับรถจักรยานยนต์กลับบ้านหลังเลิกงาน แต่บังเอิญรถไปหมดน้ำมันลงที่บริเวณก่อสร้าง จึงถูกคนงานข่มขืน
“ครั้งแรกเพียง 2-3 คน และกลายเป็นคนที่ 20 หรือ 21 จนผู้เกี่ยวข้อง (หญิงสาว) หมดสติ แล้วคนสุดท้ายนำส่งโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเสียชีวิตในเวลาต่อมา” และหลังลงมือข่มขืนแล้ว “คนงานต่างชาติทั้งกว่า 20 คน เพียงถูกปรับคนละ 20 ล้านกีบ (260 กีบ/บาท) แล้วถูกส่งกลับประเทศ” เวียงจันทน์ใหม่รายงาน
พ.ต.หลวงคำ หอมสมบัด รองผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันความสงบเมืองสีโคดตะบองกล่าวกับหนังสือพิมพ์ของ ปกส.เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า เจ้าหน้าที่ได้ลงประสานงานสอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงกับกลุ่มบ้านต่างๆ ทั่วทั้งเมือง ตลอดจนโรงพยาบาลที่ถูกระบุ แต่ไม่พบข้อมูลใดๆ ในข่าวลือดังกล่าว
เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวอีกว่า เป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิง ที่ชาวต่างชาติกระทำความผิดในดินแดนลาวแล้วไม่ถูกดำเนินคดี ทั้งยกตัวอย่างกรณี น.ส.ซามันธา โอโรบาตอร์ ชาวอังกฤษที่ถูกจับคดียาเสพติดเมื่อ 2 ปีก่อน เธอถูกศาลลาวติดสินประหารชีวิต แต่ถูกส่งกลับไปรับโทษในประเทศบ้านเกิด ตามข้อตกลงการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างรัฐบาลประเทศ
.
.
พ.ต.คำหอม กล่าวอีกว่า ทางการกำลังเสาะหาตัวผู้สร้างข่าวลือนี้เพื่อนำมาให้ข้อเท็จจริงแก่สังคมทั้งหมดอีกครั้งหนึ่งอีกด้วย
คณะบัญชาการ ปสก.เมืองได้ทำหนังสือลงวันที่ 23 มิ.ย.2554 ถึงเจ้าครอง (ผู้ว่าราชการ) นครเวียงจันทน์ รายงานว่า เรื่องทั้งหมดล้วนไม่มีมูลความจริงแต่อย่างไร เวียงจันทน์ใหม่ซึ่งเป็นของทางการนครเวียงจันทน์กล่าว
สื่อของทางการกล่าวอีกว่า ข่าวลือน่าจะปล่อยออกมาโดยกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบสร้างเรื่องราวสนุกๆ เล่าขานกันปากต่อปากจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องแบบนี้ขัดต่อวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวลาว ขณะเดียวกันผู้บริโภคข่าวสารในยุคไร้พรมแดน ต้องกลั่นกรองข้อเท็จจริงต่างๆ ให้ดีอีกด้วย
ชาวลาวโดยทั่วไปยังคงเคร่งครัดในการแต่งกายตามประเพณีนิยม โดยหญิงสาวนุ่งผ้าซิ่นยาวเกือบถึงระดับข้อเท้า สวมเสื้อผ้าที่มีสีสันและลวดลายสวยงามแต่ปกปิดมิดชิด การนุ่งสั้นจะตกเป็นเป้าสายตาของสาธารณชน และเป็นสิ่งที่หาพบได้ยาก หลายปีมานี้ทางการกับสื่อต่างๆ ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องให้แม่หญิงสาวสวมชุดประเพณีนิยม
ในช่วงฉลองครบรอบ 450 ปีนครเวียงจันทน์ปลายปีที่แล้ว ทางการนครได้สั่งห้ามนำเข้าเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วดูล่อแหลมทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อสายเดี่ยว กับกางเกงขาสั้นท่าสั้นเต่อจนถึงโคนขา และ ยังห้ามร้านค้าต่างๆ จำหน่ายอีกด้วย
ปัญหาการแต่งกายยังเป็นเรื่องที่มีความล่อแหลมในลาว แม้กระทั่งแฟชั่นในนิตยสารต่างๆ ก็มักจะถูกผู้อ่านวิพากษ์วิจารณ์เสมอ ถ้าหากให้นางแบบสวมกระโปรงสั้นเหนือเข่า
อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ “ประชาชน” ของศูนย์กลางพรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้ออกบทนำเมื่อไม่นานมานี้วิพากษ์สิ่งที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์ย่อท้อ” ในสังคมปัจจุบัน และเรียกร้องให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำการแก้ไข ซึ่งรวมทั้งการแต่งกายผิดประเพณีนิยม การเที่ยวกลางคืนของเยาวชน และปัญหาการลักลอบค้าประเวณีด้วย
การข่มขืนกระทำชำเราเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยินบ่อยๆ ในนครเวียงจันทน์ ในขณะที่สื่อต่างๆ ของทางการรายงานข่าวอาชญากรรมอื่นๆ รวมทั้งการปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ การลักขโมย การฉกชิงวิ่งราว และ ทั้งข่าวฆาตกรรมในครัวเรือ และฆาตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดมาเป็นระยะๆ