xs
xsm
sm
md
lg

ขุมทรัพย์พรรคการเมือง : เลือกตั้งชิงอำนาจเข้าไปแบ่งสรรงาบเงินแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช
“พรรคการเมืองมีหน้าที่อย่างเดียวคือรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จากนั้นก็เข้าไปแบ่งสรรปันส่วนกันในกระทรวงต่างๆ หัวหน้ารัฐบาลถือเป็นธรรมเนียบปฏิบัติว่าเมื่อให้พรรคอื่นไปดูกระทรวงใด ตัวเองก็ไม่มีสิทธิไปควบคุมดูแล เป็นสาเหตุให้ประชาชนไม่พอใจพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนี้ ....

"การคอรัปชั่นถูกมองว่าเป็นการกินงบประมาณแผ่นดินที่ไม่มีใครรู้สึกเป็นเจ้าของ ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะจับการทุจริต เพราะพรรคการเมืองหาเงินสองทาง หนึ่ง หัวหน้าพรรคทำคนเดียว สองช่วยกันหาโดยสร้างภาพหัวหน้าพรรคให้เป็นคนดี แต่ให้ลูกพรรคแสวงหาผลประโยชน์ จึงอยากเสนอให้ยึดทรัพย์ที่พบข้อพิรุธมาก่อน หากพิสูจน์ได้ก็ค่อยคืน” ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ชำแหละพรรคการเมืองไทยในเวทีอภิปรายราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “ขุมทรัพย์พรรคการเมือง” เมื่อวันที่ 29 พ.ค.2554 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ศ.ดร.ชัยอนันต์ ยังกล่าวว่า พรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญที่สุดในระบบประชาธิปไตย เพราะมีหน้าที่คัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง จัดทำนโยบาย และให้การศึกษาทางการเมืองแก่สังคม แต่พรรคการเมืองไทยกลับทำหน้าที่เหล่านี้ไม่สมบูรณ์มุ่งเน้นแต่ผลประโยชน์

สาเหตุที่พรรคการเมืองประเทศไทยแตกต่างกับที่อื่นได้แก่ 1.ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในอดีตฝ่ายปกครองมองว่าประชาชนไทยยังทำไร่ทำนา หากปล่อยให้จัดตั้งพรรคการเมืองก็จะถูกชาวจีนซึ่งกุมอำนาจทางเศรษฐกิจไว้แล้วครอบครอง จึงมีการออกกฎหมายเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง 2.บริบทสังคมไทยในอดีตไม่มีปัจจัยเอื้อให้ประชาชนรู้สึกว่าต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมารวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมือง 3.การเมืองไทยถูกแทรกแซงจากอำนาจทหารอยู่เป็นระยะ พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ได้เพียงเวลาสั้นๆ

“การตั้งพรรคการเมืองในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์เดียวคือแข่งขันเลือกตั้ง”ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าว และว่าผู้นำของแต่ละพรรคการเมืองไม่มีเวลาพิสูจน์ตัวเองให้ประชาชนและสังคมเห็นซึ่งแตกต่างกับในต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากคนทั่วไป

ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวอีกว่า พรรคการเมืองที่เข้ามาหาผลประโยชน์จากงบประมาณของรัฐเพิ่งเกิดขึ้นมาช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันเป็นการสมทบกันจัดทำโครงการเพื่อหากินโดยอ้างประชาชน ซึ่งแตกต่างกับในอดีตที่พรรคการเมืองจะหากินกันจากค่าคอมมิชชั่นเท่านั้น เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากประชาชนไม่มีข้อมูลและพรรคการเมืองสามารถอ้างความชอบธรรมเพราะได้รับการเลือกตั้ง
 เวทีอภิปรายราชดำเนินเสวนาในหัวข้อ “ขุมทรัพย์พรรคการเมือง” ผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย ศ. ชัยอนันต์ สมุทวณิช, รศ.นวลน้อย ตรีรัตน์, ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ โดยมี ธีรเดช เอี่ยมสำราญ ดำเนินรายการ
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวในเวทีเดียวกันนี้ว่า ในปัจจุบันไม่มีพรรคการเมืองใดทำนโยบายต้านคอรัปชั่น ถามว่าเป็นเพราะเข้าตัวหรือไม่ ส่วนตัวแบ่งขุมทรัพย์นักการเมืองออกเป็น 5 ประเภท 1.ตลาดหุ้น เช่น การปั่นหุ้น-ขายวอร์เร้นซ์ การใช้ข้อมูลภายในเพื่อแสวงหากำไร ฉ้อโกงบริษัท-ไซฟอนเงิน ใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ราคาหุ้นสูง 2.การผูกขาดสัมปทาน

3.การจัดซื้อจัดจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน หากรั่วไหลเพียง 20% จะเป็นเงินกว่า 1 แสนล้าน เช่น โครงการเงินกู้ โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร โครงการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจซึ่งมีขนาดใหญ่ งบภัยพิบัติ 4.การปล่อยสินเชื่อธนาคาร 5.ซื้อขายตำแหน่ง เช่น ตำรวจ กระทรวงทรัพย์ฯ ผู้ว่าราชการฯ ทั้งนี้เชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลจะทำให้การทุจริตลดลง แต่คำถามคือจะทำกันอย่างไร

รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สิ่งที่พบในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ได้แก่ 1.การเสนอทำโครงการขนาดใหญ่ซึ่งมักจะใช้เงินกู้ จำเป็นต้องจับตาเพราะง่ายต่อการทุจริต 2.โครงการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและประชานิยม เช่น การประกาศภัยแล้ง ภัยหนาว ทุกปี มีนำงบลงพื้นที่จำนวนมาก รวมถึงโครงการเอสเอ็มแอล แต่นักการเมืองกลับเสนอแกมบังคับว่าแต่ละชุมชนควรทำอะไร 3.โครงการประเภทแทรกแซงตลาดแต่สุดท้ายก็ต้องจ่ายแพงขึ้นกว่าเดิมมาก เช่น โครงการน้ำมันปาล์ม

“การเปิดเผยข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมากความสำเร็จของการต่อสู้คอรัปชั่นในประเทศเกาหลีคือมีการทำฐานข้อมูลทั้งการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เมื่อเราเชื่อว่าทุกการกระทำย่อมมีร่องรอยปรากฏ ฐานข้อมูลยิ่งทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้บริจาคให้นักการเมือง แม้หน้าฉากจะบริจาคน้อยแต่เราจะทราบได้ว่าบุคคลใดเกี่ยวโยงกับใคร มีผลประโยชน์อะไร” รศ.นวลน้อย กล่าว

รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวอีกว่า สื่อมวลชนทุกวันนี้แข่งกันเรื่องความเร็วเป็นหลัก ซึ่งมีโอกาสตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองได้ นอกจากเรื่องความเร็วแล้วอยากให้สื่อมวลชนให้มิติของความลึกด้วย ที่สำคัญขอเสนอให้สื่อมวลชนทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ตั้งโต๊ะข่าวสำหรับตรวจสอบคอรัปชั่นโดยเฉพาะด้วย
นางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง เปิดตัวเว็ปข่าวเจาะ www.tcijthai.com
ทั้งนี้ ก่อนการเสวนา มีการเปิดตัวเว็ปข่าวเจาะโดยศูนย์ข้อมูลข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (Thailand Information Center for Civil Rights and Investigative journalism : TCIJ) ร่วมกับสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดทำเว็ปไซต์ข่าวสืบสวน (TCIJ) ว่า เพื่อเปิดพื้นที่สาธารณะให้กับข่าวสืบสวนสอบสวนซึ่งห่างหายไปจากสื่อกระแสหลัก ในปัจจุบันเพราะมีข้อจำกัดด้านระยะเวลา งบประมาณ และปัจจัยการลงพื้นที่ โดย TCIJ มุ่งหวังเป็นส่วนเติมเต็มข้อมูลเชิงลึกให้กับสังคม ทั้งนี้เว็ปไซต์ TCIJ จะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.ข่าวสืบสวนออนไลน์ 2.ฐานข้อมูลออนไลน์ 3.ข่าวพลเมือง

สำหรับประเด็นข่าวสืบสวนสอบสวนปรากฏอยู่ในเว็ปไซต์ www.tcijthai.com ขณะนี้ อาทิ การเปิดถุงเงินของแต่ละพรรคการเมืองและเครือข่ายผลประโยชน์ต่างๆ นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นใคร, งบจูงใจสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1,800 ล้านบาท, ตะลึงฟอร์มาลินในปลาทับทิมจากคนเลี้ยงถึงคนกิน ส่วนบทบาทด้านฐานข้อมูล อาทิ บริษัทที่ได้รับสัมปทานพิมพ์บัตรเลือกตั้งตลอดจากอดีตถึงปัจจุบันเป็นใคร บุคคลเหล่านั้นเกี่ยวโยงกับฝ่ายการเมืองอย่างใด

“ข่าวสืบสวนสอบสวนมักจะต้องไปพาดพิงกับผู้มีอำนาจ แม้ผู้สื่อข่าวอยากทำข่าวเชิงลึกแต่ก็มักจะถูกแทรกแซงผ่านโฆษณา ผลประโยชน์ กองบรรณาธิการ เว็ปไซต์นี้จึงเปิดพื้นที่ให้ผู้สื่อข่าวเหล่านั้นได้ทำงานอย่างอิสระ โดยข้อมูลที่นำเสนอผ่านเว็ปไซต์ TCIJ ล้วนแต่เป็นผลงานของผู้สื่อข่าวมืออาชีพ” ผู้อำนวยการ TCIJ กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น