xs
xsm
sm
md
lg

ตอกหน้าฮุนเซน! รธน.เขมรระบุกัมพูชายอมรับหลักสิทธิมนุษยชนสากล คุม 7 คนไทยเกินจำเป็นเจอดีแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วีระ สมความคิด (ซ้าย) และ พนิช วิกิตเศรษฐ์ 2 ใน 7 คนไทยที่ยังถูกทางการเขมรคุมขัง
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - นักกฎหมายระหว่างประเทศสวนกลับ ฮุน เซน ชี้ชัดๆ รัฐธรรมนูญกัมพูชา มาตรา 31 ระบุกัมพูชายอมรับและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรสหประชาชาติและปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน อย่ามาทำกร้าวยูเอ็นก็แทรกแซงช่วยเหลือ 7 คนไทยไม่ได้ เผยกร่างยัดข้อหาหรือควบคุมเกินจำเป็นเจอดีแน่

นายเจริญ คัมภีรภาพ นักกฎหมายระหว่างประเทศ ให้ความเห็นต่อกรณีที่สมเด็จฯฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ประกาศกร้าวว่าไม่มีทางที่ใครจะมาช่วยเหลือ 7 คนไทยได้ แม้แต่สหประชาชาตก็ไม่สามารถเข้าแทรกแซงช่วยเหลือได้เช่นกันว่า เป็นอาการของผู้นำที่หลงอำนาจโดยไม่ได้ดูข้อเท็จจริง

สิ่งที่ผู้นำกัมพูชาควรตระหนักรู้ก็คือ รัฐธรรมนูญของกัมพูชา ที่สหประชาชาติมีส่วนช่วยเหลือตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปและจัดทำรัฐธรรมนูญ ซึ่งกัมพูชาใช้เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศอยู่จนถึงขณะนี้ มีบทบัญญัติไว้ในวรรคแรกของ มาตรา 31 ชัดเจนว่า “ราชอาณาจักรกัมพูชาจะยอมรับและเคารพหลักสิทธิมนุษยชนตามที่ได้บัญญัติในกฎบัตรสหประชาชาติ ปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสนธิสัญญา อนุสัญญาใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน”

ดังนั้น บรรดาหลักการพื้นฐานในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จึงมีผลบังคับเป็นกฎหมายภายในของเขมร และผูกพันองค์กรศาล องค์กรของรัฐทุกหน่วยงานจะกระทำการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎบัตรของสหประชาชาติและสนธิสัญญาต่างๆ ที่คุ้มครองสิทธิไม่ได้ กรณี 7 คนไทยที่ถูกทางการเขมรจับกุมโดยอ้างข้อหารุกล้ำเขตแดนในขณะนี้ หากมีการควบคุมเกินจำเป็นถือเป็นการฝ่าฝืนต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล และถือเป็นอาชญากรรม ซึ่งไทยมีสิทธิ์ฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศซึ่งกัมพูชาร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วยได้

“สิ่งที่กัมพูชากำลังดำเนินการกับ 7 คนไทย เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจและกฎหมายรองรับ เพราะคนไทยถูกจับอยู่ในเขตแดนของเรา ซ้ำฝ่ายกัมพูชายังกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญของกัมพูชาเองด้วย” นายเจริญ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายเจริญ ได้ให้ความเห็นต่อกรณีศาลกัมพูชาดำเนินกระบวนการพิจารณาและตัดสินคดี 7 คนไทยที่ถูกทางการเขมรควบคุมตัวโดยตั้งข้อหารุกล้ำดินแดนกัมพูชาว่า คดีนี้ศาลกัมพูชาไม่มีอำนาจพิจารณาและตัดสินคดี เพราะคดีนี้ถือเป็นคดีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนที่รัฐไทยและรัฐกัมพูชาต่างอ้างว่าเป็นดินแดนของตนเอง เป็นเรื่องของรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่เรื่องคนหลบหนีเข้าเมือง ดังนั้นต้องใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ใช่ศาลของประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีนี้ ถ้าปล่อยให้ศาลกัมพูชาตัดสินคดีนี้ เท่ากับไทยไปยอมรับอำนาจศาลกัมพูชา และยอมรับว่าดินแดนที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่นั้นเป็นของกัมพูชา
กำลังโหลดความคิดเห็น