xs
xsm
sm
md
lg

คำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553 (ฉบับย่อ)

เผยแพร่:

หมายเหตุ – คำแถลงปิดคดียึดทรัพย์ “ทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553 (ฉบับย่อ) โดย …. ทีมข่าวอาชญากรรม

//////////////////////////

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - “ทักษิณ” ลงนามเอกสาร 162 หน้า ส่งทนายยื่นแถลงปิดคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้าน ย้ำข้อกล่าวหา คตส.แค่สันนิษฐาน ส่วนคดีความเป็นเรื่องการเมือง ยันทรัพย์โอนให้ครอบครัวหมดก่อนเป็นนายกฯ ส่วนเงินขายหุ้นไม่ใช่การทุจริต ขอให้ศาลยกฟ้อง-เพิกถอนอายัด

เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2553 เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายฉัตรทิพย์ ตัณฑ์ประศาสน์ และนายพลพีร์ ตุลยสุวรรณ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมคณะ เดินทางมายื่นคำแถลงปิดคดีก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะอ่านพิพากษาในวันที่ 26 ก.พ.นี้ เวลา 13.00 น.

คำแถลงปิดคดีความยาว 162 หน้า ที่ลงลายมือชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ สรุปว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นพียงการสันนิษฐาน คาดเดา และการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยไม่มีมูลความจริง ปราศจากหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าว และขัดแย้งกับเอกสารทั้งหมดของราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขัดแย้งคำเบิกความของพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐทุกหน่วยงาน จึงไม่มีเหตุที่จะฟังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาให้บุตรและญาติพี่น้องถือหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ไว้แทนโดยไม่เชื่อว่ามีการซื้อขายหุ้นจริง

แต่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งจากทั้งพยานบุคคลและเอกสาร ตลอดจนพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจำนวน 69,722,880,932.05 บาท และเงินปันผลอีกจำนวน 6,898,722,129 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 76,621,603,061.05 บาทในคดีนี้ เป็นเงินของผู้ที่รับโอนหุ้นจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสจริง ไม่ใช่เงินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสอย่างแน่นอน จึงไม่ใช่เงินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อัยการสูงสุด ผู้ร้องคดีนี้จึงไม่มีสิทธินำมาร้องขอให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

ที่สำคัญข้อเท็จจริงยุติจากการไต่สวนแล้วว่า การออกมาตรการต่างๆ ทั้ง 5 ข้อ คือ 1.การแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตรา พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ.2527) พ.ศ.2546

2.กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) เมื่อวันที่ 15 พ.ค.44 ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ ที่ต้องจ่ายให้ บ.ทศท จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) แบบบัตรเติมเงิน หรือ Prepaid Card ให้บริษัท AIS เป็นร้อยละ 20 จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบอัตราก้าวหน้าในอัตราร้อยละ 25-30

3.กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (CELLULAR MOBILE TELEPHONE) เมื่อวันที่ 20 ก.ย.45 ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) เอื้อประโยชชน์ชินคอร์ป และ AIS โดยแก้ไขให้ AIS เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นที่มีผลให้ AIS ไม่ต้องจ่ายเงินกว่า 18,970,579,711 บาท ให้กับ บ.ทศท และ กสท

4.กรณีอนุมัติโครงการยิงดาวเทียม IP STAR การอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน ลงวันที่ 27 ต.ค.47 การอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทน ดาวเทียมไทยคม 3 จำนวน 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศ เอื้อประโยชน์ บ.ชินคอร์ป และ บ.ชินแซทเทิลไลท์ จำกัด

และ 5.กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่า กู้เงินธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ จำนวน 4,000 บาทในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าต้นทุน และขยายเวลาปลอดการชำระหนี้ จาก 2 เป็น 5 ปี เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์การพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่า จาก บ.ชินแซทฯ
 
กรณีข้างต้นดังกล่าวไม่ได้ทำให้หุ้น บมจ.ชินคอร์ป มีราคาสูงขึ้นผิดปกติ แต่ราคาหุ้นขึ้นลงไปทิศทางเดียวกันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอัตราที่ใกล้เคียงกันตลอดเวลา ซึ่งเงินที่ได้จากการขายหุ้นทั้งหมดจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือได้ทรัพย์มาโดยไม่สมควรตามข้อกล่าว

คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่เข้าองค์ประกอบและหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมาตรการ 5 ข้อนั้นพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเบิกความสอดคล้องกันว่าเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความเสียหายตามข้อกล่าวหาของ คตส.เกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด

โดยข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลแล้วว่า หุ้นบริษัทในคดีนี้เป็นของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการทำมาหากินโดยสุจริตด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเป็นเวลาหลายสิบปีก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าทำงานทางการเมือง และการขายหุ้นนั้นไม่ใช่เงินที่ได้มาโดยการทุจริต คดโกงประเทศชาติ หรือเบียดบังจากงบประมาณแผ่นดินหรือเงินอื่นใดของรัฐแม้แต่บาทเดียว

ท้ายคำแถลงปิดคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุด้วยว่า ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เคยทุจริตใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย และไม่เคยแม้แต่จะคิดทำการใดเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ยิ่งไปกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน การที่ถูกปฏิวัติรัฐประหารและตั้งข้อกล่าวหาในคดีนี้ เป็นเรื่องทางการเมืองทั้งสิ้น

เมื่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ปรากฏต่อศาลว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิด จึงขอให้ศาลโปรดมีคำพิพากาษายกคำร้องของอัยการสูงสุด และมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเงินและทรัพย์สินทั้งหมดที่ คตส. ได้มีคำสั่งอายัดไว้ในคดีนี้ ให้ผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านอื่นที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงด้วย

นอกจากคำแถลงปิดคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การออกคำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนและการตั้งข้อกล่าวหาคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมติที่ประชุม คตส. ให้อำนาจเพียงว่า เป็นการแต่งตั้งอนุ กก.ไต่สวน กรณีกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองหรือพวกพ้อง ซึ่งเป็นความผิดอาญาและการเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดทางแพ่ง ไม่เกี่ยวกับการร่ำรวยผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542

รวมทั้งการตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการไต่สวนของ คตส. และ อนุ กก.ไต่สวน ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมาย รวบรัดชี้มูลความผิดก่อนที่กระบวนการพิสูจน์ทรัพย์จะเสร็จสิ้นและอัยการสูงสุดไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง รวมทั้งประเด็นที่ นายกล้านรงค์ จันทิก นายแก้วสรร อติโพธิ นายบรรเจิด สิงคะเนติ คตส. และอนุ กก.ไต่สวน เป็นบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหา

กำลังโหลดความคิดเห็น