xs
xsm
sm
md
lg

จีที 200 ฉีกหน้ากากนักค้าสงคราม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ – ท่าทีขึงขังจากนายกรัฐมนตรีที่สั่งการให้ตรวจสอบเครื่องจีที 200 ทั้งประสิทธิภาพ การจัดซื้อจัดหาที่มีพิรุธ รวมถึงเยียวยาผู้เสียหายที่ถูกจับกุมคุมขังจากการชี้ถูกชี้ผิด อาจเป็นการเปิดทางไปสู่กระบวนการตรวจสอบการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคงที่ทุ่มเทลงไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่มักมีข้อครหาถึงความไม่มีประสิทธิภาพสมราคาซื้อและราคาคุย ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงยังคงดำรงอยู่ เสมือนว่าสงคราม 3 จังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นขุมทรัพย์ของบรรดา “นักค้าสงคราม” ไปซะยังงั้น

การแสดงท่าทีขึงขังของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้ตรวจสอบพิรุธของเครื่องจีที 200 อย่างรอบด้านไม่เพียงเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของเครื่อง ซึ่งได้รับการทดสอบแล้วว่าไม่มีความแม่นยำเท่านั้น แต่ยังจะขยายผลไปถึงการตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่มีความโปร่งใส เพราะเครื่องมือดังกล่าวซื้อกันหลายหน่วยงาน หลายราคา ทั้งยังมีแผนการสั่งซื้อเพิ่มอีกหากไม่มีคำสั่งการจากนายกรัฐมนตรี ให้หยุดการสั่งซื้อ นอกจากนั้น การตรวจสอบครั้งนี้นายกรัฐมนตรี ยังพร้อมที่จะเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องมือชนิดดังกล่าวอีกด้วย

หากคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นไปเพื่อตอบคำถามต่อสังคมแบบขอไปที คงจะได้เห็นอะไรดีๆ ที่หมกเอาไว้ในหน่วยงานด้านความมั่นคงโดยเฉพาะกองทัพบกซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ใช้ จีที 200 มากที่สุด เฉพาะที่ใช้กันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ตกประมาณ 541 เครื่อง ในราคาจัดซื้อเฉลี่ยตั้งแต่ 900,000 – 1,200,000 บาทต่อเครื่อง ขณะที่บางหน่วยงาน เช่น กรมศุลกากร ซื้อในราคาเครื่องละประมาณ 400,000 กว่าบาท จากตัวเลขราคาต้นทุนการผลิตจากบริษัทผู้ผลิตที่อังกฤษ ประกาศขายในราคาเครื่องละ 200,000 บาท เท่านั้น

นอกจากนั้นแล้ว ค่ายสื่อ “ประชาชาติธุรกิจ” ยังเปิดข้อมูลให้เห็นแล้วว่า บริษัทที่ขายเครื่องจีที 200 ให้กับกองทัพบก คือ บริษัทเอวิเอ แซทคอม จำกัด ที่มีนายสุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ถือหุ้นใหญ่อยู่นั้น มีหุ้นส่วนธุรกิจสำคัญเป็นอดีตนายทหารใหญ่ คือ พล.อ.อภิชิต กานตรัตน์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองบัญชาการทหารสูงสุด และเรืออากาศเอกขจรศักดิ์ วัฒนางกูร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำการค้ากับกองทัพมานานนับสิบปี

ทั้งจากราคาเครื่อง และสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่มีต่อกัน คงไม่ใช่เรื่องยากเย็นที่จะหาคำตอบว่า “เงินทอน” จากส่วนต่างของราคาจากบริษัทผู้ผลิตถึงมือกองทัพบก ซึ่งตกประมาณ 500 กว่าล้านบาทนั้น เข้ากระเป๋า “บิ๊กสีเขียว” คนไหน? เท่าไหร่? เว้นแต่จะสอบกันแบบลูบหน้าปะจมูก เป็นการตั้งคณะกรรมการคนกันเองสอบสวนแบบเกรงอกเกรงใจ

คำอธิบายเบื้องต้นจากนายทหารใหญ่แห่งกองทัพบก และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีดูแลฝ่ายความมั่นคง ที่เรียงหน้ากันออกมาโต้ว่า เหตุที่แพงกว่าเพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ ต้องแพงเป็นธรรมดาเหมือนโทรศัพท์มือถือในยุคเริ่มต้น ราคาที่ถูกแพงต่างกันเป็นเพราะราคาเครื่องพร้อมการ์ด หรือ ชิพ ซึ่งของกองทัพซื้อเครื่องบวกการ์ดรวมทั้งหมด 18 อัน เป็นการ์ดที่ใส่เพื่อค้นหาสสารต่างๆ ได้ทั้งสารประกอบระเบิด สารประกอบจำพวกดินปืน สารประกอบที่ใช้ผลิตยาเสพติด คำอธิบายดังกล่าวพอจะมองเห็นแล้วว่าสุดท้ายเรื่องนี้จะลงเอยแบบไหน

แต่คงต้องบอกกันไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าหากเลือกบทจบเรื่องกันง่ายๆ แบบนั้น เชื่อได้เลยว่าสังคมคงคลางแคลงใจไม่สิ้นสุด และจะเป็นประเด็นให้รัฐบาลถูกโจมตีได้ว่าอยู่ใต้การอุปถัมภ์ของกองทัพบกถึงไม่กล้าหือ !!

ไม่เพียงเท่านั้น หากรัฐบาลและกองทัพไม่ทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง ยังมีหน่วยงานอิสระที่ตั้งท่าเข้ามาตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างรถหุ้มเกราะยูเครนยุคสงครามเย็น เพื่อใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หนึ่งในโครงการภายใต้การผลักดันของ “บิ๊กป๊อก” กระทั่งสุดท้ายมีปัญหาจนกองทัพบกต้องนั่งทับเรื่องเอาไว้จนบัดนี้

นอกจากนั้น คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เตรียมตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน

“จะนำเรื่องจีที 200 เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ในวันที่18 ก.พ. เพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าวในประเด็นความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อ และความเสียหายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ ขอให้ผู้ที่เสียหายยื่นเรื่องร้องเรียนเข้ามา ปัญหาที่เกิดขึ้นรัฐบาลจะต้องเยียวยาชดใช้” นางรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ในฐานะประธานศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าว

ข้อครหาในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับสู้โจรใต้ที่ส่อเค้าว่าไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สมราคาซื้อ และไม่สมราคาคุย สุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นอีก ไม่ได้มีแต่เพียงเครื่องจีที 200 หรือรถหุ้มเกราะยูเครนฉาวที่มีสภาพตายอยู่ในท้องแต่ยังไม่ยอมทำคลอดออกมาเท่านั้น แต่ยังมี “บอลลูนตรวจการณ์” หรือเรือเหาะขนาดยักษ์ติดกล้องอินฟาเรด ราคา 350 ล้านบาท ที่มีปัญหาไม่ต่างไปจากจีที 200 เพราะเลื่อนกำหนดลอยสู่ฟากฟ้ามาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 53 และ 1 ก.พ. 53 กระทั่งบัดนี้ยังใช้ทำงานจริงไม่ได้ ที่ผ่านมาเป็นแค่การทดสอบเท่านั้น

ไม่เพียงแต่กองทัพเท่านั้น โครงการของหน่วยงานด้านความมั่นคงหน่วยอื่น เช่น กระทรวงมหาดไทย ก็ไม่แตกต่างกัน กรณีตัวอย่างโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือซีซีทีวี ที่มีแผนติดตั้งกล้องมากที่สุดถึง 3,596 จุด ใช้งบประมาณ 969 ล้านบาท จัดซื้อกล้อง 1,028 ตัวเพื่อติดตั้งตามจุดล่อแหลมซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จตั้งแต่เดือนพ.ย. 2551 แต่จนถึงบัดนี้เพิ่งดำเนินการไปได้แค่ 10% แถมยังใช้การไม่ได้เหมือนกัน

กล่าวโดยสรุป ความไม่มีประสิทธิภาพของจีที 200 ที่อื้อฉาวฉีกหน้านักค้าสงครามในคราวนี้ เป็นแต่เพียงภูเขาน้ำแข็งของปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในสงครามชายแดนใต้ สนามรบซึ่งถูกแปรสภาพให้กลายเป็นสนามการค้าสำหรับ “นักค้าสงคราม” ซึ่งลึกๆ แล้วอาจไม่ต้องการให้เหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับพี่น้องและผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้จบสิ้นลง
กำลังโหลดความคิดเห็น