ASTVผู้จัดการออนไลน์ - โฆษกสำนักงานสภารัฐมนตรีกัมพูชาแถลงผลสำเร็จของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารพร้อมส่งแผนพัฒนาจัดการฉบับสมบูรณ์ต่อยูเนสโกเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา อ้างขีดกรอบขอบเขตพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของตนเอง แต่กลับรวมเอาถนนตัดใหม่ทางเข้าปราสาททางทิศตะวันตกในพื้นที่พิพาทกับไทยรวมเข้าไปด้วย ฝ่ายรัฐไทยเชื่อมั่นคัดค้านสำเร็จ ปากบอกจะเร่งรวบรวมข้อมูลทำแผนคัดค้านแต่ 2 ปีผ่านมายังงมโข่งไม่คืบหน้าถึงไหน
ประเด็นข้อพิพาทเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและการจัดทำแผนพัฒนาบริหารจัดการพื้นที่รอบตัวปราสาท เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาตลอด 2 ปีที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ เริ่มแรกฝ่ายกัมพูชาจะยื่นขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียวพร้อมแผนที่แนบที่ขีดเส้นพรมแดนรุกล้ำเข้ามายังฝั่งไทย ฝ่ายไทยจึงท้วงติงและทั้งสองฝ่ายได้เจรจาเพื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกคู่กันโดยกัมพูชาจะเอาปราสาทพระวิหารไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ส่วนไทยจะนำพื้นที่บริเวณรอบนอก ซึ่งมีโบราณสถานสำคัญๆ เช่น สระตราว, สถูปคู่ ฯลฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ฝั่งไทยไปขึ้นทะเบียน
แต่อย่างไรก็ตาม แผนการขึ้นทะเบียนมรดกโลกคู่กันต้องเลิกล้มไปเพราะกระแสคัดค้าน ขณะเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนั้น ไม่สามารถตอบคำถามสังคมให้กระจ่างชัดเกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมที่ไปสนับสนุนกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารพร้อมกับแผนที่แนบที่มีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน และพื้นที่ พิพาท 4.6 ตร.กม. ทางฝ่ายกัมพูชาจึงยื่นขอขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตามคำตัดสินของศาลโลกต่อยูเนสโกแต่เพียงฝ่ายเดียว และยูเนสโกกำหนดให้กัมพูชา ยื่นแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารภายในเดือนก.พ.ปี 2553 นี้
ตลอดเวลานับแต่ฝ่ายกัมพูชาประกาศว่ายูเนสโกได้รับขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตั้งแต่เดือนก.ค. 2551 ฝ่ายไทยได้เดินหน้าคัดค้านเรื่องนี้มาโดยตลอด รวมทั้งการยื่นแผนบริหารจัดการพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ที่ฝ่ายรัฐไทยแสดงท่าทีชัดเจนว่าจะเตรียมข้อมูลและแผนการคัดค้านกัมพูชาให้ถึงที่สุด
แต่ทว่าจนถึงบัดนี้ คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอย่างน้อย 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก็ยังไม่ได้มีข้อมูล มีแผนการหรือมีข้อสรุปอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอันในการคัดค้านแผนบริหารจัดการ ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา ได้ยื่นแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารส่งให้ยูเนสโกไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.2553 ที่ผ่านมา
ล่าสุด เว็ปไซต์ศูนย์แม่น้ำโขงศึกษา คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี http://mekong.human.ubru.ac.th/index.php ได้เผยแพร่แถลงการณ์ของสำนักงานสภารัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ตอบโต้คำให้สัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ที่ออกมาระบุว่า กระบวนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกยังไม่สมบูรณ์ เพราะฝ่ายกัมพูชายังไม่ได้ส่งแผนจัดการฉบับสมบูรณ์ให้คณะกรรมการมรดกโลกและองค์การยูเนสโกว่า ไม่ตรงด้วยข้อเท็จจริง เพราะปราสาทพระวิหารได้รับการขึ้นทะเบียนไปเรียบร้อยแล้วและกัมพูชาได้เสนอแผนจัดการฉบับสมบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค.ที่ผ่านมา
คำชี้แจงของโฆษกสำนักงานสภารัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่า 1.คณะกรรมการมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ไม่อยู่ในฐานะที่จะรับคำคัดค้านใดจากประเทศภาคีตามอนุสัญญา ปี 1972 หลังจากที่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกในสถานที่หรือวัถตุใดๆได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ไม่มีกฎข้อใดที่กำหนดว่า องค์การยูเนสโกจะต้องแจกจ่ายรายงานของประเทศสมาชิกใดๆไปให้อีกประเทศหนึ่ง คณะกรรมการมรดกโลก ทำหน้าที่เป็นเพียงกองเลขานุการขององค์การยูเนสโกในการจดทะเบียนทรัพย์สินใดๆ เท่านั้น
2.หลังจากประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในเดือนก.ค. 2551 แล้ว กัมพูชามีภาระผูกพันและหน้าที่ ที่จะจัดส่งรายงานตามกำหนดเวลา เกี่ยวกับการอนุรักษ์และสถานการณ์ของปราสาทพระวิหาร รายงานฉบับสุดท้ายว่าด้วยแผนการจัดการตามที่มติคณะกรรมการมรดกโลกที่ 32COM 8B.102 ได้กำหนดนั้น ทางกัมพูชาได้จัดส่งไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 2553และรัฐมนตรีสุวิทย์ ก็เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่จะทราบดีว่า คณะกรรมการมรดกโลกและยูเนสโก ไม่ได้มีบทบาทใดที่จะต้องมาพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับชายแดน ซึ่งนั่นอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมระหว่างไทยและกัมพูชา ที่ได้จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2543 และบันทึกความเข้าใจในปีนั้นก็ได้ยอมรับแผนที่ที่จัดทำขึ้นในปี ค.ศ. 1907 แล้ว
3.คณะกรรมการมรดกโลก ได้จดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไปเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งข้อกำหนดบางประการที่มีตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกก็ได้รับการปฏิบัติไปตามสมควรแล้ว ดังนั้น จึงไม่ปรากฏความไม่แน่นอนชัดเจนประการใดต่อฐานะการเป็นมรดกโลกของปราสาทพระวิหารอีกแล้ว และการขึ้นทะเบียนมรดกโลกเช่นว่านั้นไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงอีกแล้ว
4.แผนจัดการฉบับสมบูรณ์ที่ทางกัมพูชาได้ยื่นต่อศูนย์มรดกโลกเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2553 ทางกัมพูชาได้ตระหนักดีถึงขอบเขตอำนาจอธิปไตยของตนเอง และจะต้องรักษาไว้ซึ่งคุณค่าอันโดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สิน โดยคำนึงถึงสภาพธรรมชาติของภูมิทัศน์และการจัดวางสิ่งต่างๆ ตามที่คณะกรรมการมรดกโลกได้ให้แนวทางเอาไว้
นอกจากนี้ ด้วยความร่วมมือขององค์การยูเนสโกและผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ และองค์กรแห่งชาติว่าด้วยปราสาทพระวิหาร ทางกัมพูชาได้ดำเนินการพัฒนาปราสาทพระวิหารเพื่อให้มีทางเข้าถึงได้สะดวกขึ้น โดยการพัฒนาถนนเข้าสู่ปราสาททางทิศตะวันตกและบูรณซ่อมแซมบันใดทางทิศตะวันออก พร้อมทั้งเตรียมการสร้างบันใดไม้ความสูง 1450 เมตรด้วย อีกทั้งได้มีการส่งเสริมการพัฒนาเพื่อบูรณาการปราสาทและนิเวศชุมชน สำหรับประชาชน 319 ครอบครัว ที่เคยอาศัยอยู่ที่ตลาดที่ถูกไฟไหม้ก่อนหน้านี้ และอีก 473 ครอบครัว จากที่อื่น และยังได้มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ อีกด้วย
ท่าทีจากฝั่งไทยหลังจากกัมพูชาออกแถลงการณ์ข้างต้น นายธีระ สลักเพชร รมว.กระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า รู้อยู่แล้วว่ากัมพูชาส่งแผนจัดการไปแล้ว และคิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทย
สำหรับการยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกของไทยนั้น นายธีระ กล่าวว่า ในส่วนคณะอนุกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ด้านวัฒนธรรมได้เร่งรวบรวมข้อมูลทางด้านวัฒนธรรม เพื่อพิจารณาสรุปแผนการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมของไทย จากนั้นจะนำข้อมูลดังกล่าวหารือ ในที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย 3 ฝ่าย ก่อนที่จัดทำข้อสรุปเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดทำเอกสารคัดค้านการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาควบคู่ไปกับการเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ของทางการกัมพูชา โดยจะยื่นชี้แจงไปยังยูเนสโกต่อไป
รมว.กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ที่ประชุมอนุกรรมการฯ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านวัฒนธรรม ที่มีตนเป็นประธานดูแลกรณีที่ทางการกัมพูชาเสนอให้เขาพระวิหารเป็นมรดกทางด้านวัฒนธรรม ด้านชายแดน มีนายก ษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นประธาน ดูแลปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างกัน และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีนายสุวิทย์ เป็นประธานดูแลในประเด็นพื้นที่อุทยาน ทุกฝ่ายได้เตรียมการหารือกันเป็นการภายใน เพื่อจะได้นำข้อมูลเข้าประชุมร่วมกับคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวันที่แน่ชัด และเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะจัดทำข้อสรุปเสนอที่ประชุม ครม. เพื่อจัดทำเอกสารคัดค้านการขึ้นทะเบียนของกัมพูชาควบคู่ไปกับการเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่ของทางการกัมพูชา โดยจะยื่นชี้แจงไปยังคณะกรรมการมรดกโลกชุดใหญ่ยูเนสโกต่อไป
กล่าวโดยสรุป จนถึงบัดนี้ ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า แผนบริหารจัดการในรายละเอียดที่กัมพูชายื่นต่อยูเนสโกนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และครอบคลุมอาณาบริเวณพื้นที่ส่วนใด และยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานของไทยที่เกี่ยวข้องได้เสาะแสวงหาแผนบริหารจัดการดังกล่าวมาเป็นข้อมูลเพื่อยื่นคัดค้านแล้วหรือไม่ เพราะฝ่ายกัมพูชาอ้างไว้ในแถลงการณ์ข้างต้นว่า ยูเนสโกไม่มีหน้าที่ต้องแจกจ่ายรายงานของประเทศสมาชิกใดๆ ไปให้อีกประเทศหนึ่ง