ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ตามเชคบิล “นพดล” เซ็นเอ็มโอยูไทย-ลาวสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ซ้ำรอยคดีปราสาทพระวิหาร ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ไม่รับฟังความเห็นประชาชน และไม่ปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ส.ว.กลุ่ม “ประสาร มฤคพิทักษ์” ขู่ฟ้องศาลปกครองเพิกถอน
หากการลงนามในแถลงการณ์ร่วมสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ของนายนพดล ปัทมะ ขณะดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2551 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2551 ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพราะเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย – ลาว เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2551 ก็เป็นผลงานอัปยศของนายนพดล ปัทมะ ในขณะดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงการต่างประเทศ อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะต้องยกเลิกเพิกถอน เพราะก่อนลงนามในบันทึกดังกล่าว นายนพดล ได้กระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 และยังพ่วงด้วยมาตรา 67 วรรคสอง และมาตรา 57 อีกด้วย
โครงการเขื่อนบ้านกุ่ม เป็นโครงการที่มีผลสืบเนื่องมาจากความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างไทย – ลาว โดยฝั่งไทย ต้องการพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นเพื่อเพิ่มทางเลือกของแหล่งผลิตพลังงานนอกเหนือไปจากพลังงานไฟฟ้าใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซฯและถ่านหิน
ในปี 2548 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทมหานคร คอนซัลแตนท์ จำกัด วงเงิน 8 ล้านบาท ศึกษาจุดที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการไฟฟ้าบนแม่น้ำโขง ผลศึกษา สรุปว่า มีโครงการที่มีศักยภาพ 2 จุด คือ โครงการเขื่อนปากชม (จ.เลย – แขวงเวียงจันทน์) และโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม (จ.อุบลราชธานี - แขวงจำปาสัก)
จากนั้น ในปี 2550 พพ. ได้ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัทแมคโคร คอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมและรายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ของโครงการเขื่อนทั้งสองข้างต้น โดยเรียกชื่อว่าเป็นฝายในลำน้ำโขง ซึ่งรายงานดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมี.ค. 2551
ขณะนั้น นายนพดล ปัทมะ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งหลังจากรับตำแหน่งเพียง 1 เดือน นายนพดล ก็เร่งรีบเสนอเรื่อง “ด่วนที่สุด” ลงวันที่ 10 มี.ค. 2551 เพื่อขออนุมัติลงนามบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย – ลาว ต่อคณะรัฐมนตรี
โดยมีสาระสำคัญคือ ให้บริษัทอิตาเลียนไทยฯ และบริษัทเอเชียคอร์ปฯ ศึกษาความเป็นไปได้ เพราะเป็นภาคเอกชนที่มีความพร้อมด้วยเงินทุนและความคล่องตัวสูงจากการพัฒนาโครงการไฟฟ้าในลาวมาแล้วหลายโครงการ โดยบริษัททั้งสองแห่งจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมด และรัฐบาลทั้งสองประเทศได้มอบหมายหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองประเทศกำกับดูแลและประสานงานกับบริษัท เมื่อผลศึกษาเรียบร้อยแล้วรายงานให้รัฐบาลทั้งสองประเทศเพื่อพิจารณาตกลงต่อไป
ถัดจากนั้น 1 วัน เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2551 ครม.ก็มีมติอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอ โดยให้ปรับปรุงถ้อยคำจาก บริษัทอิตาเลียนไทยฯ และบริษัทเอเชียคอร์ปฯ เป็น ภาคเอกชน และเปลี่ยนถ้อยคำข้อ 3 จากเดิม “จึงให้รายงานรัฐบาลของทั้งสองประเทศเพื่อพิจารณาตกลงต่อไป” เป็น “จึงให้รายงานรัฐบาลของทั้งสองประเทศเพื่อพิจารณาดำเนินการภายใต้ระเบียบและข้อกฎหมายภายในของทั้งสองประเทศต่อไป”
หลังจากนั้น ในวันที่ 25 มี.ค. 2551 นายนพดล ก็บินไปลาวเพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทย-ลาว ดังกล่าว โดยฝ่ายลาว มีนายทองลุน ลีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว เป็นผู้ลงนาม และในวันเดียวกัน นายทองลุน ก็ลงนามในนามรัฐบาลลาว ให้บริษัทอิตาเลียนไทยฯ ศึกษาโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม ระยะเวลาศึกษา 15 เดือนนับจากการลงนาม
การกระทำโดยเร่งรีบรวบรัดและไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญฯ ทำให้เกิดคำถามมากมายต่อการกระทำของนายนพดล ปัทมะ และถ้าจะยึดบรรทัดฐานของคดีปราสาทพระวิหาร เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ ข้างต้น เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 อย่างชัดแจ้ง เพราะเป็นการลงนามไปโดยไม่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา และไม่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไม่มีทางอื่นใดนอกเหนือจากต้องยกเลิกเอ็มโอยูฉบับดังกล่าว และต้องยกเลิกมติครม.เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2551 ที่เห็นชอบให้นายนพดล ไปลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวด้วย
อย่างไรก็ตาม ทั้งนายเตช บุนนาค อดีตรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากนายนพดล ปัทมะ และนายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ คนปัจจุบัน ไม่ได้มีท่าทีที่ชัดเจนใดๆ ต่อการยึดถือแนวปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันกับกรณีปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีการยกเลิกแถลงการณ์ และยกเลิกมติครม.ไปแล้ว
นายเตช บุนนาค เคยตอบกระทู้ถามสดของสภาผู้แทนราษฎร ในเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2551 ว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจฯ กับรัฐบาลลาว ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะดำเนินการโครงการเขื่อนบ้านกุ่มหรือไม่ การมอบหมายให้ภาคเอกชนเข้ามาศึกษาเอกชนเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดและไม่มีเงื่อนไข และหากรัฐบาลไทย จะดำเนินโครงการนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57, 67 และ 190 กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 , พ.ร.บ.ว่าด้วยการเอกชนเข้าร่วมงานกับรัฐฯ 2535 รวมทั้งความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับการใช้แม่น้ำโขง
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายเตช บอกว่าจะต้องกระทำตามกฎหมายดังกล่าวนั้น จนขณะนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ
สิ่งที่รัฐบาลปฏิบัติก็คือ การปัดสวะให้พ้นตัว ดังเช่น การตอบข้อซักถามต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ว่า รัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจจะดำเนินการโครงการนี้หรือไม่ การศึกษาความเป็นไปได้โครงการและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของเอกชน หน่วยงานภาครัฐไม่เกี่ยว เป็นต้น
ล่าสุด นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบ้านกุ่ม จ.อุบลราชธานี ได้แถลงเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2552 ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ร่างเอ็มโอยูฉบับนี้ไม่ได้ผ่านการทำประชาพิจารณ์ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 57 และ 190 และ มาตรา 67 ซึ่งหากรัฐบาลไม่ยกเลิกเอ็มโอยู่ดังกล่าว จะมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
อนึ่ง มาตรา 190 ระบุชัดเจนว่า “หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญยาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
....ก่อนดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรี เสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย...”
ส่วนมาตรา 67 วรรคสอง ระบุว่า การดำเนินโครงการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และสุขภาพของประชาชน จะกระทำมิได้ เว้นเสียแต่จะการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นประกอบมีการดำเนินการ
สำหรับโครงการเขื่อนบ้านกุ่ม เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในลักษณะเขื่อนแบบมีน้ำไหลผ่านตลอดปีเหมือนเขื่อนปากมูล ตั้งอยู่บริเวณดอนกุ่ม ใกล้หมู่บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และบ้านกุ่มน้อย แขวงจำปาสัก สปป.ลาว
ตามรายงานการศึกษาความเหมาะสมและสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ของ พพ. ระบุว่า เขื่อนบ้านกุ่ม มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,872 เมกะวัตต์ มีกำลังการผลิตพึ่งได้ 375.68 เมกะวัตต์ หรือประมาณ 20% ของกำลังการผลิตติดตั้งเท่านั้น เพราะปริมาณน้ำที่นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าผันแปรไปตามฤดูกาล แต่การก่อสร้างโครงการต้องใช้เงินลงทุนสูงประมาณ 95,348 ล้านบาท ซึ่งทำให้เกิดคำถามถึงความไม่คุ้มค่าในด้านการลงทุน
ตามรายงานการศึกษาฯ เขื่อนบ้านกุ่ม จะทำให้เกิดน้ำท่วม 98,806 ไร่ โดยเป็นพื้นที่เกษตรริมโขง 13,858 ไร่ ส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงฝั่งไทย 30 หมู่บ้าน ฝั่งลาว 18 หมู่บ้าน น้ำท่วมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม 480 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ที่ยังคงเป็นป่าสมบูรณ์และคงต้องเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ
นอกจากนั้น มนตรี จันทวงศ์ จากโครงการฟื้นนิเวศวิทยาในอินโดจีนและพม่า ยังชี้ว่า เขื่อนบ้านกุ่ม ยังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านอุทกวิทยา, ทำลายระบบนิเวศน์วังน้ำลึกหรือวังปลา และส่งผลต่อการอพยพของปลาและความสมบูรณ์ด้านการประมง เช่นเดียวกับเขื่อนปากมูล รวมทั้งสูญเสียแหล่งท่องเที่ยว เช่น ผาชัน แก่งสามพันโบก สะเลกอน ดอนใหญ่ หาดสลึง หาดบ้านปากแซง เถาวัลย์ยักษ์พันปี น้ำตกแสงจันทร์ และชาวบ้านยังกังวลถึงผลกระทบต่อการเกิดบั้งไฟพญานาค ที่บ้านตามุย ซึ่งอยู่ใต้เขื่อนบ้านกุ่ม
รายงานการศึกษาฯ คำนวนผลประโยชน์จากโครงการ ดังนี้ รายได้จากการขายไฟฟ้า 14,181 ล้านบาท, ด้านคมนาคมทางน้ำ 135 ล้านบาท, ด้านประมง 270 ล้านบาท, ลดคาร์บอนไดออกไซด์ 5.49 ล้านตันต่อปี หรือลดการนำเข้าน้ำมันเตา 24,168 ล้านบาทต่อปี เป็นต้น